โรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาบ้านแคววัวดำ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำกก ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่นี่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่
ถึงวันนี้เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมผ่านไป เทอมการศึกษาใหม่เปิดมาแล้วราวสองสัปดาห์ เด็กนักเรียนทั้ง 29 คน กลับมาเรียนพร้อมปัญหาอุปสรรคที่แตกต่างกันไปจากผลพวงน้ำท่วมใหญ่ที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้
จุดพลิกผันหนึ่งที่เด็ก ๆ 11 คน กำลังเผชิญร่วมกัน คือ ‘สะพานรวมมิตร’ ที่เคยเชื่อมการเดินทางข้ามลำน้ำกกของสองหมู่บ้านพังลงไปแล้ว ทำให้เทอมใหม่นี้พวกเขาต้องเดินทางไกลขึ้น ด้วยเส้นทางที่อ้อมจากหมู่บ้านมาถึงโรงเรียน ซึ่งหมายถึงว่า
“ความยากลำบากเดิมที่มีอยู่แล้วยิ่งทบทวีขึ้นอีก”
ทีมงาน กสศ. ลงไปเยี่ยมโรงเรียนเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยกันเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมสอง เบื้องต้นได้ช่วยเหลือเรื่องเสื้อผ้าชุดนักเรียน รวมถึงความจำเป็นอื่น ๆ ตามสถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนการเดินทางด้วยการจัดรถรับส่งสำหรับเด็ก 11 คนที่ต้องเดินทางมาเรียนจากอีกฟากฝั่งตลอดทั้งเทอม
อย่างไรก็ตาม การติดตามสถานการณ์ในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ผ่านคำบอกเล่าของคุณครู ยังคงเป็นข้อมูลสำคัญที่จะสะท้อนว่า หลังความช่วยเหลือเบื้องต้นผ่านไปแล้ว การเยียวยาโรงเรียนในพื้นที่ประสบภัยระยะยาวจะทำได้อย่างไร เพื่อจะประคับประคองให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไป ทั้งต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาคให้ได้มากขึ้น
‘ครูบูม’ ณัฐกฤษฎ์ อินเตชะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนผาขวางวิทยา สาขาบ้านแควัวดำ อัปเดตสถานการณ์ล่าสุดว่า สองสัปดาห์ผ่านมาเด็ก ๆ เริ่มทยอยกลับมาเรียนมากขึ้น แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่ยังมา ๆ หาย ๆ จากการเดินทางที่ไม่เอื้อในวันฝนตก รวมถึงยังเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่บางคนต้องหยุดเรียนไปช่วยครอบครัวทำงาน
“ข้อเท็จจริงหนึ่งคือเมื่อสะพานขาดไป การเดินทางยังไงก็ไม่สะดวกเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามต้องบอกว่ารถรับส่งที่เตรียมไว้ช่วยได้มาก แต่ก็มีเด็กบางคนที่บ้านอยู่ไกลจากจุดที่รถเข้าไปรับถึง ซึ่งจะต้องมีคนที่บ้านขี่รถมาส่งก่อน ดังนั้นถ้าวันไหนฝนตก ถนนจะไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เด็กก็ต้องหยุดเรียน”
ครูบูมเล่าว่า ณ สถานการณ์ช่วงย่างเข้าสู่กลางเดือนพฤศจิกายน ทาง อบจ.เชียงราย ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ครั้งสุดท้ายเพื่อเตรียมก่อสร้างสะพานขึ้นใหม่แล้ว หากก็ยังคะเนไม่ได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ระหว่างนั้นเชื่อว่าเด็กจะยังไม่สามารถมาเรียนได้ทุกวัน เช่นที่เป็นอยู่ในตอนนี้
“สัญญาณที่ดีคือเด็กทุกคนกลับมาโรงเรียนครบหมดแล้ว กลุ่มที่อยู่อีกฝั่งแม้จะมาไม่ครบทุกวัน แต่ก็ทยอยสลับกันมาเท่าที่ทำได้ อย่างน้อยวันหนึ่งมากันห้าคนเจ็ดคนจากสิบเอ็ด ถือว่าค่อนข้างเยอะ อย่างที่บอกว่าอยู่ที่สภาพอากาศ แล้วช่วงนี้มีเทศกาลเกี่ยวข้าวด้วย บางบ้านเขาก็เกณฑ์เด็กไปช่วยซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทุกปี โดยสำหรับคนไหนที่ไม่มาเรียนแล้วแจ้งก่อน เราจะใช้วิธีให้ใบงานไป”
วิกฤตที่ยิ่งถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
