กสศ. จับมือ สภาวิชาชีพบัญชีฯ ขับเคลื่อนหน่วยจัดการการเงินโครงการเชิงรุก ส่งเสริมความเชื่อมั่นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

กสศ. จับมือ สภาวิชาชีพบัญชีฯ ขับเคลื่อนหน่วยจัดการการเงินโครงการเชิงรุก ส่งเสริมความเชื่อมั่นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการบัญชีอาสา เพื่อสนับสนุนการดําเนินงานของ กสศ. ให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ โดยมีผู้บริหารของสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดย นายวินิจ ศิลามงคล นายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ นางวารุณี ปรีดานนท์ ประธานในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการวางระบบบัญชี และผู้บริหารของ กสศ. นำโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และนางสาวภมรศรี ไพบูลย์รวมศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักธรรมาภิบาลและบริหารงานทั่วไป เข้าร่วม ณ สำนักงาน กสศ.

(ซ้าย) วินิจ ศิลามงคล (ขวา) ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของ กสศ.​ ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการ โดยร่วมกันกำหนดแนวทางการลดขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบความถูกต้องของรายงานการเงิน การจัดทำรายงานการเงินที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นยังสามารถลดความเสี่ยงจำนวนโครงการล่าช้า จากกรณีที่ภาคีร่วมดำเนินงานขาดความเข้าใจในการจัดทำรายงานการเงิน รวมถึงก่อให้เกิดการพัฒนาหรือปรับปรุงแนวทางการจัดทำรายงานการเงินโครงการ และผลักดันให้การจัดทำรายงานการเงินโครงการมีความถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง

นายวินิจ ศิลามงคล นายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีจะใช้ความเป็นวิชาชีพช่วยเหลือภาคีต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น  โดยเฉพาะด้านบัญชีและการเงิน การจัดทำรายงานการเงินของโครงการต่าง ๆ ให้มีความถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง

“การอาสาเข้ามาช่วยงาน กสศ. เป็นความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบรายงานการเงิน สร้างความเชื่อมั่นของประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณที่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงเป็นความร่วมมือทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ปรับปรุงแนวทางการจัดทำรายงานการเงินโครงการของ กสศ. จึงได้ลงนาม MOU เพื่อกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือร่วมกัน”

ทั้งนี้ สภาวิชีพบัญชีฯ เป็นองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ในการเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชีให้เป็นมืออาชีพร่วมสมัย เป็นสากล และมีจรรยาบรรณ ประกอบกับมีการขยายขอบเขตการดำเนินงานและการให้บริการแก่สมาชิกส่วนภูมิภาคร่วมกับสาขาสภาวิชาชีพบัญชีทั้ง 13 สาขา เพื่อใกล้ชิดและเข้าใจในการทำงานของสมาชิกส่วนภูมิภาค รวมถึงในปี 2567 ที่ผ่านมา มีการทำงานร่วมกับวิทยาลัยที่เปิดสอนในวิชาชีพบัญชี ทั้ง 9 แห่ง เพื่อให้มีนักบัญชีอาสาเข้าไปเสริมสร้างองค์ความรู้ทางด้านบัญชีแบบง่าย ๆ ให้แก่วิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจชุมชน และธุรกิจขนาดย่อม

“ความร่วมมือในโครงการนักบัญชีอาสา จึงเป็นหนึ่งในความร่วมมือของสภาวิชาชีพบัญชี ที่มุ่งหวังให้เกิดหน่วยจัดการการเงินโครงการเชิงรุก โดยเป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีกับ กสศ. ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการรับสมัครสำนักงานบัญชีร่วมเป็นหน่วยจัดการรายงานการเงินโครงการเชิงรุก เพื่อให้การจัดทำรายงานการเงินโครงการมีความถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบรายงานการเงิน บนความเชื่อมั่นของประสิทธิภาพการใช้งบประมาณที่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงเป็นความร่วมมือทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ปรับปรุงแนวทางการจัดทำรายงานการเงินโครงการของ กสศ.” นายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ กล่าว

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โจทย์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ การทำงานของ กสศ. จึงต้องทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งหนึ่งในรูปแบบการทำงานร่วมกันคือ การสนับสนุนการดำเนินงานผ่านโครงการต่าง ๆ โดยในแต่ละปี กสศ. มีจำนวนโครงการประมาณ 500 โครงการ มีภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอย่างหลากหลาย อาทิ สถาบันอุดมศึกษา สถานศึกษา เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึงเครือข่ายการจัดการเรียนรู้ในชุมชน

“จากการทำงานที่ผ่านมา สิ่งที่พบในการดำเนินโครงการของภาคีเครือข่ายที่มีความแตกต่างหลากหลาย และเชื่อว่าในหลายกองทุนก็ประสบเหตุเหล่านี้เช่นกัน คือ การจัดส่งผลงานของโครงการล่าช้า ภาคีเครือข่ายไม่สามารถส่งมอบผลงานและรายงานการเงินโครงการได้ทันเวลา โดยพบว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือภาคีผู้รับทุนขาดความเข้าใจเรื่องการจัดทำรายงานการเงินโครงการ และขาดความรู้ในการจัดทำบัญชีการเงินเบื้องต้น แม้ที่ผ่านมา กสศ. ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเจ้าหน้าที่การเงินโครงการ แต่ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจและมีการหมุนเวียนคนทำงานในตำแหน่งดังกล่าวค่อนข้างสูง รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบรายงานจากคลินิกการเงิน ผู้สอบบัญชี และการสรุปผลงานของนักวิชาการ กสศ. เพื่อเตรียมเบิกจ่าย ทำให้ภาคีได้รับเงินงวดถัดไปล่าช้า ส่งผลต่อการปิดโครงการที่ล่าช้าตามมา

“กรณีที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่สภาวิชาชีพบัญชีเข้าใจถึงปัญหาและเล็งเห็นแนวทางในการช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาของโมเดลที่สภาวิชาชีพบัญชีร่วมออกแบบและทดลองให้เกิดหน่วยจัดการรายงานทางการเงินเชิงรุก เพื่อให้การจัดทำรายงานการเงินโครงการมีความถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ลดการตรวจสอบหลายขั้นตอน ลดความเสี่ยงของการดำเนินงานโครงการล่าช้า และเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้ตรงกับวัตถุประสงค์โครงการตั้งแต่ต้นทาง”  ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้ายว่า กสศ. เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าโมเดลที่เกิดขึ้น จะเข้ามามีส่วนช่วยให้การทำงานของภาคีเครือข่ายมีความรวดเร็ว คล่องตัวบนความถูกต้องในการใช้งบประมาณ และคาดว่าจะเป็นตัวอย่างในการขยายผลรูปแบบการจัดการการเงินโครงการเชิงรุก ให้กับอีกหลายหน่วยงานที่มีการบริหารงานในลักษณะการให้ทุนอีกเป็นจำนวนมาก จึงต้องขอขอบคุณ สภาวิชาชีพบัญชี ที่ช่วยนำองค์ความรู้ทางวิชาชีพบัญชีมาร่วมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา “หน่วยจัดการการเงินโครงการเชิงรุก” ในโครงการนักบัญชีอาสา และร่วมผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม