กรมราชทัณฑ์ ร่วมจับมือ กสศ. พัฒนาโมเดลจัดการศึกษาให้ผู้ต้องขังใน 13 เรือนจำต้นแบบ
มุ่งตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน คืนทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสู่สังคม

กรมราชทัณฑ์ ร่วมจับมือ กสศ. พัฒนาโมเดลจัดการศึกษาให้ผู้ต้องขังใน 13 เรือนจำต้นแบบ

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนาการจัดการศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำต้นแบบการศึกษา โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทันณฑ์ นายภัทระ คำพิทักษ์ ที่ปรึกษากรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาการด้านกฎหมาย กสศ. นางสาวนิสา แก้วแกมทอง รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสม และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง โดยกรมราชทัณฑ์ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาผู้ต้องขัง ตลอดจนพัฒนาคุณภาพประสิทธิภาพครูผู้สอน เพื่อสนับสนุนผู้ที่พลาดโอกาสทางการศึกษา โดยได้กำหนดให้เรือนจำ 13 แห่ง จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นเรือนจำต้นแบบการศึกษา ได้แก่ 1) เรือนจำกลาพระนครศรีอยุธยา 2) เรือนจำกลางเชียงราย 3) เรือนจำกลางอุดรธานี 4) เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ 5) ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 6) ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง 7) เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 8) เรือนจำกลางปัตตานี 9) เรือนจำกลางยะลา 10) เรือนจำอำเภอเบตง 11) เรือนจำกลาง เขาบิน 12) ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และ 13) เรือนจำอำเภอสีคิ้ว

โดยได้เชิญผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา จากเรือนจำต้นแบบทั้ง 13 แห่ง เข้าร่วมสัมมนากับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นวิทยากร ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิตและประธานสาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี นายศุภชัย ไตรไทยธีระ มูลนิธิปัญญากัลป์ รวมถึงคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภายในและภายนอกกระทรวงยุติธรรม

 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หากจะวัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศให้วัดที่คุณภาพของคน การศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงมนุษย์ และเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น การศึกษาของผู้ต้องขังเองก็เช่นกัน ในปัจจุบันผู้ต้องขังในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ประมาณ 76% ไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.6) และมีอยู่ 10% ที่ไม่เคยเข้ารับการศึกษามาก่อน ในจำนวนผู้ต้องขังราว 300,000 คน ส่วนมากเป็นวัยหนุ่มสาว และทุกปีจะมีผู้พ้นโทษออกไปราว 200,000 คน จึงถือเป็นความท้าทายของกรมราชทัณฑ์ ในการออกแบบการจัดการศึกษา การเรียนรู้ ให้มีทักษะพื้นฐาน ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อคืนทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้มีโอกาสใช้ชีวิตในสังคม

ตามกฎหมายราชทัณฑ์ เรือนจำต้องให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ วุฒิ ม.6 หรือ ปวช. และต้องทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับกระทรวงศึกษา และบังคับให้ต้องฝึกอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรมด้วย โครงการนี้ถือเป็นวาระที่ดีที่เราจะเติมคนที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสการมีงานทำและการได้รับการจ้างงาน เป็นของขวัญให้ประเทศไทยต่อไป

“ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่พร้อมทุ่มแรงกายแรงใจและให้เวลากับเรื่องนี้ เพราะอย่าลืมว่าในภาพรวมของคนทั้งประเทศ เรายังมีตัวเลขของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐานจำนวนมาก ซึ่งทำให้เราพัฒนาประเทศไปข้างหน้าไม่ได้เท่าที่ควร ขณะที่การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทางกรมราชทัณฑ์จะส่งคืนคนกลับสู่สังคม จะต้องช่วยขัดเกลาพัฒนาคนอย่างเต็มที่ จึงหวังว่าในวันนี้จะทำให้เกิดแนวทางที่น่าสนใจ ที่เราจะสามารถพัฒนาเรือนจำต้นแบบ 13 แห่ง ที่จะขยายผลไปยังเรือนจำอื่น ๆ ในอนาคต และนั่นย่อมหมายถึงความสำเร็จของการยกระดับการพัฒนาคนในกระบวนการยุติธรรมทั้งประเทศได้ในที่สุด”

