กสศ. และ RIPED ทีมวิจัยหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ได้รับเชิญจาก OECD นำเสนอผลวิจัยจากข้อมูล PISA for School เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การศึกษาไทย ในการประชุมวิชาการนานาชาติ PISA

กสศ. และ RIPED ทีมวิจัยหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ได้รับเชิญจาก OECD นำเสนอผลวิจัยจากข้อมูล PISA for School เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การศึกษาไทย ในการประชุมวิชาการนานาชาติ PISA

การประชุมวิชาการนานาชาติ “PISA: การใช้ผลวิจัยจากข้อมูล PISA เพื่อการกำหนดทิศทางนโยบายการศึกษา (Programme for International Student Assessment – PISA Conference: Using PISA Evidence to Inform Education Policies and Practices)” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29–30 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองดูบรอฟนิก ประเทศโครเอเชีย โดยมีผู้จัดงานร่วมคือ คณะกรรมการวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลของ PISA (Analysis and Dissemination Group – ADG) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ( Ministry of Science) การศึกษา และเยาวชนแห่งโครเอเชีย (Education and Youth of Croatia) เลขานุการ OECD และได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)

การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอผลการวิจัยที่ใช้ข้อมูลระยะยาวจากการสอบ PISA ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา จากทีมวิจัยชั้นนำจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและทิศทางการปฏิรูประบบการศึกษา และแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาและชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหัวข้อสำคัญ ได้แก่ 1) บทบาทของข้อมูล PISA ในกระบวนการสร้างความรู้ระดับประเทศ 2) การนำข้อมูล PISA ไปใช้ในการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงนโยบายเฉพาะด้าน และ 3) การนำข้อมูล PISA ไปใช้พัฒนาระดับโรงเรียน ผ่านการแลกเปลี่ยนจากนักการศึกษา นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย 

ในการประชุมวิชาการนานาชาติ PISA ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีนี้ OECD ได้คัดเลือกผลงานวิจัยจากคณะนักวิจัย และองค์กรวิชาการจากทั่วโลกที่มีผลงานวิจัยซึ่งใช้ข้อมูล PISA ในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีความชัดเจนและเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษาในระดับนานาชาติ โดยในปีนี้ OECD ได้คัดเลือกผลงานวิจัยที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกันดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นงานวิจัยหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน  โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ได้ร่วมนำเสนอภายใต้หัวข้อ “การใช้ข้อมูล PISA เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียน และการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนในประเทศไทย (Leveraging PISA for School Improvement: How the Equitable Education Fund Utilises PISA Insight to Foster Student Resilience and Enhance Educational Outcomes in Thailand)”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท
ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลและความร่วมมือจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ในการเชื่อมโยงข้อมูลรายบุคคลของผู้เรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 กับผลการทดสอบ PISA for School ของนักเรียนในระดับ ม.3 หรือ ม.4 ที่มีอายุประมาณ 15 ปี การเชื่อมโยงข้อมูลนี้ช่วยให้ทีมวิจัยสามารถวิเคราะห์บทบาทของผลการทดสอบ O-NET ระดับ ป.6 ที่มีต่อผลการทดสอบ PISA for School ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 3,000 คนจาก 16 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ความแตกต่างของทักษะหรือสมรรถนะในอดีตที่ประเมินเมื่อจบระดับประถมศึกษา สามารถอธิบายความแตกต่างของผลคะแนน PISA ของผู้เรียนเมื่ออายุ 15 ปี ได้ดีกว่าแทบทุกตัวแปร ไม่ว่าจะเป็น ตัวแปรที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของสถานศึกษา ของผู้เรียน และของครัวเรือน ข้อค้นพบนี้บ่งบอกเป็นนัยว่า นโนบายที่มุ่งยกระดับคุณภาพการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระดับประถมศึกษา อาจเป็นมาตรการที่สามารถยกระดับผลการทดสอบ PISA ได้อย่างมีนัยสำคัญและมีประสิทธิภาพ

จากผลการวิจัยดังกล่าว ทางคณะผู้วิจัยจึงได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายแก่ผู้เข้าร่วมจากประเทศต่าง ๆ ให้เห็นความสำคัญของนโยบายการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ในระยะยาวตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา ที่คำนึงถึงความเสมอภาคทางโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่จะช่วงส่งผลเชิงบวกแก่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กเยาวชนไทยทั้งในเวที PISA และ ต่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ในระยะยาวต่อไป