บทเรียนหน้าแรกของ “ครูน้ำฝน” ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 ในการเป็นครูโรงเรียนบ้านเกิด
“เราจะยังอยู่ตรงนี้ เข้าออกประตูบานนี้ เฝ้าดูลูกศิษย์เติบโต”

บทเรียนหน้าแรกของ “ครูน้ำฝน” ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 ในการเป็นครูโรงเรียนบ้านเกิด “เราจะยังอยู่ตรงนี้ เข้าออกประตูบานนี้ เฝ้าดูลูกศิษย์เติบโต”

“วันแรกที่เข้าห้องเรียนมาเจอเด็ก ๆ เราเห็นตัวเองในอีกหลายปีข้างหน้าทันที ว่าจะยังยืนอยู่ตรงนี้ เดินเข้าออกประตูบานนี้ ดูลูกศิษย์เติบโตทีละรุ่น แล้วจะพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากเห็นโลกกว้าง อยากเรียนสูง ๆ …แต่ก่อนถึงวันนั้น ภารกิจตรงหน้าคือต้องพาเด็กไปถึงโอกาสต่าง ๆ ให้มากขึ้นก่อน” 

‘ครูน้ำฝน’ อังคนา วัตรสังข์ ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 กลับไปเป็นครูในโรงเรียนบ้านเกิดด้วยการเป็นครูอาสาสมัครช่วงเปิดเทอมแรกปีการศึกษา 2567 เธอบรรยายภาพที่ผุดขึ้นในใจ หลังก้าวผ่านประตูห้องเรียนไปหาลูกศิษย์ในฐานะครูเต็มตัวเป็นครั้งแรกว่า “วินาทีนั้นความรู้สึกผสมปนเปทั้งประหม่าทั้งดีใจ อีกอย่างที่คิดคือ แม้จะอยากให้เด็ก ๆ ผ่อนคลายและเรียนรู้อย่างสนุกสนานแค่ไหน แต่ยังไงก็ต้องให้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นจริงจังของเราด้วย” 

ครบหนึ่งเทอมแล้วที่ครูน้ำฝนปฏิบัติหน้าที่ครูอาสาสมัคร เปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน เธอได้บรรจุเป็น ‘ข้าราชการครู’ อย่างเป็นทางการที่โรงเรียนบ้านคลองรอก ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี แม้หนึ่งเทอมเป็นเพียงช่วงเวลาไม่นาน แต่ครูน้ำฝนยืนยันมั่นเหมาะว่าการได้กลับมาเป็นครูในพื้นที่ที่เติบโตขึ้นมา คืองานที่รักและพร้อมทำเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในวันหนึ่ง

‘ครูน้ำฝน’ อังคนา วัตรสังข์

บ่ายหนึ่งของวันเรียนธรรมดา เรามีโอกาสไปเยี่ยม ‘คุณครูคนใหม่’ ถึงถิ่น ทำให้เห็นกิจวัตรประจำวัน ตั้งแต่นำเด็กทำกิจกรรม เข้าบทเรียน จนผ่านช่วงอาหารกลางวันและพาลูกศิษย์เข้านอนตอนบ่าย เมื่อนั้นครูน้ำฝนจึงมีเวลาทบทวนประสบการณ์แรกของการเป็นครูให้เราฟัง เริ่มที่ชั้นเรียนว่าตอนนี้รับหน้าที่ดูแลนักเรียนชั้นอนุบาล 2-3 ที่มีรวมกันอยู่ทั้งหมด 13 คน ซึ่งเธอบอกว่า “อาจน้อยด้วยปริมาณ แต่มากด้วยความใกล้ชิด”

“พอเด็กไม่เยอะ เราวางแผนการสอนได้หลากหลาย โดยเฉพาะการคิดกิจกรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วม ได้ลงมือทำ ได้ลองสลับบทบาทในกิจกรรม เกม หรือการจำลองบทบาทสมมติต่าง ๆ มันเหมือนเรายิ่งลงลึกที่ตัวเด็กทีละคนได้เท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นรายละเอียดสำคัญ เห็นจุดเด่นจุดด้อยเฉพาะตัวของแต่ละคน เห็นความแตกต่าง จนรู้ว่าคนไหนควรเสริมเติมหรือต้องช่วยปรับเรื่องอะไร แล้วข้อดีเรื่องจำนวนเด็กยังทำให้การ ‘ใช้เวลาร่วมกัน’ ทำได้มากขึ้น 

“เพราะสำหรับเด็กวัย 4-5 ขวบแล้ว เวลาหนึ่งเทอมคือช่วงเรียนรู้อันยาวนาน ต่อการค่อย ๆ ทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เพื่อจะเปลี่ยนผ่านความคิดมุมมองอย่างช้า ๆ ฉะนั้นการอยู่กับเด็กเล็ก เราต้องเข้าใจว่าแต่ละวันหรือสัปดาห์จะเหมือนเนิ่นนานไม่รู้จบ ทุกชั่วโมงนาทีที่ผ่าน จึงต้องเอาใจใส่และให้เวลากับเขาอย่างเต็มที่”

จาก ‘ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านคลองรอก’ ครูน้ำฝนไปศึกษาต่อที่คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะนักศึกษาทุนโครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” ก่อนจะเรียนจบกลับมาเป็นครูวันนี้ เราอยากรู้ว่าเวลาสี่ปีของการบ่มเพาะครูรัก(ษ์)ถิ่นนั้นแตกต่างจากหลักสูตรครูทั่วไปอย่างไรบ้าง 

“ตรงประเด็นที่สุดคือ พวกเราได้รับการเตรียมพร้อมให้ทำงานในพื้นที่เฉพาะ” ครูน้ำฝนสรุปสั้น ๆ ก่อนอธิบายว่าหลักสูตรครูรัก(ษ์)ถิ่น จะมี Enrichment Program เพื่อ ‘เสริมสมรรถนะ’ ให้ครูคนหนึ่งมีความเข้าใจและความชำนาญเหมาะสม สำหรับการกลับไปทำงานยังโรงเรียนปลายทางในพื้นที่ภูมิลำเนาที่อาศัย โดยโรงเรียนเหล่านั้นจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ภูเขา เกาะ พื้นที่เสี่ยงภัย ชายแดน และด้วยตัวหลักสูตรกำหนดให้นักศึกษาครูได้ลงพื้นที่โรงเรียนปลายทางตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 4 ก็ยิ่งทำให้มีข้อมูลและประสบการณ์เพียงพอ ที่จะกลับมาทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ พร้อมมีต้นทุนสำหรับการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับลักษณะพื้นที่

ครูอนุบาลคนใหม่บอกเราว่าตั้งแต่เด็กจนโต ในพื้นที่ของเธอมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือเรื่อง “โอกาสเรียนต่อ” หลังเด็ก ๆ จบชั้น ม.3 ด้วยความเป็นชุมชนที่ล้อมรอบด้วยภูเขา อยู่ไกลจากเมือง วิถีของคนในพื้นที่เกินครึ่งทำงานรับจ้างในสวนในไร่ รายได้น้อย วงจรการศึกษาของคนส่วนใหญ่จึงมีปลายทางที่ชั้นมัธยมต้น

“พอถึง ม.2-ม.3 จะมีเด็กทยอยหลุดออกมา มีคนเรียนจบบ้าง ไม่จบบ้าง แล้วเกือบครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งรุ่นจะไปทำงานทันที เพราะมันเป็นชุดความคิดที่ส่งกันรุ่นต่อรุ่น ว่าถึงเรียนสูงไปก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่เสียเงิน เสียเวลา เพื่อนรุ่น ๆ เราหลายคนก็เป็นอย่างนั้น …คืออย่าให้นับเลยว่าเด็กพ้น ม.3 แล้วไม่ได้เรียนกี่คน ถามว่ามีกี่คนที่เรียนต่อจะง่ายกว่า”

