KPMG จับมือ กสศ. มอบคอมพิวเตอร์ครูโรงเรียน ตชด. ต่อเนื่องปีที่ 4
‘คอมพิวเตอร์’ ไม่ใช่แค่สื่อการสอน แต่คือประตูสู่โอกาสให้ครูและเด็ก ๆ โรงเรียน ตชด. ทั่วประเทศ

KPMG จับมือ กสศ. มอบคอมพิวเตอร์ครูโรงเรียน ตชด. ต่อเนื่องปีที่ 4 ‘คอมพิวเตอร์’ ไม่ใช่แค่สื่อการสอน แต่คือประตูสู่โอกาสให้ครูและเด็ก ๆ โรงเรียน ตชด. ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เขตพญาไท กรุงเทพ ฯ คณะผู้บริหารและพนักงาน บริษัท KPMG ประเทศไทย นำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 124 เครื่อง ส่งมอบให้กับครูโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ผ่านความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ใน ‘โครงการพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ผ่านการศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพครู’ โดยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะส่งต่อไปถึง ‘ครู ตชด.’ ชุดแรกที่ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาการประถมศึกษา รุ่นที่ 3 ปี 2567 เพื่อยกระดับการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพครู ตชด. ให้มีองค์ความรู้และทักษะดิจิทัล ที่สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในโลกปัจจุบัน ตามแนวทางความร่วมมือและระดมทรัพยากร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงโครงการพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ผ่านการศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพครู ซึ่งในปี 2567 ได้ดำเนินการเป็นรุ่นที่ 3 โดยมีครู ตชด. ในโครงการ ฯ 263 คน ว่าเป็นการทำงานที่มุ่งสร้างโอกาสให้ครู ตชด. ผู้มีคุณสมบัติและความพร้อมในการพัฒนาสมรรถนะทางวิชาชีพครู ให้ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรี เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยการพัฒนาศักยภาพครู ตชด. จะเน้นพัฒนาผู้เรียนด้านวิชาการและทักษะจำเป็นต่าง ๆ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโรงเรียนสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาใน 4 ภูมิภาค เป็นภาคีเครือข่ายผลิตและพัฒนาศักยภาพครู ตชด. ในหลักสูตรสาขาวิชาการประถมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

(ซ้าย) ดร.อุดม วงษ์สิงห์

“เป้าหมายของโครงการ ฯ ประการแรกคือครู ตชด. ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค จะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ เพื่อความพร้อมทุกด้านในการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และสองคือการยกระดับหลักสูตรการผลิตและพัฒนาครูของประเทศ ที่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ทั้งเปิดโอกาสให้ครูสามารถเรียนรู้ได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

“ขณะที่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง คือ 1.ครู ตชด. ต้องมีสมรรถนะทางวิชาชีพครู เพิ่มพูนทักษะให้ตัวเองได้ เพื่อจัดการเรียนการสอนตามบริบทโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 2.สถาบันผลิตและพัฒนาครูทั้งสี่แห่ง จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาครูคุณภาพสูง ด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมตามความต้องการของบริบทและสภาพปัญหาในพื้น 4 ภูมิภาค 3.องค์ความรู้และบทเรียนจากการดำเนินโครงการ ฯ รวมถึงนวัตกรรมที่เกิดขึ้น จะเป็นต้นทางของการสนับสนุนการศึกษาแนวใหม่ ที่สอดรับกับบริบทและสภาพปัญหาของแต่ละภูมิภาคในอนาคต และ 4.ผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อปฏิรูปกระบวนการผลิตและพัฒนาครู โดยเฉพาะในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพื่อปรับวิสัยทัศน์และการจัดการศึกษาของทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และระบบภายในของโรงเรียนในสังกัด ตชด.”  

คุณเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า จากที่ บริษัท KPMG ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานของ กสศ. ต่อเนื่องมาตลอดสี่ปี ในฐานะเครือข่ายภาคี All for Education อันมีเป้าหมายเพื่อทำให้ความเสมอภาคทางการศึกษา ‘กระจายไปถึง’ และ ‘หยั่งรากลงได้’ ณ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ดังนั้นการทำงานกับโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ที่ตั้งขึ้นด้วยเหตุผลเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ตะเข็บชายแดนที่ยากต่อการเข้าถึง จึงตอบโจทย์ในทุกมิติ โดยเฉพาะในแง่มุมเรื่องการสนับสนุนให้ครูได้เข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ในปัจจุบันและพร้อมรับมือกับอนาคต ทั้งนี้ด้วยการชี้เป้าโรงเรียนที่ขาดแคลนจากระบบข้อมูลของ กสศ. ทำให้นับแต่ปี 2567 เป็นต้นมา KPMG สามารถมอบคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียน ตชด. ในทุกภูมิภาคมาแล้วมากกว่าสองร้อยเครื่อง และผลลัพธ์ที่สะท้อนกลับมาก็ถือว่าเป็นไปอย่างที่คาดหวัง เมื่อโรงเรียนหลายแห่งสามารถยกระดับการเรียนการสอน และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น ผ่านเครื่องมือดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต

คุณเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ

“วันนี้ เพื่อสานต่อโครงการโครงการพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ผ่านการศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพครู และเพื่อสนับสนุนการทำงานของ กสศ. อย่างต่อเนื่อง KPMG รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เราได้นำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค จำนวน 124 เครื่องมามอบให้กับโรงเรียน ตชด. เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการเรียนรู้ใหม่ ๆ สำหรับเด็ก และเพื่อการเข้าถึงช่องทางพัฒนาตนเองไม่สิ้นสุดของครู ตชด. ทุกท่านต่อไป”  

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การจัดการศึกษาในโรงเรียนน ตชด. ที่มีจุดประสงค์คือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นหัวใจหลัก ดังนั้นการส่งเสริมโอกาสและพัฒนาศักยภาพของครูและโรงเรียน จึงนับเป็นการทำงานที่ให้ผลตอบแทนต่อสังคมสูงที่สุดในรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ ครู ตชด. ทุกท่านแม้จะหล่อเลี้ยงการทำงานด้วยหัวจิตหัวใจและความทุ่มเทอย่างถึงที่สุด อย่างไรเสียก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก จากคนไทยในพื้นที่อื่น ๆ ในเรื่องปัจจัยที่จำเป็นต่อการศึกษาและการดำรงชีวิต โดยหนึ่งความจำเป็นที่เราพูดถึงในวันนี้ คือ ‘คอมพิวเตอร์’ ที่ไม่เพียงเป็นหนึ่งในสื่อการสอน แต่ยังเป็นเครื่องมือซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของครูและเด็กในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นอย่างดี

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

“คอมพิวเตอร์ 124 เครื่องนี้ จะส่งต่อไปยังครูกลุ่มแรกที่ได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาการประถมศึกษา ปี 2567 ในโครงการพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ผ่านการศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิวิชาชีพครู ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำงานที่ กสศ. ยินดียิ่ง กับการทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสร้างเส้นทางการพัฒนาตนเอง ให้ครู ตชด. ได้เพิ่มพูนทักษะความสามารถ ได้มีวุฒิการศึกษาและใบประกอบวิชาชีพ  ซึ่งหมายถึงความพร้อมยิ่งขึ้นในการกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่สังกัด และคอมพิวเตอร์ 124 เครื่องนี้ จะเป็นตัวช่วยครูในการจัดการเรียนรู้ และเป็นเครื่องมือช่วยทำผลงานวิชาการชิ้นแรก ๆ เพื่อต่อยอดเส้นทางอาชีพ ฉะนั้นผลลัพธ์ที่จะผลิตออกมาผ่านคอมพิวเตอร์เหล่านี้ จะมีมูลค่าคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติมากมายกว่าที่เราจะจินตนาการได้ในวันนี้”

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า “ในฐานะภาคเอกชนน การที่ KPMG ทำงานเรื่องการศึกษาต่อเนื่องมาตลอดสี่ปี ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ที่จะทำให้งานที่ทำร่วมกันออกดอกออกผลในระยะยาวจริง ๆ ซึ่งทาง กสศ. และ KPMG คาดหวังว่าในปีต่อ ๆ ไป เราจะมีโครงการดี ๆ มาแสดงให้สังคมได้รับรู้เพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนว่าความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน หน่วยงานด้านการศึกษา และหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศนั้น สามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างที่คาดไม่ถึง และเป็นการยืนยันว่า ในฐานะภาคเอกชน ท่านสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ และเป้าหมายด้านการยกระดับสังคมไปได้พร้อมกัน”  

พลตำรวจตรีกัญชล อินทราราม รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า ในนามกองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดน ขอขอบคุณ บริษัท KPMG และ กสศ. ในการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพนำส่งไปถึงโรงเรียน ตชด. ในพื้นที่ห่างไกล โดยคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับครูในการจัดการเรียนรู้ และใช้พัฒนาศักยภาพของตน

พล.ต.ต.กัญชล อินทราราม

“กล่าวถึงบริบทโรงเรียน ตชด. ต้องบอกว่าเกือบทุกแห่งอยู่ในพื้นที่ที่การคมนาคมไม่สะดวก การจะเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ จึงจำเป็นมากที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาของโลกในยุคหลังโควิด-19 ที่ระบบออนไลน์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมากขึ้น ดังนั้นทั้งครูและนักเรียนจึงต้องปรับตัวกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ใหม่ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและรู้เท่าทัน ซึ่งเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้เอง ที่จะเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงแหล่งความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งกับการถ่ายทอดความรู้ของครู จนถึงการช่วยพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ต่อไป”