เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป ‘ระดมความคิดเห็นในการพัฒนานวัตกรรมการเงินเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในประเทศไทย’ ครั้งที่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการทำงานด้านการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีการหารือถึงความร่วมมือในการสร้าง ‘Partnership Model’ ซึ่งเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงการศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีทางเลือก สอดคล้องกับมาตรการ Thailand Zero Dropout (TZD) ที่มุ่งให้เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มภาพ
ในงานครั้งนี้มีภาคีความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาเข้าร่วม เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สถาบัน Change Fusion, เทใจดอทคอม, มูลนิธิยุวพัฒน์, กลุ่มเซ็นทรัล, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ), บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), มูลนิธิ เอสซีจี, บริษัท เคพีเอ็มจี ประเทศไทย, บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด, มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งร่วมกันหารือและเสนอแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ณ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
• สรุปข่าวกิจกรรมเวิร์กช็อปครั้งที่ 1 คลิก
จากข้อมูลความคืบหน้าของมาตรการ Thailand Zero Dropout (TZD) ในปี 2567 คณะทำงาน TZD สามารถติดตามเด็กและเยาวชนเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ได้แล้วจำนวน 304,082 คน จากเยาวชนที่ที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบการศึกษาทั้งหมด 1,025,514 คน ซึ่งหมายความว่า ยังมีเด็กและเยาวชนอีก 982,304 คนที่อยู่ในขั้นตอนการพากลับสู่การเรียนรู้ โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่มวัยก่อนการศึกษาภาคบังคับจำนวน 279,296 คน, กลุ่มวัยระหว่างการศึกษาภาคบังคับจำนวน 387,591 คน และกลุ่มวัยหลังการศึกษาภาคบังคับจำนวน 315,417 คน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างปีการศึกษามักจะมีการเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนที่เข้า-ออกจากระบบการศึกษา เช่น กลุ่มที่อายุถึงวัยเรียนแต่ยังไม่ได้เข้าเรียน, กลุ่มที่หลุดออกจากระบบแล้วกลับมาเรียนใหม่ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้น สะท้อนถึงความจำเป็นในการดำเนินงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยต้องอาศัย ‘ความร่วมมือ’ จากทุกภาคส่วนในสังคมในการระดมความคิด แนวทาง และทรัพยากร เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลและเข้าถึงการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามบริบทชีวิตและความเปราะบางที่หลากหลาย โดยการออกแบบวิธีการช่วยเหลือที่มีระบบและสามารถส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งต้องคำนึงถึงการหาทางป้องกันเด็กกลุ่มเสี่ยงไม่ให้หลุดออกจากการศึกษาในระยะยาว
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการเหนี่ยวนำความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงมองเห็นความสำคัญของการร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ ‘Partnership’ เพื่อสร้างต้นแบบพื้นที่รองรับและต่อยอดเด็กเยาวชนที่ได้รับการค้นพบจากมาตรการ TZD โดยการขยายผลไปในวงกว้างและเชิงลึก รวมถึงการสร้างความต่อเนื่องและยั่งยืนในการทำงาน นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมการเงินยังเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
คุณศิรี จงดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา การนำเด็กและเยาวชนเหล่านี้กลับเข้าสู่การเรียนรู้จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกรณี การดึงภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ‘นวัตกรรมการเงิน’ (Innovative Finance) ถือเป็นแนวทางที่สำคัญ โดยเป็นกลไกที่สามารถระดมเงินทุนได้จากผู้ที่สนใจลงทุนในด้านการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการเป็นต้นแบบในการทำงานที่สามารถดึงดูดผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ๆ ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานมากขึ้น
“สำหรับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาซึ่งถูกค้นพบโดยคณะกรรมการ TDZ ในแต่ละจังหวัด จะเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือและฟื้นฟูเยียวยาด้วยกระบวนการเฉพาะเป็นรายกรณี (Case Management System) เพื่อสำรวจว่าแต่ละคนมีปัจจัยใดที่ทำให้หลุดจากระบบ เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ สุขภาพ ปัญหาครอบครัว หรือความจำเป็นอื่น ๆ จากนั้นจึงไปถึงทางเลือกว่าเด็กสนใจและถนัดอะไร อยากเรียนต่อหรือประกอบอาชีพแบบไหน ซึ่งตรงนี้หากใครพร้อมกลับเข้าเรียนในระบบก็สามารถส่งต่อไปที่สถานศึกษาได้ทันที ส่วนคนที่ไม่พร้อมเรียนในโรงเรียน จะมีการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นรองรับ เช่น การฝึกอบรมอาชีพ การเรียนได้ในทุกที่ทุกเวลา หรือการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ซึ่งจะเป็นการเรียนผ่านศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 หรือโรงเรียนมือถือ (Mobile School) ซึ่งคณะทำงาน TZD กำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบเทียบโอนหน่วยกิต (Credit Bank) ตามมาตรฐานหลักสูตรแกนกลาง นอกจากนี้ยังมีการจัดการศึกษาแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ที่เปิดกว้างให้สถานศึกษาจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยหลักสำคัญคือการออกแบบหลักสูตรจากภารกิจและกิจวัตรในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มโอกาสเรียนรู้ ได้รับวุฒิการศึกษา ซึ่งจะต่อยอดถึงการเข้าสู่เส้นทางประกอบอาชีพที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาว”
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวต่อไปว่าการระดมความเห็นโดยภาคเอกชนในกิจกรรมครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ได้ทำให้เกิดแนวโน้มความร่วมมือที่ Amazon ตั้งใจจะจัดอบรมให้เยาวชนที่สนใจในหลักสูตร barista ก่อนจะออกใบรับรองการทำงานและส่งต่อไปเรียนรู้งานในเครือข่ายสถานประกอบการ รวมถึงยังมีความร่วมมือจากกลุ่มเซ็นทรัล ที่พร้อมเปิดพื้นที่รองรับเยาวชนผู้ผ่านหลักสูตรเข้าร่วมงาน
“ด้วยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ ความร่วมมือของภาคธุรกิจเอกชนจึงไม่จำกัดอยู่แค่การสนับสนุนเงินทุน หากยังเป็นได้ทั้ง ‘ข้อเชื่อมต่อ’ และเป็น ‘พื้นที่จ้างงาน’ อันแสดงให้เห็นถึงการพัฒนานวัตกรรมการเงินที่หลากหลาย โดยในก้าวเดินต่อไปของการทำงาน TZD จำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างโมเดลพัฒนาทักษะเยาวชนช่วงวัย 15-24 ปี เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้นบทบาทที่ภาคธุรกิจเอกชนทำได้ จึงเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่ฝึกงาน ฝึกทักษะ เชื่อมต่อสู่สถานประกอบการ ที่จะทำให้เด็กเยาวชนที่เข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น และที่สำคัญคือเมื่อเป็นองค์กรธุรกิจเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตร ก็จะทำให้เกิดการยอมรับในด้านคุณภาพการเรียนรู้จากตลาดแรงงาน ซึ่งเท่ากับเพิ่มโอกาสการได้งานทำและการเติบโตบนเส้นทางอาชีพมากขึ้นตามไปด้วย”
คุณสุธีตา ชุณหรัศมิ์ ผู้อำนวยการโครงการด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชน มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวว่า ทุกปีจะมีเด็กเยาวชนช่วงชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายราว 5,500 คน รับทุนจากมูลนิธิยุวพัฒน์ โดยเป็นทุนที่ให้ต่อเนื่องจากชั้น ม.1 ถึง ม.6 หรือ ปวช. บทเรียนจากการทำงานบอกว่าการสนับสนุนการศึกษาไม่อาจทำได้เพียงการให้ทุน แต่ต้องมีระบบดูแลประคับประคองไม่ให้เด็กหลุดออกไประหว่างเส้นทาง
“เราค้นพบว่านอกจากทุนที่เป็นตัวเงิน การดูแลสุขภาวะใจก็สำคัญเท่า ๆ กัน ทางมูลนิธิจึงมีทีมที่ปรึกษาทั้งภายใน และการดูแลเฉพาะทางจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก ปัจจัยหนึ่งคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอย่างต่อเนื่อง และต้องสื่อสารความเข้าใจกับผู้ปกครอง นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้เกิดแนวทางการเรียนและทำงานไปพร้อมกัน เนื่องจากเด็กบางคนพอจบ ม.3 ผู้ปกครองจะอยากให้ออกไปทำงานเต็มตัว ซึ่งจากเวิร์กช็อปครั้งแรก ยุวพัฒน์ได้คุยกับอเมซอนว่าจะลองทำโมเดลร่วมกัน เริ่มจากในเขต กทม. และปริมณฑล ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เป็นช่องทางหนึ่งที่เด็กจะไปต่อได้ในการเรียนโดยไม่เสียโอกาสที่จะมีรายได้”
