พ.ร.บ.การศึกษาฯ มาตรา 12 กฏหมายแห่งความเสมอภาคทางการศึกษา โอกาสที่ยังรอความเข้าใจ
คุยกับ วรวัส สบายใจ

พ.ร.บ.การศึกษาฯ มาตรา 12 กฏหมายแห่งความเสมอภาคทางการศึกษา โอกาสที่ยังรอความเข้าใจ คุยกับ วรวัส สบายใจ

นอกเหนือจากรัฐ เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นมี สิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนด ในกฎกระทรวง” มาตรา 12 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แม้ว่าจะเป็นเวลากว่าทศวรรษ ที่พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 อนุญาติให้หน่วยต่างๆ ของสังคม ไม่เฉพาะโรงเรียน สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตามกฏหมาย จนเกิดเป็นโฮมสคูล บ้านเรียน กลุ่มการเรียน ไปจนถึงศูนย์การเรียนต่างๆ แต่กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางปฏิบัติ ยังมีหลายภาคส่วนในสังคม หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน ยังขาดความรู้ความเข้าใจ เรื่องสิทธิ และกระบวนการทำงานให้สัมฤทธิ์ผลตามกฏหมายดังกล่าว

“จริงๆ แล้วในเชิงกฏหมายทำได้ แต่ในเชิงขั้นตอน จะมีวิธีการเปรียบเทียบยังไงที่จะดึงประสบการณ์ของเด็กออกมาเพื่อประเมินแบบเด็กที่นั่งเรียนทำแบบฝึกหัดในห้องเรียน นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องทำงานกันต่อ”

ป้อมปืน -วรวัส สบายใจ นักวิเคราะห์การเรียนรู้ (Learning Analyst) เล่าให้เราฟัง เมื่อถามถึงการนำมาตรา 12 ในพ.ร.บ. การศึกษาฯ มาใช้ในทางปฏิบัติ

ในฐานะที่ ป้อมปืน เป็นเด็กบ้านเรียนรุ่นแรกๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ 2542 เขาเห็นวิวัฒนาการของการศึกษานอกโรงเรียนในประเทศไทยอย่างไร และมีทัศนคติเกี่ยวกับ มาตรา 12 ใน  พ.ร.บ. การศึกษาฯ 2542 อย่างไรบ้าง บทความนี้ กสศ. ชวนคุยกับ ป้อมปืน – วรวัส  ไม่ใช่แค่ในฐานะที่เขาเป็นเด็กบ้านเรียนรุ่นแรกเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะเขาคือผลผลิตหนึ่งจากมาตรา 12 ที่คลุกคลีอยู่ในวงการศึกษานอกโรงเรียน ทั้งในฐานะผู้เรียน ผู้ขับเคลื่อน และผู้สังเกตการณ์ มาจนถึงปัจจุบัน 

การแบ่งปันทัศนคติผ่านประสบการณ์ตรงของป้อมปืน อาจช่วยให้หลายๆ คนเข้าใจความหลากหลายทางการศึกษา และนำไปสู่การเปิดใจให้กับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันได้มากขึ้น

อยากให้เล่าถึงบรรยากาศช่วงแรกของการทำโฮมสคูล

ต้องบอกว่า ผมโตมาพร้อมๆ กับการมีกฏหมายรับรองการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งบรรยากาศช่วงเริ่มต้นนี่ ผมรู้สึกว่าคึกคักและเฟรนด์ลี่กว่านี้ น่าจะเป็นเพราะกำลังร่างกฏหมาย ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐ ก็เลยจะมีเวทีทำความเข้าใจเต็มไปหมด การทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับครอบครัวก็คุยกันเข้าใจ น่าจะเป็นเพราะกฎระเบียบ งานเอกสารยังไม่ตึงเหมือนทุกวันนี้ด้วย เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลจากการศึกษาในระบบด้วย เพราะว่าปี 42 ตอนที่ออกกฏหมายฉบับนี้ มันตามมาด้วยหลักสูตรแกนกลาง 44 ที่ค่อนข้างยืดหยุ่น มันไม่ได้กำหนด รายละเอียดตัวชี้วัดระหว่างทาง จนกระทั่งช่วงปี 51 ที่มีการปรับตัวชี้วัดแน่นมากๆ บรรยากาศหรืออะไรหลายๆ อย่างก็เลยอาจจะตึงขึ้น