นางจิรภา สินธุนาวา

นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ไทยมีจำนวนผู้ต้องขังเป็นอันดับ 8 ของโลก ความแออัดทำให้โอกาสในการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ทำได้ยาก ส่งผลต่อโอกาสการทำงานเมื่อกลับสู่สังคม และเพิ่มโอกาสการทำผิดซ้ำ เรือนจำจึงต้องเป็นอคาเดมีด้านการซ่อมสร้างทุนมนุษย์ โดยการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ ต้องเชื่อมโยงกิจกรรมเพื่อการแก้ไขพฤตินิสัย พร้อมส่งเสริมทักษะการสร้างรายได้ที่หลากหลาย สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

“คุณลักษณะหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือเรือนจำแต่ละแห่งมีบริบทแตกต่าง เช่นเรือนจำขนาดเล็กอาจได้เปรียบในเรื่องการจัดการศึกษาที่ทั่วถึงกว่า ส่วนเรือนจำขนาดใหญ่การมีส่วนร่วมอาจน้อยกว่า จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการเพื่อลดช่องว่างให้แคบลง ด้วยการจัดการศึกษาที่มีระบบ มีการเรียนรู้เรื่องนวัตกรรม สารสนเทศ IT ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต การปรับตัวเข้าสังคม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รวมถึงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องเทรนด์ของโลก ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม และสภาพแวดล้อม เพราะผู้ต้องขังที่จะพ้นออกไปจากเรือนจำต้องมีภูมิรู้ในการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน อยากให้เอาประเด็นเหล่านี้มากำหนดเป็นปัจจัยการออกแบบหลักสูตรด้วย”

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า การเข้าถึงโอกาสการศึกษาของผู้ต้องขังต้องไม่ใช่การเรียนรู้แค่รูปแบบเดียว แต่การจัดการศึกษาต้องยืดหยุ่น เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดเวลา สามารถใช้ทุกเวลาให้เกิดประโยชน์ มีการสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ เช่น ห้องสมุด โดยหลักคิดสำคัญคือการทลายกฎเกณฑ์หรือกำแพงเรือนจำ ให้การควบคุมดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนา ลดหลักอำนาจนิยมโดยเปลี่ยนแปลงเป็นความเมตตาและมนุษยธรรม 

อีกประการหนึ่งคือต้องให้ผู้ต้องขังมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อรับรู้ปัญหาและข้อจำกัด “เพราะหากส่งเสริมให้ผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้ เขาจะสามารถแสดงศักยภาพในตัวเองออกมา และนำสู่การค้นพบที่ทางในการประกอบอาชีพ พร้อมปรับตัวเข้าหาครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ดีขึ้น ซึ่งเท่ากับจะลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ และเพิ่มโอกาสค้นพบความก้าวหน้าในชีวิตบนเส้นทางที่ถูกต้องให้กับผู้ต้องขังที่พ้นไปจากกรมราชทัณฑ์ได้”

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงยุติธรรมสู่การปฏิบัติในกรมราชทัณฑ์ว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์มีการจัดการศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ทำภายใต้บริบทอันเป็นข้อจำกัด ด้วยเรือนจำเป็นสังคมที่ซับซ้อน ต้องมีการดูแลทั้งเรื่องการควบคุม พัฒนาพฤตินิสัย รวมถึงจัดการศึกษาและสร้างงานสร้างอาชีพ ตัวเลขคนจบการศึกษาจึงมีจำนวนน้อย อย่างไรก็ตามเรือนจำต้องเป็นพื้นที่ของโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะโอกาสด้านการศึกษา 