คุณสุธีตา กล่าวว่าการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบที่ กสศ. นำเสนอ เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นที่น่าสนใจ และเหมาะสมสำหรับการทำงานกับเด็กเยาวชนซึ่งรับทุนจากมูลนิธิ โดยจากนี้จะนำข้อมูลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแนะแนวการศึกษา เพื่อให้เด็กทราบว่าแม้ต้องประกอบอาชีพหารายได้ หรือมีความจำเป็นใดก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องหันหลังให้การศึกษาอย่างถาวร ด้วยยังมีการจัดการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ รองรับอยู่ “เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กจำนวนมากไม่ได้มีข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องพยายามชี้แนะและช่วยทุกวิถีทาง เพื่อให้เด็กสามารถเรียนจนจบและเชื่อมต่อไปถึงการศึกษาระดับสูงได้”
คุณสุธาสีนี ศุภศิริสินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้สนับสนุนการศึกษาผ่านโครงการ Partnership School Project ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงให้สามารถอยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาส โครงการนี้สามารถขยายผลไปในหลายพื้นที่เนื่องจากกลุ่มเซ็นทรัลมีศูนย์ตั้งอยู่ในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ แม้ว่าจะช่วยให้เด็กสามารถจบการศึกษาภาคบังคับได้แล้ว แต่โครงการยังคงมองหาช่องทางในการส่งต่อเด็กหลังจบชั้น ม.3 จึงได้เริ่มเชื่อมโยงการทำงานกับสถาบันอาชีวศึกษาในฐานะ ‘พี่เลี้ยงหลักสูตร’ เพื่อให้เด็กมีเส้นทางการศึกษาต่อเนื่องที่สามารถพาพวกเขาไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตได้อย่างแท้จริง“เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญหลักสูตรมาช่วย เราสามารถแน่ใจได้ว่าเด็กจะมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ได้รับวุฒิการศึกษาที่ตรงตามมาตรฐาน ที่สำคัญคือการแนะแนวทางอาชีพโดยสถาบันอาชีวศึกษาจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และสื่อสารความเข้าใจให้เด็กได้ตั้งแต่ ม.ต้น ว่าการเรียนสายวิชาชีพมีสาขาใดบ้าง เรียนแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร แล้วจะเติบโตไปในเส้นทางไหนได้บ้าง ซึ่งเป็นการ ‘ขยายความหมายการเรียนรู้หรือการศึกษาในภาพใหญ่’ ที่เรายังถ่ายทอดไปถึงเด็กได้ไม่เพียงพอ ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือเรามีแหล่งความรู้อยู่แล้ว แต่การทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในหลายพื้นที่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และนอกจากนี้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยต่อยอดเรื่องการหารายได้ระหว่างเรียน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยจุดประกายให้เด็กเห็นคุณค่าของการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในทางกลับกันถึงเราหาเด็กจนพบ แต่หากไม่มีวิธีที่เหมาะสมในการดึงไปสู่การเรียนรู้ โอกาสที่เด็กจะหลุดออกไปอีกครั้งก็ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”
ดร.ลฎาภา มอร์เตโร ครูใหญ่ศูนย์การเรียน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ได้เสนอรูปแบบการทำงานของ เอส แอนด์ พี ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลการพัฒนานวัตกรรมการเงินที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 16 ปี โดยเอส แอนด์ พี ได้ตั้งศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 เป็นสถานศึกษาในสถานประกอบการที่จัดการศึกษาระดับ ปวช. สาขาอาหาร โภชนาการ และธุรกิจค้าปลีก เพื่อครอบคลุมการดูแลทั้งพนักงาน นักเรียนนักศึกษาฝึกงาน ตลอดจนกลุ่มเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในช่วงชั้น ม.3 เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะอาชีพอย่างจริงจัง โดยเน้นการสร้างบุคลากรที่ต้นน้ำ ตั้งแต่การให้โอกาสการเรียนรู้จนถึงการได้รับวุฒิการศึกษาและต่อเนื่องไปจนถึงการรับเข้าทำงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่มุ่งสร้างการพัฒนาอาชีพและโอกาสทางการศึกษาที่ยั่งยืน
“เรามองว่าความสำคัญของการเรียนรู้คือต้องมีเส้นทางที่ต่อเนื่อง และสิ่งที่เรียนจะต้องเชื่อมต่อกับการศึกษาในระบบหลักได้ รวมถึงผู้เรียนต้องมีทักษะและประสบการณ์ชีวิตเพื่อเอาตัวรอดในสังคม ดังนั้นตั้งแต่ปีแรก ๆ เอส แอนด์ พี จึงออกแบบหลักสูตรร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้หลักสูตรสามารถการันตีวุฒิในการเรียนต่อ ปวส. หรือมหาวิทยาลัย ความสำคัญของการผลิตบุคลากรไม่ใช่แค่ให้เขาทำงานกับเราได้ แต่ต้องเป็นการเติมเต็มคนคนหนึ่งให้พร้อมทำงานได้ทุกที่ ศูนย์การเรียน เอส แอนด์ พี จึงเป็นสถาบันที่เน้นให้ผู้เรียนเติบโตได้ในสายอาชีพ เป็นโรงเรียนในโรงงานที่เตรียมพร้อมตั้งแต่ต้นทาง ที่จะผลิตคนที่พร้อมเติบโต ทำงานเป็น มีความรู้ สามารถประกอบอาชีพอิสระหรือมีกิจการของตัวเอง และสามารถปรับตัวกับทุกความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต”