กสศ. ร่วมกับ สพฐ. รับฟังความคิดเห็นผลการวิเคราะห์ข้อมูล “แนวโน้มความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียน” จากระบบ OBEC CARE

กสศ. ร่วมกับ สพฐ. รับฟังความคิดเห็นผลการวิเคราะห์ข้อมูล “แนวโน้มความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียน” จากระบบ OBEC CARE

กสศ. สะท้อนผลการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์แนวโน้มความเสี่ยงของนักเรียนที่ส่งผลต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาจากฐานข้อมูลการทํางานโครงการต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. หรือ ระบบ OBEC CARE 

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)  และศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. “จัดเวทีคืนข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงปัญหาของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรับฟังความคิดเห็นเสียงสะท้อนของตัวแทนครูและพื้นที่จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการทํางานผ่านระบบ OBEC CARE” ที่มีปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยการทำงานระบบสารสนเทศระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน (OBEC CARE) มีการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 28 เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนเข้าร่วมจำนวนกว่า 1,136 แห่งทั่วประเทศ

ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. หรือ ระบบ OBEC CARE เป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และ กสศ. ในการพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการทำงานตามกระบวนการและกลไกระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา อีกทั้งยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อชี้เป้าและแจ้งเตือนความเสี่ยงของนักเรียนแบบเรียลไทม์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวางแนวทางหรือมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีความหลากหลายมิติ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. นําเสนอภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยที่ยังคงมีเด็กจำนวนกว่า 1.02 ล้านคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และสถานการณ์ความเสี่ยงจะหลุดออกจากการศึกษาในระหว่างช่วงการศึกษาหรือระหว่างช่วงชั้นรอยต่อตามกรอบการทำงานของสากล ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ํายังคงสร้างความกดทับทางศักยภาพและยังส่งผลต่อกรอบความคิดแบบเติบโตแก่นักเรียน พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของกลไกระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็งและการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้พวกเราทุกคนขับเคลื่อนการทำงานนี้ด้วยกันอย่างยั่งยืน 

ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช

นายปวรินทร์ พันธุ์ติเวช หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยที่มีผลสะท้อนสำคัญที่จะทำให้นักเรียนเสี่ยงหลุดออกจาระบบการศึกษา จากฐานข้อมูลที่มีการจัดเก็บภายใต้การทำงานของระบบสารสนเทศระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน (OBEC CARE) ซึ่งเป็นข้อมูลในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา พบว่า 

ปัจจัยความเสี่ยงด้านการขาดเรียนนับตั้งแต่ 1-3 ครั้ง หรืออาจมากกว่าโดยไม่มีเหตุจําเป็น เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง นักเรียนยากจนพิเศษระดับชัั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขนาดกลาง (สพป.) และขนาดเล็ก (สพม.) จะมีแนวโน้มขาดเรียนสูงกว่านักเรียนกลุ่มอื่น โดยปัจจัยที่ก่อให้ความเสี่ยงด้านการขาดเรียนมีผลมาจาก ผลการเรียน ซึ่งนักเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มักจะมีปัญหาจากการเรียนติดศูนย์ ติด ร รวมทั้งปัญหาการอ่านออกเขียนได้ นับว่ามีโอกาสก้าวเข้าสู่ความเสี่ยงมากกว่าปกติ และที่สำคัญ สภาพแวดล้อมและความปลอดภัยยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผล หากนักเรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือชุมชนที่มีความเสี่ยงปัญหายาเสพติด ปัญหาจากสภาพครอบครัว รวมถึงปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือด้านฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านการเรียน ด้านจิตใจยังเป็นอีกปัจจัยที่เชื่อมโยงต่อการเกิดปัญหาความเสี่ยงด้านการขาดเรียนและแนวโน้มที่จะทำให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา

หลังการการสะท้อนผลและคืนข้อมูลสถานการณ์ความเสี่ยงของนักเรียนจากฐานข้อมูลระบบ OBEC CARE ได้มีการเปิดเวทีเพื่อสะท้อนความคิดเห็นและการระดมสมองจากต้นสังกัด สพฐ. ตัวแทนเพื่อนครูและเขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบจากทั้งหมด 4 เขตพื้นที่การศึกษาครอบคลุม 4 ภูมิภาค พบว่า จากการสะท้อนผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ OBEC CARE ในภาพรวมนั้น นับเป็นปัจจัยที่ส่งผลการทบต่อภาวะการเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างมากในพื้นที่ซึ่งมีสถานการณ์คล้าย ๆ กันในปัจจุบันที่พบเจอจากการทำงานจริง และอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจของนักเรียนในการศึกษาต่อ คือปัจจัยด้านความพร้อมของครอบครัว ทั้งด้านการเลี้ยงดูเอาใจใส่หรือด้านเศรษฐกิจของครอบครัวที่ส่งผลเป็นหลัก ถึงอย่างไรหากลองมองกลับกันในอีกมุมหนึ่งแม้ครอบครัวจะไม่พร้อมทางการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพ “หากมีการเลี้ยงดูจากความอบอุ่น โรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าถึงการดูแล แม้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็เรียนจบได้เช่นกัน” 

