กสศ. ระดมพลังเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ขับเคลื่อนโมเดลเมืองแห่งการเรียนรู้ ตอบโจทย์การศึกษายืดหยุ่น

กสศ. ระดมพลังเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ขับเคลื่อนโมเดลเมืองแห่งการเรียนรู้ ตอบโจทย์การศึกษายืดหยุ่น

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM Forum) เครือข่ายจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ครั้งที่ 2/2567 เพื่อจุดประกายความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น “การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและทุกคนเข้าถึงได้” โดยเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ จากกรณีตัวอย่างพื้นที่ที่มีรูปธรรมเด่นชัด เพื่อสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ระดมความเห็นในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและทุกคนเข้าถึงได้ ด้วยการขับเคลื่อนของภาคีการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (Area Based Education) หรือ ABE ระดับจังหวัด และพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ระดับท้องถิ่น (เทศบาล) รวมทั้งวิเคราะห์หาจุดเชื่อมโยงการทำงานระดับจังหวัดกับระดับท้องถิ่นร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 4 มาตรการขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout และสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวว่า กสศ. ส่งเสริม ABE หรือการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้งในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น สร้างโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ การศึกษาทางเลือก และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยส่งเสริมให้ท้องถิ่นเป็นกลไกและแนวร่วมสำคัญในการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนหลักทำงานร่วมกับคณะกรรมการเมืองแห่งการเรียนรู้ที่มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ และนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตามบริบทพื้นที่ และสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีเป้าหมายในการสร้างคนสร้างงานสร้างรายได้ และสร้างเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม

“เป้าหมายสำคัญในการทำงานของ ABE คือกลุ่มเยาวชนยากจนพิเศษ 15% ล่าง เพราะเรามองว่าหากพื้นที่ในเมืองไหนมีแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มนี้ สามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีแรงดึงดูดให้พวกเขาอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้น สร้างปัจจัยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือหากเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะของสถานประกอบการที่เขาจะไปพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทักษะอาชีพของเขาเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าบทบาทของแหล่งเรียนรู้ที่สร้างเป็นเมืองการเรียนรู้ลักษณะอย่างนี้ จะสามารถพลิกชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างมาก

“โจทย์สำคัญที่สุด คือ การที่จะทำให้เด็กหนึ่งคนเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีความมั่นคงในชีวิต สามารถสร้างประโยชน์กับคนอื่นได้ เราต้องใช้คนทุกองคาพยพ การที่เราจะสร้างเด็กหนึ่งคนขึ้นมาได้เราจะต้องช่วยเขาอย่างจริงจัง เด็กที่เขามีโอกาสถูกช่วยเหลือโดยที่บ้านก็สามารถทำได้เร็ว 

“แต่สำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งที่ กสศ. กำลังทำงานอยู่นั้น ไม่มีความหวัง ไม่เหลือความหวังข้างหลังที่จะผลักเข้าไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะผลักเขากลับเข้าไปเป็นองคาพยพหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้าน อยู่ในสังคมที่จะผลักเด็ก ยกตัวอย่าง สมมติว่า ABE ไปพบเด็ก 1 คน อายุ 13 ปี กำลังจะจบ ป.6 แล้ว ครูพยายามผลักให้ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ จากภาพเหล่านี้ถ้าไม่มีมือจากหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าเป็นเด็กผู้ชายอยู่ริมทะเลก็จะออกทะเล กรีดยาง ทำนา เป็นแรงงานรับจ้างที่ใดก็ไม่รู้ สิ่งที่เด็กรอ คือ รอโต แล้วระหว่างทางที่จะรอดโต เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปเจออะไร”

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กสศ. โดยสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ ได้สนับสนุนงาน ABE ควบคู่ไปกับมาตรการ Thailand Zero Dropout รวม 16 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, สมุทรสงคราม, ระยอง, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, ยะลา, ปัตตานี, สุรินทร์, ขอนแก่น, นครพนม,พิษณุโลก, สุโขทัย, พะเยา, ลำปาง , เชียงราย และแม่ฮ่องสอน และโครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานระดับท้องถิ่น ในปี 2566 จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลนครยะลา, เทศบาลนครตรัง, เทศบาลนครอุดรธานี, เทศบาลเมืองลำพูน และกรุงเทพมหานคร รวมอีก 3 พื้นที่ใหม่ในปี 2567 ได้แก่ เทศบาลเมืองเบตง, เทศบาลเมืองตาก และจังหวัดบึงกาฬซึ่งอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 24 พื้นที่ กสศ. เล็งเห็นว่า กลไกการทำงานทั้ง 2 ระดับนี้ มีรูปธรรมด้านการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและทุกคนเข้าถึงได้ โดยความร่วมมือหลายภาคส่วนในพื้นที่ (Flexible & Inclusive Learning by muti-sectoral collaboration on area-based) แต่ละพื้นที่สามารถนำประสบการณ์ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

