“คนในหมู่บ้านเคยบอกกับครอบครัวของหนูว่า เรียนหนังสือไปก็เท่านั้นแหละ สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน ทำไร่ทำสวน แต่หนูอยากเป็นตัวอย่างให้กับน้อง ๆ ให้คนในหมู่บ้านได้รู้ว่า เรามีทางเลือกให้เดินได้มากมาย”
กัญญารัตน์ แซ่เฮ่อ (ครูฝน)
ครูรัก(ษ์)ถิ่น โรงเรียนไตรมิตรวิทยา ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
‘ครูฝน’ กัญญารัตน์ แซ่เฮ่อ ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนไตรมิตรวิทยา ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ตามโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ภายใต้ความร่วมมือของ กสศ. และหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ที่ได้ฟูมฟักจน ‘ครูฝน’ สามารถสานฝันตามความตั้งใจในการเป็นครูของตนเองตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5
ครูฝน เป็นครูเพียงคนเดียวของโรงเรียนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ เป็นชาวม้งที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เรียนต่อในระดับปริญญาตรีเป็นคนที่ 3 ของหมู่บ้าน ต้องฝ่าฟันกับค่านิยมของชาวม้งที่ไม่ต้องการให้ลูกสาวเรียนจบสูง มากไปกว่าการได้แต่งงาน ทำหน้าที่ของผู้หญิงให้สมบูรณ์ตามธรรมเนียมเดิม
“คนในหมู่บ้านเคยบอกกับครอบครัวของหนูว่า เรียนหนังสือไปก็เท่านั้นแหละ ยังไงสุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน เพราะเขามีความเชื่อว่า เป็นผู้หญิงต่อให้ทำงานมั่นคงขนาดไหน ก็ต้องออกจากงานกลับมาทำหน้าที่ภรรยา อยู่บ้าน ทำไร่ทำสวน แค่นั้น
“แต่หนูอยากเป็นตัวอย่างให้กับน้อง ๆ ให้คนในหมู่บ้านได้รู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาแค่ ม.3 หรือ ม.6 แล้วไปแต่งงานเท่านั้น เรามีทางเลือกให้เดินได้มากมาย” ครูฝนสะท้อนการตัดสินใจของตนเองที่อาจเป็นแบบอย่างให้ชาวม้ง ในการเลือกเดินบนเส้นทางที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิม โดยมีแม่เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง
ด้วยใจที่อยากเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ไม่ว่าจะมีทุนรอนหรือไม่ จุดนี้ทำให้ครูฝนเริ่มมองหาโอกาสจากแหล่งทุนการศึกษาต่าง ๆ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยคุณครูชาวม้งที่โรงเรียนได้แนะนำให้รู้จักทุนการศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ด้วยเห็นว่าครูฝนนั้นเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดี และเป็นเด็กกิจกรรม จนในที่สุดครูฝนก็ได้รับเลือกเข้าเป็นนักศึกษาทุนของ กสศ.
หลังร่ำเรียนจนจบคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ครูฝนได้รับการบรรจุเข้ารับราชการครูเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โรงเรียนของครูฝนถือเป็นโรงเรียนบนพื้นที่สูง นักเรียนส่วนใหญ่คือเด็กชาติพันธุ์ราว 8 ชาติพันธุ์ ใช้ภาษาที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ทำให้เป็นอุปสรรคไม่น้อยในการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้ครูฝนต้องพยายามปรับตัว หาวิธีลดปัญหาในการสื่อสารลง
“หนูต้องเรียนรู้ภาษาชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น กินข้าว ในภาษาของเขาพูดว่าอย่างไร แล้วค่อยสอดแทรกด้วยภาษาไทยเพื่อให้เขาได้รู้ด้วย” ครูฝนกล่าว พร้อมเสริมว่า ตนเองมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหานี้อย่างมาก จึงพยายามหาวิธีสื่อสารเพื่อให้เด็กทุกชาติพันธุ์เข้าถึงการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด
อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลของชุมชนบนดอยที่ครูฝนต้องประสบพบเจออยู่เสมอคือ ปัญหายาเสพติด และปัญหาภายในครอบครัวของนักเรียน ในหลายกรณียาเสพติดยังนำไปสู่การทำร้ายร่างกายเด็ก การหย่าร้างของผู้ปกครอง ละทิ้งเด็กให้อยู่กับคนเฒ่าคนแก่ เป็นต้น โดยทางโรงเรียนพยายามประสานกับผู้นำชุมชน ให้ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปจัดการดูแลในเบื้องต้น ในบางกรณีที่เด็กอยู่กับผู้ปกครองที่ติดยาเสพติดและทำร้ายร่างกายเด็ก อีกทั้งครอบครัวหย่าร้างกัน ครูฝนเคยแนะนำให้แม่ของเด็กรับเด็กไปเลี้ยงดูแทนพ่อ เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นซํ้าซาก
“การให้ความรู้ในเรื่องโทษของยาเสพติด และการส่งมอบโอกาสทางการศึกษา คือหนทางที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ตระหนักรู้ สามารถป้องกันตนเองจากภัยของยาเสพติดได้” ครูฝนแสดงความตั้งใจในฐานะครูที่จะช่วยแก้ปัญหาครอบครัวและชุมชนด้วยการศึกษา
ความตั้งใจยิ่งยวดของครูฝน คือการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กชาติพันธุ์ รวมไปถึงเป้าหมายที่ใหญ่กว่าการให้ความรู้คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ให้หันมาสนใจในการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น
“มีผู้ปกครองจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายคนเข้ามาพูดคุยกับหนู เพราะหนูเป็นครูคนเดียวที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ ได้ไปเรียนจนจบปริญญาตรีแล้วกลับมาสอนที่บ้านเกิด เขาชื่นชมเรา เอาเราเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ พอคนในหมู่บ้านเขาเห็นเราเป็นต้นแบบ ได้เล่าเรียน ได้ทำงานที่มั่นคง เขาก็อยากให้ลูกหลานได้รับการศึกษามากขึ้น”
ครูฝนกล่าวด้วยความภาคภูมิใจที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษามากขึ้น อย่างน้อยที่สุดเส้นทางชีวิตของเธอก็เป็นแบบอย่างให้คนชาติพันธุ์รุ่นหลังได้เห็นแล้วว่า การเป็นครูนอกจากจะเป็นผู้ให้ความรู้แล้ว ยังสามารถกลับพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองได้