บทเพลงจาก “พลังของผีเสื้อ”
เรื่องราวดนตรีเปลี่ยนชีวิตและความเชื่อว่า “โลกใบนี้ยังมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กทุกคน”

บทเพลงจาก “พลังของผีเสื้อ” เรื่องราวดนตรีเปลี่ยนชีวิตและความเชื่อว่า “โลกใบนี้ยังมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กทุกคน”

อีกหนึ่งไฮไลท์จากงานมหกรรม ‘รวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน All For Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน’ ที่ผ่านมา คือการแสดงชุด ‘พลังของผีเสื้อ’ เปลี่ยนโลกด้วยเสียงเพลง โดยกลุ่มเยาวชนจาก ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรี โรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ ศูนย์ประสานงานวัฒนธรรมทางดนตรีศิลปินถิ่นสุพรรณ และ TU Chorus ที่มาร่วมบรรเลงบทเพลงด้วยพลังใจอันบริสุทธิ์ เพื่อส่งเสียงจาก IMPACT Forum เมืองทองธานี ให้ดังไปถึงสังคมว่าพวกเขายังเชื่อว่าโลกใบนี้ยังมี ‘พื้นที่เรียนรู้ที่เสมอภาคสำหรับเด็กทุกคน’ พร้อมเป็นการส่งกำลังใจไปยังเหล่า ‘นักสร้างความเปลี่ยนแปลง’ ที่มุ่งทำงานสร้างพื้นที่โอกาสสำหรับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ รองรับความหลากหลาย ตอบโจทย์ชีวิต ซึ่งจะเป็นหนทางของการเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของเด็กเยาวชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ไม่ว่าจะเกิดและเติบโตขึ้น ณ ที่แห่งใดก็ตาม

รับชมการแสดงย้อนหลังของน้อง ๆ ได้ที่ คลิก

นอกจากความประทับใจจากการแสดงที่ฝากไว้ กสศ. ชวนทุกคนมาร่วมฟังเสียงสะท้อนของน้อง ๆ และครูผู้ดูแลเด็ก ๆ ว่า ‘ความหมายของโอกาสทางการศึกษา’ ในมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร และการได้อยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ที่ตั้งต้นจากความสนใจ ความถนัด และความรัก ซึ่งน้อง ๆ ทุกคนได้รับผ่าน ‘การเล่นดนตรี’ นั้น ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของแต่ละคนไปอย่างไร 

-1-
“ถ้าเราใช้เวลากับอะไรสักอย่างมากพอ และรักมัน สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงเราได้”

“ตราบใดที่ความฝันเจอทางตันไร้ทางออก ตราบนั้นเราจะร้องเพลงด้วยกัน…”

ท่อนหนึ่งจากเพลง ‘ตราบ’ ที่ ‘ก๊อต’ นักร้องนำของวงดนตรีโฟล์คซองสามชิ้น จาก ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เลือกเป็นเพลงเปิดการแสดง บ่งบอกถึงความหมายของดนตรีที่มีต่อตัวเขาและผองเพื่อนเป็นอย่างดี ว่าเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกมืดหม่นมองไม่เห็นทาง เสียงเพลงจะช่วยนำพาให้ผ่านพ้น

ก๊อตบอกว่า ดนตรีคือกำลังใจให้เขาเชื่อว่าชีวิตยังเริ่มใหม่ได้เสมอ ‘ชมรมดนตรี’ ที่ศูนย์ฝึกฯ จึงเป็นพื้นที่ที่เขาใช้เวลาอยู่ตรงนั้นมากที่สุด “ผมจับกีต้าร์ได้ทั้งวัน มีความสุขทุกครั้งที่เล่นดนตรี เหมือนแค่อยู่ตรงนั้นความคิดฟุ้งซ่านอะไรต่าง ๆ มันหายไป เราได้เป็นตัวเองในแบบที่เราพอใจ ยิ่งเวลาเจอเพื่อนใหม่ที่เขาเล่นไม่เป็นแล้วอยากเล่น เราได้สอนเขา ชวนให้ค่อย ๆ ฝึกกันไป พอเห็นเพื่อนเริ่มเล่นได้หรือเก่งขึ้น เราก็ภูมิใจ และดีใจไปด้วย”

