เมื่อวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่ โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับ ศูนย์อาสาสร้างสุขภาคใต้ จัดงาน ‘Mobile School เข้าโรงเรียนไม่ได้ให้โรงเรียนไปหา’ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายจังหวัดสงขลาทุกภาคส่วน ได้แก่ เครือข่ายศูนย์การเรียน สถานศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสงขลา ตัวแทนผู้ปกครองที่จัดการศึกษาแบบบ้านเรียน สถาบันการศึกษาเพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) สำนักจัดหางานจังหวัดสงขลา สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสงขลา (สกร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสงขลา และเครือข่ายชุมชนสงขลา
ภายในงานมีเด็ก และเยาวชนที่หลุดจากการศึกษา จากในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดสงขลา สนใจมาสมัครเรียนเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้ง เดินทางมาด้วยตนเอง เครือข่ายท้องถิ่น ชุมชน ภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ปกครองที่บางคนพาน้องๆ มารอตั้งแต่ช่วงเช้า
เพื่อให้น้องๆ ได้กลับมาเรียนต่อเต็มศักยภาพ ด้วยแนวทางการจัดการเรียนรู้ยืดหยุ่น มีคุณภาพ ตอบโจทย์ชีวิตและได้รับวุฒิการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการ MOU สานพลังเครือข่ายศูนย์การเรียนภาคใต้ เพื่อให้เกิดการส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างกัน สร้างเส้นทางการศึกษาที่ยืดหยุ่น ไร้รอยต่อจากปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนจังหวัดสงขลา และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
ดร.ชนภรณ์ อือตระกูล ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างเส้นทางการศึกษาที่เปิดกว้างกับเด็กทุกคน โดยไม่มีข้อจำกัดและอุปสรรค เพื่อให้เด็กทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียม ทั่วถึง เสมอภาคจังหวัดสงขลาทั้ง 16 อำเภอมีเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในสถานศึกษาใดเลยทั้งหมด 23,681 คน ซึ่งติด Top 10 ของประเทศไทย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก การสร้างโอกาสการเรียนรู้ไม่ใช่หน้าที่ของใครหรือหน่วยงานใดหนึ่ง แต่ความร่วมมือในระดับพื้นที่และพลังของชุมชน จะเป็นเสมือนหัวใจหลักของการแก้ปัญหานี้
“ปัญหาเรื่องโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ เรารอช้าไม่ได้ เพราะการเสียเวลาเพียงหนึ่งนาที ย่อมหมายถึงเด็กคนหนึ่งอาจอาจสูญโอกาสการเรียนรู้ในระยะยาว ฉะนั้นข้อมูลที่ต้องหาให้ได้เป็นลำดับแรกคือ การค้นหาว่าเด็กที่หลุดจากระบบแต่ละคนอยู่ที่ไ่หน มีความเป็นอยู่อย่างไร และเคยได้รับการศึกษาสูงสุดระดับใด คณะทำงานเราจึงเร่งจัดทำฐานข้อมูล โดยประสานท้องถิ่นลงพื้นที่สำรวจ ค้นหา ทำแผนการช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากเรื่องการศึกษา ฐานข้อมูลรายบุคคลยังทำให้การดูแลช่วยเหลือเด็กครอบคลุมมิติสุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ สภาพสังคม หรือการพัฒนาตนเองตามแนวทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิตได้อีกด้วย
ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นเรื่องการเรียนได้ในทุกที่ทุกเวลา หรือ ‘Anywhere Anytime’ ถือว่าเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีทางเลือก ยืดหยุ่นทั้งเวลาและเงื่อนไข ตอบโจทย์ความต้องการผู้เรียนเป็นรายคน จนเกิดนวัตกรรมการศึกษาที่น่าสนใจตามมา อาทิ การจัดการเรียนรู้แบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ศูนย์การเรียน และ ‘Mobile School โรงเรียนมือถือ
“การทำงานเพื่อส่งต่อโอกาสการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กทุกคนจะไม่มีทางสำเร็จได้ หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพราะการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยชุมชนและคนทุกคน
นิพนธ์ รัตนาคม ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนยุวชนสร้างสุข กล่าวว่า Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการทำให้น้อง ๆ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ได้มีช่องทางเรียนรู้ผ่านการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต เป็นการเรียนรู้ทางเลือกใน ‘ระบบศูนย์การเรียน’ หน่วยจัดการเรียนรู้ ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 15 สามารถจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน ช่วยส่งเสริมผู้เรียนให้เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพและได้รับวุฒิการศึกษา เป็นช่องทางการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบ ซึ่งไม่ว่าจะติดขัดด้วยปัญหาอุปสรรคใดก็ตาม ให้เข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ
จังหวัดสงขลาที่มี 127 ตำบล 16 อำเภอ พบว่ามีเด็กเยาวชนช่วงวัย 3-18 ปีทั้งสิ้นราว 300,000 คน ในจำนวนนี้มีคนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษา 23,681 คน โดยหากจะเปรียบให้เห็นภาพความสำคัญของปัญหา ต้องบอกว่าจำนวนของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ มีเท่า ๆ กับจำนวนประชากรของอำเภอนาหม่อม ที่มีคนอยู่ทั้งสิ้น 23,000 คน อีกทั้งฐานข้อมูลยังบ่งชี้ว่า เด็กเยาวชนจากครัวเรือนรายได้น้อยจะมีโอกาสทางการศึกษาน้อยลงตามไปด้วย โดยเด็กจะมีอัตราการหลุดจากระบบที่สูงขึ้นในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และหลุดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และจะเหลือเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเด็กเยาวชนทั้งรุ่นที่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการเชิงรุก ‘Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา’ เพื่อพาโอกาสการเรียนรู้และวุฒิการศึกษา ไปให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ เริ่มต้นนำร่องใน 25 จังหวัด ด้วยความร่วมมือของ กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะสถานประกอบการ ภาคเอกชน นักวิชาชีพสาขาต่าง ๆ และชุมชน เริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร ก่อนเดินทางมาจัดกิจกรรมครั้งที่สองที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
“จุดเน้นของโครงการ คือการทำงานเชิงรุกไปยังกลุ่มเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบการศึกษา เน้นความยืดหยุ่น ตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียนเป็นรายคน โดยเด็กจะเป็นเจ้าของการเรียนรู้ตามความถนัด ความสนใจ ที่สำคัญต้องเป็นการศึกษาหรือเรียนรู้เพื่อปากท้อง เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และได้วุฒิการศึกษาอย่างน้อย ม.6 เพื่อยกระดับรายได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ
Mobile School เปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา อายุระหว่าง 7 -24 ปี ที่มีข้อจำกัดในชีวิตไม่สามารถเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษารูปแบบอื่นได้ จัดการศึกษาช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคมทั่วประเทศ เป็นหน่วยจัดการการศึกษา จัดการเรียนรู้ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite มีครูพี่เลี้ยง ทำหน้าที่เป็น Learning Designer ช่วยแนะแนว ให้คำปรึกษา และร่วมออกแบบแผนการศึกษา เส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความพร้อม ความถนัด ความสนใจที่แตกต่างกันเป็นรายคน โดยจะทำงานเชื่อมประสานร่วมกับผู้จัดการรายกรณีหรือ Case Manager ของเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งอยู่ในพื้นที่กับน้องๆ กลุ่มนี้
เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา สามารถสมัครเรียน Mobile School กสศ. ได้ที่
อีเมล์ mobileschool@eef.or.th หรือ โทร 02-079-5475 กด 0