‘ครูการ์ฟิลด์’ ครูบนเกาะที่ไม่คิดจะย้ายไปที่อื่น

‘ครูการ์ฟิลด์’ ครูบนเกาะที่ไม่คิดจะย้ายไปที่อื่น

ทะเลสีสวย ท้องฟ้าแจ่มใส เข้าฤดูไฮซีซั่น บรรยากาศบนเกาะช้างคึกคัก ผู้คนส่วนใหญ่ข้ามทะเลมามาเที่ยวพักผ่อนที่นี่ แต่ถึงแม้บรรยากาศจะรื่นรมย์สักเพียงใด กลับไม่ค่อยมีครูอยากอยู่บนเกาะแห่งนี้  โรงเรียนเล็กในรั้ววัดชื่อ ‘โรงเรียนวัดวัชคามคชทวีป’ สะท้อนเรื่องนี้ได้ดี

โรงเรียนวัดวัชคามคชทวีป เป็นหนึ่งในโรงเรียนปลายทาง 285 แห่งของโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ รุ่นที่ 1 โรงเรียนแห่งนี้เขียวชอุ่มร่มรื่น มีพื้นที่กว้างขวางพอให้เด็กจำนวนมาก ๆ วิ่งเล่น เรียนรู้  แต่ทว่าตรงกันข้าม ที่นี่มีเด็กนักเรียนไม่ถึงร้อย และครูย้ายออกแทบทุกเทอมด้วยเหตุผลเดียวกันคือ “ที่นี่ไม่ใช่บ้าน”

ครูการ์ฟิลด์ ทิวาภรณ์ ผลกาจ

ครูการ์ฟิลด์ ทิวาภรณ์ ผลกาจ หนึ่งในครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 จากทั้งหมด 327 คน กลับมาที่นี่เพื่อเปลี่ยนตำนาน เธอคือลูกหลานของชุมชนที่เพิ่งได้รับบรรจุโดย สพฐ. เพื่อประจำการในโรงเรียนบ้านเกิดบนเกาะช้าง จังหวัดตราด ลดปัญหาขาดแคลนครู และปัญหาการโยกย้ายครูตามแนวคิดครูนักพัฒนาชุมชน 

ราว 7 วัน หลังเปิดเทอม 1 พฤศจิกายน 2567 ทีมงาน กสศ. ข้ามทะเลมาเยี่ยมเยือนครูการ์ฟิลด์ เราได้ฟังเธอเล่าเรื่องราวก้าวแรกการเป็นครูเต็มตัว และความตั้งใจที่จะส่งต่อโอกาส พัฒนาการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในฐานะครูปฐมวัย

เด็ก ๆ บนเกาะมองเห็นครูเสมือนศูนย์กลางจักรวาล

ครูการ์ฟิลด์บอกว่า ตอนเป็นเด็กเคยฝันอยากเป็นครู เพราะรู้สึกเคารพรักอาชีพนี้ อาชีพซึ่งความทรงจำในวัยเยาว์มองเห็นเป็นแหล่งความรักความอบอุ่น นอกเหนือจากที่ได้รับจากที่บ้าน  เด็ก ๆ บนเกาะมองเห็นครูเสมือนศูนย์กลางจักรวาล

แล้วความทรงจำของครูคนนี้ ก็มีอีกรอยประทับหนึ่ง เธอจำได้ว่า นานมาแล้วได้เคยเรียนกับครูที่มาจากต่างจังหวัด ด้วยประทับใจในการสอนและรักครูท่านนั้นมาก ทว่า ในเทอมต่อมาก็พบว่า ครูที่เคยรักและเคารพได้ขอย้ายไปที่อื่นเสียแล้ว

“ครูมาสอนแล้วก็ขอย้ายไป พอทราบว่าครูย้ายไปแล้ว รู้สึกเสียใจมาก ครูย้ายจากไปโดยที่พวกเราไม่มีโอกาสได้กล่าวลาด้วยซ้ำไป เมื่อโตขึ้น ก็เข้าใจถึงความจำเป็นของครูที่ขอย้ายไปจากที่นี่ เกาะอาจจะไกลบ้านของครู เข้าใจว่าครูอยากจะย้ายกลับไปใกล้บ้านตัวเอง จึงเคยคิดฝันว่าหากมีโอกาส จะเรียนครูและพยายามเป็นครูที่มาสอนเด็ก ๆ ที่บ้านเกิดตัวเอง เป็นครูบนเกาะ แบบที่อยู่ยาว ๆ ไม่ย้ายไปไหน สอนให้เด็กได้รับความรู้อย่างเต็มที่ วันนี้มีโอกาสได้เป็นครูตามที่วาดหวังไว้แล้ว คิดว่าจะเป็นครูที่มีส่วนช่วยพัฒนาเกาะช้างบ้านเกิดไปนาน ๆ โดยไม่คิดจะย้ายไปที่ไหน” 

ครูการ์ฟิลด์ของเด็ก ๆ เล่าด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า ตั้งใจที่จะเรียนหนังสือเพื่อเป็นครูมาโดยตลอด แต่ฐานะที่บ้านไม่ได้เอื้อให้กล้าฝันสักเท่าไร ถ้าให้ไปออกเรือจับปูจับปลากับพ่อ หรือไปรับจ้างกรีดยางกับแม่ จะเห็นความจริงมากกว่า

และเมื่อมีโอกาสได้มาเรียนครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยทุน กสศ. จริงๆ ก็พบว่า เด็กทุกคนมีความฝันได้ แต่ระหว่างเรียนเส้นทางอาชีพที่วาดหวังไว้ ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะโดยพื้นฐานแล้วเป็นเด็กหญิงการ์ฟิลด์เป็นคนขี้อาย เธอมองว่า การไม่กล้าแสดงออกจะกลายเป็นอุปสรรคและจุดอ่อนสำคัญข้อหนึ่งของอาชีพนี้ได้ จึงพยายามอย่างหนัก เพื่อที่จะก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้

“เวลาที่ต้องไปพูดกับคนจำนวนมาก หรือแสดงตัวกับสาธารณชน จะรู้สึกไม่มั่นใจ ก็เลยกังวลว่า หากถึงเวลาที่จะต้องไปสอนเด็กจริง ๆ อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ ระหว่างที่เรียนจึงพยายามฝึกและเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด พยายามสังเกตเพื่อนคนอื่น ๆ ที่กล้าพูดและกล้าแสดงออก ระหว่างเรียนพยายามสังเกตว่า เพื่อน ๆ ครูรัก(ษ์)ถิ่นร่วมรุ่นแต่ละคนมีเทคนิคอะไรตอนเรียน เพื่อนหลายคนได้ช่วยเหลือเรื่องนี้อย่างเต็มที่ พยายามให้กำลังใจว่า ไม่มีใครเก่งเรื่องไหนตั้งแต่เกิด ถ้าเราพยายามมากพอก็สามารถทำทุกเรื่องได้ บางคนก็ให้เราลองพูดกับเขาก่อน สุดท้าย การเรียนรู้และการฝึกฝนอย่างหนัก ก็ช่วยให้เอาชนะข้อจำกัดมาได้”

การเรียนรู้และการฝึกฝนอย่างหนัก ก็ช่วยให้เอาชนะข้อจำกัดมาได้

ครูการ์ฟิลด์ เล่าว่า กว่าจะเรียนจบออกมาเป็นครู ครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคน ต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ช่วงที่ใกล้เรียนจบ ก่อนที่จะต้องออกไปฝึกสอนในสถานที่จริง เพื่อน ๆ ครูรัก(ษ์)ถิ่นร่วมรุ่น พยายามแบ่งกลุ่มกัน ผลัดกันสมมติว่าตัวเองเป็นนักเรียนและเป็นครู เพื่อจำลองสถานการณ์การสอน

“สถานการณ์จำลองกับสิ่งที่ต้องมาพบเจอจริงในห้องเรียนจริงนั้นต่างกันมาก ตอนที่ให้เพื่อนทดลองเป็นนักเรียน เราใช้เทคนิค ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาจัดการและรับมือกับเพื่อนได้  แต่พอต้องมายืนอยู่หน้าชั้นเรียนกับเด็ก ๆ จริง ๆ ก็พบว่าการควบคุมการเรียนการสอนนักเรียนปฐมวัยเป็นเรื่องยาก เพราะเด็ก ๆ มักจะไม่อยู่นิ่ง บางคนก็ไม่สนใจฟังเรา เจอแบบนี้ครั้งแรก ๆ ก็รู้สึกถอดใจ แต่ก็เชื่อมั่นอยู่เสมอว่า แท้จริงแล้ว อาชีพครูก็เหมือนนักเรียนที่ต้องเรียนรู้และพยายามปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วในที่สุดก็ได้เรียนรู้ว่าต้องพยายามหาเทคนิควิธีการใหม่ ๆ หรือบางครั้งก็เรียนรู้ว่า ต้องใช้เทคนิคการพูดซ้ำ ๆ ที่จะสามารถทำให้นักเรียนหันมาฟังสิ่งที่เราพูดให้ได้

“หลังจากได้รับการบรรจุเป็นครูในชุมชนท้องถิ่นตัวเองแล้ว ก็ตั้งมั่นไว้ว่า ตัวเองจะต้องเป็นครูที่พยายามนำสิ่งที่เรียนมา นำเทคนิคการสอน การพัฒนาสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ที่ได้มาจากการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ มาปรับประยุกต์ใช้กับโรงเรียนของเราให้ได้ ”

ครูการ์ฟิลด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “รู้สึกโชคดีที่ได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ในทุก ๆ วัน จะตื่นเช้ามาทำงานด้วยจิตใจที่แจ่มใส จึงอยากจะให้กำลังใจเพื่อนๆ ทุกคนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ครูในพื้นที่ต่าง ๆ เพราะเชื่อว่า ทุกคนกำลังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ บางคนอาจจะกำลังพบกับความยากลำบากในการทำงาน แต่เชื่อมั่นว่าในที่สุดแล้ว อุปสรรคทั้งหลายก็จะผ่านพ้นไป หลายเรื่องอาจจะวนกลับมาอีก เพราะทั้งหมดเป็นบททดสอบที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนอาจจะเคยผ่านมาแล้ว และจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง หากเรื่องไหนเป็นปัญหาใหม่ นั่นก็จะกลายเป็นโจทย์ใหม่ ที่ทุกคนจะเรียนรู้ที่จะผ่านมันไปได้เช่นกัน”

วันนี้ครูการ์ฟิลด์ เปลี่ยนเป็นคนที่มีความมั่นใจ เป็นที่รักของเด็ก ๆ เป็นความหวังของชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียนวัดวัชคามคชทวีป อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด โดยกำลังส่งต่อโอกาสการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนในชุมชนท้องถิ่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเป็นกำลังใจให้ครูการ์ฟิลด์ และครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกทุกคนสำหรับก้าวแรกการเป็นครู

ก้าวไปด้วยกัน สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา