ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่ทำให้ ‘ทุกเมล็ดพันธุ์’ สามารถเติบโตและงอกงามได้อย่างเต็มศักยภาพ
ในงานเทศกาลสร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว Relearn Festival 2025 ณ พื้นที่แหล่งเรียนรู้มิวเซียมสยาม เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กสศ. ได้เปิดงาน “Equity Day ชวนสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเด็กทุกคน” กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเด็กและเยาวชนที่เลือกเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากโครงการ Thailand Zero Dropout ทั่วประเทศ ให้มีโอกาสแสดงศักยภาพและความสามารถที่หลากหลาย เพื่อพิสูจน์ว่า หากเราสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็ก ทุกคนสามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
งานในครั้งนี้ยังเป็นการชวนผู้ใหญ่และทุกคนในสังคมเปิดใจและรับฟังเด็ก ๆ ที่เลือกเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากพื้นที่สร้างสรรค์ที่ถูกออกแบบในคอนเซ็ปต์ ‘One Root, Endless Bloom’ …เพราะรากเพียงหนึ่งราก จะงอกงามและบานออกเป็นดอกไม้ได้ไม่รู้จบ
เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ที่เหมือนดอกไม้แต่ละดอก เติบโตขึ้นจากเมล็ดพันธุ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน แม้แต่ละคนจะเผชิญกับอุปสรรคและปัจจัยที่หลากหลายบนเส้นทางการเติบโต แต่หากเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับพวกเขา เด็กทุกคนก็จะสามารถ ‘งอกงาม’ และ ‘เบ่งบาน’ ได้อย่างเต็มที่ในวิถีของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเสียงของพวกเขาส่งไปถึงผู้ใหญ่ ซึ่งมีบทบาทในการรับฟัง และสนับสนุนในการบำรุงรักษา รดน้ำพรวนดิน เติมปุ๋ย และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ให้สามารถหยั่งรากลงดินได้อย่างมั่นคงแข็งแรง
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเด็กทุกคนไม่ใช่แค่การให้โอกาส แต่คือการทำให้พวกเขาสามารถเติบโตและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีที่สุดของตัวเองในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลง
“คือที่ที่เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นและรับฟังกัน”
น้องก็อต ปัฐพี อดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก นิยามพื้นที่ปลอดภัยว่า คือพื้นที่แสดงความเห็นและรับฟัง เป็นพื้นที่สำหรับใครก็ตามที่ต้องการ ‘ส่งเสียงจากหัวใจไปสู่คนรอบข้าง’
“บทเพลงของผมเป็นเสียงของคนเคยผิดพลาด ที่อยากจะบอกกับคนที่เรารักและรักเรา ว่าต่อจากนี้เราสัญญาว่าจะไม่ทำผิดพลาดอีก ขอให้เชื่อใจเรา เป็นกำลังใจให้เรา และอยากส่งไปถึงเพื่อนทุกคนที่อยู่ในจุดเดียวกันว่า ขอให้ทุกคนรักษาความฝัน รักษาเป้าหมายตัวเอง พยายามประคองตัวเองไว้แล้วผลักดันให้ไปถึงเป้าหมาย แล้วฝันของเราจะสำเร็จได้ในวันหนึ่ง
“หน้าตาของพื้นที่ปลอดภัยที่ผมคิด จึงเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีโอกาสได้แชร์ความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีคนมาให้ความรู้ ทั้งยังได้พูดคุยกันอย่างไม่มีกำแพงกั้น และที่สำคัญที่แห่งนั้นต้องเป็นที่ที่ทุกคนสามารถจับจ้องไปที่ความฝันของตัวเอง ได้รักษาเป้าหมายของตัวเองเอาไว้และทำมันให้ประสบความสำเร็จได้”
“คือที่ที่เราสามารถอยู่กับตัวเองได้”
