‘ครูซ๊ะ’ อาอีซ๊ะ บาสอ : การพัฒนาเด็กและชุมชน เริ่มต้นที่การศึกษา

‘ครูซ๊ะ’ อาอีซ๊ะ บาสอ : การพัฒนาเด็กและชุมชน เริ่มต้นที่การศึกษา

“การเป็นครูนั้นมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายอย่างมากไปกว่าการสอนหนังสือ คือการเป็นครูนักพัฒนา”

อาอีซ๊ะ บาสอ (ครูซ๊ะ) 
ครูรัก(ษ์)ถิ่น โรงเรียนบ้านรัตนา ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

โรงเรียนขนาดเล็กบนพื้นที่ห่างไกล มีฉากหลังเป็นเทือกเขารายล้อม สิ่งปลูกสร้างและอาคารเรียนไม่ได้โอ่อ่าอย่างในเมือง สัญญาณโทรศัพท์ขาดๆ หายๆ การติดต่อสื่อสารจึงมีความยากลำบากอยู่บ้าง แต่เป็นเรื่องดีที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแล้ว 

นี่คือบรรยากาศภาพรวมของโรงเรียนบ้านรัตนา ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา สถานที่ที่ อาอีซ๊ะ บาสอ หรือ ‘ครูซ๊ะ’ บัณฑิตจบใหม่จากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ทำหน้าที่แม่พิมพ์อยู่ 

ครูซ๊ะ เป็นลูกคนที่ 2 จากทั้งหมด 7 คน เธอเล่าว่าขณะใกล้จบการศึกษาชั้น ม.6 เป็นช่วงที่ต้องเริ่มหาทุนเรียนเอง เพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพราะหากเรียนโดยไม่อาศัยทุน น้องๆ ที่เหลือคงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือต่อ นั่นคือที่มาที่ไปของการสมัครเข้ารับทุนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเปิดมุมมองใหม่ที่มีต่ออาชีพ ‘ครู’

“ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการเป็นครูต้องทำอะไรยังไงบ้าง ตอน ม.6 คิดแค่ว่าเป็นครูก็คือไปสอนตามตาราง คงไม่ได้มีงานอื่นๆ นอกจากงานสอน แต่พอได้เข้ามาอยู่ในโครงการนี้และได้เรียนในระดับอุดมศึกษา ทำให้เริ่มเข้าใจแล้วว่าการเป็นครูนั้นมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายอย่างมากไปกว่าการสอนหนังสือ คือการเป็นครูนักพัฒนา” 

ในวัยเล่าเรียน เธอเคยศึกษาอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่บ้านเท่าไรนัก สภาพแวดล้อมไม่ต่างจากโรงเรียนที่เธอมาทำหน้าที่ครูในตอนนี้ ซึ่งมีปัญหาเชิงกายภาพคล้ายคลึงกัน คือขาดแคลนบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่โรงเรียนที่เธอเคยเรียนยังดีที่มีครูค่อนข้างเยอะ ประกอบกับบริบทหลายๆ อย่างก็เอื้ออำนวยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้มากกว่า 

“โรงเรียนที่สอนอยู่ตอนนี้มีครูประมาณ 15 คน ยังไม่รวม ผอ. และนักการภารโรง แต่ถ้าเทียบกับจำนวนเด็กก็ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนเท่าไรนัก”

ตามการบอกเล่าของครูซ๊ะ เด็กนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม ใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เด็กๆ จึงไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยเท่าไรนัก ปัญหาหลักๆ จึงเป็นเรื่องที่เด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ปิดกั้นการเรียนรู้ในหลายมิติ 

ด้วยความตระหนักว่ากำแพงภาษาคือปัญหาหลักในการศึกษาของเด็กในพื้นที่ ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูคนอื่นๆ พยายามส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก โดยมีกิจกรรมที่เรียกว่า ‘คลินิกศัลยกรรมการอ่าน’ เพื่อส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้อย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป 

โดยช่วงแรกจะมีการแบ่งกลุ่มในแต่ละห้องเรียนตามทักษะ หลังจากนั้นเมื่อถึงคาบเรียนคลินิกศัลยกรรมการอ่าน ก็จะเรียนตามกลุ่มที่แบ่งเอาไว้ 

“ผอ. ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องการอ่านออกเขียนได้ มีการติดตามพัฒนาการของนักเรียนตลอดทุกสัปดาห์ ทุกเดือน รวมถึงมีการทดสอบ ประเมินผล โดยมีคณะครูช่วยกันส่งเสริมผลักดัน” ครูซ๊ะเล่า 

ขั้นตอนการสอนจะมีการประเมินเด็กในกลุ่มที่มีทักษะการอ่านและเขียนภาษาไทยในระดับอ่อน คือไม่รู้จักพยัญชนะและสระ เพื่อคัดเลือกไปสอนพิเศษเพิ่มเติมหลังเลิกเรียน โดย ผอ. เป็นคนสอนเองทั้งหมด และมีคุณครูช่วยกันทำนวัตกรรมสื่อการสอน เพื่อส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กๆ อีกแรงหนึ่งด้วย

ในฐานะที่ครูซ๊ะเคยเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในบริบทหรือสภาพปัญหาลักษณะเดียวกัน พอวันที่ได้กลับมาเป็นครู เธอจึงมีโอกาสได้พูดคุยวางแผนร่วมกันกับคณะครูในโรงเรียน เพื่อหาแนวทางพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงส่งเสริมเรื่องจริยธรรมและวิถีชีวิตไปพร้อมๆ กัน

“โรงเรียนของเรานอกจากจะให้ความรู้ทางวิชาการแล้ว เรายังปลูกฝังเด็กเรื่องการละหมาดด้วย ด้วยความที่เป็นชุมชนมุสลิม เราจึงอยากให้เด็กได้รู้จักหลักปฏิบัติทางศาสนา ไม่ใช่ว่าทำตามคนอื่นเฉยๆ แต่เราอยากให้เด็กได้เข้าใจ ได้ลึกซึ้งในการละหมาด”

พันธกิจที่สำคัญของครูซ๊ะในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่น คือการเป็นครูนักพัฒนา พัฒนาทั้งนักเรียน และพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนที่เข้มแข็ง 

“เมื่อเราพัฒนานักเรียนและโรงเรียนแล้ว หลังจากนั้นจึงขยายไปสู่ชุมชน โดยการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนมากขึ้น เพราะชุมชนเองก็มีความสัมพันธ์อันดีกับโรงเรียนมาเสมอ สายสัมพันธ์อันดีนี้จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะสามารถขยายโอกาสการศึกษาได้อีกไม่มากก็น้อย” 

ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจที่เปี่ยมไปด้วยความแน่วแน่ของครูซ๊ะ