“แม้เด็กของเราจะไม่เก่งเท่าเขา แต่เราต้องพัฒนาทุกวัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ เด็กของเราก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้”
ชยพล โคโรจวง (ครูโย)
ครูรัก(ษ์)ถิ่น โรงเรียนภูขัดรวมไทยพัฒนา ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
เขาอยากเป็นครูมาตั้งแต่เรียนอยู่มัธยม พอใกล้จบ ม.6 จึงเริ่มมองหาลู่ทางที่จะพาตัวเองเข้าสู่สายอาชีพที่ใฝ่ฝันบนเงื่อนไขข้อจำกัดในเรื่องทุนทรัพย์
พอเหมาะพอดีกับการได้รู้จักกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จากการแนะแนวในโรงเรียนและการประชาสัมพันธ์ในชุมชน ทำให้ ชยพล โคโรจวง หรือ ‘ครูโย’ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างไม่ลังเล
สมัยยังเป็นนักเรียน ครูโยมีเพื่อนเป็นคนชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อย ทำให้เข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คนชาติพันธุ์ต้องเผชิญในหลายด้าน และเขาเข้าใจอย่างชัดเจนที่สุดในด้านที่ตัวเองกำลังสัมผัสในขณะนั้น ซึ่งก็คือ ‘การศึกษา’
ภายใต้โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ครูโยได้ประจำการที่โรงเรียนภูขัดรวมไทยพัฒนา ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนที่ครูโยเล่าว่าเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นมาจากเพื่อนที่กระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายให้เขาอยากมาพัฒนาเด็กๆ ในโรงเรียนแห่งนี้ดูสักตั้ง
“เพื่อนผมที่เป็นคนชาติพันธุ์ ภาษาไทยเขาจะไม่แข็งแรง พูดได้ สื่อสารได้ แต่เวลาจะนำเสนออะไรที่เป็นทางการ เขาจะไม่ได้เลย ทำให้เขาไม่สามารถไปไขว่คว้าหาโอกาสได้ หรือเวลามีการแข่งขันอะไรก็ตาม เพื่อนก็เข้าร่วมไม่ได้ ถึงจะเป็นคนที่เรียนเก่งมากๆ แต่เขาก็ไม่มีความมั่นใจ”
ในเด็กปฐมวัยหรือเด็กเล็ก ควรเป็นวัยที่ได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเต็มที่ แต่สำหรับเด็กชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยกลับยากที่จะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเมื่อเทียบกับคนพื้นราบ เนื่องจากโรงเรียนบนดอยสูงมักประสบปัญหาครูย้ายบ่อย สาธารณูปโภคก็ขาดแคลน
โรงเรียนที่ครูโยประจำการอยู่ก็มีสภาพแวดล้อมไม่ต่างกัน ครูหนึ่งคนจึงต้องมีหน้าที่หลายด้าน นอกจากบทบาทในการสอนแล้วครูโยยังทำหน้าที่เป็นช่างไฟจำเป็นให้กับโรงเรียนทุกครั้งที่ไฟฟ้าขัดข้อง ส่วนระบบน้ำก็อาศัยชุมชนมาดูแลช่วยเหลือ เป็นโรงเรียนประเภทที่เรียกกันว่า ‘stand alone’ ต้องดูแลตัวเอง
สื่อการเรียนของนักเรียนไม่สามารถอาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้มากนัก เพราะหากวันใดไฟฟ้าขัดข้องจะทำให้การเรียนหยุดชะงัก ครูโยและครูทุกคนที่นี่จึงแก้ปัญหาด้วยการช่วยกันทำสื่อการสอนแบบทำมือ เพื่อให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ต่อเนื่องในวันที่ไม่มีไฟฟ้าใช้
“เวลา ผอ. เรียกประชุม เราคุยกันเรื่องนี้ตลอด เราพยายามทำทุกทางให้เด็กได้เรียนต่อเนื่อง เรื่องระบบน้ำ ระบบไฟ หน่วยงานรัฐทำหน้าที่เพียงแค่เข้ามาติดตั้งให้เท่านั้น ทางโรงเรียนและชุมชนต้องช่วยดูแลกันเองทั้งหมด”
นอกจากเรื่องสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างเป็นอุปสรรคแล้ว ยังมีเรื่องภาษาและการสื่อสารที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ครูโยต้องลองผิดลองถูก หาวิธีการสอนที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างไม่ถูกปิดกั้น
“ถ้าเด็กถูกปิดกั้นด้วยอุปสรรคทางภาษา เราก็ต้องหาวิธียื่นโอกาสให้เด็กได้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ทั้งครูและเด็กต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายถึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี”
ครูโยเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กชาติพันธุ์หรือเด็กกลุ่มใดก็ตาม เด็กเหล่านี้ควรจะได้รับความรู้พื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่สำหรับเด็กชาติพันธุ์หากสอนตามตัวชี้วัดอย่างเดียว ไม่มีทางที่เขาจะเรียนได้อย่างเข้าใจถ่องแท้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ครูที่จะต้องปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเด็กที่สุด
“ผมจะถือคติว่า แม้เด็กของเราจะไม่เก่งเท่าเขา แต่เราต้องพัฒนาทุกวัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ เด็กของเราก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้”
ความยากจนของเด็กๆ ทำให้การเรียนรู้ของพวกเขาถูกจำกัด แทบทุกคนไม่มีพ่อแม่คอยสอนการบ้าน เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ บางคนอยู่กับปู่ย่าตายายไม่รู้หนังสือ ครูโยจึงยอมกลับบ้านช้ากว่าเวลาทั่วไป เพราะอยากทำหน้าที่แทนพ่อแม่ฝึกสอนการบ้านให้เด็กๆ แทน
ครูโยอธิบายต่อว่า เทคนิคการสอนของเขาจะค่อยๆ ให้เด็กเรียนรู้ภาษาไทยจากชีวิตประจำวันง่ายๆ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนยังมีนโยบายส่งเสริมการอ่านการเขียน โดยให้เด็กเรียนรู้บัญชีคำศัพท์พื้นฐาน เพื่อให้เด็กได้ซึมซับคำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเด็กสามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วในระยะเวลาเพียง 1 เทอม และมีผลการเรียนที่ดีมากขึ้นตามลำดับ
“การที่เราปรับพื้นฐานให้เขาโดยค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปทุกวันๆ จะช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นกว่าการที่เราจะไปอัดเนื้อหาแน่นๆ ตามตัวชี้วัดที่มากเกินไป เราต้องดูให้เหมาะกับเด็กเรา เสร็จแล้วค่อยพาเขากระโดดเข้าสู่เนื้อหา แล้วเขาจะเรียนรู้ได้ดีขึ้น” ครูโยกล่าว
“ผมเองก็ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ คาดหวังว่าจะได้เห็นลูกศิษย์ของเราไปต่อในระดับที่สูงขึ้น จากก่อนหน้านี้จบ ป.6 ก็ไม่เรียนต่อแล้ว เราก็คาดหวังว่าเด็กรุ่นต่อๆ ไปจะได้เรียนจนจบ ม.6 จบปริญญาตรี แล้วกลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดของเราไปด้วยกัน” ครูโยฝากทิ้งท้าย