ครูบูมอธิบายถึงการจัดการเรียนการสอนในช่วงเทอมใหม่ว่า ความที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ซึ่งแต่เดิมก็เข้าถึงโอกาสได้น้อยกว่าเด็กในพื้นที่อื่น ๆ อยู่แล้ว เมื่อเจอวิกฤตมาซ้ำ ระยะห่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ก็เหมือนยิ่งถ่างขยายมากขึ้น
“หลายปีก่อนที่เจอกับโควิด-19 เราเคยเห็นแล้วว่าเมื่อสถานการณ์บังคับ โรงเรียนเล็กในพื้นที่ห่างไกลจะแทบไม่มีทางรับมือ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี สื่อการสอน เครื่องไม้เครื่องมือ หรือจำนวนบุคลากร ถึงวันนี้ที่เราเปิดเทอมใหม่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป ข้อเท็จจริงหนึ่งคือเรายังสอนคละชั้นเหมือนเดิมเพราะครูไม่พอ เพิ่มเติมคืออุปกรณ์การเรียนเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ก็ไม่พร้อมต้องหามาเพิ่ม ที่มีอยู่ก็ไม่ทันยุคทันสมัย ทั้งบางส่วนก็ยังใช้การได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนเคยมีอยู่หกเครื่อง ตอนนี้หนึ่งเครื่องใช้การไม่ได้ถาวร ส่วนอีกสี่เครื่องชำรุดรอส่งซ่อม ซึ่งไม่รู้จะซ่อมได้แค่ไหน เท่ากับเหลือเครื่องเดียวที่ใช้งานได้ การจะนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรียนการสอนในช่วงนี้จึงทำไม่ได้เลย”
‘เยี่ยมบ้านเด็กทุกคน’ คือหนทางช่วยเหลือเยียวยาตรงจุด
“อย่างไรเสีย ‘ในความขนาดเล็กเรามองว่ายังมีข้อดี’ คือด้วยจำนวนนักเรียนไม่มาก ทำให้โรงเรียนกับเด็กใกล้ชิดกันเต็มที่ ยิ่งหลังน้ำท่วมครั้งนี้ ครูทุกท่านเห็นตรงกันว่าจะเยี่ยมบ้านเด็กทุกคน และจะทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างช่วงปลายปีอย่างนี้มีเทศกาลประจำชนเผ่าเยอะ เป็นช่วงเก็บเกี่ยวด้วย เด็กหายบ่อย เราก็ถือโอกาสไปเยี่ยมไปเก็บข้อมูล แล้วความที่ใกล้ชิดกัน เราจะมีไลน์กลุ่มผู้ปกครองที่เขาจะแจ้งสถานการณ์ต่าง ๆ บางคนพ่อแม่เขาขอตัวลูกไว้ช่วยงานก็แจ้งมาก่อน แต่ถ้าเด็กขาดไปเฉย ๆ แล้วติดต่อไม่ได้ ครูเราจะเข้าไปหาที่บ้านเลย ไปดูให้รู้ว่าเป็นยังไง สาเหตุที่หยุดเรียนคืออะไร จะกลับมาเรียนเมื่อไหร่ หรือครูจะช่วยอะไรได้บ้าง เราเชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับจากการเยี่ยมบ้าน คือตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้จัดการเรียนรู้และช่วยเหลือเยียวยาเด็กทุกคนได้ตรงกับสถานการณ์
“อย่างเทอมนี้มีเด็กคนหนึ่งที่เพิ่งมาเรียนไม่กี่วัน ครูก็ไปตามจนรู้ว่าหลังน้ำท่วมบ้านเขาอยู่ไม่ได้ ต้องไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง มันไกลเดินทางไม่สะดวก แล้วรถที่เรามีก็ไปรับไม่ถึง ตรงนี้ก็จะมาช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่นระหว่างรอจนกว่าบ้านจะอยู่ได้จะทำยังไง หรือถ้าเด็กจำเป็นต้องย้ายถาวรจริง ๆ โรงเรียนก็จะช่วยทำเรื่องให้ย้ายไปเรียนโรงเรียนใกล้ ๆ เพื่อให้เด็กไม่หลุดไปกลางทาง”
กสศ. ขอขอบคุณผู้บริหารโรงเรียน คุณครูทุกคน และผู้เกี่ยวข้องทุกเพราะ ‘วิกฤตยังไม่จบ’ และ ‘เรายังอยู่ตรงนี้’ เพื่อร่วมมือกับคุณครูและโรงเรียนช่วยเด็ก ๆ และครอบครัว ให้ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ เราเชื่อว่าทุกมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับเด็ก ๆ ในช่วงเปิดเทอมนี้ จะช่วยลดอุปสรรค ลดความเสี่ยงการหลุดจากระบบการศึกษาอย่างได้ผล
ฝ่าย ที่ร่วมมือกันทำทุกวิถีทางเพื่อเด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเชื่อมั่นว่า ‘จะต้องไม่มีเด็กคนไหนที่หลุดจากระบบการศึกษาไปเพราะวิกฤตครั้งนี้’ และ ‘เด็กทุกคนต้องมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษาแม้ในยามวิกฤต’