นายกฯ ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ “Thailand Zero Dropout” ระดับชาติ

นายกฯ ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ “Thailand Zero Dropout” ระดับชาติ

นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ หรือ “คกศ.” เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้ได้รับการศึกษา พัฒนาศักยภาพตามความถนัด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 373/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ

โดยเนื้อหาในหนังสือคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษา และให้ความสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของผู้เรียน รวมถึงการส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณค่าต่อไปในอนาคต ประกอบกับในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ได้มีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดย มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ

นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ หรือมีชื่อย่อว่า “คกศ.”

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดยให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ, นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม เป็นรองประธานกรรมการ  ขณะที่กรรมการอื่นๆ  ได้แก่ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา, นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ  ประธานกรรมการหอการค้าไทย  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้มี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษา 

หนังสือคำสั่งฉบับนี้ ยังระบุให้ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท  ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รับหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการร่วมอีกด้วย

สำหรับ คกศ.  มีหน้าที่กำกับดูแล พัฒนา และขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาหรือพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของผู้เรียน รวมถึงส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างเรียนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ตระหนัก ให้ความสำคัญและบูรณาการการดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์

นอกจากนี้ ยังระบุให้ คกศ. เหนี่ยวนำความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือกลไกระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบฐานข้อมูลกลางสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงาน ตลอดจนการติดตามดูแลและป้องกัน ไม่ให้เด็กและเยาวชนอยู่นอกระบบการศึกษา โดย คกศ. จะต้องกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะมีการประชุมนัดแรก วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.00 – 16.30 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล