ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาชาติ ประจำปี 2568

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาชาติ ประจำปี 2568

วันที่ 16 มกราคม 2568 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาชาติ ประจำปี 2568 จากพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสงานวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568 ซึ่งจัดขึ้นโดยคุรุสภา ภายใต้หัวข้อ “เรียนดี มีความสุข : ครูไทยร่วมใจปฏิวัติการศึกษา สร้างเด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

โดยในปีนี้ คุรุสภาได้ประกาศยกย่องบุคคลและนิติบุคคลที่มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2568 รวม 7 ราย ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่

ประเภทบุคคล (6 ราย)

  1. พระพรหมบัณฑิต ธมฺมจิตฺโต
  2. พระเทพปริยัติโสภณ (ปัญญา วิสุทธิปญฺโญ)
  3. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล
  4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ
  5. นายกมล รอดคล้าย
  6. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ประเภทนิติบุคคล (1 ราย)

  • มูลนิธิสมาน – คุณหญิงเบญจา แสงมลิ

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเกียรติคุณและยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้รับรางวัลจากคุรุสภา รวมทั้งสิ้น 1,159 คน ซึ่งแบ่งเป็นหลายประเภท ได้แก่

  1. รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น จำนวน 3 คน
  2. รางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น จำนวน 5 คน
  3. รางวัลคุรุสภา จำนวน 27 คน (แบ่งเป็นระดับดีเด่น 9 คน และระดับดี 18 คน)
  4. รางวัลครูผู้สอนดีเด่น จำนวน 25 คน (แบ่งเป็นระดับดีเด่น 11 คน และระดับดี 14 คน)
  5. รางวัลคุรุสดุดี จำนวน 1,065 คน

การประกาศเกียรติคุณครั้งนี้เป็นการยกย่องการทำงานที่มีผลงานดีเด่นและส่งเสริมการศึกษาของชาติอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนและสังคม

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล : ผู้นำในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสให้เด็กไทยทุกคน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นบุคคลที่มีผลงานสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะในด้านการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ท่านเป็นผู้ผลักดันการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเสริมสร้างคุณภาพการศึกษา ซึ่งได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ภายใต้การทำงานในฐานะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งนำไปสู่การออก พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เป็นกลไกใหม่ที่สำคัญในการลดปัญหาการเข้าถึงการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย

ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้ขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการสนับสนุนเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน การพัฒนาคุณภาพครู และคุณภาพของสถานศึกษา ท่านยังได้พัฒนาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็กยากจนด้อยโอกาสและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการจัดตั้งโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน

ตัวอย่างการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่:

  1. การปรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณ
    การจัดสรรงบประมาณภาครัฐให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษผ่านโครงการทุนเสมอภาค (Conditional Cash Transfer: CCT) โดยอาศัยงานวิจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) และระบบการคัดกรองรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Tests) เพื่อปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของนักเรียนในแต่ละพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและบรรเทาภาระทางการเงินสำหรับผู้ปกครอง
  1. การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน
    ดร.ประสาร ได้สนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่มอบทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ของประเทศ เพื่อศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือโครงการ “ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น” ที่ส่งเสริมให้เยาวชนจากพื้นที่ห่างไกลกลับมาพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง
  2. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
    โครงการ “ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน” มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ โดยการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
  3. การส่งเสริมการศึกษาระดับสูงในสายอาชีพ
    โครงการ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายที่ใกล้จบ ปวส. หรืออนุปริญญาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของกำลังคนในสาขาที่มีความต้องการในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่ม New Growth Engine เช่น เทคโนโลยีดิจิตอล

ผลการประเมินของ กสศ.

ในระยะเวลาที่ผ่านมา กสศ. ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์สำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการประเมินผลจากคณะกรรมการของกระทรวงการคลัง ซึ่งพบว่า กสศ. สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำเร็จ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญ เช่น นวัตกรรมการคัดกรองความยากจน และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “Information System for Equitable Education หรือ iSEE” โดยเฉพาะการระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม รวมทั้งการสร้างต้นแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ซึ่งได้ส่งผลให้การช่วยเหลือกลุ่มเด็กเยาวชนที่ยากจนที่สุด 15% ของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

“ครู ถือเป็นอาชีพที่สำคัญมาก เพราะเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างคน สร้างทรัพยากรมนุษย์ ครูจึงเป็นหัวใจของทุก ๆ เรื่องในชีวิตคนและชีวิตสังคม จึงอยากให้คุณครูทุกคนทราบถึงความสำคัญของตัวเองและรักงานที่ตัวเองทำ แม้ในหลาย ๆ ครั้ง อาชีพนี้จะมีอุปสรรคในการทำงานอยู่อีกหลายด้าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครูต้องรักในงานนี้ และในหลายโอกาสก็หมายถึงการเสียสละ เพราะสิ่งสนับสนุนต่าง ๆ ในหลายสถานการณ์อาจจะไม่พร้อม แต่เชื่อว่าหากคุณครูรักในงานนี้และมีอุดมการณ์ พลังในด้านนี้จะช่วยให้อุปสรรคต่าง ๆ เล็กลง และทำงานได้อย่างลุล่วงได้ในที่สุด

“ความรักจากครูถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด หากครูทำงานโดยเริ่มต้นจากความรัก ความปรารถนาดี ความอบอุ่น ความรู้สึกเหล่านี้จะส่งผลไปถึงเด็กและเยาวชน เมื่อเด็กเยาวชนมีความมั่นใจและสัมผัสได้ในความรักจากครู เรื่องความรู้ ทักษะ และด้านอื่น ๆ ก็จะตามมา” ดร.ประสาร กล่าวในโอกาสวันครู 16 มกราคม 2568