“เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ครูจ๋าจะไม่มีปัญหาการโยกย้ายไปมา และสามารถทำงานในพื้นที่ได้ต่อเนื่อง”

“เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ครูจ๋าจะไม่มีปัญหาการโยกย้ายไปมา และสามารถทำงานในพื้นที่ได้ต่อเนื่อง”

“เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ครูจ๋าจะไม่มีปัญหาการโยกย้ายไปมา และสามารถทำงานในพื้นที่ได้ต่อเนื่องมากกว่าคนอื่นๆ”

จสิตา เชียะคง (ครูจ๋า) 
ครูรัก(ษ์)ถิ่น โรงเรียนบ้านดอนธูป ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จสิตา เชียะคง หรือ ‘ครูจ๋า’ ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านดอนธูป ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในข้าราชการครูบรรจุใหม่ ตามโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้สะท้อนจุดมุ่งหมายหนึ่งของโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น หรือครูโยกย้ายบ่อย ส่งผลให้การเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลขาดความต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้การมีครูที่เป็นคนในพื้นที่เข้ามาทำการสอนจะทำให้รู้สภาพปัญหาการศึกษาในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากขึ้น

ครูจ๋า มีพื้นเพเดิมเป็นชาวเกาะสมุย เกิดและเติบโตในพื้นที่ จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเกาะสมุย แต่เนื่องจากรายได้ของครอบครัวไม่เพียงพอต่อการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา อีกทั้งยังมีพี่น้องคนอื่นที่ยังเรียนอยู่ ครูจ๋าจึงคิดว่าตนเองสามารถทำงานในวันธรรมดา เพื่อหารายได้มาลงเรียนระดับปริญญาตรี สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถึงแม้ว่าใจจริงแล้วตนเองอยากจะเป็น ‘ครู’ เพราะได้รับแรงบันดาลใจและการสนับสนุนจากครูที่โรงเรียน อีกทั้งยังเป็นเด็กกิจกรรมอีกด้วย 

จนกระทั่งครูแนะแนวของโรงเรียนได้แนะนำทุนการศึกษาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ครูจ๋าจึงตัดสินเข้าร่วมโครงการนี้ในห้วงสุดท้ายของการรับสมัคร จนได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อปริญญาตรี สาขาการศึกษาปฐมวัย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ครูจ๋าเล่าความภาคภูมิใจในการเป็นครูว่า “ตั้งแต่การฝึกงานจนกระทั่งมาบรรจุที่โรงเรียนบ้านดอนธูป รู้สึกลังเลว่า เราต้องการเป็นครูเพราะเรารักในวิชาชีพครู หรือต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงานกันแน่ เพราะการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลนั้นยากมาก เราต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ตั้งแต่พวกเขาเดินเข้ามาในโรงเรียน จนกระทั่งได้ยินผู้ปกครองสะท้อนมาว่า ลูกหลานของพวกเขามีระเบียบวินัยมากขึ้น เช่น วางกระเป๋าเป็นที่เป็นทาง วางรองเท้าไม่กลับด้านซ้ายขวา เด็กๆ เขามองเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) เราก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจที่เราได้เป็นครูของพวกเขา ทำให้เรารู้สึกรักและศรัทธาในวิชาชีพครูมากขึ้น” 

จากประสบการณ์ที่หล่อหลอมในวิชาชีพครู ยิ่งทำให้ครูจ๋ามีความมุ่งมั่น “อยากพัฒนาโรงเรียนของเรา พัฒนาชุมชนผ่านการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างอนาคตของชาติที่มีคุณภาพออกไปให้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นตั้งใจของครูจ๋าในการสร้างเด็กให้เติบโตมาอย่างดีพร้อม อาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะปัญหาด้านงบประมาณที่จำกัด ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับเด็กในพื้นที่ทุรกันดาร เช่น ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น จุดนี้เองที่ทำให้ผู้อำนวยการและคณะครูโรงเรียนบ้านดอนธูปพยายามจัดหางบประมาณจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเต็มที่ ประกอบกับทางเทศบาลและชุมชนเองก็ให้การสนับสนุนด้านทุนการศึกษาแก่เด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพราะประชาชนในพื้นที่มีความต้องการให้ลูกหลานมีการศึกษาที่ดี 

“คนในชุมชนต้องการให้โรงเรียนยกระดับทางวิชาการมากขึ้น พวกเขาอยากให้ลูกหลานสร้างชื่อเสียงด้วยการ ‘ออกจากเกาะ’ ไปชิงรางวัลที่จังหวัด เช่น การแข่งขันวิชาการ การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรม เป็นต้น หากลูกหลานของพวกเขาได้รับรางวัลกลับมา สิ่งที่โรงเรียนจะได้รับคือ การสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาที่มากขึ้น อีกทั้งคนในชุมชนก็พร้อมที่จะสนับสนุนเราด้วย ไม่ว่าจะขาดเหลืออะไรก็ตาม บอกเขาได้เลย” ครูจ๋ากล่าว 

ในฐานะที่รับราชการครูในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง ครูจ๋ามองว่า บทบาทของครูนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เชิงรับเพียงอย่างเดียว หากต้องทำหน้าที่เชิงรุกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกไปช่วยงานกิจกรรมชุมชน ทำความรู้จัก สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจคนในพื้นที่ด้วย แม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม 

“ยิ่งเราต้องประจำการในพื้นที่ 6 ปี เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่า ลูกหลานของพวกเขาจะได้รับการศึกษาที่ดีและต่อเนื่อง เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ครูจ๋าจะไม่มีปัญหาการโยกย้ายไปมา และสามารถทำงานในพื้นที่ได้ต่อเนื่องมากกว่าคนอื่นๆ

“ครูจ๋าได้ทักษะเล็กๆ น้อยๆ จากการไปอบรมกับ กสศ. เขาสอนเรื่องการจับจีบผ้าด้วย เลยทำเป็น พอมีงานกิจกรรมในชุมชนเราไปช่วยเขาจับจีบผ้าตามเวทีต่างๆ ตรงนี้ ยิ่งทำให้เรารู้จักเขามากขึ้นกว่าเดิม เราสามารถเรียนรู้บริบทชุมชนว่าต้องการอะไรได้ พวกเขาเองก็รู้จักเราในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เป็นคนสมุยแท้ๆ เขารู้ว่าเราจะอยู่ที่นี่ไปอีกนาน เขายังบอกว่า โชคดีจังที่ลูกหลานเขาจะได้เรียนกับครูจ๋าไปตลอด พอฟังแบบนี้ยิ่งทำให้เรายิ่งอยากพัฒนาตนเอง เรียนรู้งานที่หลากหลายมากขึ้น” 

ครูจ๋าบอกอีกว่าว่า หากทางผู้อำนวยการมอบหมายให้เข้ารับการอบรม เสริมทักษะ หรือมีโครงการพัฒนาต่างๆ ตนเองก็พร้อมจะขออาสา เพราะถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้มากขึ้น และนำความรู้นั้นกลับมาพัฒนาโรงเรียนและชุมชนต่อไป