เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 กองทุนเพื่อความเสนอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในการใช้ข้อมูลคัดกรองความยากจน ปีการศึกษา 1/2567 เพื่อทำของบประมาณค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมี นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ผู้จัดการ กสศ. และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 77 แห่งเข้าร่วมกิจกรรม
นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สถ. และ กสศ. ได้ร่วมกันค้นหาและคัดกรองความยากจน ช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มเด็กนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในระบบการศึกษา สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 ถึงปัจจุบัน ซึ่งในทุกปีการศึกษามีรายงานว่า สถานศึกษาในหลายพื้นที่ได้ดำเนินการคัดกรองนักเรียนที่มีสถานะยากจนเข้าสู่ระบบคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ข้อแรก ๆ ของการแถลงนโยบายของรัฐบาล ได้นำเสนอนโยบายสำคัญก็คือการสนับสนุนส่งเสริมการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิต Life-Long Learning ทุกช่วงชั้นของชีวิต แล้วก็ให้ความสำคัญกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยใช้คำเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ๆ อยู่ 4 คำ หนึ่งคือความท้าทาย สองคือความหวัง สามคือโอกาส สี่คือความเสมอภาคทางการศึกษา ฉะนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทำหน้าที่สำคัญให้สอดคล้องกับนโยบายเรื่องนี้ คือต้องช่วยกันคัดกรองเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่ให้ตกหล่นในการเรียน และช่วยกันหาช่องทางเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ หาความรู้ที่จะช่วยให้พบทางออกให้ชีวิตไปต่อได้”
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีนักเรียนในสังกัด อปท. ผ่านเกณฑ์ความยากจนมากกว่า 80,000 คน จากสถานศึกษา 1,101 แห่งซึ่งอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ 2,803 บาท/คน/เดือน นักเรียนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันเพราะปัญหาความยากจน
“ตัวเลขการคัดกรองที่เพิ่มขึ้น เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครูในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศที่ร่วมกันลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน ค้นหาและคัดกรองนักเรียนเข้ามาสู่ระบบสารสนเทศเพื่อการคัดกรองความยากจน เพื่อเป็นฐานข้อมูลต้นทางสำคัญที่นำไปสู่การช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นสังกัด เป็นกลไกตัวกลางสำคัญในการสนับสนุน ติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“จากข้อมูลนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ความยากจน จำนวนกว่า 84,000 คน สถ. และ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณ ต้องดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ความยากจนด้วยการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน โดย กสศ. จะช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ในระดับยากจนพิเศษด้วยการจัดสรรเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค จำนวนกว่า 20,000 คน และ อปท. ที่เป็นหน่วยรับงบประมาณจะต้องตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ความยากจน หากนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือในเบื้องต้นจะยิ่งมีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากลางคันเพราะความยากจนได้” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้ขับเคลื่อนมาตรการ Thailand Zero Dropout ตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา พยายามช่วยให้โรงเรียนและผู้ปกครอง มีทรัพยากรเพียงพอในการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการ Top up เงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษ จากที่ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากต้นสังกัดอยู่ด้วย โดยสำนักงบประมาณได้ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง จากปีการศึกษา 2562 อยู่ที่ 1,600 บาท/คน/ปี ปรับเพิ่มในปีการศึกษา 2563 เป็น 3,000 บาท/คน/ปี และในปีการศึกษา 2567 ปรับเป็น 4,200 บาท/คน/ปี