เด็กบางคนไม่เคยเห็นรถไฟ บางคนไม่เคยเห็นทะเล ทั้งที่อำเภอเรามีชายหาดที่สวยงามอยู่ไม่ไกล…

“ต้องบอกว่าอะไรที่ไกลออกไปจากภาพคุ้นเคยในชุมชน เด็กจะไม่มีทางได้รู้จักเลยถ้าไม่มีใครช่วยเปิดมุมมองให้เห็น อย่างเครื่องบินที่ลอยอยู่ไกล ๆ บนฟ้า ถ้าเราไม่มีบทเรียนผ่านหนังสือภาพหรืออินเทอร์เน็ต บางคนก็ไม่รู้เลยว่ารูปร่างจริง ๆ ของเครื่องบินเป็นอย่างไร เราจึงไม่แปลกใจที่เด็กหลายคนเลิกเรียนไปหลังจบ ม.3” ครูน้ำฝนเปรียบให้เห็นอุปสรรคที่กั้นขวางเด็กไว้จากการเรียนรู้

“ฉะนั้นคิดว่าก่อนจะไปถึงเรื่อง ‘เรียนอะไร?’ หรือ ‘เรียนอย่างไร?’ เราอาจต้องทำให้เด็กรู้ก่อนว่าเขา ‘เรียนไปทำไม?’ แล้วมันมีความเป็นไปได้แบบไหนบ้างที่รออยู่ในวันที่โตขึ้นกว่านี้”

ไม่เพียงคิด แต่ยังเริ่มลงมือทำแล้ว ตลอดหนึ่งเทอมที่ผ่านมา ครูน้ำฝนได้ออกแบบแต่ละบทเรียนให้เชื่อมโยงกับผู้คน สิ่งของ สถานที่ หรืออาชีพที่เด็ก ๆ ยังไม่เคยสัมผัส 

“การดูแลเด็กเล็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล สื่อการสอนสำคัญมาก ตั้งแต่สื่อทำมือง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนอย่างบัตรภาพ หนังสือภาพ หรือนิทาน ที่เราจะเอาเรื่องราวของผู้คน เมืองที่แตกต่างออกไป หรืออาชีพต่าง ๆ ที่มีในสังคมมาเล่าให้เด็กฟัง จนถึงสื่อภาพเคลื่อนไหวอย่างทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ซึ่งเราใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้ เช่นหาคลิปน่าสนใจมาเปิดดูกัน แล้วชวนคุย กระตุ้นจินตนาการให้เกิดภาพ เกิดการประทับฝังข้อมูลลงในความทรงจำ

“เหนือกว่านั้นคือการออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กมีส่วนร่วม มีความสุขกับการเรียน และอยากมาโรงเรียน โดยทุก ๆ วันเราต้องให้เด็กได้แสดงสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา เพื่อเราจะได้รับรู้ หรือช่วยอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น จนถึงการช่วยกระตุ้นความสนใจ สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้น คือแน่นอนว่าเด็กชั้นอนุบาล ไม่มีใครรู้หรอกว่าเขาจะโตไปเป็นอะไร หรือเดินไปทางไหนในวันข้างหน้า แต่ถ้าเด็ก ๆ รู้ว่าขนาดของสังคมและโลกนี้มันกว้างใหญ่ แล้วยังมีอะไรอีกมากที่พ้นไปจากภาพที่เห็นอยู่ทุกวัน เมื่อนั้นเด็กจะอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ทีนี้ครูก็จะเป็นผู้พยายามผลักดันให้เขาไปถึงโอกาส และได้รับการกระจายทรัพยากรอย่างเหมาะสม”