ไม่เพียงเล่นดนตรี แต่การใช้เวลาอยู่กับการเล่นดนตรี ยังทำให้ก๊อตพบหนทางระบายเรื่องราวในใจผ่านการ ‘เขียนเพลง’ ของตัวเอง โดยเพลงหนึ่งที่ก๊อตแต่ง ได้นำไปใช้แสดงในงานประกวดทักษะดนตรีร่วมกับเพื่อน ๆ จนได้รางวัล ‘คำประพันธ์ยอดเยี่ยม’ มาแล้ว  

“พอเล่นดนตรีผมก็อยากลองแต่งเพลงบ้าง เรื่องราวที่เอามาเขียนส่วนใหญ่ก็มาจากที่นั่งคุยกับเพื่อน แลกประสบการณ์ชีวิตกัน แล้วเรื่องไหนเรารู้สึกก็เอามาเขียนเป็นเพลง อย่างเพลงแรกที่แต่งชื่อเพลง ‘คำสัญญา’ ผมเขียนถึงแม่ อยากสื่อสารถึงเขาว่าผมเสียใจที่ทำให้ผิดหวัง แล้วสัญญาว่าผมจะตั้งใจพยายามเปลี่ยนตัวเองให้ได้ แล้วเพลงนี้ผมกับเพื่อน ๆ เอาไปใช้แข่งขันบนเวทีหนึ่งแล้วได้รางวัลกลับมา รู้สึกทั้งภูมิใจทั้งตื่นเต้น ส่วนเพลงอื่นที่เขียนก็จะเน้นให้กำลังใจตัวเอง ให้กำลังใจเพื่อน ๆ เพราะผมอยากให้ทุกคนมีความหวัง”  

ก๊อตพูดถึง ‘การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต’ ว่า “สำหรับผม เมื่อใครคนหนึ่งพบเส้นทางของตัวเอง แล้วสิ่งนั้นมันช่วยเปลี่ยนความคิดได้ ทำให้รู้สึกจดจ่อได้ ก็เท่ากับเขาได้เจอการเรียนรู้ที่เหมะสมกับตัวเองแล้ว คือไม่ว่าสุดท้ายจะเอาไปประกอบอาชีพได้หรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราใช้เวลากับอะไรสักอย่างมากพอและรักมันพอ สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงเราได้ครับ”

-2-
“เราต่างมีคุณค่าในตัวเอง …ขอแค่มีคนเข้าใจ ทุกคนก็ฉายแสงได้”

จากโฟล์คซองสามชิ้น คั่นกลางด้วยการแสดงเดี่ยวโดย ‘เอิร์ท’ เครือข่ายเยาวชน กสศ. จากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรี เจ้าของตำแหน่งนักร้องนำวงพินิจชน ที่คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีกรมพินิจฯ ซึ่งเอิร์ทบอกว่า ‘การร้องเพลงคือสิ่งเดียวที่ทำให้กลับมีความหวังอีกครั้ง’

“วันที่ก้าวไปอยู่ในสถานพินิจฯ จำได้ว่าตอนนั้นภาพในหัวมันว่างเปล่า มองไม่เห็นอะไรเลย แต่สักพักเราก็เริ่มคิด ว่ามีอะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง อย่างแรกที่นึกถึงก็คือการร้องเพลงที่ผมฝึกฝนด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพอดีกับที่ทางกรมพินิจฯ กับ กสศ. จัดงานประกวดดนตรีสำหรับเด็กเยาวชนในกรมพินิจฯ จากทั่วประเทศ ผมกับเพื่อนก็เลยรวมวงลงประกวดกัน จนได้รางวัลชนะเลิศ จากนั้นโอกาสก็ตามมาเรื่อย ๆ กลายเป็นเล่นกันจริงจังไปแล้วครับตอนนี้

“สิ่งที่ผมกับเพื่อน ๆ ได้รับ มันคือภาพสะท้อนเรื่อง ‘โอกาส’ โดยตรงเลย อย่างแรก นึกย้อนไปก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดอะไรกับสิ่งที่ตัวเองทำได้มาก่อน จนวันที่มาอยู่ในพื้นที่จำกัด เราต้องการอะไรสักอย่างเป็นความหวังที่จะฉุดให้เดินต่อไป ผมจึงพยายามให้โอกาสตัวเองได้ทำในสิ่งที่รัก แล้วก็พบว่าสิ่งที่ผมมีมันมีคุณค่ามาก ๆ

