กสศ. เปิดเวทีจัดการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM)
ตั้งเป้า “School Zero Dropout” พัฒนาเครือข่ายครูและโรงเรียน ดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา

กสศ. เปิดเวทีจัดการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ตั้งเป้า “School Zero Dropout” พัฒนาเครือข่ายครูและโรงเรียน ดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 13-15 ธันวาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ หรือ Teacher and School Quality Movement (TSQM) โดยเชิญโรงเรียนในเครือข่ายจากทุกภูมิภาคมาร่วมนำเสนอชุดองค์ความรู้ และตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากพื้นที่ต้นแบบ สู่การสร้างกลไกขับเคลื่อนและนวัตกรรมการเรียนรู้ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. บรรยายพิเศษเรื่อง “กลยุทธ์การขับเคลื่อนการทำงาน School Zero Dropout เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ระบุว่าในปี 2566–2567 ที่ผ่านมา สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ได้ดำเนินการสนับสนุนขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน เพื่อให้เกิดการทำงานในระดับพื้นที่หรือระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กและเยาวชนที่ยากจน ด้อยโอกาส อันเป็นส่วนสำคัญของการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามมาตรการ Thailand Zero Dropout

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนช่วงวัย 3-18 ปี กว่า 1.02 ล้านคน อยู่นอกระบบการศึกษา ทั้งยังมีเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอีกมากถึง 2.8 ล้านคน จากครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ใต้เส้นความยากจน โดยในกระบวนการช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ นอกจากต้องกำหนดมาตรการค้นหาและพาเด็กจำนวน 1.02 ล้านคนกลับสู่เส้นทางการศึกษาหรือการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กอีก 2.8 ล้านคนหลุดออกจากระบบการศึกษาตามมา เนื่องจากการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุคือวิธีการที่ได้ผลและยั่งยืนที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำหน้าที่ชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายและร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมมุ่งขยายผลนวัตกรรมให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด ‘การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teacher and School Quality Movement (TSQM)’ ที่มีแนวทางพัฒนาคุณภาพโรงเรียน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

  1. การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงพื้นที่ (TSQM-A)
  2. การขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM-N)
  3. การขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงประเด็น (TSQM-I)

การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งสามรูปแบบจะทำให้เกิดข้อเรียนรู้ ผ่านตัวอย่างแนวทางการพัฒนากลไกขับเคลื่อนทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงเครือข่าย โดยมีประเด็นการทำงาน องค์ความรู้ นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน การแก้ปัญหา และการดูแลช่วยเหลือเด็กจำนวนมากที่ได้จากคณะทำงานระดับพื้นที่ อาทิ ครูแกนนำ ผู้อำนวยการโรงเรียน หน่วยงานต้นสังกัด หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเห็นผลแล้วว่าการทำงานนั้นได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเด็กเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม

“สำหรับการจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการหมุนวงจรการเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงานในทุกระดับ ในทุกรูปแบบของการขับเคลื่อนของชุดโครงการ ที่เน้นสาระและการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้เกิด Empowerment ผ่านเครือข่ายร่วมดำเนินงานในพื้นที่ เกิดเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ที่เครือข่ายจะสามารถบูรณาการการทำงาน นำความรู้ หรือแชร์ข้อเรียนรู้ ความท้าทาย และรูปธรรมความสำเร็จให้กับเพื่อนร่วมขบวนการ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบกลไกจังหวัด การขับเคลื่อนกลไกเครือข่ายโรงเรียน และการคิดค้นแนวทาง องค์ความรู้ หรือนวัตกรรมในประเด็นที่หลากหลายเพื่อการดูแลช่วยเหลือและพัฒนาเด็กและเยาวชนตามความต้องการได้ ด้วยหลักการของการมีส่วนร่วมและการร่วมเป็นเจ้าของ

“กสศ. พยายามวางโครงร่างการทำงานให้เข้าใจถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งทุกหน่วยงานกำลังร่วมค้นหาเด็กเยาวชนทุกคนโดยบูรณาการข้อมูลร่วมกัน และเมื่อค้นหาเจอแล้วก็จะมีกระบวนการช่วยเหลือ ส่งต่อ ดูแล และส่งเข้าสู่เส้นทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต ให้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองและเป็นอนาคตของประเทศได้ หากความเป็นครู ความเป็นผู้บริหารสถานศึกษา สามารถช่วยกันเปลี่ยนเด็กที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ให้เป็นเด็กที่มีอนาคตทางการศึกษาได้ภายในปี 2568 ก็จะเป็นความสุขในฐานะของขวัญปีใหม่และของขวัญวันเด็ก เพราะคงไม่มีอะไรล้ำค่าไปกว่าการที่เราสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคให้กับเด็กทุกคนได้” ดร.ไกรยสกล่าว

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายความร่วมมือในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง” กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กสศ. มีความร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียน เพื่อให้เกิดโรงเรียนที่พัฒนาคุณภาพตนเองได้ทั้งระบบ เกิดการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสมาตั้งแต่ปี 2561 อย่างต่อเนื่องในมิติที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาแนวทางของการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนของครูในโรงเรียน ที่ส่งผลกระทบไปถึงเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิต และผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้น ซึ่งเป้าหมายสำคัญที่ สพฐ. และ กสศ. มองเห็นร่วมกัน คือ ต้องการให้เด็กและเยาวชนในวัยเรียนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และสามารถที่จะช่วยเหลือและป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กได้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันตามนโยบาย Thailand Zero Dropout

รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวต่อไปว่า รู้สึกยินดียิ่งขึ้น เมื่อทราบว่าการทำงานร่วมกันของโครงการ TSQM นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่โรงเรียนในเครือข่าย สพฐ. แต่ยังเกิดพลังร่วมในพื้นที่ที่มีการขยายผลเรียนรู้ร่วมกันของโรงเรียน สพฐ. กับโรงเรียนในสังกัดอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งการทำงานร่วมกันกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมถึงเกิดกลไกคณะทำงานของจังหวัด เกิดเครือข่ายโรงเรียนที่ทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน และเสริมต่อพลังของการบูรณาการความร่วมมือให้เข้มแข็ง เสริมต่อต้นทุนจากพื้นที่ร่วมกันจนเกิดเป็นภาคีร่วมดำเนินงานที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะร่วมกันดูแลช่วยเหลือ และสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนของพวกเราได้มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก และให้เด็กและเยาวชนมีทางเลือกทางการศึกษาที่หลากหลาย และสอดคล้องตามความต้องการ โดยเฉพาะการทำงานในระดับพื้นที่ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของกลไกการดูแลเด็กที่ครอบคลุมทุกมิติ 

“สพฐ. ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียน 29,152 แห่ง มีครูทั้งหมด 540,000 กว่าคน และมีนักเรียนอยู่ประมาณ 6.4 ล้านคน คาดหวังว่าความร่วมมือในระดับพื้นที่ของโรงเรียน ครู ศึกษานิเทศก์ บุคลากรทางศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่ ภายใต้โครงการ TSQM ใน 10 จังหวัด กับเครือข่ายโรงเรียนกว่า 26 เครือข่าย พร้อมด้วยโรงเรียนในสังกัด สพฐ.กว่า 300 แห่งในพื้นที่ 39 จังหวัด จะสามารถรวมพลังเครือข่ายเพื่อจัดการศึกษาที่เป็นต้นแบบ รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เกิดการเรียนรู้ส่งต่อองค์ความรู้และประสบการณ์จากโรงเรียนแกนนำ และนำไปขยายผลให้กับโรงเรียนในเครือข่าย นอกจากนี้ในด้านการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงประเด็น หรือ TSQM-I จะถือเป็นจุดเชื่อมบูรณาการการทำงานร่วมกันครั้งสำคัญ ในการนำประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะรูปแบบและเฉพาะพื้นที่ มาช่วยออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาให้เด็กและเยาวชน อาทิการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 

“ในฐานะของหน่วยงานต้นสังกัดในระดับนโยบาย สพฐ. มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมสนับสนุนร่วมกับ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เกิดการพัฒนาคุณภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา เกิดพลังของการเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อสร้างให้เกิดระบบการศึกษา และการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทางเลือกในการเข้าถึงการศึกษา ทางเลือกของการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นหลากหลายอย่างมีคุณภาพ และสร้างระบบนิเวศทางการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศได้อย่างยั่งยืน” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าว

(คนที่ 2 จากซ้าย) รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ

ด้าน รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมงานวันนี้ทุกท่านคือผู้นำและผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยโครงการ TSQM ที่ผูกติดกับโครงการ Thailand Zero Dropout ถือว่าประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่ ‘โรงเรียน’ เพราะเมื่อโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง จึงทราบและเข้าถึงข้อมูลได้ดีที่สุดในการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กที่มีอุปสรรคปัญหา หรือแม้แต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษได้จากตรงไหน ดังนั้นโรงเรียนจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้โดยไม่มีใครตกหล่น

“ด่านแรกในการดูแลเรื่องนี้ คือเราจะเก็บเด็กในโรงเรียน ไม่ให้หลุดออกจากระบบ และช่วยเด็กนอกระบบกลับเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการ และความจำเป็นของแต่ละคน การจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยกันหาแนวทางที่ก่อให้เกิดพลังอย่างที่ทำในวันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเชื่อว่า ‘พลัง’ ที่ว่านี้ มีอยู่ภายในตัวของทุกท่านอยู่แล้ว จึงอยากให้กำลังใจทุกคนว่าแม้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าสิ่งเล็กน้อยนี้เมื่อสะสมและพอกพูนขึ้น ก็จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ และพลังนี้จะบันดาลให้ทุกท่านมีความสุข และขอให้ทุกท่านได้นำพลังแห่งความสุขในวันนี้ และพลังแห่งแรงบันดาลใจที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลับไปส่งต่อให้กับเครือข่ายรอบตัวท่านอีกมากมาย ซึ่งพวกเขาเองก็ต้องการกำลังใจและการสนับสนุนเช่นกัน ในนาม กสศ. เราจะขอเดินหน้าเคียงข้างไปกับทุกท่าน เพราะหน้าที่ของเราคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำให้เด็กทุกคน ช่วยให้เด็กได้รับโอกาสที่เท่าเทียม เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูงโดยถ้วนหน้า” รศ.ดร.ดารณี กล่าว