“คนของกรมราชทัณฑ์ไม่อาจเป็นเพียงนักอาชญวิทยาหรือทัณฑวิทยา แต่ต้องมีทักษะของนักจัดการศึกษา เป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยหากเข้าใจในบทบาทเหล่านี้ การออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องและการขับเคลื่อนจะตามมา สิ่งสำคัญคืออยากให้ชาวราชทัณฑ์ทราบถึง พ.ร.บ. การศึกษาฉบับปัจจุบัน ที่ระบุว่าการศึกษาสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะเจอวิทยากรผู้มีประสบการณ์จัดการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ฉะนั้นข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ จะส่งเสริมให้ทุกเรือนจำจัดการศึกษาได้เหมาะสมสำหรับผู้ต้องหาทุกคน”

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่าความท้าทายของการจัดการศึกษาในเรือนจำ คือ ในบริบทอันหลากหลายจะมีการจัดระบบอย่างไรให้การศึกษามีความชัดเจน อย่างไรก็ตามต้นทุนที่มีคือแทบทุกกิจกรรมที่มีอยู่ สามารถนำไปบูรณาการเข้ากับสาระวิชาที่กำหนดได้ทันที เพียงต้องปรับแต่งเพิ่มเรื่องจำนวนชั่วโมงเพื่อเทียบโอน และนำไปสู่การออกวุฒิ

 “ถ้าระบบการจัดการศึกษาเรือนจำต้นแบบทำออกมาได้ เราจะดูแลคนได้ทุกกลุ่ม และสามารถขยายผลไปสู่การจัดการศึกษาในบริบทอื่นได้ ไม่เฉพาะในเรือนจำเท่านั้น เพราะกลุ่มเป้าหมายภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ เปรียบได้กับการจำลองผู้คนที่แตกต่างมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน ตัวแบบการจัดการศึกษาที่จะเกิดขึ้น จึงหมายถึงระบบที่รองรับความหลากหลายซับซ้อน ซึ่งคือรูปแบบของสังคมขนาดใหญ่ที่เราให้ทุกคนเรียนเหมือนกันหมดไม่ได้ เพราะบางคนชอบเรียนในระบบโรงเรียน บางคนชอบเรียนทางไกล หรือบางคนชอบเรียนด้วยตัวเองผ่านประสบการณ์ ซึ่งในความต่างนี้คือความท้าทายของการจัดการศึกษาของกรมราชทัณฑ์ ที่มีหน้าที่คืนผู้ต้องขังกลับสู่สังคมโดยต้องมีการศึกษาเป็นหลักประกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นายภัทระ คำพิทักษ์

ขณะที่ นายภัทระ คำพิทักษ์ ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า กสศ. เชื่ออย่างยิ่งว่าการศึกษาคือเครื่องมือในการขยับเขยื้อนสถานะทางสังคม จึงสนับสนุนทุกคนให้มีโอกาสเรียนรู้อย่างเสมอภาค หลายรูปแบบ และเน้นการศึกษาที่ยืดหยุ่นซึ่งสอดคล้องต่อการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน โดย พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติมาตรา 12 ระบุว่า ผู้จัดการศึกษาไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเอื้อให้ครอบครัว ชุมชน สังคม สามารถจัดการศึกษาได้ เป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง กสศ. และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา ที่ได้ทำงานนำร่องในหลายวาระโอกาส อาทิ จับมือกับมูลนิธิปัญญากัลป์ จัดการศึกษาให้เยาวชนในกรมพินิจฯ เพื่อเป็นพื้นที่รองรับเด็กเยาวชนไม่ให้ถูกทิ้งไว้ด้วยข้อจำกัดจากการศึกษาในระบบ ทั้งนี้ความสำเร็จที่ได้ ช่วยให้เด็กเยาวชนจำนวนหนี่งสามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนไปถึงโอกาสการศึกษาต่อและมีงานทำได้ 