“โอกาสต่อมาคือสิ่งที่กรมพินิจฯ กับ กสศ. ช่วยกันสนับสนุนให้เรามีพื้นที่แสดงความสามารถ ซึ่งมันได้พาผมไปเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้เพื่อนใหม่ ๆ ได้รับประสบการณ์ที่ดีสำหรับชีวิต ผมจึงคิดว่าการให้โอกาสหรือการเปิดพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่มนั้นสำคัญมาก เพราะมันจะเป็นบทพิสูจน์ว่าเราต่างมีคุณค่าในตัวเอง …ขอแค่มีคนเข้าใจ ทุกคนก็ฉายแสงได้”  

-3-
“เด็กเยาวชนไม่ว่ามาจากครอบครัวแบบใดก็ตาม ต้องสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ความชอบ ความถนัดของเขา และมีโอกาสได้เดินไปบนเส้นทางนั้นจนสุดกำลัง”

ปิดท้ายด้วย ‘The Musical Show’ ในชื่อเรียบง่ายว่า ‘เด็กและเยาวชน’ โดยเยาวชนจากศูนย์ประสานงานวัฒนธรรมทางดนตรีศิลปินถิ่นสุพรรณ ที่ใช้ทำนองเพลง ‘Que Sera Sera’ กับเนื้อหาที่เขียนขึ้นใหม่ เพื่อเล่าเรื่องราวคู่ขนานบนความแตกต่างหลากหลายของเด็กเยาวชน ที่เผชิญอุปสรรคทางการศึกษาต่างกัน

‘ซันนี่’ ผู้ประพันธ์คำร้องและร้องนำเล่าว่า “เพลงที่เล่นบนเวทีวันนี้เขียนขึ้นจากโจทย์เรื่อง ‘การจัดการศึกษาที่เข้าถึงเด็กทุกคน’ โดยเรานึกถึงตัวเองและเพื่อน ๆ จึงใช้เพลง Que Sera Sera ที่เป็นภาษาฝรั่งเศสหมายถึง ‘อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด’ ซึ่งสื่อถึงการที่เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วเอามาปรับเนื้อหาสร้างเรื่องราวใหม่ เพื่อจะเล่าเรื่องของเด็กที่โตมาในครอบครัวที่แตกต่าง คนหนึ่งไม่มีทุนทรัพย์ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยที่บ้านทำงานหาเงิน ขณะที่อีกคนมีพร้อมทุกอย่างแต่ต้องอยู่กับความกดดันกับการศึกษาที่มีลู่เดียวและ ‘ตัดสิน’ เขาอยู่ร่ำไป ซึ่งสำหรับเราคิดว่า ‘การศึกษาที่เสมอภาค’ ควรหมายถึงการมีพื้นที่ที่เด็กเยาวชนไม่ว่ามาจากครอบครัวแบบใดก็ตาม ต้องสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ความชอบ ความถนัดของเขา และมีโอกาสได้เดินไปบนเส้นทางนั้นจนสุดกำลัง”

สำหรับซันนี่เองยอมรับว่า ตนเองคือเด็กคนหนึ่งที่เคยรู้สึกไม่แน่ใจว่าการศึกษาจะพาไปที่ไหน จนเมื่อได้เรียนวิชาดนตรีอันเป็นสิ่งที่รัก จึงได้รู้ว่าการอยู่ในพื้นที่เรียนรู้ที่เหมาะสม สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ใฝ่รู้ และเป็นขุมพลังที่สำคัญของการใช้ชีวิตแต่ละวัน “เพราะดนตรีคือพื้นที่ปลอดภัยของเรา เป็นเพื่อนของเรา เวลาเราเศร้า เราฟังเพลงเพื่อประโลมใจ เวลาเราคิดถึงใคร เราก็ฟังเพลงที่ช่วยทำให้เรารู้สึกเป็นสุขกับโมงยามนั้นมากขึ้น สำหรับเราจึงคิดว่าชีวิตคงไม่สามารถขาดเพลงหรือดนตรีได้”

‘แทน’ สมาชิกในวงเสริมว่า สำหรับเขา ‘ดนตรีคือส่วนหนึ่งของชีวิต’ คือเส้นทางที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปให้มองเห็นการประกอบอาชีพและการสร้างอนาคต

