ผลิดอกออกผล 5 ปีกองทุนเสมอภาค แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ด้วยพลังของทุกคน

ผลิดอกออกผล 5 ปีกองทุนเสมอภาค แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ด้วยพลังของทุกคน

ก้าวแรกที่เริ่มต้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ที่ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เกิดขึ้น หัวใจสำคัญมิใช่การก่อร่างสร้างองค์กรแห่งนี้บนอาคารสูง แต่คือเจตนารมณ์ที่ยืนหยัด สนับสนุนพลังเล็ก ๆ ที่สร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่เพื่อเด็กและเยาวชนของภาคีเครือข่ายผู้มีประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ 

นี่คือความหมายที่ซ่อนอยู่ ในสัญลักษณ์ ‘ผีเสื้อกระพือปีก’ ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ด้วยพลังเล็ก ๆ ของผู้คน ทุกภาคส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน และได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก เยาวชน หลายล้านคน ทั่วประเทศ

ในงานมหกรรมรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน “All for Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน” ที่เริ่มต้นขึ้นวันนี้ 25 สิงหาคม 2567 ที่ IMPACT Forum เมืองทองธานี มีเด็ก ๆ อย่างน้อย 5 คน เป็นตัวแทนของเพื่อน ๆ นับล้าน มาบอกเล่าการเติบโตของพวกเขา จากก้าวแรกจนถึงวันนี้ ที่หลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นได้ ด้วยโอกาสทางการศึกษา

กสศ. บันทึกเรื่องเล่าของพวกเขา มาให้ทุกคนได้อ่านและเห็นการเติบโตในการทำงานของพวกเราไปด้วยกัน

แดง – พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร
จากจดหมายลาครูสู่โอกาสในอนาคต

‘แดง’ พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร แนะนำตัวเองอีกครั้ง หลังคลิปวิดีโอ วิดีทัศน์ จดหมายลาครู จบลง

แดงบอกกับเราว่า ตัวเขาคือเด็กที่อยู่ในคลิปที่ทุกคนได้ดู ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กตัวเล็ก ๆ ชั้น ม.2 คนหนึ่งในโรงเรียนบ้านนาเกียน บนกอยอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตัดสินใจเขียนจดหมายขออนุญาตครูหยุดเรียนเพื่อไปช่วยแม่ทำงานรับจ้าง จดหมายดังกล่าว ถูกนำมาสื่อสารต่อเป็นเรื่องเล่าผ่านแคมเปญแรก ๆ ของ กสศ. เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

แดงเล่าว่า โอกาสทางการศึกษาที่เขาได้รับจากทุนเสมอภาค กสศ. ทำให้มีโอกาสเรียนต่อจนจบชั้นมัธยม มีโอกาสอยู่ในระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเพื่อเรียนต่อในระดับประกาศนียาบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคล้านนา ชั้นปีที่ 1 ในปัจจุบัน

“หากไม่ได้รับทุนเสมอภาคจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผมก็อาจจะต้องหยุดเรียนกลางคัน หลุดจากการศึกษา เพราะความจำเป็นต้องไปทำงานช่วยแม่และต้องขาดเรียน ก่อนหน้าที่จะได้ทุนจาก กสศ. ผมเคยไปโรงเรียนแบบมา ๆ หาย ๆ เพราะต้องไปช่วยแม่ซึ่งทำงานรับจ้างเก็บลำไยอยู่คนเดียว เพราะพ่อผมเสียไปตอนผมเรียนอยู่ชั้น ป. 5 พี่ของผมไปทำงานที่เชียงใหม่ ครูต้องไปตามผมถึงสวนลำไยให้ไปเรียนหนังสือ เพราะผมขาดเรียนบ่อย และขอทุน กสศ. ให้ผม ตอนนั้น ครอบครัวไม่มีเงินไม่มีรายได้ คิดว่าต้องช่วยแม่ช่วยครอบครัว เลยตัดสินใจไปรับจ้างและยอมขาดเรียนหลายวัน ถ้าวันนั้นผมไม่ได้ทุนจาก กสศ. ผมก็คงไม่ได้เรียนมาจนถึงวันนี้”

มะปราง – จิดาภา นิติวีระกุล
การศึกษาคือพลังเปลี่ยนชีวิตให้มีแรงผลักดันเป็นพิเศษ

‘มะปราง’ จิดาภา นิติวีระกุล ผู้ซึ่งได้รับโอกาสทางการศึกษาจากโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. จนเรียนจบระดับ ปวส. จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา จังหวัดชลบุรี สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล เน้นย้ำหลายครั้งว่า โอกาสทางการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความต้องการพิเศษอย่างเธอ

มะปรางบอกว่า มีครอบครัวอีกมากมายที่ไม่เคยรู้ว่ามีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ที่จะช่วยเติมศักยภาพในการใช้ชีวิตและการทำงานให้ผู้ที่มีความต้องการพิเศษได้  

เธอใช้โอกาสทางการศึกษาพาตัวเองไปในจุดที่ท้าทายความสามารถที่มีอย่างต่อเนื่อง เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปแข่งขัน ‘ความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล’ ในปี 2562 (Global IT Challenge for Youth with Disabilities: GICT 2019) ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ได้รับ 1 เหรียญทอง กับ 2 เหรียญเงิน กลับมาเป็นรางวัล ถัดมาในปี 2563 ได้รับรางวัล ‘นักเรียนพระราชทาน’ และในปี 2564 ได้รับรางวัล ‘ยุวสตรีพิการดีเด่น’ ในวันสตรีสากล 

“หนูก็มีความฝันเหมือนคนอื่น ๆ คืออยากเรียนให้จบ และอยากมีงานทำ ตอนนี้สิ่งที่ฝันไว้สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง คือสามารถเรียนจนจบ ดูแลตัวเองได้ และสามารถส่งเงินให้ครอบครัวได้ หากมองย้อนกลับไป ก็ต้องขอบคุณพ่อกับแม่ ที่เชื่อมั่นในตัวหนู  ช่วยกันหาข้อมูลทุกทาง เริ่มจากติดต่อไปเกือบทุกสถาบัน จนเห็นช่องทางว่ามีโรงเรียนไหนเปิดรับเด็กอย่างหนูบ้าง และต้องขอบคุณตัวเองที่มีความอดทนพยายามอย่างหนักมาจนทุกวันนี้ เป้าหมายต่อไปคือจะเรียนให้จบในระดับปริญญาตรี และอยากเก็บเงินปลูกบ้าน หนูเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ฝันอยู่จะสำเร็จได้เพราะพลังที่ได้รับจากการศึกษา จะเป็นแรงผลักดันให้ใช้ความสามารถที่มีพยายามในสิ่งที่วาดหวังไว้อย่างเต็มที่ 

“ถ้าไม่ได้รับการศึกษาที่ดีในวันนั้น ก็คงไม่มีโอกาสที่ดีในวันนี้ นี่คือข้อพิสูจน์ว่าการศึกษาที่ดีจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ และหวังว่าโอกาสทางการศึกษาที่ดีจะกระจายไปสู่เด็ก ๆ ทุกกลุ่ม เพื่อสร้างโอกาสในการดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างเสมอภาค”

อเล็ก – ปฏิภาณ โพธิ์ชัย
โอกาสจากการศึกษา ทำให้ช่วงเวลาที่ชีวิตเคว้งคว้างมีความหมาย

“ทิวทัศน์ที่ถูกปิดกั้นโดยกำแพงสูง ทำให้ผมรู้สึกเคว้งคว้าง ได้แต่โทษตัวเองว่าคงไม่มีโอกาสได้เรียน และคงไม่มีโอกาสทำให้แม่มีความสุขความภูมิใจในตัวผมอีกแล้ว แต่ใครจะรู้ว่าชีวิตในศูนย์ฝึกอบรมเด็กเยาวชน กลับกลายเป็นเวลาของการได้บำบัดฟื้นฟูตนเอง เพราะขณะที่พยายามไขว่คว้าหาโอกาส อยากพิสูจน์ตัวเองว่าผมเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ได้ ศูนย์ฝึกได้หยิบยื่นการเรียนรู้ให้กับผม”

‘อเล็ก’ ปฏิภาณ โพธิ์ชัย เป็นนักเรียนผู้ได้รับทุน กสศ. จากการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่มีทางเลือกร่วมกับภาคีเครือข่าย 

เขาบอกว่าตนเองเป็นหนึ่งในเยาวชนผู้เคยหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากต้องเข้าไปใช้ชีวิต 3 ปีในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม แม้จะเป็นอย่างนั้นแต่เขาก็ได้ช่วงเวลาดังกล่าวเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จนเรียนจบได้วุฒิมัธยมศึกษาตอนต้น และยังได้เข้าร่วมอบรมทักษะบาริสต้า ที่ให้โอกาสผู้เรียนรู้ออกไปฝึกประสบการณ์ทำงานกับสถานประกอบการข้างนอก

“ผมพบว่าสี่เดือนของการฝึกอบรมเป็นช่วงที่ทั้งเหนื่อยและหนักมาก ๆ แต่มันกลับสำคัญกับผมในการพยายามต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าพร้อมออกมาทำงาน และสามารถดูแลตัวเองในการใช้ชีวิตแล้ว”

ณ วันนี้ อเล็กสิ้นสุดโปรแกรมฝึกงาน และได้รับบรรจุเป็นพนักงานคนหนึ่ง พร้อมได้รับโอกาสศึกษาต่อที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เขาอยากฝากไปถึงเพื่อน ๆ และน้อง ๆ ว่า “อยากให้ทุกคนตั้งใจเรียนเพื่ออนาคตของตัวเอง เพื่อดูแลพ่อแม่ ผมอยากบอกว่าโอกาสนั้นไม่ได้มาง่าย ๆ และไม่ได้มีบ่อย ๆ ดังนั้นเมื่อเราได้มาแล้ว ต้องรักษามันไว้ และผมเชื่อว่าเราทุกคนล้วนเคยผิดพลาด โดยแม้ไม่อาจลืมอดีตได้ แต่เราสามารถเลือกจดจำ เรียนรู้ และทำปัจจุบันให้ดีที่สุดได้ สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้รับครับ”

เมย์ – จันทร์วรรณ วิทูชำนาญ
จากเด็กที่เคยได้รับโอกาสการศึกษา สู่ครูผู้สร้างโอกาสการศึกษาของเด็ก ๆ

“การได้เป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมโรงเรียนจึงเป็นเหมือนเซฟโซนของเด็ก ๆ เพราะที่นี่คือที่ที่เด็กจะได้เล่น ได้กินอิ่ม หรือเด็กเล็กชั้นอนุบาลก็จะได้นอนหลับตอนบ่ายอย่างเต็มที่”

‘เมย์’ จันทร์วรรณ วิทูชำนาญ วันนี้ได้กลายเป็นครูเมย์ของเด็ก ๆ ที่โรงเรียนบ้านป่าไร่ ต.ขะเนจื้อ อ.แม่ระมาด จ.ตาก หลังจาก 4 ปีที่ผ่านมา ได้รับโอกาสทางการศึกษาด้วยทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 กสศ.

ครูเมย์เพิ่งเรียนจบจาก มรภ.เชียงใหม่ วันนี้เธอลงสนามจริงในฐานะครูอาสา ก่อนจะได้บรรจุเป็นครูเต็มตัวในเดือนตุลาคมนี้

“เราพบว่าแม้โรงเรียนจะอยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมืองตาก ถนนหนทางก็ดี แต่เด็กนักเรียนกว่า 90% กลับมีฐานะยากจนมาก ตอนลงเยี่ยมบ้านเพื่อเก็บข้อมูลต้นเทอมได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ หลายครอบครัวอาศัยในกระท่อมเก่าทรุดโทม ห้องน้ำไม่มี บางบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ น้ำที่ใช้ก็ต้องขุดจากใต้ดิน บางครั้งน้ำท่วมก็ไม่มีน้ำใช้ ส่วนผู้ปกครองบางคนก็บอกเราว่าบางวันไม่ได้กินข้าวเลย เห็นอย่างนั้นก็สะท้อนใจว่าแม้เรามาจากครอบครัวที่ลำบากแล้ว แต่ความขาดแคลนของเด็ก ๆ ก็ยังหนักกว่าเรามาก 

“ในฐานะครู สิ่งที่ตั้งใจไว้จึงเป็นการพยายามจะถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก ๆ มากที่สุด แม้ว่าการสอนแต่ละวันจะต้องใช้พลังงานอย่างมาก เพราะเด็ก 100% เขาไม่รู้ภาษาไทยเลย จึงต้องใช้ภาษามือบ้าง หรือใช้ทักษะภาษาถิ่นที่เราพอมีอยู่บ้าง สำคัญที่สุดคือเราเชื่อว่าการให้เวลาเด็กอย่างเต็มที่ ลงไปนั่งข้าง ๆ เขาทีละคน ๆ จะเป็นวิธีที่ทำให้เขาอ่านเขียนเข้าใจภาษาดีขึ้นได้”

ครูเมย์ เชื่อมั่นว่าความหมายของการเป็นครูสำหรับเธอคือการสอนหนังสือ และการทำให้เด็กได้ใช้เวลากับครูมากที่สุด แม้การเป็นครูอาสาในช่วงเวลาหนึ่งเทอมกว่า ๆ ที่ผ่านมาจะทำให้เธอต้องเจอกับภาระงานอื่น ๆ ที่มาเบียดบังการสอน แต่ครูคนใหม่ของเรายังยืนยันความตั้งใจ และวิงวอนไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกฝ่าย ว่า “เราจะให้เวลาการเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และจะทำให้ได้ตามที่อาจารย์เคยบอกไว้เมื่อวันที่ได้รับทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ว่าเราจะเป็นครูที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงชุมชนของเรา”

“สุดท้าย แม้เรารู้ว่าตัวเองเพียงลำพังจะไม่อาจช่วยเด็กเรื่องความยากจนได้ แต่สิ่งเดียวที่จะให้เขาได้คือการศึกษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนชีวิตของเขาในวันข้างหน้า และขอส่งเสียงไปยังทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ว่าเราต้องทบทวนกันว่าจะทำยังไงเพื่อให้ครูรุ่นใหม่ ๆ ได้มีเวลาถ่ายทอดความรู้และดูแลเด็กอย่างเต็มที่ ขอบคุณค่ะ”

แครอท – ธนัชญา กล้าหาญ
โอกาสทางการศึกษา คือพลังที่ทำให้กล้าลุกขึ้นมามองหาอนาคตที่สดใส

‘แครอท’ ธนัชญา กล้าหาญ นักศึกษาทุนก้าวเพื่อน้อง ทุนการศึกษาที่ได้มาจากการระดมความร่วมมือของผู้คนในสังคมโดยมูลนิธิก้าวคนละก้าว

แครอทเล่าว่าเธอคือเด็กอีกคนหนึ่งที่มาจากครอบครัวยากจนที่ตกอยู่ในความกลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะตกอยู่ในสถานะที่มองไม่เห็นโอกาสทางการศึกษา แต่ความหวังที่เคยมองไม่เห็น ก็เกิดขึ้นได้ จากโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับจากทุนก้าวเพื่อน้อง ทำให้เธอมองเห็นโลกที่ต่างออกไป มองเห็นโอกาสมากมาย โดยเฉพาะอนาคตที่ดีรออยู่ข้างหน้า 

“สิ่งที่หนูบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็คือต้องตั้งใจเรียน เพราะการศึกษาเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ จนตอนนี้ความเชื่อมั่นดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้สามารถสอบติดคณะบริหารธุรกิจที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับทุนก้าวเพื่อน้องที่ได้รับการสนับสนุนจากคนไทยทั่วประเทศ ทุนนี้ทำให้ความกลัวที่เคยเกิดขึ้นหายไป ทุนนี้ทำให้มีความหวังและกล้าฝันมากขึ้น สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้และต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ก็คือคุณยายผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างและเบ้าหลอมในการปฏิบัติตัวในแง่ของความอดทน ความพยายาม ความกล้าหาญ แม้จะเรียนจบเพียงแค่ ป.4 อ่านหนังสือไม่ออกเขียนหนังสือได้เพียงแค่ชื่อของตัวเอง แต่คุณยายก็ใช้พลังความสามารถที่มีทั้งหมดต่อสู้กับงานหนักและความยากลำบากเพื่อดูแลหนูมาได้ แม้วันนี้คุณยายจะจากไปแล้วแต่สิ่งที่คุณยายเคยปฏิบัติให้เห็นตลอดมาจะกลายเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตของหนูตลอดไป”

จากก้าวแรกจนถึงวันนี้ของน้อง ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ผลิดอกออกผล “5 ปีกองทุนเสมอภาค แก้เหลื่อมล้ำการศึกษา ด้วยพลังของทุกคน”  ทั้งนี้ งานมหกรรมรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน “All for Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน” จะมีไปจนถึง 25 สิงหาคม 2567 ที่ IMPACT Forum เมืองทองธานี

ภายในงานนี้มีนักสร้างการเปลี่ยนแปลงจากทั่วประเทศมาร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมใช้ Big Data ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ ช่วยในการค้นหาและเข้าใจบริบทของเด็กและครอบครัวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับใช้พัฒนาการเรียนรู้และการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมการเรียนรู้ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญ ภายใต้แนวคิดการศึกษายืดหยุ่นเริ่มต้นที่ตัวเด็ก  ตอบโจทย์ชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต

เช่น 1 โรงเรียนหลายรูปแบบ, Mobile School ที่พาโรงเรียนไปถึงเด็ก, Work & Study ผสมผสานการทำงานกับการเรียนรู้ในสถานประกอบการ, โรงเรียนกล้าเปลี่ยน ด้วย Whole School Approach และศูนย์การเรียน ที่มั่นใจว่าจะไม่มีเด็กคนไหน ไม่ได้เรียน

เมื่อการศึกษาเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่การศึกษาเพื่อปริญญา แต่ต้องเป็นการศึกษากินได้ การเรียนรู้เพื่อปากท้อง และสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างทักษะและอาชีพ เพื่อช่วยให้เด็กสามารถหลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่นได้ กสศ. เชื่อว่าการศึกษายืดหยุ่นเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่สดใสและเท่าเทียม

สนใจข้อมูลการศึกษายืดหยุ่นและร่วมเป็นเครือข่าย ติดต่อได้ที่ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

มาร่วมกันพลิกเกมการศึกษาไทยเพื่อเด็กทุกคน!