หมายความว่าการจัดการเรียนรู้โดยครอบครัวในยุคแรกๆ ค่อนข้างราบรื่นกว่าปัจจุบัน

ก็จะมีความขลุกขลักในทางปฏิบัติบ้าง อย่างเรื่องระยะเวลาที่ในกฎกระทรวงระบุว่าต้องได้รับอนุญาต แต่ผมรอเป็นปี เขาก็ยังไม่ติดต่อมา เราก็จะงงๆ นะว่าติดต่อมาแบบนี้แปลว่าจบหรือเปล่า หรือว่าต้องมีหนังสืออะไรยืนยันไหม เอาจริงๆ แม้ว่าในเชิงระบบจะมีความขลุกขลัก แต่ในเชิงความสัมพันธ์ การทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับครอบครัวค่อนข้างโอเคประมาณนึงเลย

คิดว่าปัญหาความขลุกขลักในช่วงแรกๆ นั้นเกิดจากอะไร 

พอเป็นราชการ มีการโยกย้าย ก็ไม่ยั่งยืน เลยทำให้มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ การทำงานกับกระทรวงส่วนกลาง การสื่อสารกับทุกๆ พื้นที่หรือทุกเขต ให้เข้าใจตรงกันต้องใช้เวลา กว่าความเข้าใจนี้จะถ่ายทอดออกไปให้เห็นตรงกัน พอมีการโยกย้าย มีคนใหม่เข้ามาก็ต้องสื่อสารกันใหม่ เลยจะขลุกขลักเป็นธรรมดา

เรียกได้ว่าคุณอยู่กับโฮมสคูลในประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มต้นเลยหรือเปล่า 

ผมเริ่มเรียนโฮมสคูลตั้งแต่ปี 2540 ตอนนั้นยังไม่มีมาตรา 12 ก็ใช้วิธีฝากชื่อที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ถ้าจะพูดกันจริงๆ พ.ร.บ. การศึกษาฯ มาตรา 12 นี้ ใช้เวลา 10 ปีกว่าจะสมบูรณ์ ไทม์ไลน์ก็คือ เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ตามมาด้วยการออกพ.ร.บ. การศึกษาฯ ปี 2542 หลังจากนั้นอีก 5 ปี คือ พ.ศ. 2547 จึงผลักดันออกกฏกระทรวง พอปี 2549 ก็ออกคู่มือฉบับแรก จนกระทั่งปี 2554 ถึงจะมีหลักเกณฑ์ว่าโฮมสคูล กับ การศึกษาในระบบโรงเรียน มีวิธีการจัดการไม่เหมือนกัน แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาจากตรงนั้น ซึ่งถ้าให้เทียบจากไทม์ไลน์ ปี 40 เป็นช่วงที่ผมอยู่อนุบาล พอปี 2542 ผมอยู่ประถม ก็พอดีกับที่มี พ.ร.บ. การศึกษาฯ ปี 2542  พอปี 2549 คู่มือออก ผมอยู่ ม.1 ก็เริ่มมีระเบียบวิธีการจดทะเบียนโฮมสคูลอะไรต่างๆ ตามมา

เมื่อมองย้อนไปคิดว่าการทำโฮมสคูลในยุคแรกๆ กับปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

