วันเด็ก 2568 ทุกความฝันของเด็กเป็นจริงได้ด้วยหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

วันเด็ก 2568 ทุกความฝันของเด็กเป็นจริงได้ด้วยหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

น้องอาย ชั้น ม.2 วางแผนเรียนต่อบัญชี เพราะฝันไว้ว่าอยากรีบเรียนให้จบไปทำงานช่วยแม่

น้องแอนฟิลด์ ชั้น ป.5 ยังคิดไม่ออกว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่ตอนนี้กำลังเอนจอยมากกับอังกะลุงในวงดนตรีโรงเรียน

น้องเหมย เตรียมจบชั้น ป.6 เผยความฝันว่าอยากเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด

น้องจ๋า ชั้น ม.1 ขอพรวันเด็กให้ได้เรียนต่อมัธยมปลาย เพื่อจะได้เห็นโอกาสมากขึ้นว่าอยากเป็นอะไรเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

“เพราะทุกความฝันและความตั้งใจของเด็กทุกคนล้วนมีความหมาย” และการทำให้ความฝันเป็นจริงได้ เด็กทุกคนในประเทศไทยต้องมีหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

วันเด็กปีนี้ กสศ. ชวนน้องๆนักเรียนทุนเสมอภาค โรงเรียนวัดไตรสามัคคี ณ ตำบลบางเมืองใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ บอกเล่าถึงเป้าหมายการเรียน อุปสรรค และตัวช่วยที่จะทำให้โอกาสเดินไปบนเส้นทางที่วาดหวังไว้เป็นจริงได้ โดยฝันนั้นจะต้องไม่เลิกล้มตรงกลางทาง รวมถึงไม่ลืมที่จะถามว่า “วันเด็กปีนี้อยากได้อะไร ?”

อยากทำงานเร็ว ๆ จะได้ช่วยแม่หารายได้

“ปีหน้าหนูจะขึ้น ม.3 แล้วค่ะ ที่คิดไว้คือจบแล้วจะเรียนสาขาบัญชี เพราะเราชอบวิชาคณิตศาสตร์และคิดว่าตัวเองทำได้ดี”

อาย ชญานิษฐ์ ภูมะไล ชั้น ม.2 พูดถึงเส้นทางที่ตั้งใจว่าจะเดินไปหลังจบ ม.3 ในอีกหนึ่งปีการศึกษา ก่อนค่อย ๆ เผยเหตุผลที่มีน้ำหนักมากกว่า ว่า “แต่จริง ๆ คือหนูมองว่าถ้าไปเรียนบัญชีจะใช้เวลาเรียนจบเร็วกว่าสายสามัญ และจากนั้นเราจะเอาวุฒิไปหางานทำได้เลย ถึงตอนนั้นหนูจะหาเงินได้ ไม่ต้องให้แม่ทำงานคนเดียวเหมือนตอนนี้ ส่วนเรื่องเรียนก็คิดว่าจะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย พยายามเรียนต่อให้สูงที่สุดเท่าที่จะไปไหวค่ะ”

น้องอายบอกว่าเรื่องที่กังวลที่สุดคือไม่รู้ว่าขึ้นไปเรียน ปวช. แล้วจะไหวแค่ไหน เพราะรู้ว่าต้องเรียนหนักขึ้น ซึ่งถ้าไปต่อไม่ได้ต้องออกกลางทาง โอกาสได้กลับมาเรียนก็คงไม่มีแล้ว แต่ก็จะใช้วิธีคิดถึงแม่ให้มาก ๆ เพื่อให้ตัวเองพยายามอย่างเต็มที่ และทำเป้าหมายให้เป็นจริงเร็วที่สุด

วันเด็ก… หนูไม่อยากได้อะไรเลยค่ะ แค่ได้มาเรียนทุกวันก็พอ

แอนฟิลด์ ศุภิสรา บุตร์สิทธิ์ ชั้น ป.5 ตอบคำถามที่ว่าวันเด็กนี้อยากได้อะไรพร้อมกับหัวเราะ จึงไปถึงคำถามถัดไปที่ว่าด้วยหัวข้อแผนการเรียนต่อและอาชีพที่ใฝ่ฝัน ซึ่งคำตอบก็เป็นไปในทางเดิม ว่า “หนูยังไม่ได้คิดเลยค่ะ ถ้าจะมีอาชีพที่เห็นและคิดว่าอยากทำในตอนนี้ คงเป็นครู เพราะเราอยู่กับครูทุกวัน เห็นครูสอนพวกเรา คอยดูแลพวกเราให้ได้พัฒนาตัวเอง ก็เลยอยากทำแบบคุณครูบ้างค่ะ”

ถึงยังนึกไม่ออกว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่แอนฟิลด์บอกว่า ตอนนี้กำลังสนุกมาก ๆ กับการเล่นอังกะลุงในวงดนตรีของโรงเรียน ซึ่งเธอฝึกมาหลายเดือนแล้ว“หนูชอบมาโรงเรียน ชอบเรียนดนตรีมาก ๆ สนุกค่ะ ยังอยากเล่นไปเรื่อย ๆ อยากเก่งกว่านี้ให้ได้อีก สิ่งที่กังวลตอนนี้เลยเป็นเรื่องที่ว่าถ้าเรียนจบ ป.6 หรือ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ หนูก็อาจจะไม่ได้เล่นดนตรีอีกแล้ว”

ฝันที่อยากให้เป็นจริงที่สุดคือได้เรียนมหาวิทยาลัย

เหมย ชลิดา พิมพา ชั้น ป.6 พูดถึงเป้าหมายระยะไกล ก่อนกระเถิบเข้ามาใกล้ขึ้น ว่า “แต่ตอนนี้ขอแค่จบ ป.6 แล้วได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ แล้วค่ะ”

เหมยอธิบายความคิดของเธอ ว่าการได้เรียนในโรงเรียนใหญ่น่าจะทำให้โอกาสเข้ามหาวิทยาลัยของเธอเปิดกว้างขึ้น เพราะจะได้เข้าถึงสื่อการสอนที่หลากหลาย ได้เจอเพื่อนมากมายที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เธอพัฒนาตัวเองจนไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนสำหรับวันเด็กปีนี้เมื่อถามว่าอยากได้อะไรเป็นพิเศษ เหมยบอกว่า “หนูอยากได้หนังสือค่ะ จะหนังสือเกี่ยวกับการเรียน หรือหนังสืออะไรก็ได้ที่จะช่วยให้มีความรู้มากขึ้น

ถ้ามีทุนก็น่าจะช่วยให้มาเรียนทุกวันได้สบายใจขึ้น

จ๋า เมษา สังฆภัณฑ์ ชั้น ม.1 เป็นอีกหนึ่งคนที่บอกว่าอยากเรียนสายอาชีพ เพราะคิดว่าเป็นเส้นทางสู่การทำงานมีรายได้ได้เร็วที่สุด

“ที่คิดว่าอยากทำงานเร็ว ๆ เพราะเราอยากมีเงิน ถึงตรงนั้นถ้าจะเรียนต่อก็ทำได้อย่างสบายใจขึ้น แล้วก็ไม่ต้องกังวลด้วยว่าจะมีข้อจำกัดอะไร แม้ว่าเราจะอยากเรียนสูงแค่ไหนก็เป็นไปได้ เพราะตอนนี้ก็กังวลอยู่ด้วยเรื่องทุนทรัพย์ ทำให้ไม่รู้ว่าหลังจบ ม.3 แล้วจะเป็นยังไง จะได้เรียนต่อหรือเปล่า หรือถ้าได้เรียนก็ไม่รู้ว่าที่บ้านจะส่งให้เราเรียนได้อย่างที่อยากเรียนจริง ๆ ได้ไหม “ฉะนั้นถ้าถามว่าอยากได้อะไรในวันเด็กนี้ ก็คงเป็นอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้าชุดนักเรียน และขอให้ได้เรียนต่อสูงกว่าชั้น ม.3 ก่อน เพื่อเราจะทำงานไปด้วยได้ แล้วจะได้เห็นโอกาสมากขึ้นด้วยว่าโตขึ้นกว่านี้เราอยากเป็นอะไร”

สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ให้เป็น ‘สะพานเชื่อมฝันสู่ความจริง’

“ทุนเสมอภาคคือหลักประกันหนึ่ง ว่าเด็กจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะอยู่บนเส้นทางเรียนรู้ได้จนจบการศึกษาภาคบังคับ”

ครูนก รัชนก พุฒดี หัวหน้างานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนวัดไตรสามัคคี เล่าเสริมว่า ด้วยบริบทโรงเรียนตั้งอยู่ในย่านโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ปกครองมากกว่า 80% มาจากต่างถิ่น ประกอบอาชีพทำงานในโรงงาน บ้างรับจ้างในร้านค้า หรือบ้างก็ไม่มีอาชีพประจำ การมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ทุกเทอมครูจะลงเยี่ยมบ้าน เก็บข้อมูลแวดล้อมเด็ก จนถึงได้พูดคุยกับผู้ปกครอง จึงทำให้รู้บริบทครอบครัวและสามารถพาเด็กไปให้เข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น ทั้งจากทุนการศึกษา และการดูแลช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ

“นอกจากทุนจะช่วยโดยตรงเรื่องอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า สมุด หนังสือ เป็นค่าใช้จ่ายในการมาเรียน ซึ่งช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครองได้เยอะ ทุนเสมอภาคยังเป็นทุนหนึ่งที่เรามองว่าคือโอกาสแรก ๆ ของเด็กกลุ่มนี้ เพราะด้วยเงื่อนไขทุนที่กำหนดให้เด็กมาเรียนไม่น้อยกว่า 80% ก็เป็นเหมือนหลักประกันว่าเด็กจะขาดเรียนน้อยลง แล้วทุนนี้ยังเป็นทุนที่ให้ต่อเนื่องตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.3 ก็ยิ่งตอกย้ำความหมายของคำว่า ‘หลักประกัน’ ว่าอย่างน้อยเราแน่ใจได้ว่าเด็กจะมีโอกาสเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งมันจะพาไปสู่โอกาสอื่น ๆ ทั้งทุนในระดับที่สูงขึ้น หรือโอกาสในการทำงานตามวุฒิการศึกษาต่อไป”

แต่จะไปให้ไกลกว่านั้น ต้องมีระบบสนับสนุนให้เด็กเดินบนเส้นทางฝันไปได้ไกลที่สุด

ครูนกฝากไว้ว่า การสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่จะช่วยเชื่อมเด็กไปสู่การเรียนต่อในระดับสูง นอกจากทุนแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน หรือโรงเรียนกับสถานประกอบการ เพื่อส่ง-รับเด็กเข้าเรียนต่อให้ตรงกับความสนใจ ความถนัด และตามบริบทจำเป็นของชีวิต

“สำหรับเด็ก ๆ ที่โรงเรียนเรา ต้องบอกว่าหลายคนถ้าไม่มีทุนการศึกษาก็น่าจะหลุดจากระบบตั้งแต่ยังไม่จบ ม.3 อย่างไรก็ตามหนึ่งในสามของนักเรียนที่จบ เขาก็เลือกไปทำงานเต็มเวลา ไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องช่วยครอบครัวหารายได้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ไหมว่าจะมีเส้นทางอื่น ๆ รองรับ เช่นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนไปด้วยงานไปด้วย เป็นรูปแบบโรงเรียนฝึกอาชีพ หรืออาจทำให้มีรูปแบบการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนต่อ มีวุฒิสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าเขาจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะไปถึงแผนการต่าง ๆ ในชีวิตที่คิดไว้ หรืออย่างน้อยที่สุดคือสามารถเอาความรู้ความสามารถไปใช้ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ดีขึ้น”

ทุนเสมอภาค กสศ. ช่วยเด็ก 1.3 ล้านคน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาทั่วประเทศ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นองค์กรที่มุ่งสนับสนุนเด็ก เยาวชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเต็มตามศักยภาพ โดยในแต่ละปีสามารถป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ผ่านการสนับสนุนทุนเสมอภาคหรือเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ม.ต้น และ นำร่องชั้น ม.ปลาย ใน รร.ตำรวจตระเวนชายแดน โดยมีการติดตามการมาเรียน การเจริญเติบโต และการคงอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พบว่าทุนเสมอภาค สามารถป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาอย่างได้ผล โดยนักเรียนทุนเสมอภาค 96% ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา

จากการติดตามข้อมูลนักเรียน กสศ. พบว่า ยิ่งการศึกษาระดับสูงขึ้น โอกาสที่เด็กยากจนจะได้เรียนต่อก็ยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ มีนักเรียนยากจน 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่จะสามารถศึกษาต่อถึงระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ ด้วย 22% ของรายได้ครอบครัว คือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ครอบครัวของเด็กยากจนต้องแบกรับ หรือสูงกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งคิดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพียง 6% ของรายได้เท่านั้น

โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอมและต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทางมาสมัครเรียน หรือการเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ ถึงแม้ว่าเด็กบางคนจะฟันฝ่าจนได้เข้าเรียน ก็ใช่ว่าจะเรียนจนจบได้ เขาต้องผ่านด่านที่เป็นอุปสรรคจำนวนมากจนต้องยอมแพ้ไม่เรียนต่อในที่สุด

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. บอกว่า “ทุนการศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจเรียนของเด็กยากจน” แต่ถ้าระบบการศึกษา ไม่มี “หลักประกันโอกาส” ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อเส้นทางการทางการศึกษา สุดท้ายปลายทาง ก็จะยังคงมีเด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัด และจำต้องละทิ้งความฝัน หรือหลุดจากระบบการศึกษาก่อนไปถึงปลายทาง

ทุนเสมอภาค หรือ เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข กสศ. ทำหน้าที่เป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนยากจนพิเศษในด่านแรกของการศึกษาภาคบังคับ ใน 6 สังกัดการศึกษา ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ปีการศึกษา 2567 เป็นปีแรกที่ กสศ. ได้เพิ่มอัตราทุนเสมอภาคตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ให้เพิ่มอัตราแบบขั้นบันไดจากปีการศึกษาละ 3,000 บาท (1,500 บาท/คน/เทอม) เป็น 3,480 บาทในปี 2567 และขยับเป็น 3,840 บาทในปี 2568 จากนั้นให้จัดสรรเต็มอัตรา 4,200 บาทต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2569 โดยขณะนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษ ได้รับทุนเสมอภาค 1,348,735 คน ใช้งบประมาณรวมกว่า 2,400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป็นค่าอาหารเช้า ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ

ทุนที่เด็ก ๆ ได้รับมาจากการเยี่ยมบ้านโดยคุณครูทั่วประเทศส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบการคัดกรองของ กสศ. ให้ได้รับหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในระดับการศึกษาภาคบังคับ

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าวันเด็กปีนี้ ฝันนั้นของเด็ก ๆ คืออะไร ต้องเดินทางผ่านอุปสรรคอีกมากแค่ไหนเพื่อจะไปถึง กสศ. จะสนับสนุนให้เด็ก ๆ ทุกคนมีรอยยิ้ม ได้เล่นสนุก ได้ทำตามฝันเต็มศักยภาพ และมีโอกาสเปลี่ยนเป็นความจริงได้

เพราะ “เด็ก คือทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด” เราขอเชิญชวนทุกคนไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสียเด็กหลุดจากการเรียนรู้ หรือ ไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว

กสศ. ขอขอบคุณทุกพลังสนับสนุนเด็ก ๆ ให้ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองเมื่อถูกค้นพบ ขออวยพร ขอเป็นแรงใจ และขอเป็นพลังในทุก ๆ วิธีการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ที่จะทำให้น้อง ๆ ได้ไปต่อบนเส้นทางการเรียนรู้ และมีโอกาสที่เปิดกว้างยิ่งขึ้นสำหรับการทำให้ทุกความฝันนั้นสำเร็จ