น้องนกาย ไฟในกาย จากศูนย์การเรียนม่อนแสงดาววิชชาลัย จังหวัดเชียงราย ร่วมส่งสารผ่านบทเพลงที่สื่อความหมายถึง ‘ความรักที่บริสุทธิ์และยืนยาว’ ที่เธอเปิดช่องว่างให้ผู้ฟังตีความได้หลากหลาย และในนัยยะหนึ่งก็หมายรวมถึงว่า ‘ความรัก’ นั้นก็ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคนด้วย ส่วนสำหรับตัวเธอบอกว่า
“ส่วนตัวหนูแล้ว พื้นที่ปลอดภัยจริง ๆ คือพื้นที่ที่เราสามารถอยู่กับตัวเองได้ สามารถปล่อยใจให้ว่าง ๆ ได้ …เพราะถ้ารอบตัวเราสงบ จิตภายในตัวเราสงบ ที่นั่นจะเป็นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยที่สุด”
“พื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัยจะนำพาสู่จุดเปลี่ยนชีวิต และได้ทบทวนความคิดของตัวเอง”
น้องเค วิชญะ จากศูนย์สืบสานมโนราห์ปักษ์ใต้บ้านปากลัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า แรงบันดาลใจของศูนย์สืบสานมโนราห์เกิดขึ้นจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยจุดเริ่มต้นคือการออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับการจับกลุ่มเล็ก ๆ ทำกิจกรรม ซึ่งน้องเคกับน้อง ๆ เห็นตรงกันว่ามโนราห์เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ที่ทุกคนสนใจอยากเรียนรู้ และจากตรงนั้นจึงต่อยอดมาถึงการพัฒนาทักษะ สร้างรายได้ และกลายเป็นอาชีพที่หลายคนใช้ส่งตัวเองเรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
“จากวันนั้นที่พวกเรามีพื้นที่หนึ่งที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัย มันได้นำมาสู่จุดเปลี่ยนชีวิต ได้ทบทวนความคิด และช่วยกันพัฒนากิจกรรมเพื่อออกแสดงและสร้างรายได้เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคน โดยสำหรับตัวเราที่เริ่มจากเป็นเด็กทุนของ กสศ. พูดได้ว่าการเจอมโนราห์ทำให้เราพบตัวเองและมีเส้นทางประกอบอาชีพ ซึ่งเรานำรายได้จากตรงนั้นมาผลักดันตัวเองจนวันนี้ได้เป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการประถมศึกษา-จิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้สำเร็จ”
น้องวงรักษ์ อดีตผู้รับทุนจาก กสศ. อีกคนหนึ่ง ที่วันนี้อยู่ในฐานะ ‘ครูพี่เลี้ยง’ ณ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเวียงสระ บอกว่า
“ที่ศูนย์สืบสานมโนราห์ปักษ์ใต้บ้านปากลัด เราจะเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ โดยเด็กทุกคนสามารถออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองตามฐานทรัพยากรที่ชุมชนมี และสิ่งรอบตัวที่เด็กสนใจที่สุด หรือคือการเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ซึ่งนั่นเองคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”
“เลือกทำในสิ่งที่ดี จะช่วยให้ที่ที่เราอยู่เป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้น”
น้องสินธพ ตัวแทนน้อง ๆ จากโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จังหวัดเชียงราย จำกัดความพื้นที่ปลอดภัยว่า
“พวกเรามองว่าสังคมรอบตัวสมัยนี้มีพื้นที่ไม่ปลอดภัยเยอะไปหมด ทั้งจากโลกออนไลน์ และโลกจริง ๆ รอบตัวเรา จึงคิดว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมันจึงต้องเริ่มมาจากภายในตัวเรา คือถ้าเราเลือกทำแต่ในสิ่งที่ดี ๆ มันก็จะช่วยให้ที่ที่เราอยู่เป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้นได้”
“คือพื้นที่ที่ทุกคนค่อย ๆ ซึมซับทำความเข้าใจในความแตกต่างของกันและกัน”
ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย ที่มาร่วมบรรเลงเพลงเดี่ยวด้วย ‘หละเจ่’ (แคนน้ำเต้า) ส่งเสียงถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ว่าเป็นที่ที่ทุกคนสามารถค่อย ๆ ซึมซับทำความเข้าใจในความแตกต่างของกันและกัน โดยวันนี้ได้นำศิลปะวัฒนธรรมของตนมาถ่ายทอด เพื่อส่งต่อแนวคิดที่ว่า แม้ในความหลากหลายของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หากเราใช้เวลารับฟัง ก็จะรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความปรารถนาที่ทุกคนอยากมีพื้นที่หนึ่งที่เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของตน และใช้พื้นที่นั้นร่วมกับทุกคนในสังคมได้
“เพลงที่เล่นวันนี้ประกอบด้วยหลายเพลงรวมกัน เริ่มจากจังหวะช้า ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เร่งเร็วขึ้น มันเหมือนกับที่เรามาอยู่ตรงนี้เพื่อทำความรู้จักกัน ซึ่งจะมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เล่า ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเปิดใจรับฟัง เพื่อที่เราจะสนิทสนมกันมากขึ้น”
“ทุกพื้นที่ปลอดภัย ขอแค่เปิดใจรับฟัง”
น้องมีชัย ผู้รับตำแหน่งร้องนำในวง Just Do It จากโครงการ KFC Bucket Search จังหวัดราชบุรี บอกว่า วันนี้เลือกเพลง ‘It’s My Life’ มาแสดงปิดโชว์ เพราะต้องการสื่อความหมายว่า ชีวิตของเราแต่ละคนล้วนแตกต่าง และมีเส้นทางของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามการจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน มีชัยบอกสั้น ๆ ว่า “สำหรับผมทุกพื้นที่สามารถเป็นที่ที่ปลอดภัยได้ ขอแค่เราเปิดใจรับฟังกัน”
“พื้นที่ปลอดภัยคือบ้านและครอบครัว”
‘น้องเอิร์ท’ เครือข่ายเยาวชน กสศ. จากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรี เจ้าของตำแหน่งนักร้องนำวงพินิจชนที่คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีกรมพินิจฯ อีกหนุ่มหนึ่งที่ขึ้นร้องเพลงขับกล่อมคนในงาน ซึ่งในช่วงหนึ่งได้ร่วมร้องเพลงกับ ‘พี่เท่ห์ อุเทน พรหมมินทร์’ บอกว่า “พื้นที่ปลอดภัยสำหรับผมคือบ้านและครอบครัว เพราะไม่ว่าจะเจอกับเรื่องราวใดก็ตาม แต่ถ้าได้กลับบ้าน เราจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยที่สุด”
ซึ่งพี่เท่ห์ได้ช่วยเสริมว่า สำหรับเด็ก ๆ แล้ว เซฟโซนควรเป็นพื้นที่ที่ปราศจากการกดดันจากครอบครัว และส่งเสริมการให้ความสำคัญกับ ‘ความสุขในการใช้ชีวิต’
“อยากจะบอกไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองว่าอย่ากดดันเรื่องการศึกษาของเด็ก ๆ เพราะความสามารถและเส้นทางของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ขอให้ตั้งเป้าว่าการเรียนรู้ที่ดี จะต้องทำให้สามารถใช้ชีวิตจริง ๆ ในสังคมได้ หรือคือเราอาจจะไม่ต้องซีเรียสว่าเด็กต้องเรียนเก่งมาก แต่อยากให้โฟกัสที่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากกว่า”
“พื้นที่ปลอดภัยต้องไม่มีการตัดสินที่ภายนอก และเป็นที่ที่อบอุ่นและฮีลใจเราได้”
ตัวแทนน้อง ๆ จาก วงโฟล์คซอง คำเมือง hsw.band ร่วมนิยามความหมาย ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของแต่ละคน โดยน้องเก้าว่าด้วยประเด็นการ ‘ตัดสินจากรูปลักษณ์’ โดยวิงวอนทุกคนว่า
“ผมเป็นคนผิวสีเข้ม แน่นอนว่าจะถูกพูดถึงสีผิวมาตลอด ทั้งจากคนรู้จักและไม่รู้จักกัน จึงคิดว่าการจะทำให้ที่ใดที่หนึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย อย่างแรกเลยคือที่นั่นต้องไม่ควรมีการตัดสินคนอื่นจากภายนอก ซึ่งสำหรับผมก็อยากให้การเหยียดหรือการพูดถึงคนคนหนึ่งโดยที่ตัวเขาไม่ยินยอมหมดไปเสียที”
ด้านน้องขนมปัง บอกว่า “เซฟโซนควรทำเรารู้สึกอบอุ่น เป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าเราจะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับเพื่อน ก็สามารถรู้สึกปลอดภัยและฮีลใจได้ด้วย”