ผมว่ามันก็ค่อยเป็นค่อยไปในกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ ขับเคลื่อนกันมา เพราะโฮมสคูลมันเกิดขึ้นกับคนที่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาและหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทีนี้พอต้องไปปะทะกับระบบระเบียบ ก็ต้องมีการต่อรองกัน การประชุมช่วงปี 2547 – 2548 ก่อนร่างคู่มือ ช่วงนั้นน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลยในการคุยกับหน่วยงานรัฐที่ดูแลกลุ่มบ้านเรียน ก็มีการคุยกันว่า กระบวนการเรียนรู้ของพวกเราแตกต่างอย่างไร บางทีพ่อแม่ไม่ได้กำหนดเนื้อหา เด็กเลือกเองมากกว่า ซึ่งต่างจากระบบโรงเรียนที่เขาใช้วิธี Outcome Approach ภาคบังคับของโรงเรียนมันคือการเรียนหนังสือให้ครบ 8 เรื่องตามที่เขากำหนดมา ก็มีการพูดคุยพยายามสร้างความเข้าใจกันว่ารูปแบบการเรียนรู้ต่างกัน เพราะกระทรวงก็อยากให้พ่อแม่เขียนแผนให้ชัดจะเรียนอะไรในแต่ละวัน พ่อแม่ต้องรู้สิว่าจะสอนอะไรลูก แต่ในทางปฏิบัติโฮมสคูลจะเอาความสนใจผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ช่วงนั้นเลยมีการถกเถียงกันเยอะระหว่างทีมของกระทรวงกับพ่อแม่ที่ทำบ้านเรียน แม่ผมเล่าให้ฟังว่าตอนนั้น แม่ไปประชุมที่กระทรวง เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าพ่อแม่ต้องรู้สิว่าแต่ละวันจะสอนอะไร แล้วแม่ก็ชี้มาที่ผมว่าเห็นผมไหม ช่วงนั้นผมอยู่ประมาณประถมปลาย แล้วกำลังสนใจกาพย์เห่เรืออะไรพวกนั้น ก็หอบเรือหอบอะไรไป เพราะผมรู้ว่าชีวิตเราเป็นแบบนี้ ตามแม่ไปประชุมเราก็จะเตรียมอะไรไปทำเพื่อไม่ให้เบื่อ นี่คือการเรียนรู้ของเรา แม่ก็ถามคนในกระทรวงว่า อันนี้ไม่ได้วางแผนเลยนะว่าจะต้องทำเรื่องนี้ อันนี้ก็เลยเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าเราไม่ได้เอาเนื้อหาจากครูเป็นตัวตั้ง แต่เอาชีวิตเรา เอาความสนใจผู้เรียนเป็นตัวตั้ง เป็นการปักหมุดทางวิชาการ แล้วมันก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ 

อย่างหลักสูตรแกนกลางบังคับใช้กับเด็กทุกคน แต่วิธีบังคับใช้เป็นวิธีที่ทำได้ในโรงเรียนเท่านั้น มันก็เลยตามมาด้วยการออกหลักเกณฑ์ การบังคับใช้หลักสูตรแกนกลาง นิยามคำว่ากลุ่มสาระ และกลุ่มประสบการณ์ขึ้น มีความยืดหยุ่นเรื่องจำนวนชั่วโมงเรียน ความยืดหยุ่นเรื่องการวัดประเมินผล ความยืดหยุ่นเรื่องช่วงชั้นตัวชี้วัด ก็เป็นวิวัฒนาการที่ตามมา 

คุณคิดว่ามาตรา 12 ที่ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นมีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในทางปฏิบัติแล้วทำได้จริงแค่ไหน 

ในแง่ของมาตรา 12 เคลียแล้วว่าทุกคนมีสิทธิ์ ไม่ว่าจะบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน อะไรต่างๆ นั้น ทั้งหมดเคลียแล้วในเชิงสิทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติในเขตพื้นที่การศึกษาก็ยังมีความลักลั่นกันบ้าง ก็ว่าไป ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นกระบวนการเรียนรู้ว่าเมื่อมีสิทธิ์จัด แล้วมีสิทธิ์จัดกระบวนการเรียนรู้แบบไหนได้บ้าง ก็เป็นการพยายามหาความเป็นไปได้ทางวิชาการร่วมกัน เพราะทุกอย่างถูกควบคุมไว้ด้วยหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551 เพราะฉะนั้นนั้นการศึกษาก็ต้องทำงาน ทั้งเรื่องหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การวัดประเมินผล ที่ถูกคุมไว้ด้วยหลักสูตรแกนกลางแบบเดียว แต่ทีนี้การทำโฮมสคูลคือความหลากหลาย ก็เลยต้องมาคุย มาปรับกัน ให้ตรงกันในเป้าหมาย แต่หลากหลายในทางปฏิบัติ หลักสูตรที่กระทรวงต้องเขียน ไม่ได้เขียนเพื่อโรงเรียนเท่านั้น แต่เขียนเพื่อเด็กทุกคนที่หลากหลาย มันก็เลยเป็นวิวัฒนาการว่าปี 47 เรายืนยันสิทธิแล้วระหว่างนั้นเราก็ยังต้องอธิบาย ขับเคลื่อนองค์ความรู้ให้เขาเห็นว่ามันหลากหลายกว่านั้น 

