พลิกมุมมองความเข้าใจ เด็ก Dropout คือใคร อะไรที่ผลักให้เด็กคนหนึ่งต้องไปยืนอยู่ “นอกระบบ”

พลิกมุมมองความเข้าใจ เด็ก Dropout คือใคร อะไรที่ผลักให้เด็กคนหนึ่งต้องไปยืนอยู่ “นอกระบบ”

เมื่อพูดถึงเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา หรือเด็ก Dropout แต่ละคนจะนึกถึงอะไร ?

อาจจะเป็นภาพของเด็กส่วนน้อยของประเทศที่หันหลังให้กับระบบการศึกษาและมุ่งหน้าเข้าสู่ระบบแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อย หรืออาจจะเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ตัดสินใจปล่อยให้โอกาสทางการศึกษาของตัวเองหลุดลอยและไม่อยากที่จะกลับมาเรียนอีกครั้ง

ไม่ว่าแต่ละคนจะมีภาพจำต่อพวกเขาเหล่านั้นอย่างไร วันนี้ กสศ. จะมาชวนพลิก เพิ่ม เสริมมุมมองความเข้าใจว่าที่แท้จริงแล้วเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา หรือเด็ก Dropout นั้นเป็นใคร การตัดสินใจ “ยืนอยู่นอกระบบการศึกษา” นั้นมาจากเจตนาที่แท้จริงหรือมีบางสิ่งที่ผลักให้พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถยืนอยู่ในระบบได้

ชวนเดินตามรอยเส้นทางการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และระบบการศึกษาที่มีทางเลือกที่หลากหลายและยืดหยุ่น จะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและเป็นกำลังสำคัญในการดูแลครอบครัวอย่างไร

ปูพื้นฐานความเข้าใจ เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจว่าเด็ก Dropout คือใครกันนะ ?

The Global Initiative on Out-of-School Children: OOSCI ของ UNESCO/UNICEF แบ่งประเภทเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เป็น 7 มิติ (The Seven Dimensions of Exclusion Model) ตามระดับการศึกษาของเด็กนักเรียนเพื่อทำให้เห็นถึงความหลากหลายของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา และแบ่งเด็กในมิติต่าง ๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อทำให้เห็นถึงความแตกต่างของมาตรการในการรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหา ได้แก่ เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา (Out-of-school Children) และเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา (Children at Risk of Dropping Out)

กลุ่มที่ 1 : เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา (Out-of-school Children) 

เป็นกลุ่มเด็กที่ไม่เคยเข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษามาก่อน เคยเข้าเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ ล่าช้ากว่าเกณฑ์อายุที่กำหนด หรือเด็กที่เคยเข้าเรียนแต่หลุดออกมาใช้ชีวิตนอกระบบโรงเรียน มีจำนวนประมาณ 9 แสนคน (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2567)

ต้องใช้มาตรการในการค้นหาหรือพาเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษากระแสหลักหรือระบบการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น มีทางเลือก และสอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน

กลุ่มที่ 2 : เด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา (Children at Risk of Dropping Out)

เป็นกลุ่มเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียน หรือระหว่างช่วงชั้นรอยต่อ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา (Primary school student) จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีจำนวนประมาณ 2.8 ล้านคน

เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้พวกเขาต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น การปรับให้การศึกษาในโรงเรียนมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาที่หลากหลายของเด็กแต่ละคน อาจใช้กระบวนการเรียนรู้โดยเน้นชุมชนเป็นฐานเพื่อทำให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : อินโฟกราฟิก “เด็ก Dropout คือ ใคร? ใคร คือ เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา”

การยืนอยู่นอกระบบอาจจะไม่ได้มาจากการตัดสินใจเลือก แต่อาจจะเกิดจากปัจจัยรอบตัวผลักให้พวกเขาเดินออกจากระบบ

ข้อมูลจากโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566 พบว่าการทำความเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษานั้นจำเป็นต้องทำงานกับบริบทแวดล้อมรอบตัวเด็ก หากมองเห็นถึงแก่นของปัญหา ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำ

หากวิเคราะห์ผ่านกรอบทฤษฎี (Bioecological Model of Human Development) ของ Bronfenbrenner (2007) จะพบว่าการตัดสินใจของมนุษย์นั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจที่จะเรียนต่อหรือลาออกกลางคันนั้นอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงบุคคลจนไปถึงปัจจัยทางสถาบัน เช่น

ระดับบุคคล (ตัวฉันมองไม่เห็นความสำคัญของการเรียน) ครอบครัว (ปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่บีบบังคับให้หาเลี้ยงชีพตั้งแต่เด็ก) โรงเรียน (ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครูในโรงเรียน) หรือวัฒนธรรมที่พวกเขาอาศัยอยู่ (ค่านิยมความกตัญญูที่สะท้อนผ่านการทำงาน)

“เด็กและเยาวชน 9 แสนคนที่หลุดออกระบบการศึกษา อาจกำลังเผชิญอยู่กับ 9 แสนปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าการแก้ไขเพียงจุดใดจุดหนึ่ง”