นันท์ปภัทร บรรณ์ติเจริญโชติ

นางนันท์ปภัทร บรรณ์ติเจริญโชติ ผู้บริหารสำนักพื้นที่เขตการศึกษาประถมศึกษา สกลนคร เขต 1 ได้มีแนวคิดว่า แม้เด็กจะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ แต่ถ้าได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน นั่นคือ “สิ่งสำคัญในการอุดช่องว่างเด็กจะสามารถได้เติบโตอย่างปลอดภัย และจะสามารถลดอัตตราการเกิดความเสี่ยงของนักเรียนในการหลุดออกจากระบบการศึกษา” 

รัชนี ชูมณี

และในด้านแนวการแก้ไขหรือมาตรการป้องกันที่สำคัญ ครูผึ้ง นางสาวรัชนี ชูมณี โรงเรียนบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานและใช้ประโยชน์จากการทำงานผ่านระบบสารสนเทศ OBEC CARE ว่า เมื่อดำเนินการบันทึกข้อมูลรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลและการคัดกรองความเสี่ยงของนักเรียนเบื้องต้นทั้ง 7 ด้านไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการศึกษา การรียน สุขภาพกาย สุขภาพจิต เศรษฐกิจ สวัสดิภาพความปลอดภัย และ พฤติกรรมของนักเรียน  โรงเรียนของครู “สามารถนำผลการวิเคราะห์และฐานข้อมูลครบมิติของ OBEC CARE มาเป็นจุดตั้งต้นในการเฝ้าระวังความเสี่ยงและหาแนวทางการป้องกัน” โดยจัดกลุ่มการดูแลนักเรียนตามเกณฑ์ เขียว เหลือง แดง ซึ่งทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับเด็กทุกกลุ่มแม้เป็นเด็กกลุ่มสีเขียวยิ่งต้องส่งเสริมศักยภาพให้นักเรียนได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ กลุ่มสีเหลืองครูคอยระวังอย่างใกล้ชิดและส่งเสริมศักยภาพ สุดท้ายกลุ่มสีแดงจะจัดกิจกรรม เช่น โครงการเพศวิถี โครงการความรู้เรื่องยาเสพติดและคอยประเมินนักเรียนอย่างมีระยะ เมื่อครบปีการศึกษาจะมีการนำข้อมูลด้านภาพรวมของจำนวนนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง เพื่อนำมาปรับใช้ร่วมกับเเผนพัฒนาผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนต่อไป

เดชา ปาณะศรี

ด้าน นายเดชา ปาณะศรี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า “การทำงานร่วมกับ กสศ. ผ่านโครงการพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน หรือที่เราเรียกกันว่า OBEC CARE เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สะท้อนให้เห็นว่า สพฐ. ให้ความสำคัญกับการทำงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เน้นการทำงานทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมนักเรียน การป้องกันแก้ไข การดูแลช่วยเหลือนักเรียน ยังร่วมไปถึงการสร้างความร่วมมือเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆอีกด้วย ภาพสะท้อนจากข้อมูลการทำงานของ OBEC CARE เป็นมุมมองหนึ่งที่จะทำให้การทำงานนี้เห็นผลไปที่การปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานและการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียน หรือแม้แต่การทำงานด้านการคุ้มครองนักเรียนทั้งในระดับของเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในสังกัด สพฐ.  ซึ่งขณะนี้ สพฐ. เองกำลังพิจารณาแนวทางและความพร้อมในการขยายผลการใช้งานระบบนี้ไปให้ครอบคลุมทั้ง 245 เขตพื้นที่ในอนาคต” 

ทั้งนี้ สพฐ. และ กสศ.ต้องขอขอบคุณทุกความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการเล็งเห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทยที่มีความซับซ้อนและหลากหลายปัจจัยที่ยังคงส่งผลการทบต่อตัวนักเรียนให้ไม่สามารถได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือการพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ การได้รับแรงสนับสนุนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้ข้อเสนอแนะและนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดอย่างมีคุณภาพจะเป็นหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัจจัยความเสี่ยงทุกมิติของนักเรียนจะลดลงและถูกวางการป้องกันและแก้ไขจากการช่วยเหลือและการขับเคลื่อนของทุกคน