“ผมอยู่กับดนตรีมาตลอด จำไม่ได้แล้วว่าก่อนจะรู้จักกับดนตรีชีวิตเคยเป็นอย่างไร รู้แค่ว่าถ้าวันไหนไม่ได้เล่นไม่ได้ฟัง ก็เหมือนชีวิตขาดอะไรไป แล้วสำหรับผมที่ไม่ได้เรียนหนังสือเก่ง ทำอย่างอื่นก็ไม่ค่อยเป็น ถ้าไม่มีดนตรี ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตจะไปทำอะไร หรืออยู่ตรงไหนในตอนนี้”

ส่วน ‘เจม’ ในฐานะคนคอยประสานเพื่อน ๆ ให้มาเล่นดนตรีด้วยกัน บอกว่า “ผมเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก จน ม.ปลายก็ไปเรียนสายอื่นที่อยู่คนละขั้วเลย แล้วก็พบว่าเราไม่มีความสุข จนต้องถามตัวเองว่าเราชอบอะไรกันแน่ และได้คำตอบว่าสิ่งเดียวที่รู้จักคือดนตรี ตั้งแต่นั้นก็รู้ว่าเราจะไปทางไหน

“ผมว่าดนตรีมันทำให้ชีวิตเราสดใส ได้เจอเรื่องสนุกในทุกวันที่ตื่นขึ้นมา อย่างตอนเรียนสาขาที่ไม่ชอบผมเครียดมาก แต่พอเรียนดนตรีแม้จะมีส่วนที่ยากอย่างเรื่องทฤษฎีโน้ต แต่ผมกลับสนุก อยากรู้มากขึ้น อยากไปต่อให้ไกลขึ้น ซึ่งผมว่านี่แหละคือการเรียนรู้ที่เหมาะกับชีวิตของผม”

-4-
“ดนตรีคือพื้นที่บำบัดเยียวยาหัวใจ”

‘ครูปูน’ เกรียงศักดิ์

‘ครูปูน’ เกรียงศักดิ์ ครูที่ปรึกษาโรงเรียนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงพื้นที่เล่นดนตรีห้องเล็ก ๆ ที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ว่านอกจากเป็นการเติมเต็มเรื่องการใช้เวลาไม่ให้ว่างเปล่าแล้ว ยังเป็นการ ‘สร้างพื้นที่เรียนรู้จากสิ่งที่สนใจ’ และเป็นหนทางของการบำบัดเยียวยาจิตใจของน้อง ๆ อย่างได้ผล

“เราไม่เคยรู้เลยว่าพื้นที่โอกาสที่เด็กได้รับแม้เพียงเวลาสั้น ๆ บนเวทีเล็ก ๆ นั้นสำคัญกับหัวใจของเขามากแค่ไหน จนได้มาเห็นจากการดูแลน้อง ๆ หลายต่อหลายรุ่น ว่าดนตรีมันได้เข้าไปเปลี่ยน mind set ให้เขามองเห็นตัวเองในมุมใหม่ ๆ แล้วหลายคนพอพ้นจากตรงนี้ไป เขาก็เอาทักษะไปต่อยอดประกอบอาชีพได้ หรือบางคนถึงไปทำอย่างอื่น แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งการเล่นดนตรี เพราะมันเป็นส่วนสำคัญของชีวิตไปแล้ว ที่สำคัญคือการได้แสดงความสามารถให้คนได้ดู มันจะทำให้เขาได้พบว่าตัวเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเอง และยังมีความหวังว่าวันหนึ่งเขาจะได้ออกเดินไปบนเส้นทางที่คิดที่ฝันเช่นคนทั่วไป  

ครูปูนกล่าวว่า “คุณค่าอีกด้านหนึ่งของดนตรีคือทำให้เด็กได้ถ่ายทอดเรื่องราวในใจออกมา ทั้งผ่านเครื่องดนตรี หรือจากเพลงที่เขียน มันคือสิ่งที่เขาคิดและรู้สึก จนสามารถตกผลึกกับเรื่องราวที่ผ่านมา ทั้งความสุข ความเศร้า ความดีใจเสียใจ ความเสียดาย หรือความรู้สึกผิดในใจที่ติดค้าง จนถึงความต้องการพื้นที่โอกาส แล้วนี่คือทุกเสียงที่เด็ก ๆ อยากเปล่งออกมาให้คนอื่นได้ยิน ซึ่งเราเชื่อว่าคือหนทางหนึ่งของการบำบัดเยียวยาตัวเองสำหรับเขา”

-5-
“ดนตรีคือคุณค่าที่เติมเต็มความขาดพร่องของคน”

‘ครูต้นกล้า’ กฤษกร

‘ครูต้นกล้า’ กฤษกร จากศูนย์ประสานงานวัฒนธรรมทางดนตรีศิลปินถิ่นสุพรรณ เผยมุมมองต่อ ‘โอกาส’ ว่าหมายถึงการหาสิ่งที่ขาดให้พบและต้องพยายามเติมเต็ม เพราะถ้าดูจากภายนอก การจะบอกว่าใครขาดโอกาสหรือไม่อาจจำแนกหมวดหมู่ได้ยาก ด้วยสิ่งที่เด็กเยาวชนแต่ละคนขาดพร่องนั้นซับซ้อนและแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้นการเจอเด็กคนหนึ่งแล้วจะช่วยให้หาทางไปได้ จึงต้องเริ่มจากความจริงใจ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อใจระหว่างกัน  

“เด็กทุกคนมีปัญหาในใจที่ต่างกัน ในฐานะผู้ดูแลเราต้องรู้ว่าจะไปช่วยเขายังไง ซึ่งสำหรับเด็กของเราจะได้รับการดูแลเรื่อง ‘ความเปราะบางในใจ’ เป็นสำคัญ คือแม้จะเห็นว่าเขาขาด แต่เราจะไม่ทำให้เขารู้สึกด้อย ไม่เอาสีไปแต้มเพื่อจำแนกเขาออกมาจากเด็กคนอื่น ๆ

“สิ่งแรกจึงต้องทำให้เขาเชื่อใจเราและเชื่อมั่นในตัวเองก่อน ให้เขารู้สึกมีเกียรติ รู้จักคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง ว่าทุกคนต่างมีดี และทำได้ แล้วเราค่อยไปต่อจากตรงนั้น ซึ่ง ‘ดนตรี’ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสร้างคุณค่าเข้าไปเติมเต็มในความขาดพร่องของเขาได้ อย่างเด็กหลายคนที่เคยมองไม่เห็นคุณค่าตัวเอง พอได้เล่นดนตรี เขาจะมีมุมมองตัวเองที่เปลี่ยนไป หรือภายนอกเขาก็เอาทักษะไปใช้หาเลี้ยงตัวเองได้ หลายคนใช้ดนตรีส่งตัวเองเรียนตั้งแต่มัธยมจนเข้ามหาวิทยาลัยและจนเรียนจบ นี่คือคุณค่าหรือแก่นแกนกลางที่ลึกซึ้งของดนตรี ที่ผลลัพธ์ของมันยิ่งใหญ่ถึงขนาดที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนคนหนึ่งได้”  

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เป็นทั้งส่วนขยาย และบทสรุปของ ‘บทเพลงจากพลังของผีเสื้อ’ ที่โหมโรงด้วยการร่วมร้องเพลงในวันที่ความฝันไร้ทางออก ต่อด้วยคำสัญญาที่สื่อสารถึงคนสำคัญในชีวิต จนถึงการให้โอกาสตัวเองและพร้อมตอบรับโอกาสที่หยิบยื่นจากภายนอก ก่อนจะปิดม่านลงด้วยบทเพลงที่พูดถึงความไม่รู้อนาคต ว่าจะสดใสสวยงามเหมือนสายรุ้งบนท้องฟ้าหรือไม่ …ซึ่งยังคงไม่มีใครตอบได้

หากความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เสมอภาคในวันนี้ อาจเป็นคำตอบ และเป็นความหวังของเด็ก ๆ ว่า “….เมื่อวันนั้นมาถึง เด็กทุกคนต้องมีที่ยืน มีพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่มีขอบเขต ตอบโจทย์ชีวิต และจะไม่มีใครถูกทิ้งเอาไว้อีก” เหมือนดังคำร้องท่อนสุดท้ายของเพลง ที่ The Musical Show เรื่อง ‘เด็กและเยาวชน’ ประทับฝากไว้