“ปัญหาสายตา” เด็กในวัยเรียนรู้ช่วงอายุ 3-12 ปี มีผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ การมองไม่ชัดในวันนี้ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตในระยะยาว
กสศ. โดย Equity Lab ร่วมกับภาคี สร้างนวัตกรรมภายใต้โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ส่งเสริมการตรวจวัดสายตาและตัดแว่นฟรีให้นักเรียนเข้าถึงสิทธิ นำร่องใน 3 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม สุรินทร์ ปัตตานี และขยับขยายเพิ่มเติมอีกหลายพื้นที่
“สายตาและการมองเห็น” มีความสำคัญแค่ไหนเรื่องการเรียนรู้ ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ที่ได้พูดคุยกับเด็ก ๆ คุณครู และนักทัศนมาตรผู้เชี่ยวชาญ พื้นที่ปัตตานีจากบทความนี้
ทำไมเด็กทุกคนถึงควรเข้าถึงการตรวจคัดกรองสายตา ?
“ยิ่งออกหน่วยไปเจอเด็ก ๆ หลายพื้นที่ เรายิ่งเห็นว่าคนที่มีปัญหาเรียนรู้ช้า ส่วนหนึ่งพบว่าเพราะมีปัญหาสายตา แล้วมันส่งผลกับพัฒนาการทุกด้าน คือพอเด็กมองไม่เห็นหรือไม่ชัด เขาจะพยายามเลี่ยงการสื่อสาร กลายเป็นไม่กล้าพูด ไม่กล้าเล่นกับเพื่อน ไม่อยากหยิบจับอะไร เพราะเขาไม่มีความมั่นใจเลย”
อาจารย์ฐิติกา เกาะหมาน คณะบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในคณะทำงานโครงการ I SEE THE FUTURE เผยความสำคัญของ ‘ปัญหาสายตาเด็ก’ ที่ไม่ได้กระทบแค่การมองเห็น แต่คือปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในหลายด้าน
โดยหลังจากคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงพื้นที่ออกหน่วยคัดกรองสายตาร่วมกับ กสศ. ในพื้นที่นำร่องที่จังหวัดสมุทรสงคราม สุรินทร์ และปัตตานี ยิ่งมองเห็นปัญหาสะสมที่เกิดจากความผิดปกติทางสายตา ซึ่งจะส่งผลทั้งต่อการเรียนรู้ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการก่อร่างของบุคลิกในแต่ละช่วงวัย และพัฒนาการในมิติต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการเติบโต
“ประเด็นสำคัญคือเด็กเล็ก ๆ บอกเราไม่ได้ ว่าบางทีเขายืนห่างแค่เมตรเดียว แต่ไม่รู้เลยว่าหน้าตาเราเป็นอย่างไร เขาก็ไม่ไว้ใจ ไม่มั่นใจจะสื่อสาร หรือบางคนมองไม่ชัดก็พยายามพาตัวเองไปนั่งหน้าห้อง แต่กลายเป็นว่าจะไปอยู่ตรงไหนก็มองครูไม่ชัด มองกระดานไม่เห็น ทีนี้ก็แน่นอนว่าเด็กไม่มีทางเรียนรู้เรื่อง ไม่มีทางเข้าใจบทเรียน มันก็สะท้อนออกมาผ่านผลการเรียน ผ่านบุคลิกภาพ ผ่านพัฒนาการที่ไม่สมวัย ซึ่งมันเชื่อมถึงกันหมด”
ด้าน คุณครูอัจฉรา ไกรวรรณ โรงเรียนเทศบาล 5 เทศบาลเมืองปัตตานี บอกว่า “ทุกปีมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เวลาอยู่ในห้องเรียนจะดูกระสับกระส่าย เหมือนไม่มีสมาธิ แล้วจะเรียนไม่เข้าใจ ตามงานเพื่อนไม่ทัน บางคนเราให้ลองย้ายที่นั่งก็ดีขึ้น แต่บางคนหลังทดสอบจริง ๆ จึงพบว่าค่าสายตาผิดปกติมาก อ่านหนังสือยังไม่ได้เลย
“…คือก่อนหน้านี้จะมีแค่เด็กชั้น ป.1 ได้เข้ารับการคัดกรองสายตา ซึ่งบางคนตรวจไม่พบความผิดปกติ แต่พอขึ้นไปอยู่ชั้นสูงขึ้นอาการถึงเพิ่งเริ่มแสดงออก แต่ปีนี้พอรู้ว่ามีโครงการ I SEE THE FUTURE เราเลยพาเด็กที่สงสัยว่ามีปัญหาสายตาตั้งแต่ ป.1-ป.6 ทุกคนมาตรวจ ผลคือเจอเด็กหลายคนที่มีสายสั้นหรือสายตาเอียง โดยเฉพาะคนที่เราพบข้อบ่งชี้ว่าเขาเรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานช้า ไม่กล้าพูดกล้าคุย”