อย่างที่บอกว่าครูน้ำฝนเป็นผู้รับทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกของ กสศ. เราจึงชวนให้เธอ ‘สรุปบทเรียนแรกของการเป็นครู’ ว่าอะไรคือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มากที่สุดในหนึ่งเทอมแรก ครูคนนี้บอกว่า “การปรับตัวคือทักษะสำคัญที่สุด และคือสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังตลอดเวลาที่เป็นนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เพราะตลอดอาชีพของเราจะต้องเจอสิ่งใหม่ ๆ เวียนเปลี่ยนเข้ามาไม่หยุดยั้ง เราจึงต้องเปิดใจ พร้อมยอมรับและพัฒนาตนเองตามให้ทัน โดยเฉพาะกับลูกศิษย์เรายิ่งต้องปรับทัศนคติให้ทันต่อบริบทของเขา จากง่าย ๆ คือใครถนัดหรือไม่ถนัดอะไรต้องรู้ แล้วพยายามหาวิธีจัดการเรียนรู้ที่เอื้อกับเขา หรือที่ยากและซับซ้อนขึ้น คือปัญหาของเด็กแต่ละรุ่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมหรือเทคโนโลยี เราก็ต้องหาวิธีรับมือให้ได้”

กับอีกหนึ่งคำถามที่เชื่อว่าไม่เฉพาะเรา แต่หลายคนก็คงอยากจะรู้ คือหลังสลัดคราบนักศึกษาจนเป็นครูโดยสมบูรณ์ในวันนี้ ครูน้ำฝนมอง ‘เป้าหมายในอาชีพ’ ไว้อย่างไร เธอบอกว่า “อยากเป็นครูที่อยู่กับเด็ก ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และใช้เวลาเหล่านั้นพัฒนาเส้นทางเรียนรู้ของเด็กให้กว้างขึ้น ไกลขึ้น เข้าถึงโอกาสได้เยอะขึ้น และอยากค่อย ๆ เปลี่ยนทัศนคติชุมชนให้เห็นว่าการเรียนรู้คือสิ่งสำคัญ เพราะมันคือเส้นทางที่จะพาไปยังอนาคตที่ดีกว่า”

เราสงสัยว่าความหมายของการ “อยู่กับเด็กอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ” นั้นหมายถึง “วันเกษียณ” เลยใช่หรือไม่ เธอยิ้มแทนคำตอบ เราจึงย้ำว่านั่นเท่ากับครูน้ำฝนจะต้องเดินผ่านเข้าออกประตูบานเดิมทุกวันต่อไป ในอีกเกือบสี่สิบปีข้างหน้าจากนี้?

เธอบอกว่า “…ณ ตอนนี้ตั้งใจไว้อย่างนั้น ที่เหลือทุกอย่างขึ้นอยู่กับอนาคต ตอนนี้เรารักในสิ่งที่ทำ หลงรักในอาชีพนี้ เชื่อว่าจะอยู่กับมันต่อไปได้ แล้วในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่น เราได้รับการบ่มเพาะเพื่อกลับไปพัฒนาเด็ก ๆ ในบ้านเกิดของเรา ซึ่งสิ่งนี้คือความหวัง คือเป้าหมาย และคือความภาคภูมิใจ ว่าเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ท้องถิ่นของเราดีขึ้น”

เราย้อนทวนถ้อยคำที่คุณครูบอก ว่าไม่มีใครรู้ว่าเด็กอนุบาลคนหนึ่งจะเติบโตไปเป็นอะไรในวันข้างหน้า กับครูรัก(ษ์)ถิ่นคนหนึ่งก็เช่นกัน ที่หลายทศวรรษจากนี้ไป ไม่มีใครรู้เลยว่าพวกเขาต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงมากมายสักเท่าไหร่บนเส้นทางอาชีพ

…แต่สิ่งหนึ่งที่เราแน่ใจตั้งแต่วันนี้ คือครูน้ำฝนและเพื่อน ๆ ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 ซึ่งกลับไปที่ชุมชนของตนแล้ว จะเป็นหนึ่งความหวังของเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลโอกาส และเป็นหนึ่งบทเรียนที่พวกเราจะร่วมติดตามดูไปด้วยกัน ว่าแนวทางการผลิตครูรุ่นใหม่เพื่อทำงานในพื้นที่เฉพาะ จะช่วยเปลี่ยนการศึกษาของประเทศในภาพรวมได้อย่างไร …ในอนาคต?