ดร.ไกรยส ภัทราวาท : พลังของทุกคน คือ ผู้เปลี่ยนเกมความเสมอภาคการศึกษาอย่างแท้จริง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท : พลังของทุกคน คือ ผู้เปลี่ยนเกมความเสมอภาคการศึกษาอย่างแท้จริง

นอกจาก ‘ความหวัง’ และ ‘พลังใจ’ ของทุกฝ่าย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวในงานมหกรรมรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน “All for Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน” ที่ IMPACT Forum เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ว่า จากประสบการณ์ทำงานของ กสศ. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้พบว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืนได้ เกิดจากภาคีเครือข่ายผู้มีประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศซึ่งมีความรู้ ข้อมูล และนวัตกรรมที่เข้าใจบริบทของเด็กและครอบครัวในแต่ละพื้นที่ 

โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้ร่วมทำงานด้านวิชาการและปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกับผู้คนและองค์กรหน่วยงานทั่วประเทศในหลากหลายรูปแบบ จนได้รับทั้งข้อมูลสำคัญและมีภาพของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาพแรกคือกลุ่มเป้าหมาย ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีสำคัญของความก้าวหน้าด้านพลังของข้อมูลที่ทุกฝ่ายช่วยให้เรามีข้อมูลที่สามารถยืนยันจากเลข 13 หลัก ซึ่งระบุได้ว่าประเทศไทยมีเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาภาคบังคับราว 1.8 ล้านคนที่อยู่ในสถานะความยากจน-ยากจนพิเศษ มีเด็กเยาวชนช่วงวัย 5-14 ปีอยู่นอกระบบการศึกษาราว 3.94 แสนคน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และการมีงานทำ

“เรามีข้อมูลที่บอกได้ว่าน้อง ๆ เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ความฝันและความหวัง แต่ยังมีศักยภาพในตัวเองที่ไม่แพ้ใคร โดยจากผลประเมิน PISA 2022 ระบุว่าประเทศไทยมี ‘เด็กช้างเผือก’ หรือเด็กที่มีความสามารถซึ่งมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% ล่างของประเทศ แต่กลับเป็นเลิศด้านวิชาการด้วยการทำคะแนนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีอยู่ถึง 15% ทั้งนี้หากเพชรเม็ดงามเหล่านี้ได้รับการผลักดันที่เหมาะสม ช้างเผือกกลุ่มนี้จะสามารถก้าวไปเป็นทรัพยากรที่คุณภาพสูงของประเทศ”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. เชื่อมั่นในพลังของทุกคน โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายที่ทำงานในระดับพื้นที่ โรงเรียน ชุมชน และพื้นที่ จะสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยหากคุณครูสามารถเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Agentic Teacher) ได้ โรงเรียนสามารถเป็นโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ หรือชุมชน ท้องถิ่น พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ในพื้นที่ของตนเอง และทำงานไปด้วยกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ละพื้นที่จะมีภาพอนาคตที่เด่นชัดให้ผู้เรียนได้รับโอกาสเรียนรู้ที่ต่อยอดไปถึงการมีงานทำ โดยอาจไม่ได้มีเพียงลู่เดียวของการศึกษา ที่ทุกคนจะต้องเรียนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเป็นหลัก แต่จะมีเป้าหมายปลายทางที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และความต้องการของผู้ประกอบการได้

“เราเชื่อมั่นว่าพลังของคนในพื้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา เรามีตัวแบบนวัตกรรมและกรณีศึกษาอยู่มาก จึงอยากชวนมาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน ณ โอกาสนี้ ไม่ว่าการสร้างเส้นทางเรียนรู้ที่มีการเทียบโอนการเรียนรู้ร่วมกับสถานประกอบการ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ลุกมาจัดตั้งองค์กรสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ  ทั้ง อปท. คณะบุคคล หรือการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น โรงเรียนในมือถือที่ช่วยทลายกำแพงการเรียนรู้ให้ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสร้างโอกาสโดยนำข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องมาใช้ เช่น นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งทุกฝ่ายจะมาช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างเส้นทางที่หลากหลายเพื่อรองรับศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายของเด็กแต่ละคน

“สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ตัวเงิน แต่เป็นเรื่องอื่น ๆ มาประกอบกัน สำคัญคือเราต้องมุ่งไปที่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแนวดิ่ง โดยคำนึงว่าเด็กมีความต้องการแตกต่าง โรงเรียน ครู หรือพื้นที่มีความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องมีสูตรจัดสรรบุคลากร งบประมาณ และมีสูตรการทำงานที่ตอบสนองต่อการทำงานเฉพาะกลุ่มและพื้นที่ เพื่อทลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาให้หมดไป”

ผู้จัดการ กสศ. นำเสนอต่อไปว่า กรมสรรพากร โดยกระทรวงการคลัง พบข้อมูลหนึ่งว่าแม้ประเทศไทยจะมีสิทธิลดหย่อนภาษีสองเท่าสำหรับการบริจาคเงินเพื่อการศึกษามานานแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีผู้บริจาคเพียง 6.5 แสนคน ซึ่งยังสามารถบริจาคเพื่อสนับสนุนความร่วมมือได้อีกมากกว่า 10 เท่า จึงขอเชิญชวนเอกชน และประชาชนทุกคนรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ All For Education สู่ Education For All 

“สุดท้ายต้องบอกว่าการทำงานของ กสศ. ที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก เราไม่มีทางทำงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้สำเร็จได้ หากปราศจากการสนับสนุนจากทุกคนที่เปรียบเสมือน ‘ตัวคูณ’ ให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะยิ่งซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นในอนาคต เราจึงต้องมีตัวคูณทั้งด้านความรู้ ข้อมูล นวัตกรรม เครือข่าย และงานวิจัยต่าง ๆ แล้วหากตัวคูณเหล่านี้รวมพลังกันสร้างจุดคานงัดที่เข้มแข็งได้แล้ว จะมีการเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ให้สามารถลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง และเปลี่ยนเป็น Agentic Agent ที่ลุกขึ้นมานำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง และหากพลังความเปลี่ยนแปลงขยายไปยังทุกพื้นที่ของประเทศไทย คำว่า All for Education หรือปวงชนเพื่อการศึกษา ก็จะสามารถสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาเพื่อปวงชน หรือ Education for All ให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน แล้วเราจะสามารถมองเห็นอนาคตของประเทศไทยที่จะพาผู้คนจำนวนมากหลุดพ้นออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ”

“และทั้งหมดนี้คือประเด็นที่อยากให้ทุกคนได้หารือ พูดคุย ระดมความคิดเห็น ว่าเราจะช่วยกันสร้างและส่งเสริมให้เกิด ‘ตัวเปลี่ยนเกมเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา’ ได้อย่างไร เพราะหากเรามีข้อมูลและประสบการณ์ของการเปลี่ยนเกมใน 7 เรื่อง คือ ฐานข้อมูล ความร่วมมืในพื้นที่ พื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน นวัตกรรมการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ยกระดับความร่วมมือในการผลิตครูในระบบปิด และการพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัยเพื่อยุติความยากจนข้ามรุ่น มากขึ้น เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้”