“ทุกหน่วยงานที่คุ้นเคยกับการตั้งงบประมาณ ย่อมทราบดีว่าเป็นไปได้ยากที่จะมีโครงการไหนได้รับงบประมาณเพิ่มเติม 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี การเพิ่มงบประมาณดังกล่าว ทำให้เห็นชัดว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และทราบดีว่าการทุ่มเทงบประมาณในส่วนนี้ เพื่อป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า และเป็นจำนวนที่น้อยกว่าการใช้งบประมาณเพื่อดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วกลับมาเรียน การจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ยังแสดงให้เห็นว่าสำนักงบประมาณมีความเชื่อมั่นเรื่องความสำคัญของข้อมูลรายบุคคลของเด็ก ที่ได้มาจากการคัดกรองและลงไปเยี่ยมบ้านของคุณครูในทุกสังกัด ข้อมูลที่ได้จากการคัดกรอง จะช่วยยืนยันว่านี่คือกลุ่มเป้าหมายในการช่วยเหลือที่มีสถานะยากจนจริง ๆ การทำงานในส่วนนี้ จะทำให้นโยบายด้านการศึกษา มีข้อมูลที่ดีขึ้น ๆ และมีโอกาสที่จะสนับสนุนทรัพยากรด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมกับเด็กในทุกสังกัดอย่างต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าปีการศึกษา 2566 มีโรงเรียนในสังกัด อปท. มากกว่า 900 แห่ง จากสถานศึกษา 1,765 แห่งที่ไม่ได้คัดกรองข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบ ทำให้ อปท. ขาดฐานข้อมูลสำหรับการช่วยเหลือนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ส่งผลให้นักเรียนเสียโอกาสได้รับทุนเสมอภาคและความช่วยเหลือในมิติอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเรียนอนุบาล 1 จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 การมีเงินช่วยเหลือตลอดช่วงการเรียนภาคบังคับให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ ถือเป็นหลักประกันสำคัญในการดูแลนักเรียนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา
ทั้งนี้ นักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค จะได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนโดยอัตโนมัติ ขณะที่โรงเรียนก็จะได้รับงบประมาณเพิ่มเติม โดยนักเรียนชั้นประถมจะได้เงินรายหัวเพิ่มขึ้น 1,000 บาท มัธยมต้นได้ค่ารายหัวเพิ่มขึ้น 3,000 บาท เงินช่วยเหลือจำนวนนี้ จะกลายเป็นงบประมาณที่ช่วยให้โรงเรียนจัดรายการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ได้ จึงหวังว่าจะมีโรงเรียนในสังกัดอปท. ช่วยคัดกรองนักเรียนเพิ่มขึ้น และช่วยกันสร้างความเข้าใจกับโรงเรียนในสังกัด อปท. ผ่านการทำงานร่วมกับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เพื่อให้โรงเรียนในสังกัด อปท. เห็นความสำคัญและสมัครใจคัดกรองความยากจนเพิ่มขึ้น และมีความเข้าใจ เห็นความสำคัญในกระบวนการทำงานเรื่องนี้มากขึ้น
“กสศ. ประมาณการว่า มีเด็กที่อยู่ใต้เส้นความยากจนในสังกัด อปท.ประมาณ 84,000 คน จำแนกเป็นกลุ่มหลัก ๆ คือ 1. เด็กยากจนพิเศษ ที่จะได้รับค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน และเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค 2. นักเรียนยากจน ที่จะได้รับค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ท้องถิ่นไหนมีความตั้งใจที่จะตั้งงบประมาณให้ครอบคลุมเส้นความยากจน สามารถใช้ข้อมูลจาก กสศ. ตั้งงบประมาณปัจจัยพื้นฐานในปีงบประมาณ 2568 กับสำนักงบประมาณเอง ซึ่งหลายแห่งยังไม่ทราบข้อมูลเรื่องนี้ บางท้องถิ่นไม่ทราบว่า การตั้งงบประมาณปัจจัยพื้นฐาน ต้องใช้ข้อมูลจาก กสศ. ซึ่งเป็นตัวเลขเชิงประจักษ์ และข้อมูลต่าง ๆ นอกจากจะใช้ สำหรับตั้งงบประมาณแล้ว ท้องถิ่นยังสามารถใช้ข้อมูลต่าง ๆ สำหรับเสนอโครงการความช่วยเหลือรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความจำเป็นและการทำงานในพื้นที่
“สถ. และ กสศ. พยายามสนับสนุนเรื่องการร่วมกันค้นหาและคัดกรองความยากจนนักเรียนเป็นรายบุคคล เพราะเชื่อในประเด็นของความเหลื่อมล้ำ และเชื่อมั่นว่าการจัดทำข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยให้ท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย ท้องถิ่นขนาดเล็ก สามารถตั้งงบประมาณได้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรด้านการศึกษาที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด และเป็นการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ยั่งยืนได้” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