จากข้อค้นพบดังกล่าว ครูอัจฉรายังชวนมองไปที่ประเด็นสำคัญว่า “เกือบ 100% ของเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กทุนเสมอภาคของ กสศ. ซึ่งเราทราบกันดีว่าเขาไม่ได้มีครอบครัวที่พร้อม ฉะนั้นถ้าไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลทั่วถึง ก็เป็นไปได้มากที่เด็กเด็กจะสูญเสียโอกาสเรียนรู้ในระยะยาว”
ทีนี้ลองมาฟังเสียงจากน้อง ๆ ว่าปัญหาสายตาส่งผลยังไงบ้างต่อการเรียนรู้หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เริ่มจาก ‘ดา’ ฟารีดา กาหลง นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านจะบังติกอ จ.ปัตตานี ที่สายตาสั้นและเอียงแต่เด็ก ซึ่งทีแรกอาการยังไม่มาก แต่ยิ่งปล่อยไว้นาน ความ ‘เห็นไม่ชัด’ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
“จุดที่รู้สึกแย่ที่สุดคือเรานั่งห่างจากเพื่อนเมตรเดียว แต่เราจำไม่ได้เลยว่าเป็นเพื่อนคนไหน เหมือนทุกอย่างทุกคนพร่ามัวไปหมด มันทำให้เราไม่กล้าคุยกับใครเพราะไม่เห็นว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วเจอกันอีกครั้งก็จำไม่ได้ว่าเป็นคนที่เคยคุยด้วยหรือเปล่า”
ส่วน ‘ต่วน’ ต่วนรอฮีมะห์ ยามา เพื่อนชั้นเดียวกับดาที่พบว่าตัวเองเริ่มมีปัญหาสายตาตอนเรียนชั้น ม.4 ทำให้เริ่มเรียนไม่รู้เรื่องและผลการเรียนก็ตกลง บอกว่า “สายตามีผลมากค่ะ ตั้งแต่มองไม่ชัดเราเริ่มเรียนตามเพื่อนไม่ทัน เพราะบนกระดานครูเขียนอะไรเราจะไม่รู้เลย จึงลองขยับไปนั่งหน้าห้องก็ดีขึ้น แต่อยากบอกว่าถ้าใครรู้สึกว่าเริ่มมองไม่ชัดต้องอย่าปล่อยไว้ ควรไปหาหมอให้เร็วที่สุด แล้วเราจะได้รับการรักษาตรงจุด ไม่เป็นเยอะขึ้น”
อีกหนึ่งสถานการณ์ตรงจากห้องเรียนที่จะช่วยยืนยันว่า ‘ทำไมเด็กทุกคนควรเข้าถึงการตรวจคัดกรองสายตา?’ จาก ครูอามีเนาะ จารู โรงเรียนเทศบาล 2 วัดตานีนรสโมสร จ.ปัตตานี ที่บอกว่า “มีเด็กไม่น้อยที่มีปัญหาสายตา เราเห็นชัดเลยคือเวลาเขียนกระดานเสร็จ จะมีหลายคนขอออกมาดูกันข้างหน้า มาอยู่ให้ใกล้กระดานที่สุด บางคนยืนเพ่งจนปวดหัวก็ยังดูไม่เข้าใจ ซึ่งแน่นอนว่ามันกระทบเรื่องการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่มองไม่เห็น ซึ่งเด็ก ๆ ที่มีปัญหาสายตาจะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ช้ากว่าคนอื่น
“สำหรับเราจึงคิดว่าการตรวจคัดกรองสายตาสำคัญต่อเด็กทุกคน และควรให้เด็ก ๆ ทุกคนเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย เพราะนี่คือการกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาที่ตรงกับปัญหา ง่าย ๆ ให้เห็นภาพคือ ถ้าเด็กมีแว่นที่เหมาะสมมองเห็นชัดเจน เขาจะมีความสุข อยากเรียน แล้วมันยังรวมไปถึงคุณภาพในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นด้วย”
การแก้ปัญหาสายตาเด็ก คือการทำเพื่ออนาคตที่ชัดเจนและเป็นไปได้ของเด็กทุกคน
“เฉพาะที่ปัตตานี ทีมนักทัศนมาตรเราลงพื้นที่คัดกรองเด็กไปแล้ว 1,700 กว่าคน แล้วจ่ายแว่น หลังจากที่ครูและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคัดกรองมาก่อนแล้วหนึ่งชั้น เด็กคนไหนที่เจอปัญหาซับซ้อน จะมีการส่งต่อไปตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลโดยจักษุแพทย์ เพราะเรื่องสายตาบางทีในเด็กคนหนึ่งไม่ได้พบแค่อาการเดียว”
