‘ครูซีพี’ ณัฐกรณ์ เครือบุดดี : เรียนรู้จากชุมชน คือหัวใจของการพัฒนาเยาวชนท้องถิ่น

‘ครูซีพี’ ณัฐกรณ์ เครือบุดดี : เรียนรู้จากชุมชน คือหัวใจของการพัฒนาเยาวชนท้องถิ่น

“ผมวางแผนไว้ว่าอยากออกแบบการสอนใหม่ ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้ร่วมกับชุมชน และทำกิจกรรมส่งเสริมให้เด็ก ๆ รัก(ษ์)ถิ่นของตัวเองด้วย” 

ณัฐกรณ์ เครือบุดดี (ครูซีพี) 
ครูรัก(ษ์)ถิ่น โรงเรียนอนุบาลภูพาน ตำบลโคกภู อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร

หลายปีมาแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนแห่งนี้เคยเป็นสถานที่เล่าเรียนของเด็ก ๆ แทบทุกคนในหมู่บ้าน พ่อแม่หลายคนส่งลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนแห่งนี้ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกันคือ ‘ใกล้’ และ ‘ประหยัด’ 

เวลาผ่านไป การคมนาคมพัฒนาขึ้น ถนนหนทางไม่ขรุขระเหมือนแต่ก่อน ผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์ขึ้นมาหน่อยต่างพากันทยอยส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนในตัวเมืองที่มีชื่อเสียงมากกว่า รวมถึงมีความพร้อมทั้งด้านสภาพแวดล้อม จำนวนครู และงบประมาณ

สภาพการณ์คร่าวๆ นี้เล่าผ่านประสบการณ์ตรงของ ณัฐกรณ์ เครือบุดดี หรือ ‘ครูซีพี’ ผู้ที่มีบทบาทเป็นทั้งศิษย์เก่า และเป็นครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ประจำการอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลภูพาน ตำบลโคกภู อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร 

ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนมีเด็กนักเรียนประมาณ 500-600 คน โดยเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย แต่ขณะนี้มีเด็กนักเรียนเหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าคน และอาจมีแนวโน้มน้อยลงอีก

ครูซีพีเล่าว่า ผลจากจำนวนเด็กที่ลดลง ทำให้จำนวนครูถูกตัดออกไปหลายอัตรา ปัจจุบันนี้ครู 1 คน ต้องสอนมากกว่า 1 วิชา เช่น ครูวิทยาศาสตร์ต้องไปสอนวิชาคอมพิวเตอร์ด้วย หรือครูภาษาไทยก็ต้องสอนสังคมศึกษาด้วย เขากล่าวว่าในวัยเด็กที่ตัวเองเคยเรียนอยู่ที่นี่ไม่เคยมีปัญหาลักษณะนี้มาก่อน แต่เมื่อสัดส่วนครูและนักเรียนไม่สอดคล้องกันเช่นนี้ทำให้เด็กได้รับความรู้อย่างไม่เต็มที่ ซึ่งครูพีซีย้ำว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาค่อนข้างมาก

ในวันที่ได้กลับมาเป็นครูในโรงเรียนที่ตัวเองเคยร่ำเรียนมา ครูรัก(ษ์)ถิ่นคนนี้มีความตั้งมั่นที่จะพัฒนาแนวทางการเรียนการสอน หยิบยกสิ่งที่เคยเรียนรู้ขณะที่เรียนอุดมศึกษามาประยุกต์ปรับใช้กับการสอนของตัวเอง

“อยากให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานกลับเข้ามาเรียนที่นี่เยอะ ๆ ผมตั้งใจที่จะนำวิชาความรู้ที่เรียนมาช่วยพัฒนาให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ให้เด็กกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำในสิ่งต่าง ๆ ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว อยากให้เขาปล่อยออกมาให้เต็มที่ ผมอยากจะส่งเสริมในจุดนั้น”

แนวทางอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้ คือการพยายามนำสิ่งที่อยู่ในชุมชนมาประยุกต์ใช้ โดยครูซีพีได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรเชื่อมโยงกับท้องถิ่น  

“ผมวางแผนไว้ว่าอยากออกแบบการสอนใหม่ ๆ พยายามนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนมาปรับใช้ ให้เด็กได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้ร่วมกับชุมชน และทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็ก ๆ รัก(ษ์)ถิ่นของตัวเองด้วย” ครูซีพีกล่าว 

จุดเด่นของชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อมโรงเรียนแห่งนี้ คือภูมิปัญญาการย้อมผ้าครามและเป็นอาชีพเก่าแก่ของคนที่นี่ ซึ่งครูซีพีได้ประสานงานกับทางโรงเรียน มีการพูดคุยกับผู้อำนวยการและคุณครูท่านอื่น ๆ โดยหลังจากได้ลงพื้นที่พบปะกับคนในชุมชนพบว่า ชุมชนเองก็ต้องการทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และสานต่ออัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น

ในสมัยที่ครูซีพียังเป็นนักเรียนที่นี่ ทางโรงเรียนเองก็เคยจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกทำผ้าครามกันมาก่อนแล้ว เริ่มตั้งแต่เรียนรู้วิธีการปลูกคราม แล้วนำครามไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทว่าปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ เลือนหายไปตามยุคสมัย ครูพีซีจึงอยากรื้อฟื้นหลักสูตรนี้กลับมาให้เด็กได้เรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับตัวเองอีกทางหนึ่ง 

“สิ่งนี้มีความสำคัญมากนะครับ เพราะว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมภายในชุมชน ชุมชนก็มาเรียนรู้กับเราในการส่งเสริมพัฒนาเด็ก ๆ ส่งเสริมให้พวกเขามีรายได้เสริม เราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” ครูซีพีกล่าว