นายปริญ ภัทรธนชินวัณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กล่าวเสริมว่า อปท. ทุกแห่ง มีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาคุณภาพเด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงวัย เช่นเดียวกับการส่งเสริมโอกาสด้านการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาผ่านการจัดทำงบประมาณ สถ. และ กสศ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดทำคำของบประมาณค่าปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน เพื่อคืนข้อมูลการคัดกรองนักเรียนยากจนในปีการศึกษา 2567 ให้ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปตั้งขอรับงบประมาณรายการเงินอุดหนุนสำหรับส่งเสริมศักยภาพการจัดการศึกษาท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2569 โดยให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เป็นตัวกลางเชื่อมประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ เข้าใจและเห็นความสำคัญของการคัดกรองความยากจนของนักเรียน และจัดทำคำของบประมาณปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนสำหรับช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
“การช่วยกันเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองความยากจนของนักเรียนและจัดทำคำของบประมาณปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน รวมถึงการเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อนมาเป็นฐานข้อมูลของแต่ละพื้นที่ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการทำงานในส่วนนี้ที่ครบถ้วน สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างกลไก ยุทธศาสตร์ เพื่อวางเป้าหมายในการทำงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แก้ปัญหาด้านการศึกษาที่แต่ละท้องถิ่นมีได้อย่างตรงจุด ถือเป็นการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง และถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่นกล่าว
นางสุวัชรา ภูจอมดาว นักวิชาการศึกษาเทศบาลเมืองบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า การละเลยการคัดกรองความยากจนนักเรียนเป็นรายบุคคล จะสร้างผลกระทบกับส่วนที่ไม่ได้กำกับดูแล นั่นก็คือเรื่องของครูกับนักเรียน ส่งผลให้เด็กขาดโอกาส ขาดความช่วยเหลือในส่วนที่สมควรได้รับ แต่ก็มีเด็กจำนวนหนึ่งไม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการเปิดโอกาสให้ครูไปเยี่ยมบ้าน เพราะไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลของครอบครัว และเชื่อว่ามีเด็กที่มีฐานะยากจน มากกว่ายอดที่กรอกในระบบ เพราะเมื่อดูจากสภาพของครอบครัว ดูจากพ่อแม่ที่มาส่งลูกที่โรงเรียนแล้ว หากได้มีการเยี่ยมบ้านจริง ๆ น่าจะมีโอกาสในการเก็บข้อมูลและหาทางช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้น และหลังจากนี้จะพยายามสร้างความเข้าใจและกำชับให้ครูเยี่ยมบ้านและช่วยคัดกรองเด็กมากขึ้น
นางโชติกา รัตนสร้อย นักวิชาการศึกษาเทศบาลเมืองบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ข้อดีของการให้ความร่วมมือในการคัดกรองความยากจนนักเรียนเป็นรายบุคคล จะช่วยทำให้พื้นที่ มีข้อมูลที่เข้าถึงตัวเด็กแต่ละคนได้โดยตรง
“การคัดกรองในแต่ละโรงเรียน จะช่วยให้ผู้ปกครองได้รับเงินช่วยเหลือ เพราะหลายครอบครัวแม้จะอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ก็มีสถานะที่ค่อนข้างยากจน อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่ไม่ใช่พ่อแม่ อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ในบ้านพักที่เป็นเพิงพักชั่วคราว ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เด็กนักเรียนบางคนไม่มีกระทั่งเงินซื้อกระเป๋านักเรียน บางครอบครัวก็ต้องไปอาศัยวัด การเจาะลึกข้อมูลเด็กของแต่ละห้อง โดยเริ่มจากครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญมากหากไม่มีการเยี่ยมบ้านเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ก็อาจจะไม่ทราบข้อมูลความเดือดร้อนของเด็กในบางครัวเรือนเลย” นักวิชาการศึกษาเทศบาลเมืองบัวใหญ่ กล่าว