อยากให้ขยายความคำว่า ตรงกันในเป้าหมาย แต่หลากหลายในทางปฏิบัติ

คือในแง่ทำจริงๆ เขาเข้าใจความหลากหลายนี้แค่ไหน จะบอกว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจจริงๆ ก็มี ในมุมผม คิดว่ายังต้องมีการทำงานปรับปรุงในการขับเคลื่อนทางวิชาการอีกประมาณหนึ่ง เพื่อให้เห็นว่ารูปร่างหน้าตาของการศึกษาที่มีความหลากหลายมันกว้าง ยืดหยุ่นได้แค่ไหน ผมเข้าใจเจ้าหน้าที่ว่าเขาก็ต้องถูกหัวหน้าประเมิน เขาอยู่ในระบบที่เข้มมากๆ แต่การศึกษานอกโรงเรียน เป็นอะไรที่ยืดหยุ่นมาก ไร้กระบวนท่ามากๆ ก็น่าจะต้องมีวิธีบริหารจัดการอีกรูปแบบหนึ่งไหม ซึ่งเจ้าหน้าที่บางคนเขาเข้าใจนะ แต่ทำอะไรในเชิงโครงสร้างไม่ได้ เพราะว่าโครงสร้างมันไม่เคยมีประดิษฐกรรมนี้มาก่อน ขณะที่ฝั่งโรงเรียนมี 4,000 ตัวชี้วัด เป็นอะไรที่หยิบจับได้ เป็นระบบระเบียบ การทำความเข้าใจอะไรที่ต่างกันสิ้นเชิงอย่างบ้านเรียนก็เลยต้องมีการพูดคุย ค่อยๆ ปรับกันไป

อยากให้เล่าว่า มาตรา 12 จะเป็นประโยชน์กับเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้อย่างไรบ้าง

ต้องเล่าว่าเรามีประสบการณ์ตรง ช่วงนั้นตัวผมเองหลุดจากระบบไปแปปนึง แล้วก็หาทางกลับมาใหม่ โดยการใช้กลไกมาตรา 12 นี่แหละเป็นช่องทางกลับเข้ามา หลายคนพอหลุดจากโรงเรียนหรือแพทเทิร์นของการศึกษาไปแล้วก็อาจจะหาทางกลับยาก ถ้าไม่เรียน กศน. หรือสอบเทียบ ก็จะแทบไม่มีช่องทางกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่เราใช้กลไกมาตรา 12 ที่ให้อำนาจเขตพื้นที่การศึกษา กลับเข้ามาสู่ระบบการเรียนรู้ แล้วผมเคยทำวิจัยโดยมีโจทย์ว่า  ทำไมเด็กที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ถึงไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับวุฒิได้ แต่พอไปเปิด พ.ร.บ.จริงๆ มันเอื้อหมดเลย ทั้งในแง่มาตรา 12 หรืออย่างมาตรา 15 ที่ระบุว่า การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาใน ระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็น หรือในหนึ่งโรงเรียนจะจัดการศึกษา 3 รูปแบบเลยก็ได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีโรงเรียนที่จัดการศึกษา 3 ระบบแล้ว ผมว่าในเชิงกฏหมายมันทำได้ แต่ในเชิงขั้นตอน องค์ความรู้จริงๆ ที่ดึงเอาประสบการณ์ของเด็กมา จะวัดอย่างไรเมื่อเทียบกับเด็กทำแบบฝึกหัดในห้องเรียน ประมาณนั้น 