“การขับเคลื่อนแนวคิดปวงชนเพื่อการศึกษา หรือการทำให้เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน  All for Education ไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลรูปธรรมนั้น จำเป็นต้องใช้การมีส่วนร่วมและการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในสังคมระดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชน เมือง ตำบล จังหวัด เขตย่าน ภูมิเวศ ภูมิภาค จนไปถึงระดับประเทศ เป็นโมเดลที่นำแนวคิดปวงชนเพื่อการศึกษา แนวคิดการมีส่วนร่วม แนวคิดการกระจายอำนาจหรือสร้างความเป็นเจ้าของร่วม รวมถึงแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักของพื้นที่ที่สอดคล้องกับพันธกิจของ กสศ. คือ เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เยาวชนแรงงานนอกระบบ เด็กที่มาจากครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

“งานที่เราทำอยู่นี้ จะก่อให้เกิดเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของบ้านเราเอง แล้วกำลังจะเกิด Award Learning City ของบ้านเราเอง เรากำลังจะมี Design Learning City ของบ้านเราเอง ซึ่งยูเนสโกก็ค่อนข้างประทับใจว่า Learning City ของบ้านเรากำลังเดินไปได้ไกลพอสมควร และหลังจากนี้ เรากำลังจะเป็น Learning City แถวหน้าของยูเนสโกด้วยซ้ำไป นอกจากนี้โจทย์ของ กสศ. ยังพยายามเดินหน้า และเติมเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนากำลังคน การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และยืนอยู่ในโจทย์ที่พยายามสร้างเมือง Learning City อันเป็นเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ดร.สัญญา ศรีวิเชียร

ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรัง มีนโยบายในการที่จะพัฒนาคนพัฒนาเมืองอยู่แล้ว และเห็นว่าเป็นนโยบายที่ตรงกับแนวคิด Learning City 

“เราอยากจะให้การศึกษาต้องพัฒนาให้คนได้เข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเทศบาลนครตรังพยายามที่จะทำตรงนี้ แม้ว่าเราจะมีโรงเรียนในระบบถึง 8 โรงเรียน มีศูนย์ ศพด. 2 ศูนย์ แต่ว่าการศึกษานอกระบบ เด็กด้อยโอกาส แล้วก็ผู้ที่มีความเปราะบางหลาย ๆ คน ก็ยังตกค้างในเรื่องการศึกษาอยู่ เราก็เลยคิดว่าเราก็จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเหมือน กสศ. และผลักดันให้ ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกันในการที่จัดการศึกษา ให้กับประชาชนตั้งแต่เด็กจนกระทั่งผู้สูงวัย เราต้องช่วยกันพัฒนาคน

“จังหวัดของเรามีภาคีเครือข่าย มีมหาวิทยาลัยที่เป็นสาขา รวมทั้งโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จึงนำมาเป็นกลไกในการทำงาน แล้วก็ทำ City Mapping เพื่อทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า เมืองของเราเป็นเมืองที่มีมีแหล่งเรียนรู้ มีอารยธรรมหลากหลาย ที่สามารถเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับคนทุกกลุ่ม”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เป็นลักษณะของการเรียนรู้ที่ให้สิทธิและโอกาสกับเด็กกลุ่มเปราะบางกลุ่มยากจน ตามความสนใจ ตามความต้องการ สอดคล้องกับสภาพปัญหา ครูผู้สอนหรือว่าผู้ที่จัดการเรียนรู้สามารถออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับเด็กได้ แล้วพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพ

“กสศ. ทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบาง กลุ่มข้างล่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น เด็กที่เรียนอยู่ในห้องเรียนปกติก็สามารถเรียนไปได้ แต่สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่มีปัญหาเชิงพฤติกรรม เขาอาจจะไม่อยากที่จะมาโรงเรียน เพราะทั้งเรียนด้วยทำงานไปด้วย หากเด็กกลุ่มเปราะบางสามารถเลือกชีวิตของตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องมาโรงเรียนทุกวัน ทำอาชีพของตนเอง แต่มีรายได้พร้อมไปด้วย ซึ่งวิชาเหล่านั้นเป็นวิชาที่สามารถนำมาประเมินผลได้ด้วยสายตาของครูผู้สอน เพราะถือว่าเป็นการจัดการเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ บียอนด์คาเฟ่ เป็นตัวอย่างที่ดีของอาชีวศึกษาเมืองอุดรธานี ซึ่งนำเด็กที่จะเรียนจบแล้วกลับไปทำงานที่บียอนด์คาเฟ่ มีอาชีพ สื่อให้ผู้คนรอบข้างเห็น และเข้าใจเด็กกลุ่มนี้ คือ การยกย่องเรื่องความเป็นมนุษย์ของผู้คน การดูแลเด็ก 1 คน เราจะได้พลเมืองดีที่อยู่ใกล้บ้านเรา แต่ถ้าเราปล่อยเด็ก 1 คนออกไป เราจะได้โจรใกล้บ้านเรา เราจึงต้องไม่ทิ้งเด็กคนไหน”