อาจารย์ฐิติกา ระบุขั้นตอนคร่าว ๆ ของการลงพื้นที่คัดกรองสายตาเด็กในโครงการ I SEE THE FUTURE ที่มุ่งความสำคัญว่าต้องคัดเด็กให้ได้เต็มจำนวนตามเป้า ยิ่งกว่านั้นต้องมีการจับมือสร้างเครือข่ายสนับสนุนระหว่างหน่วยงาน ตั้งแต่บุคลากรคือครู เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่ทัศนมาตร จนถึงจักษุแพทย์ เพื่อให้มีทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือ และระบบส่งต่อที่ช่วยให้คัดกรองเด็กได้ตรงตามลักษณะอาการและเต็มพื้นที่จังหวัด
“อีกด้านหนึ่งที่ต้องผลักดันไปพร้อมกัน คือการสื่อสารไปยังเด็กและผู้ปกครอง ว่าปัญหาสายตาสำคัญแค่ไหนและอย่างไร เรื่องนี้ควรลึกลงไปถึงการเรียนการสอน ส่วนการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักสังเกต อย่างบางทีเด็กรู้ตัวว่ามองไม่ชัด พยายามบอกผู้ปกครอง แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจว่าต้องไปตรวจ เด็กก็ได้รับการรักษาช้าหรืออาจหมดโอกาสรักษาไปเลย จึงอยากย้ำว่าการเจอปัญหาสายตาเด็กตั้งแต่ยังอายุน้อย มันหมายถึงเราสามารถเปลี่ยนอนาคตเขาได้
“ยิ่งสมัยนี้สิ่งเร้าต่าง ๆ พวกอุปกรณ์สื่อสารเด็กเข้าถึงง่าย ปัญหาสายตายิ่งพบเยอะขึ้น ดังนั้นถ้าได้คัดกรองเร็วก็ยิ่งมีผลดีต่อตัวเด็ก หรือถึงตรวจไม่เจอก็ต้องมีการติดตามต่อเนื่อง เพื่อที่เมื่ออาการแสดงออกมาเมื่อไหร่ เด็กและผู้ปกครองจะได้รู้ว่าเขาต้องไปที่ไหน มีขั้นตอนอย่างไร และได้เข้าถึงการตรวจรักษาทันที”
คณะบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่งคำแนะนำถึงผู้อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ๆ ว่าสามารถสังเกตปัญหาสายตาเด็กเบื้องต้นได้ผ่านพฤติกรรมการมองเห็น โดยเฉพาะถ้าเห็นว่าเด็กมีอาการหยีตาหรือขยี้ตาบ่อย ๆ เวลามองอะไรต้องเข้าไปใกล้กว่าปกติ หรือเวลาอ่านหนังสือและใช้คอมพิวเตอร์ต้องเอาหน้าเข้าไปชิด พฤติกรรมเหล่านี้คือสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้สำหรับครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีปัญหาสายตา ควรพาเด็กไปตรวจค่าสายตาทุกปี เพื่อความแน่ใจว่าเด็ก ๆ จะมีสายตาที่พร้อมสำหรับการมองเห็นและเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
“เพราะการแก้ปัญหาสายตาเด็ก คือการทำเพื่ออนาคตที่ชัดเจนและเป็นไปได้ของเด็กทุกคน”
คุณครูอัจฉรา จากโรงเรียนเทศบาล 5 เทศบาลเมืองปัตตานี ฝากทิ้งท้ายไว้ ว่า…
“เรื่องปัญหาสายตา ถ้าไม่ตรวจเราจะไม่รู้เลยว่าปัญหาที่เด็กแต่ละคนต้องเจออยู่ในระดับไหน สำหรับครูอาจช่วยดูได้แค่เบื้องต้น แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เฉพาะคนที่แสดงอาการแสดงมากแล้ว แต่จะให้แน่นอนและแม่นยำจริง ๆ เด็กทุกคนต้องมีโอกาสได้คัดกรองกับมืออาชีพ เราถึงรู้สึกขอบคุณโครงการนี้มาก ๆ และเชื่อว่าถ้ามีโครงการแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เราจะแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กที่เกิดจากความผิดปกติทางสายตาได้ทันและครอบคลุมขึ้น
“…อยากบอกว่าเด็กที่ผ่านการคัดกรองแล้วได้แว่นที่ตรงกับค่าสายตาจริง มันจะช่วยเปลี่ยนบุคลิกภาพ และคุณภาพชีวิตของเขาไปเลยค่ะ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กสศ. เดินหน้าโครงการ “I SEE THE FUTURE” ตรวจคัดกรองสายตาเชิงรุกให้เด็กนักเรียน จ.ปัตตานี เพิ่มโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ลดอุปสรรคเข้าถึงการศึกษา