หมายความว่าการนำมาตรา 12 มาใช้จริง ปัญหาอยู่ที่การประเมินวัดผลหรือเปล่า

รู้สึกว่าเป้าหมายใหญ่ ไม่ใช่การประเมิน แต่สิ่งที่ควรพูดถึงใหญ่กว่านั้นคือทำยังไงให้เมืองทั้งเมือง หรือทั้งสังคมซับพอร์ทประสบการณ์บางอย่างที่เด็กบางคนเข้าไม่ถึง ยกตัวอย่างอินไซด์จากตัวผมเอง ผมเรียนคณะผู้ประกอบการสังคม ตอนมหาลัย แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นช่องว่างหรือสิ่งที่เราไม่สามารถเขยิบเข้าใกล้ได้คือทักษะของการทำธุรกิจ เพราะผมเติบโตมากับครอบครัวข้าราชการ เมื่อเทียบกับเพื่อนที่พ่อแม่ทำธุรกิจ เขามีสมรรถนะ มีวิธีคิด มีมุมมองต่างๆ ที่เราไม่ได้ถูกหล่อหลอมมา มันจึงยากมากเลยที่เราจะทำโปรเจกต์หรืออะไรบางอย่างที่เป็นธุรกิจให้เกิดขึ้น นี่คือตัวอย่างจากประสบการณ์ผมเอง แล้วทีนี้สำหรับชนชั้นแรงงานที่อยากมีธุรกิจ ก็ยิ่งยาก เพราะเขาขาด Mind Set บางอย่างของวิธีการทำธุรกิจ เขาไม่มีวิธีคิดแบบนั้น ผมเลยคิดว่าประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลายและเปิดกว้าง ควรมีการจัดสรรให้เป็นสมบัติสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ลองเรียนรู้ได้ เพื่อให้เกิดฐานคิด แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะมาทางนี้หรือมาทางอื่น แต่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยไม่ตอบสนองฟังก์ชันนี้ คือการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้เด็กทุกกลุ่ม แบ่งปันความรู้ให้เด็กเขามีโอกาสเรียนรู้สิ่งที่อยากเรียน เพื่อโตขึ้นแล้วเขาจะมีฐานคิดประกอบการตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับชีวิตต่อไป ส่วนเรื่องการประเมินมันคือปลายทาง ที่จะบอกว่าเด็กคนนี้มีสมรรถนะ แต่ที่สำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นคือ การสร้างประสบการณ์ และพื้นที่ทดลองที่จำเป็นต้องมี  สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สังคมควรมาคุยกัน ว่าจะจัดสรรให้เด็กทุกคนได้อย่างไร มันอาจเป็นการจัดการศึกษาแบบอื่น ที่อาจไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หรือในชั่วชีวิตเราก็ไม่เป็นไร ก็คิดว่าค่อยๆ ขยับ เพราะมันคือการเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการ เซตหน้าตาโลกการศึกษาใหม่เลย

คุณคิดว่าสิ่งที่ทำให้สังคมไทยอาจยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่เด็กทุกคนเข้าถึงประสบการณ์เรียนรู้ได้เท่าเทียมกันคืออะไร

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากชุดความคิดของคนในสังคม ผมเคยทำรีเสิร์ช แล้วเจอคำพูดที่น่าสนใจจากกลุ่มพ่อแม่ ว่าเวลาเลือกโรงเรียน เขาเลือกซื้อสังคมให้ลูก เขายินดีจ่ายให้ลูกไปโรงเรียนนานาชาติเพื่อจะได้อยู่ในสังคมที่ดี พ่อแม่กู้หนี้ยืมสิน ทำงานแทบตายเพื่อซื้อสังคมให้ลูก Mental Model นี้ขับเคลื่อนระบบการศึกษาของเราอยู่ พอมีการมองว่าเราต้องซื้อสังคมให้ลูก แล้วเด็กที่พ่อแม่เอื้อมไม่ถึงสังคมเหล่านั้น ก็อาจกลายเป็นเด็กที่ตกหล่น ต่างจากฟินแลนด์ที่ทุกโรงเรียนเท่ากัน เด็กทุกคนเป็นเพื่อนกันได้หมดไม่ได้แบ่งชนชั้น  ต่างตนก็เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน แล้วต่อไปประเทศก็จะขับเคลื่อนด้วยคนกลุ่มนี้ที่เห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจบริบทชีวิตของกันและกัน แต่บ้านเรา โตมากับการแบ่งแยก ตั้งแต่ประเภทโรงเรียน ไปจนถึงการแบ่งชั้นในโรงเรียน มีห้องคิง ห้องบ๊วย อะไรแบบนี้ ทุก Element การดีไซน์โรงเรียนของไทย เป็นการแบ่งชนชั้น เลยอาจจะยากมากๆ เวลาเราทำงานกับ สสส. ก็ต้องใช้เวลากับการสร้างเครือข่ายสร้างความรู้จัก ความเข้าใจ เพราะสิ่งที่เราทำ ไม่เคยมีในสังคมไทย ต้องลงทุนเรื่องนี้ จริงๆ อันนี้ก็ไม่ได้เป็น Absolute Answer นะ แต่ตั้งขอสังเกตว่าแนวคิดของคนในสังคมก็เป็นปัจจัยที่ใหญ่มาก ในการที่จะจัดการสังคมที่ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรได้เท่าเทียมกัน เพราะแรงขับเคลื่อนหลักในสังคม ก็ยังเป็นแนวคิดแบบนี้อยู่ ว่าเราต้องซื้อสังคมอะไรประมาณนี้ 

พูดได้ไหมว่า มาตรา 12 คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงไปสู่โอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคกัน

อาจจะบอกว่า มาตรา 12 เป็นจุดเล็กๆ ในทางปฏิบัติ ไม่อาจเคลมว่าเป็นนี่คือตัวแทนของความเสมอภาคเท่าเทียม ด้วยข้อจำกัดทางสังคมขณะนี้ ที่เราไม่ได้ตกลงกันว่าการศึกษาสำหรับคนทุกคนเป็นยังไง เพราะทุกคนก็คิดว่าลูกฉันต้องเรียนโรงเรียนดีๆ มาตรา 12 ก็อาจเป็นบันไดขั้นแรก แต่ต้องมีกระบวนการพูดคุยทางสังคมมากกว่านี้ 

ทุกวันนี้ มาตรา 12 ก็ให้อำนาจ บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรเอกชน สถานประกอบการ สถาบันทางศาสนา คือองคาพยพทั้งหมดของสังคมที่ไม่ใช่รัฐ มีโอกาสดูแลประสิทธิ์ประสาทให้ความรู้กับเด็กจริงๆ แต่ทีนี้การเกิดขึ้นของโฮมสคูล มันเกิดขึ้นในเมืองที่มีความเป็นปัจเจก แต่ในชุมชนต่างจังหวัด ก็มีรูปแบบการดูแลลูกหลานแบบนี้อยู่แล้ว มาตรา 12 ก็มาเปิดโอกาสให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องส่งไปโรงเรียน แต่เป็นเรื่องการศึกษา การเรียนรู้ การมีอาชีพ การอยู่ร่วมเป็นพลเมืองของชุมชน กฏหมายเปิดช่องให้ ไม่เฉพาะแค่ครอบครัว แต่รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่เข้มแข็ง สามารถจัดการรตัวเองได้ ก็สามารถเป็นที่พึ่งพาให้เด็กๆ ได้

อยากให้เล่าเคสตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงที่เด็กสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วยมาตรา 12

จริงๆ ในสถานพินิจที่คุณแม่ผมทำงานอยู่ และที่ผมได้เข้าไปช่วย เราเจอเด็กหลายสิบคน เป็นกลุ่มใหญ่เลยที่ไม่รู้ไปอยู่ไหน หลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ประถม อ่านหนังสือไม่ได้ แต่เขาไม่ใช่คนไม่มีฝีมือ เพียงแค่เด็กกลุ่มนี้เราก็ต้อง empower เขาพอสมควร เขามีประสบการณ์ ผ่านโลกมาประมาณนึง ก็ช่วยเขาค้นหาว่าทำอะไรที่มีคุณค่าต่อตัวเองและคนอื่นได้ แล้วก็ใช้มาตรา 12 เปิดโอกาสทางกฏหมายพาเด็กกลุ่มนี้กลับเข้ามาสู่การศึกษา ศูนย์การเรียนก็สามารถจัดการศึกษาให้คนที่อายุมากกว่า 18 ปีได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่หายจากประถมไปตอนไหน หรือต้องทำงานแต่เด็ก โตแล้วอยากกลับมาเรียน ยกตัวอย่าง เคสแก๊งนักมวย ต่อยมวยตั้งแต่เด็ก พออายุสัก 20 ร่างกายต่อยมวยไม่ไหวแล้ว เขาก็กลับมาเข้าสู่การศึกษา หรือเคสอายุ 20 กว่า เป็นคนขับรถ ประสบการณ์ของเขาก็มีคุณค่านะ เขาอยากเรียนต่อ ถ้าเรามีหลักสูตรแกนกลางที่ยืดหยุ่น เขาก็จะสามารถเอาประสบการณ์มาเทียบโอนให้เป็นคุณภาพตามระบบการศึกษาได้

จะเรียกว่ามาตรา 12 เป็น Second Chance ของผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ไหม