“ถ้าไม่มีใครพร้อมเปิดใจรับฟัง โอกาสของพวกเราก็คงไม่มีแล้ว”
ย้ำสารด้วยน้อง ๆ เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ที่ส่งเสียงตรงกันว่า ‘การเปิดใจรับฟังโดยไม่ตัดสิน’ คือหลักการแรก ๆ ของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเยาวชนทุกคน โดยน้องภพบอกว่าพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา คือพื้นที่ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็น เพื่อเอาไปปรับใช้ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งสำหรับภพ สิ่งที่ต้องการคือพื้นที่ที่มีโอกาสเปิดกว้างให้พัฒนาตัวเอง
“ผมว่าการเปิดใจคือจุดเริ่มต้นสำหรับทุก ๆ โอกาส อย่างแรกสุด ผมอยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับในสิ่งที่คนคนหนึ่งเป็น หรือสิ่งที่เขาต้องพบเจอ เพราะถ้าไม่มีใครพร้อมรับฟังเรา โอกาสทุกอย่างของพวกผมก็คงไม่มีแล้ว ดังนั้นถ้าเราจะรู้สึกว่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยจริง ๆ ก็ขอแค่ให้ตรงนั้นมีคนเปิดใจ ไม่ตัดสิน และยอมรับในสิ่งที่เราเป็น แล้วเมื่อนั้นเชื่อว่าพวกเราทุกคนก็พร้อมจะรับโอกาสไว้อีกครั้ง”
ขณะที่น้องมีชัย บอกว่า “ตอนนี้สังคมข้างนอกอาจจะยังมีพื้นที่ที่เอื้อเฟื้อให้พวกเราไม่มาก แต่ก็ยังหวังว่าถ้ามีพื้นที่ให้เราได้ปรับปรุงตัวเอง และมีสักเส้นทางหนึ่งให้ได้พัฒนาตัวเอง คอยส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ที่แต่ละคนถนัด หรือสำหรับคนที่ยังไม่รู้จะไปทางไหนก็มีพื้นที่ให้ลองค้นหาตัวเอง ได้ลองทำในหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยทำ ผมเชื่อว่าพวกเราพัฒนาตัวเองและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ครับ“
สำหรับพวกเราแล้ว ถ้าผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังและให้โอกาส มีพื้นที่ให้เราได้เล่าได้ระบายและมีคนให้คำปรึกษาที่ดี ผมว่ามันจะช่วยมาก ๆ ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งมีความหวัง และกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง”
กสศ. เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กทุกคน
“เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องการ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพื่อเติบโต และมีเด็กอีกมากที่ไม่เคยได้รับพื้นที่ปลอดภัยนั้น” แต่ยังคงมีผู้คนและพื้นที่ในสังคมอีกมากมายที่พร้อมจะร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ที่ดีเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่
การบ่มเพาะให้เด็กคนหนึ่งเติบโตและมีความสุขจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครเพียงคนเดียว แต่มันคือหน้าที่ของเราทุกคนในสังคม ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่แข็งแรง สร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โอบอุ้มทุกคนด้วยความรักและความเข้าใจ เพื่อให้ทุกความแตกต่างหลากหลายสามารถเบ่งบานได้ และเด็กทุกคนสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดในชีวิต เพื่อพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และ ‘ได้เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด’
การสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่เพียงแค่การปกป้องเด็กจากอันตราย แต่คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กทุกคนสามารถค้นพบศักยภาพในตัวเอง เติบโตในแบบที่ตัวเองเป็นและสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งในด้านการศึกษาและการเติบโตในทุกด้านของชีวิต