“การจัดการศึกษาให้กับผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม หัวใจสำคัญของงานคือการเปลี่ยนผู้คุมให้เป็นครู ดังนั้นเราจะไปถึงการสร้างโมเดลได้ต้องเกิดจากความเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจก่อนว่าการศึกษาเปลี่ยนคนได้ แล้วต้องเข้าใจว่าการศึกษาในที่นี้ต้องไม่ใช่แค่ห้องเรียนเท่านั้น แต่ทุกอย่างที่ผู้เรียนสนใจและถนัดล้วนแปลงเป็นรายวิชาได้ สามารถทำให้ผู้เรียนยืนหยัดและนำพาไปไปสู่การมีชีวิตอย่างภาคภูมิใจได้ นอกจากนี้ถ้าเชื่อในเรื่องการศึกษา ท่านต้องเชื่อว่าทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะใหม่ ๆ ซึ่งมันจะช่วยให้คนคนหนึ่งอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์และในทุกพื้นที่ ท้ายที่สุด กสศ. ขอเป็นกำลังใจให้กับทั้ง 13 เรือนจำต้นแบบ และพร้อมนำประสบการณ์จากการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในหลายพื้นที่ ซึ่งมีข้อค้นพบ มีเครื่องมือ และมีกระบวนการที่หลากหลายมาช่วยสนับสนุน”

นางสาวนิสา แก้วแกมทอง

ด้าน นางสาวนิสา แก้วแกมทอง รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ กสศ. วางเป้าการทำงานในสามปีจากนี้ คือส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นร่วมกับภาคีหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปีที่ผ่านมา กสศ. ได้ร่วมมือกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลางทำงานนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ขอนแก่น และชัยภูมิ เรื่องการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนที่อยู่ในช่วงการพิจารณาของศาล เพื่อลดความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงทำงานกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พัฒนารูปแบบการเรียนในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน จากเดิมที่มีเพียงการศึกษาผ่านกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ สกร. ให้มีการศึกษาทางเลือกในรูปแบบศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 โดยสามารถเทียบโอนวุฒิและประสบการณ์ได้ และได้กลายมาเป็นนโยบายการศึกษาทางเลือกที่ทางกรมพินิจได้ขยายผลในหลายพื้นที่ในปี 2567 

“จากการทำงานกับกรมพินิจฯ ทางกระทรวงยุติธรรมโดยท่านรัฐมนตรีได้เสนอว่าอยากให้ กสศ. นำแนวทางมาขยายต่อที่กรมราชทัณฑ์ โดยเบื้องต้นเริ่มจากพัฒนาตัวแบบในเรือนจำ 13 แห่ง ซึ่ง กสศ. จะเป็นฝ่ายหนุนเสริมทางวิชาการ และมีทีมที่ปรึกษาในแต่ละภูมิภาคเข้าไปทำงานร่วมกับเรือนจำแต่ละแห่ง เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ และนอกจากนี้ยังต่อยอดไปถึงการทำงานกับหน่วยงานส่งต่อดูแล ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในบ้านพักเด็กและสถานสงเคราะห์ ซึ่งจะเริ่มทำสถานสงเคราะห์ต้นแบบร่วมกับกรมกิจการเด็กฯ ในปี 2568” 

รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. กล่าวว่า กสศ. ได้ร่วมกับ สพฐ. ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาต้นแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น โดยทำงานเชิงป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ ด้วยนวัตกรรมการศึกษา อาทิ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อสร้างโมเดลการจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย อีกแนวทางหนึ่งคือร่วมกับศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 พัฒนาแอปพลิเคชัน Mobile School รองรับการเรียนออนไลน์และเทียบโอนประสบการณ์ทักษะต่าง ๆ เพื่อรับวุฒิการศึกษา ทั้งยังร่วมมือกับ สกร. ออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพจากฐานชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับผู้ถูกปล่อยตัวกลับคืนสู่ชุมชนให้มีแหล่งเรียนรู้ต่อเนื่องและมีอาชีพ โดยทั้งหมดนี้เชื่อว่า หากเด็กเยาวชนและประชาชนทุกคน มีรูปแบบการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองที่หลากหลายรองรับ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการหลุดจากระบบการศึกษา และลดอัตราการเข้าสู่เส้นทางกระทำความผิดได้