จะเรียกอย่างนั้นก็ได้  ด้วยความที่ระบบของเราใช้ตัวชี้วัดที่รัดตึง กำหนดเวลาเรียน กำหนดเทอม คนที่หลุดจากระบบก็เหมือนคนที่เป็นหนูถีบจักร พอล้มก็หลุดไปเลย หาทางกลับมาไม่ได้ ผมว่าช่องทางนี้เป็นแต่สเตปที่หนึ่ง แต่ก็สำคัญที่เราจะไม่ปล่อยให้ใครต้องเผชิญกับการเติบโตที่โดดเดี่ยวและเดียวดาย ขณะเดียวกันผมว่ามาตรา 12 มีเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น คือเป็นการตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ด้วยกันในระบบการเรียนรู้แบบไหนในสังคม อาจจะไม่ใช่แค่มีโรงเรียนแล้วทุกคนแข่งกันไปเรียน ใครหลุดก็หลุดไปเลย หรือเราอยากให้ทุกคนมีโอกาสกลับมาเรียนรู้ได้เมื่อเวลาในชีวิตเขาเหมาะสม รวมถึงการศึกษาควรเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคม ว่าเราจะอยู่ด้วยกันในความสัมพันธ์แบบไหน อันนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำงานกันอีกไกล อยากให้สังคมเข้าใจร่วมกันว่า ทุกคนมีเฟสการเรียนรู้ของตัวเอง ไม่ขึ้นกับเวลา แล้วความยืดหยุ่นนี้ ถูกอนุญาตด้วย พ.ร.บ.การศึกษาฯ แล้ว เหลือแค่คนที่หยิบจับมันมาแล้วทำให้เป็นรูปธรรม ซึ่่งเราอาจจะหวังกับหน่วยงานรัฐได้ยากเพราะเขามีเงื่อนไขอยู่ มีโครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้ขยับได้ยาก ก็อาจจะต้องเป็นภาคสังคมที่ยืดหยุ่นกว่า ที่จะช่วยกันซับพอร์ทเรื่องนี้ได้ 

คุณมองว่าการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตเป็นอย่างไร และจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

ผมคิดว่าทุกวันนี้เราก็อยู่ภายใต้การทดลอง ไม่ได้อยากให้ยึดมากว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะมีแน่ๆ คือ ต้องไม่เอาเวลาหรือ อะไรเหล่านี้มากำหนด เอาข้อจำกัดของระบบราชการบางอย่างมากำหนดว่าเราจะเรียนรู้ได้ในเวลานั้นเวลานี้ ซึ่งแน่นอนมันเป็นฝันที่ไกลมาก เพราะมันมีต้นทุนการจัดการบริหารอีกเยอะ แต่ที่แน่ๆ คือทำยังไง ให้เรามีอิสระทางเวลา และสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่เราอยากจะพัฒนาตัวเองที่ไหนเมื่อไรก็ได้ แต่มันเป็นอุดมคติมากๆ ตอนนี้เลยเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยการทดลอง สุดท้ายอาจจะเป็นเรื่องของอิสระทางการเรียนรู้ ทุกคนเรียนรู้ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ เป็นไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี

การเรียนรู้ที่ให้อิสระทางเวลาเป็นอย่างไร อยากให้ช่วยขยายความ

ผมรู้สึกว่า เราทุกคนมี learning Pad มี Learning Journey ของตัวเองที่หลากหลายมากๆ แม้แต่เพื่อนในโรงเรียน แม้จะได้รับวุฒิตามระบบ แต่เวลาหลังเลิกเรียนหรือชีวิตหลังจากนั้น ก็มีช่องทางอื่นๆ ให้ออกไปเติบโต เป็นประสบการณ์นอกห้องเรียน เป็นประสบการณ์ในโลกจริงที่ก่อร่างตัวตนคนๆ หนึ่ง เป็นเส้นทางที่เขาประกอบร่างตัวตนขึ้นมา ผมเห็นการเรียนรู้มากมายเกิดขึ้นในสังคม แต่ว่ามันไม่ถูกนับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของในระบบการศึกษา แม้ว่าในหลักสูตรจะเขียนไว้อย่างชัดเจน แต่มันไม่มีทางเข้า มีแต่คีย์เวิร์ดลอยๆ ที่ไม่มีใครสามารถเอาคำอธิบายนี้ไปอยู่กับผู้เรียนที่เขาอาจไม่อยู่ในห้องเรียนของคุณ ไม่มีการนำมาทำให้เป็นรูปธรรม ผมแค่รู้สึกว่าการเรียนรู้เกิดทุกที่ทุกเวลานะครับ อย่างตอนที่เรียโฮมสคูลอยู่ เราเจอเด็กในโรงเรียนที่บ่นว่าไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย อยากเป็นเภสัช แต่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือสอบ ขณะที่พวกเราเด็กโฮมสคูล ไม่มีปัญหาอะไรแบบนี้ แค่โอเคเภสัชใช่ไหม ได้ ต้องการคะแนนอะไร ต้องอ่านอะไร เราก็ไปหามาอ่าน เรามีอิสระจัดการเวลาของเราเอง ในแง่ autonomy นี้ก็น่าสนใจ อยากให้สแตนดาร์ดทางการศึกษาของเราเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีเวลาว่างบ้าง กลับมาที่ตัวเองบ้าง หาว่าอะไรที่ทำให้คนเราตื่นออกไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แล้วไดร์สิ่งนั้นให้เชี่ยวชาญ ทำเงินได้ เลี้ยงชีพได้ 