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากเด็กและเยาวชนนอกระบบรายกรณี จะพบว่า เด็กแต่ละคนกำลังเผชิญกับปัญหาที่โยงใยซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โดยที่ไม่สามารถแก้เพียงเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วจะหลุดพ้นจากวิกฤตได้

ดังนั้นการหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากระบบนิเวศรอบตัวเด็กที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ และพวกเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักให้พวกเขาออกมายืนอยู่นอกระบบโดยไม่รู้ตัว 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

• หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “ก้าวเดินอย่างมีความหมาย ไม่ใช่แค่การทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา แต่เป็นการทำงานกับบริบทแวดล้อมรอบตัวเด็ก”
• อินโฟกราฟิก 7 สาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

“โดดเรียนไปไหนตั้งหลายวัน เธออย่ามาอ้างว่าป่วยเลย”
“ทำไมช่วงนี้เธอผอมจัง อยากผอมเหมือนดาราใช่ไหมล่ะ”

ส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่เกิดจากการขาดความตระหนักรู้ที่ผลิตซ้ำระบบนิเวศที่เปราะบางและไม่ปลอดภัยในโรงเรียนและชีวิตประจำวัน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน

บทเรียนที่สำคัญจากการค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา พบว่า นอกจากปัจจัยเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน การขาดพื้นที่ปลอดภัยยังเป็นเหตุผลสำคัญที่เป็นปัจจัยหลักในการผลักให้เด็กคนหนึ่งหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวครอบคลุมทั้งพื้นที่ปลอดภัยเชิงกายภาพ (Physical Comfort Zone) และพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ (Mental Comfort Zone)

น้อง ๆ เหล่านี้ ทั้งกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ กลุ่มที่หลุดจากระบบ กลุ่มเสี่ยงหลุด มีลักษณะร่วมกัน คือ การมีบาดแผลทางใจที่ฝังลึกส่งผลต่อโอกาสการเรียนรู้และพฤติกรรม บาดแผลเหล่านี้คือความรุนแรงที่มาจาก ครอบครัว  ผู้คนรอบข้าง โรงเรียน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ที่อาจสร้างบาดแผล ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เด็กหลักล้านคน ต้องหลุดออกมาจากระบบการศึกษา พวกเขากลายเป็นเด็กนอกระบบ กลายเป็นเด็กที่สูญหายไป ไม่มีใครมองเห็น ไม่ได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่ และเสียโอกาสในชีวิต

ความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงเป็นปัญหาที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างปัญหาเชิงโครงสร้างในระดับประเทศและปัญหาเชิงปัจจเจกในระดับบุคคลที่ต้องแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน

“เด็กทุกคนมีศักยภาพอยู่ในตัว ระบบการศึกษาไทยต้องสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการปลุกศักยภาพของพวกเขาออกมาให้ได้”  

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : บทความ Movement “พื้นที่ปลอดภัย” จะช่วยฟื้นฟูใจ สร้างพลังให้เด็กเยาวชนลุกขึ้นก้าวเดินได้อย่างมั่นคง

สร้างโอกาสทางการศึกษา ไม่มีใครต้องยืนอยู่ “ใน-นอกระบบ” ผ่านแนวคิดการศึกษาที่ยืดหยุ่น (Flexible Learning)

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย การเพิ่มแนวทางในการจัดการเรียนรู้ทางเลือกใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุมมากที่สุด ผ่านแนวคิด

กรณีตัวอย่าง

[1] หนึ่งโรงเรียนสามรูปแบบ  โมเดลจากจังหวัดนครพนมและราชบุรี บูรณาการ 3 หลักสูตร วิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีพเข้าด้วยกัน ผ่านการเชื่อมรั้วโรงเรียนกับชุมชน ทำให้การเรียนรู้ไม่แยกขาดออกจากชีวิตจริงของผู้เรียน

[2] โรงเรียนมือถือ  การจัดการศึกษาแบบเปิด (open education) ที่ใช้แนวคิดในการเรียนรู้แบบนำตนเอง (self-directed) และการช่วยเหลือจากโค้ช ผสมผสานกับการเรียนรู้ทางไกลผ่านเทคโนโลยีและการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ที่ไม่ว่าเด็กและเยาวชนคนนั้นจะมีเงื่อนไขชีวิตแบบไหน ก็สามารถบรรจุการเรียนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันได้

[3] โรงเรียนนวัตกรรมชุมชน  ยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยเปิดให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการตนเอง ผ่านการจัดทำแผนคุณภาพการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของการศึกษาทางเลือกและแหล่งเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นอีกมากมาย เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ศูนย์การเรียนมาตรา 12 รวมไปถึงแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและแหล่งเรียนรู้ที่อยู่บน Digital Platform

จะเห็นได้ว่าหากการศึกษามีความยืดหยุ่นและมีทางเลือกมากเพียงพอ จะไม่มีใครต้องยืนอยู่ในระบบหรือนอกระบบ เพราะเด็กทุกคนมีเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และทุกพื้นที่จะกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับทุกคน

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ก้าวไปด้วยกัน…สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา Equity Movement เมษายน 2567


[ข้อมูลอ้างอิง]

ดาวน์โหลดเพิ่มเติม