“ห้องเรียนระบบสอง” นวัตกรรมการศึกษายืดหยุ่นของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม เพื่อตอบโจทย์บริบทชีวิตเด็กเสี่ยงหลุด และหลุดจากระบบการศึกษา

“ห้องเรียนระบบสอง” นวัตกรรมการศึกษายืดหยุ่นของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม เพื่อตอบโจทย์บริบทชีวิตเด็กเสี่ยงหลุด และหลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2567 ณ โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย “โครงการห้องเรียนข้ามขอบ” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวที “กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ออกแบบเส้นทางการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นไร้รอยต่อ” เพื่อสร้างการรับรู้และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในพื้นที่ห้วยซ้อ พร้อมทั้งนำเสนอผลการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และผลักดันกลไก แนวทางในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบ ทั้งในระดับพื้นที่และในระดับภาพรวมของประเทศ

ผอ.พิเศษ ถาแหล่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม กล่าวว่า โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม ได้คิดนวัตกรรมห้องเรียนระบบสองขึ้น เพื่อให้นักเรียนที่ขาดโอกาสในการเข้าเรียนในระบบปกติ ได้มีโอกาสในการเรียนอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษา โดยห้องเรียนรูปแบบดังกล่าว ได้ใช้หลักคิดสำคัญ คือ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้เวลาและกิจกรรมนอกห้องเรียนต่าง ๆ ทั้งการทำงานหารายได้ การช่วยเหลือครอบครัวหรือตนเอง มาแปรเปลี่ยนเป็นผลการเรียนร่วมกับระบบการประเมินผลอื่น ๆ เช่น การเรียนออนไลน์ กิจกรรมกลุ่ม การนำเสนอประสบการณ์ การเรียนรู้ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ

ผอ.พิเศษ ถาแหล่ง

“ห้องเรียนระบบสองของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปีการศึกษา 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาด เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากการพยายามหาแนวทางช่วยนักเรียนคนหนึ่งที่กำลังเรียนในระดับชั้น ม.6 แต่หยุดเรียนกลางคันไม่มาเรียน ครูที่ปรึกษาได้ติดตามและพบว่าตัดสินใจหยุดเรียนเพราะสถานะทางบ้านของนักเรียนคนนี้มีปัญหา ประกอบกับพฤติกรรมของตัวนักเรียนที่ไม่ชอบมาโรงเรียน เพราะประสบปัญหาเรื่องการเรียนรู้ช้า จึงทำให้ขาดเรียนติดต่อกันเป็นเวลานาน ห้องเรียนระบบสองถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้โอกาสเขากลับมาเรียน  และขยายผลไปสู่การเปิดโอกาสให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีเงื่อนไขชีวิตไม่อาจเรียนในระบบปกติที่เรียกว่าเป็นเด็กขาดโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัญหาความยากจนและความไม่พร้อมของครอบครัว รวมถึงเด็กอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเด็กทิ้งโอกาส เพราะ เหตุผลบางประการที่ทำให้มองไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา มีโอกาสกลับมาเรียน

“โรงเรียนของเราจึงพยายามหาวิธีให้เด็กเหล่านี้ กลับมาอยู่ในวัฏจักรและวิถีของการศึกษาให้ได้ เพื่อให้เขามีความรู้ ทักษะ และวุฒิการศึกษา เป็นใบเบิกทางสำหรับก้าวไปสู่การแสวงหาโอกาสในการเรียนต่อ การทำงาน ต่อยอดชีวิตไปสู่อนาคตข้างหน้า จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีโครงการห้องเรียนข้ามขอบและ กสศ. เข้ามาช่วยหนุนเสริม และพยายามพัฒนาห้องเรียนระบบสองของเราให้กลายเป็นเสมือนต้นแบบในการสร้างห้องเรียนที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทชีวิตและความต้องการของเด็กอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ห้วยซ้อ ” ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม กล่าว

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวว่าเวทีนี้ คือการพยายามวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนนโยบายและกลไกแก้ไขเด็กเสี่ยงหลุดและหลุดจากระบบการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่น โดยพัฒนาต่อยอดจากแนวคิดของการศึกษาไร้รอยต่อ ซึ่งหมายถึงรอยต่อของการศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา

“จากการตามไปดูข้อมูลเด็กเสี่ยงหลุดและหลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ พบว่า มีปัญหามิติต่าง ๆ ที่คล้ายกับพื้นที่อื่น ๆ คือมีเยาวชนจำนวนหนึ่ง ตัดสินใจทิ้งระบบการศึกษาจากมูลเหตุอันซับซ้อน โดยเฉพาะในมิติด้านการเลี้ยงดูของครอบครัว ความล้มเหลว ส่งผลให้ตัวเด็กไม่มีความสุขหรือเห็นคุณค่าในการเรียน ปัญหาการคบเพื่อน ปัญหาเรื่องการมีคู่ ปัญหาตั้งท้อง หรือกระทั่งการก้าวพลาดเข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติด”

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง

“สิ่งสำคัญในการแก้ไขเรื่องนี้ คือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนมองเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขที่สัมพันธ์กับการตัดสินใจทิ้งการเรียน และตระหนักถึงการแก้ไขเรื่องนี้ เกิดความคิด เกิดกลไกที่มาช่วยกันระดมสมองว่าจะทำอย่างไรจึงจะสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เกิดเป็นการศึกษาที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะและสมรรถนะแห่งอนาคต สร้างแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่ผสมผสานทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน สร้างพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลายและปลอดภัย เชื่อมโยงความร่วมมือกับชุมชน องค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดรูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความหลากหลายของเด็กในชุมชน ตอบโจทย์ชีวิต และความต้องการของเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง

“หลังจากได้เห็นการดำเนินการของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม โครงการห้องเรียนข้ามขอบ ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่หนุนเสริมให้เกิดแนวทางการพัฒนาระบบ การวัดและประเมินผลที่มีความหลากหลายยืดหยุ่น สะท้อนภาพจริงของผู้เรียน เกิดแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการ กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และวิถีชีวิตของเด็ก รวมถึงเข้ามาช่วยดูแล โดยมีเป้าหมายสำคัญคือทำอย่างไรให้รูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมีมาตรฐาน

“อย่างไรก็ดี ด้วยความตระหนักว่าปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดและหลุดจากระบบการศึกษา เป็นเรื่องซับซ้อนที่ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้กับทุกพื้นที่ เวทีกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ออกแบบเส้นทางการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นไร้รอยต่อที่จัดขึ้นในวันนี้ จึงพยายามหาแนวทางที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับพื้นที่ห้วยซ้อ ด้วยการระดมการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการสะท้อนปัญหา เพื่อนำมาออกแบบ ขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงระบบร่วมกับครอบครัวชุมชนและกลไกต่าง ๆ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนประถมศึกษา เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน” รศ.ดร.ลือชัย กล่าว

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สิ่งที่ได้เห็นจากที่โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมดำเนินการอยู่ คือได้เห็นผู้บริหารโรงเรียน ครู กรรมการสถานศึกษา ซึ่งมาจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งพระสงฆ์ ผู้ปกครอง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่รอบโรงเรียน เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนแนวคิดที่สอดคล้องกับ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งเรียกว่า ห้องเรียนระบบสอง ทำให้โรงเรียนมีความเชื่อมั่นว่า กำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องและเดินมาถูกทาง สังคมให้การยอมรับ นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับการดูแล

“ประมาณ 2-3 ปีก่อน แนวคิดเรื่อง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เคยเป็นแนวคิดที่ทำให้หลายฝ่าย หลายคน กังวลถึงข้อปฏิบัติ ปัญหา และผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ ที่จะตามมา แต่ก็ยอมรับว่ามีโรงเรียนที่มีเด็กไม่พร้อมที่จะไปเรียนร่วมกับคนอื่น ๆ เพราะมีข้อจำกัดของตัวเองและของครอบครัว กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนอยู่จริง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่กลัวการดำเนินการเรื่องนี้ แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังเคยระบุว่า ยังไม่มีแนวทางการปฏิบัติ แม้จะมีการเขียนไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติก็ตาม

“แต่ในขณะนี้ นโยบาย 1โรงเรียน 3 รูปแบบ กลายเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งปรากฏในหนึ่งในมาตรการ Thailand Zero Dropout เรื่องของการจัดการศึกษายืดหยุ่นที่รัฐบาลตั้งใจจะให้มีโรงเรียนแบบที่โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมดำเนินการอยู่ในทุกอำเภอทั่วประเทศในอนาคต สิ่งที่โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมทำอยู่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้หากตั้งใจร่วมมือกันจริง และมีผลลัพธ์ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งในชุมชนและสังคม รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ ซึ่งมั่นใจว่าแนวทางนี้จะกลายเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา นำเด็กกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สอดรับกับทุกเงื่อนไขชีวิตของเด็กในแต่ละชุมชนได้” ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.กล่าว