คุณคิดว่าประเทศไทยที่ไม่มี มาตรา 12 ใน พ.ร.บ.การศึกษาฯ จะเป็นอย่างไร จะแตกต่างจากทุกวันนี้แค่ไหน

ถ้าไม่มีมาตรา 12 สนามสู้มันก็จะเปลี่ยน ทุกคนก็จะไปสู้กันในโรงเรียนหรือถ้าทุกคนทำให้โรงเรียนเปิดกว้างรับความหลากหลายได้ดีขึ้น แต่ถ้าบนความเป็นจริง ผมก็อาจไม่ได้เข้ามหาลัย ใช้เวลานานกว่านี้ ใช้เงินมากกว่านี้ในการสอบ ซึ่งอาจต้องไปเทียบวุฒิต่างประเทศที่ใช้เงินเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีมาตรา 12 ผมก็อาจไม่ได้เรียนมหาลัย ไม่ได้กลับมาทำงานด้านการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันที่สังคมขับเคลื่อนกันมาถึงจุดนี้ มาตรา 12 ก็อาจจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับครอบครัวที่ตั้งคำถามกับระบบโรงเรียน หรือเด็กที่หลุดจากระบบโรงเรียน ช่วงนี้เราก็คงต้องช่วยกันไปก่อน เหมือนน้ำท่วม เหมือนหลายๆ เรื่องในประเทศนี้ที่เราเข้าใจเองว่าเราต้องการอะไร ในเมื่อเราเป็นคนที่เข้าใจดีว่าเวลาที่มันขาดบางอย่าง แล้วเรามีเงื่อนไขที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็ต้องช่วยกันเองก่อน ประมาณนี้ครับ แต่ก็หวังว่าวันนึ่งถ้าเราได้โครงสร้าง การจัดการที่ดีมากขึ้น โครงสร้างรัฐเปิดโอกาสให้เรามีส่วนร่วมมากขึ้น เราก็อาจจะได้เห็นหน้าตาของการศึกษาในอีกรูปแบบหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและมีพื้นที่ให้กับความหลากหลายมากขึ้น

การเดินทางของการศึกษานอกระบบในประเทศไทยภายใต้มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เปรียบเสมือนการเปิดประตูบานใหม่ให้กับการเรียนรู้ที่หลากหลาย แม้หนทางจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและความไม่เข้าใจ แต่ป้อมปืน ในฐานะที่เติบโตจากเส้นทางนี้ ก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า การศึกษานอกโรงเรียนไม่เพียงแต่เกิดขึ้นได้จริง แต่ยังสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าและจับต้องได้ เป็นทางเลือกสำหรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้สามารถกลับมาสร้างเส้นทางการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเอง

สิ่งนี้สะท้อนถึงโอกาสที่การศึกษานอกระบบมอบให้ในฐานะพื้นที่แห่งความเท่าเทียมและการเรียนรู้ที่ครอบคลุม การเปิดใจยอมรับและขยายพื้นที่ให้ความหลากหลายทางการศึกษาเติบโตต่อไป อาจไม่ใช่ความท้าทายของคนผู้ทำงานในวงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายของทุกคนในสังคมว่าพร้อมไหมที่จะให้โอกาสกับการศึกษาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม