‘ครูนก รัชนก พุฒดี’ ครูผู้ทุ่มเทเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กได้เรียน

‘ครูนก รัชนก พุฒดี’ ครูผู้ทุ่มเทเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กได้เรียน

16 มกราคมของทุกปี ทุกคนต่างรู้ดีว่าเป็น ‘วันครู’ วันที่เราจะระลึกถึงพระคุณและความทุ่มเทของครูทุกคนที่เสียสละเพื่อการศึกษาของลูกศิษย์ หากจะให้เล่าถึงครูคนหนึ่งที่ทำงานหนักจนสมกับคำว่า ‘ครู’ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า ครุ (อ่านว่า คะ-รุ) หรือภาษาสันสกฤตใช้คำว่า คุรุ ที่แปลว่า ‘หนัก’ คงจะต้องขอเสนอเรื่องราวของ ‘ครูนก’ แห่งโรงเรียนวัดไตรสามัคคี จังหวัดสมุทรปราการ ครูผู้เป็น ‘นักสู้ผู้ทุ่มเท’ ที่ไม่ย่อท้อในการทำงานทุกวิถีทางเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม ครูนกไม่เคยละทิ้งความตั้งใจที่จะให้เด็ก ๆ ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษา ครูผู้ทำทุกอย่างเพื่อนำพาเด็ก ๆ ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น

ไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากงานวันเด็กที่โรงเรียนวัดไตรสามัคคีจัดขึ้นเพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนได้ร่วมสนุกสนานในวันพิเศษนั้น บุคลากรทุกคนของโรงเรียนได้ตั้งใจจัดงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ สิ่งที่เราได้เห็นคือรอยยิ้มและความสุขที่เปล่งประกายจากนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ นักเรียนกลุ่มลูกหลานแรงงานเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งนักเรียนในโครงการทุนเสมอภาค กสศ. ทุกคนร่วมกิจกรรมด้วยเสียงหัวเราะและใบหน้าที่เปื้อนด้วยความสุข สะท้อนถึงความสำเร็จของงานที่ได้สร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับเด็ก ๆ

เรามีโอกาสได้พบและพูดคุยกับ ‘ครูนก’ ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่โรงเรียนวัดไตรสามัคคีมีนักเรียนมากกว่า 300 คน จากจำนวนทั้งหมด 852 คน ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ ครูนก ซึ่งเป็น ‘ครูแอดมิน’ ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือ ทุนเสมอภาค โดย กสศ. มีการทำงานร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการ และครูประจำชั้น เดินทางไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนแต่ละคนเพื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ออกแบบวิธีการดูแลและช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ รวมถึงการยื่นขอทุนการศึกษาอื่น ๆ สำหรับเด็กที่มีความจำเป็น

การทำงานหนักนี้ทำให้ในปีการศึกษา 2567 นักเรียนของโรงเรียนวัดไตรสามัคคีได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ จำนวนถึง 73 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าทุกปี และทำให้โรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กทุนเสมอภาคมากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

‘ทุนเสมอภาค’ เป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ช่วยสนับสนุนค่าครองชีพ ค่าอาหาร และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนานักเรียน ภายใต้เงื่อนไขในการติดตามพัฒนาการและอัตราการเข้าเรียนที่ต้องมากกว่า 80% ส่งผลให้เด็ก ๆ ของครูนกขาดเรียนน้อยลง สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น เพราะมีหลังพิงเรื่องค่าใช้จ่าย

“ทุนเสมอภาคเป็นทุนที่ทางโรงเรียนให้ความสำคัญเป็นอับดับแรก เพราะทุนนี้คือเป็นทุนที่ให้ต่อเนื่องระยะยาวตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.3 ทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่า จะมีนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยลง เพราะถ้าเป็นทุนที่ให้เพียงแค่ปีเดียว เด็กบางคนก็อาจพอเอาตัวรอดได้ในปีนี้ แต่ก็ยังต้องเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในปีต่อไป ทุนเสมอภาคจึงมีความหมายเท่ากับ ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ของเด็ก ๆ ว่าอย่างน้อยเราจะแน่ใจได้ว่าเขามีโอกาสเรียนไปจนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งมันจะพาไปสู่โอกาสอื่น ๆ ทั้งทุนในระดับที่สูงขึ้น หรือโอกาสในการทำงานตามวุฒิการศึกษาต่อไป”

คำพูดของครูนกทำให้เราเผลอยิ้มและรู้สึกอบอุ่นใจ เมื่อเห็นถึงความตั้งใจของโรงเรียนและคุณครูในการจัดสรรทุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และบรรเทาอุปสรรคที่ทำให้เด็ก ๆ ต้องพลาดโอกาสในการเรียน นี่คือความพยายามที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และช่วยปกป้องเด็ก ๆ ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา

ครูนกยังบอกอีกว่า เงินจาก ‘ทุนเสมอภาค’ ที่มีจำนวน 4,000 บาท สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล และ 3,480 บาท (ปีการศึกษา 2567) สำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น อาจดูไม่มากสำหรับคนที่ไม่ได้ประสบปัญหาทางการเงิน แต่สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เงินจำนวนนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทั้งในส่วนของชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่ารถเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนของรัฐบาลในโครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นการช่วยเหลือที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

ย้อนกลับไปที่เราบอกว่า ‘ครูนก’ เป็น ‘ครูนักสู้ผู้ทุ่มเทเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ นั้น ก็เพราะภารกิจที่เธอต้องทำในทุกปีการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการเดินทางไปตามบ้านนักเรียนทุกคนร่วมกับผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และครูประจำชั้น เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพชีวิตของนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยมีบ้านนักเรียนมากกว่า 300 หลังที่เธอต้องไปเยี่ยมเยือนซ้ำ ๆ เพื่อบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดในทุกมิติ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 8 ด้าน ได้แก่ 1.ครัวเรือนมีภาระพึ่งพิง 2.การอยู่อาศัยไม่มั่นคง 3.ลักษณะที่อยู่อาศัย 4.ที่ดินทำการเกษตรได้ 5.แหล่งน้ำดื่ม 6.แหล่งไฟฟ้า 7.ยานพาหนะ และ 8.ของใช้ในครัวเรือน 

ในการสำรวจบ้านและเก็บรายละเอียดของนักเรียน ครูนกจะรับข้อมูลจากครูประจำชั้นมาตรวจทาน เนื่องจากครูนกมีประสบการณ์ที่สุดในการจัดทำข้อมูลเพื่อส่งต่อนักเรียนไปถึงทุนต่าง ๆ และสำหรับเด็กที่พลาดจากทุนหนึ่ง ครูนกจะทำการวิเคราะห์หาจุดขาดตกบกพร่องเพื่อใช้เป็นบทเรียน และพิจารณาทุนอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนต่อไป การทำงานอย่างละเอียดและทุ่มเทนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ที่ต้องการโอกาสในการเรียนรู้

ในช่วงหนึ่ง เราถามครูนกว่าเหนื่อยไหมกับการต้องทำงานหนักแบบนี้ ทั้งที่ด้วยหน้าที่ครูแล้วอาจไม่จำเป็นต้องลงแรงลงใจมากมายขนาดนั้น ครูนกที่กำลังดูเด็ก ๆ ร่วมกิจกรรมงานวันเด็กอย่างสนุกสนานได้เผย ‘รอยยิ้ม’ ขณะที่สายตาไม่ได้ละจากเด็ก ๆ สักนิด ก่อนตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า “ไม่เหนื่อย” ซึ่งบ่งบอกได้ถึงความหมายมากมายภายใต้หลากหลายสิ่งที่ตั้งใจมุ่งมั่นทำเพื่อลูกศิษย์

มาถึงคำถามสุดท้ายว่า ครูนกมองว่าภารกิจที่ทำอยู่ ณ วันนี้ต้องทำต่อไปอีกยาวนานสักแค่ไหน คุณครูผู้ทุ่มเทเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็ก ๆ แห่งโรงเรียนวัดไตรสามัคคีตอบกลับอย่างฉะฉาน ว่า “เท่าที่ยังเป็นครูอยู่ตรงนี้ นอกจากหน้าที่การสอนและดูแลเด็ก ๆ แล้ว เราจะพยายามสรรหาทุนต่าง ๆ มาให้เด็กนักเรียนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าทุนการศึกษาจากภาครัฐหรือเอกชน แล้วถ้ารู้ว่ามีทุนอะไรเพิ่มขึ้นมา เราก็พร้อมลุยเต็มที่เพื่อให้นักเรียนของเราได้รับโอกาสที่เหมาะสม และเพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงความเสมอภาคในการเล่าเรียนเหมือนเด็กคนอื่น ๆ”  

เนื่องในวันครู 16 มกราคม 2568 นี้ กสศ. ขอขอบคุณ ‘ครูนก’ และคุณครูผู้ทุ่มเทเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอีกกว่า 400,000 คนทั่วประเทศ ที่กำลังช่วยกันดูแลและประคับประคองนักเรียนทุนเสมอภาคจำนวน 1,348,735 คน ด้วยการทุ่มเททำงานอย่างหนัก ทั้งการสอนหนังสือและมุ่งมั่นทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ลูกศิษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ มีความหวังที่จะเดินไปบนเส้นทางการศึกษาจนถึงที่สุดตามศักยภาพของตัวเอง และสามารถต่อยอดไปสู่การศึกษาระดับที่สูงขึ้นในอนาคต