“พื้นที่ปลอดภัย” จะช่วยฟื้นฟูใจ สร้างพลังให้เด็กเยาวชนลุกขึ้นก้าวเดินได้อย่างมั่นคง

“พื้นที่ปลอดภัย” จะช่วยฟื้นฟูใจ สร้างพลังให้เด็กเยาวชนลุกขึ้นก้าวเดินได้อย่างมั่นคง

เด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา สาเหตุไม่ได้มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจเพียงประการเดียว สุขภาวะทางจิตของเด็กก็เป็นประเด็นสำคัญ กรมสุขภาพจิตประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำว่า 20 ปีกว่า 1.8 แสนราย ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564 พบว่าวัยรุ่นมีความเครียดสูง 28% เสี่ยงซึมเศร้า 32% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% ระบุว่าวัยรุ่นมีเครียดสูง การเข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น ยังพบบางรายมีความขัดแย้งในครอบครัวนำไปสู่การฆ่าตัวตาย*

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ในการสร้างสุขภาวะทางจิตกับกลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งที่หลุดออกจากระบบ และที่อยู่ในระบบ ซึ่งในงาน All for Education : Education for All “ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน” เวทีเสวนา “Heart & How หนทางกู้ใจ เพิ่มพลัง ต่อแรงคนทำงาน” รวมเอาเครือข่ายคนทำงานด้านการสร้างสุขภาวะทางจิตให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งที่หลุดจากระบบและอยู่ในระบบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน

“พื้นที่ปลอดภัย” เป็นเครื่องมือสำคัญที่วงเสวนาได้กล่าวถึงว่าช่วยฟื้นฟู สร้างกำลังใจ ให้เด็กและเยาวชนสามารถลุกขึ้นก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงอีกครั้ง

โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย

อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์

อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดูแลหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเครือข่ายของ กสศ. ในการทำโครงการห้องเรียนข้ามขอบ เรื่องการศึกษายืดหยุ่นกับเด็กกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง นำร่องที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นอกจากนั้นยังมีโครงการก่อการครู พัฒนาครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง และโครงการโรงเรียนปล่อยแสง เป็น School Base ที่มีโจทย์ว่าถ้าทำการเปลี่ยนแปลงในระบบ จะต้องทำอะไรบ้าง

อาจารย์อธิษฐาน์กล่าวว่าเด็กเหมือนกับต้นไม้ จะเติบโตได้ก็ต้องอยู่ในระบบนิเวศที่ดี ครอบครัวและโรงเรียนคือระบบนิเวศของเด็กที่ต้องร่วมกันดูแล 

“ถ้าครูมีการสอนที่ดี ดูแลเด็กได้ดี แต่ครอบครัวคิดไม่ตรงกัน ก็ต้องจูนเข้าหากัน ในกรณีที่พ่อแม่ต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาเข้ามาร่วมกิจกรรม โรงเรียนก็ต้องมาหาแนวทางสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ยกตัวอย่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นที่วัฒนธรรมในโรงเรียน ครูต้องฟังเด็กก่อน ไม่ด่วนตัดสินเมื่อเกิดปัญหา เป็นมิตรกับเด็ก สำหรับวัยรุ่นการที่มีใครฟังเขา ไม่ด่วนตัดสินจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย เมื่อมีปัญหาก่อนจะจมดิ่งลงไป ก็รู้ว่ามีคนที่จะบอกได้

“อีกอย่างหนึ่งคือถ้าเด็กมีทักษะในการรับฟังกันได้ดี เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ มีเด็กในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ไปทำงานด้วย ถามว่าอยากจะทำโครงการอะไร เขาบอกว่าอยากทำพื้นที่ปลอดภัย ช่วยเพื่อนให้มีที่ระบายความทุกข์ เพราะในพื้นที่การเรียนปกติ ไม่มีพื้นที่ให้เด็กมาบอกความรู้สึกตัวเองเลย ถูกคาดหวังว่าต้องเรียนให้ดี ต้องเรียนให้เก่ง พ่อแม่ก็กดดัน ครูก็คาดหวัง พอน้องทำเรื่องนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างเกินความคาดหมายในโรงเรียน ถ้าครูเข้าใจ เด็กก็จะรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย”

สร้างครูผู้เปลี่ยนแปลงด้วยจิตตปัญญา

Image Caption

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ได้รับทุนจาก กสศ. ในการทำโครงการพัฒนาความร่วมมือระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และการศึกษาร่วมกับเทศบาลนคร จังหวัดนครสวรรค์ เข้าไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดระบบและเด็กหลุดระบบ และดูแลโครงการพัฒนาสถานศึกษาจิตตศึกษาโรงเรียน สพฐ. ไซต์เอสเอส เพื่อให้ครูใช้เครื่องมือจิตตศึกษาเข้าไปในชั้นเรียน และปรับให้ชั้นเรียนนั้นสร้าง Self Esteem กับเด็ก เพื่อลดการ Dropout 

“จิตตปัญญามีการฟังอย่างลึกซึ้ง เปิดพื้นที่ช่วยเหลือ เราทำงานกับคุณครูในเทศบาลเมืองนครสวรรค์ 100% โดยการพัฒนาศักยภาพของครูก่อน ครูต้องเปลี่ยนตัวเอง มีการอบรมและดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ให้มีแรงบันดาลใจเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเรียนแห่งความสุข เรียกสั้น ๆ ว่านครสวรรค์โมเดล ต้องเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบ ลงไปคุยกับเด็กด้วยตาราง 4 ช่อง เป็นตัวช่วยให้เกิดบทสนทนา เป็นเรื่องเป้าหมายในอนาคต มีปัญหาอะไรที่ทำให้ไม่ไปถึง มีความชอบความถนัดอะไร ให้กลับมาสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ครูจะฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่แทรก เมื่อเก็บข้อมูลแล้วก็นำมาพิจารณาการช่วยเหลือ ทำแผนไปคุยกับเด็กและผู้ปกครองอีกครั้ง การช่วยเหลือทำโดยภาคีเครือข่าย”

บ้านสานใจพื้นที่ของการไม่ตัดสิน

นายชานนท์ ปรีชาชาญ จากศูนย์เรียนรู้มโนห์รา บ้านปากลัด สุราษฎร์ธานี ได้รับทุนจาก กสศ. ในการทำโครงการส่งเสริมสุขภาวะกายใจเด็กนอกระบบศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในพื้นที่อำเภอเวียงสระ 5 ตำบล เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาใด โดยคนทำงานจะมีทั้งข้าราชการ กลุ่มชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนที่รวมตัวกันทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้  อีกโครงการหนึ่งคือโครงการพื้นที่สุขภาวะปลอดภัย ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ฟื้นฟูใจให้เด็กและเยาวชน  

“สร้างกิจกรรมจากภูมิปัญญา เรียนรู้วัฒนธรรม สัมมาอาชีพ ความเข้าใจถึงเพศสภาพ รู้จักบทบาทและหน้าที่ ศูนย์การเรียนรู้ จะมีหลักสูตรที่เด็กร่วมออกแบบ เช่น อาหารการกินในท้องถิ่น เด็กนอกระบบการศึกษาในอำเภอเวียงสระมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจะเข้าไปเรียนรู้ปัญหาของเด็กก่อน การแก้ปัญหาใช้ความไว้วางใจ และให้เป็นการเรียนรู้ของเขาเอง วางเป้าหมายของตัวเอง เรียนรู้ทักษะชีวิต พัฒนาความรู้ที่สนใจ ส่งเสริมทักษะอาชีพ ศูนย์ฯ มีเด็กเข้ามาเรื่อย ๆ  ทั้งเด็กในระบบ และนอกระบบ เราพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ทำกิจกรรมร่วมกันได้ มีความรัก การโอบอุ้มซึ่งกันและกัน”

ลดความเครียดด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย

อาจารย์ประทิน เลี่ยนจำรูญ จากวิทยาลัยเทคนิคพังงา ดูแลนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นนักเรียนทุน กสศ. ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 6 พบปัญหาภาวะความเครียด ภาวะซึมเศร้าในเยาวชนกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง เพราะอยู่ในช่วงวัยรุ่น และส่วนใหญ่มีปัญหาซับซ้อน จึงสร้างเครือข่ายในการร่วมกันแก้ปัญหา เช่น ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพังงา ที่มีทั้งทีมจิตแพทย์ และนักจิตเวช

อาจารย์ประทิน เลี่ยนจำรูญ

“พ่อแม่บางคนอยู่ในเรือนจำ ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ดึงเด็กเข้ามา มีโอกาสจะเข้าไปใช้สารเสพติด หรือ เข้าไปอยู่ในเรือนจำ นอกจากนักเรียนทุน กสศ. ยังมีเด็กจากสถานพินิจฯ สถานสงเคราะห์  ค่อนข้างเยอะด้วย ลำพังอาจารย์ผู้สอนก็คงรับมือไม่ไหว แต่การทำงานร่วมกับเครือข่ายทำให้สามารถรับมือได้ การคัดกรอง เราก็จะเห็นว่าเด็กมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง ระดับใด มีการเสริมสร้างทักษะชีวิต คลินิกสุขกาย สบายใจ ถ้าพบเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าสูงมากก็ต้องส่ง รพ. เมื่อกลับมาแล้ว ต้องกินยาประจำ ครูจะเป็นผู้จัดยาให้ มีกระเป๋ายาของแต่ละคน เพราะถ้าปล่อยให้เด็กกินยาเอง เด็กอาจไม่กิน และมีอาการหนักขึ้น ครูจะไปพบแพทย์กับเด็ก เพื่อให้ทราบอาการโดยให้เด็กคุยกับแพทย์ก่อนตามลำพัง เราต้องใช้กล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันเด็กทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย” 

“เรามีกิจกรรมหลากหลายที่ทำให้สนุก นอกจากการเรียน สนับสนุนทุน ให้เด็กจัดกิจกรรมเอง การท่องเที่ยวและกีฬาก็เอาโปรกอล์ฟมาสอน เด็กสามารถเลือกได้ว่าอยากจะทำกิจกรรมอะไร เด็กที่เรียนการท่องเที่ยวก็ต้องไปฝึกการเป็น Life Guard แล้วจะได้ประกาศนียบัตร เอาไปทำงานได้ เพราะตามกฎหมายการท่องเที่ยวทางทะเล นักท่องเที่ยว 4 คนต้องมี Life Guard 1 คน มีกิจกรรมท่องเที่ยว ฝึกสมาธิ ปลูกต้นไม้ เข้าวัด เก็บขยะ ออกบูธหารายได้ มีงานนวด สปาที่เด็กสามารถหารายได้ ซึ่งหน้าวิทยาลัยก็จะติดป้ายรับงานนวด สปาให้เด็กทำด้วย”

นวัตกรรม App. Save Zone เพื่อนช่วยเพื่อน

นายนาถวัฒน์ ลิ้มสกุล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. รุ่นที่ 1 ซึ่งเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคพังงา เป็นผู้พัฒนา Application Save Zone ชนะการประกวดในโครงการของ สสส. เรื่องนวัตกรรมสุขภาพ

“เกิดจากในช่วงโควิด นักศึกษาต้องปรับตัวทั้งด้านการเรียน การเงิน ได้อ่านงานวิจัยประเทศในโซนยุโรป เยาวชนมีหลักสูตรการรับมือกับอารมณ์ ก็มองว่าเมืองไทยไม่เคยเรียนเลย จึงคิดมาสร้างเครื่องมือที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย คือ App. Save Zone ให้มาผ่อนคลายความเครียดด้วยกัน โดยเข้าร่วมโครงการ สสส. เรื่องนวัตกรรมด้านสุขภาพ เลือกสุขภาพจิต เพราะได้เห็นภาวะความเครียดจากเพื่อนในวิทยาลัย ไปหางานวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุ แล้วก็คิดเครื่องมือ โชคดีที่เรามีนักจิตวิทยา จิตแพทย์จาก รพ.พังงา มาร่วมด้วย ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าแทนที่จะคิดโจทย์ขึ้นมาเอง ลองไปถามผู้ใช้งานว่าอยากได้อะไรจะดีกว่า จึงลงไปถามกลุ่มเป้าหมายว่า เวลาเครียดทำอะไรบ้าง แล้วมาตกตะกอนเป็น Function ใน App. มากลั่นกรองการใช้คำ ใช้เวลา 2 ปี ไม่ใช่เครื่องมือรักษา เป็นพื้นที่ผ่อนคลาย เป็นพื้นที่ปลอดภัย กลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ เครื่องมือที่ใช้เป็นการฝึกทักษะการรับมือกับอารมณ์ตนเอง แต่ไม่การันตีว่าจะใช้ได้กับทุกคน เช่น เครื่องมือนั่งสมาธิ ตัวอย่างน้องที่มีภาวะซึมเศร้าก็ใช้เครืองมือนี้ควบคู่ไปกับการรักษา ซึ่งตอนนี้หายแล้ว และไปศึกษาต่อด้านสุขภาพจิต น้องเข้ามาบอกว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งของชมรมนี้ ก็เลยกลายเป็นชมรม Save Zone จาก App. กลายเป็นพื้นที่ เป็นกลุ่มสังคมในวิทยาลัย จากการใช้ App. เป็นฐาน ทักษะต่าง ๆ ได้นำมาปรับใช้กับตัวเอง และครอบครัวด้วย น้อง ๆ ที่ใช้ก็รับมือกับอารมณ์ได้ดีขึ้น ปัจจุบันมีน้อง ๆ สานต่ออยู่”

พื้นที่ปลอดภัยจึงตั้งต้นจากการรับฟัง อย่างไม่ตัดสิน ความเข้าใจจะช่วยฟื้นฟูใจ สร้างพลังให้พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินท์ ผู้ดูแลโครงการพัฒนาเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา กล่าวว่านักเรียนอาชีวะมีภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะเด็กยากจน จากประสบการณ์วัยเด็ก ถูกทำร้าย และปัญหาครอบครัว ครูจึงต้องเฝ้าระวัง มี APP. Online ชื่อ Project School Health Hero เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเฝ้าระวังสุขภาพจิตเด็กที่ครูนำไปใช้ได้ มีความหวังว่าต่อไปสถานศึกษากับสถานพยาบาลคุยกันด้วยภาษา “สุขภาวะ” ได้มากขึ้น

อ้างอิง : ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยกว่า 1.8 แสนราย พบเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า ติดจอติดเกมออนไลน์มากขึ้น!!