“ฉันอยากเป็นอะไร?” อนาคตที่เลือกเองได้ ด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่นของ ไลลา ไชยสุนทร
เด็กที่เลือกเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากโครงการ Thailand Zero Dropout

“ฉันอยากเป็นอะไร?” อนาคตที่เลือกเองได้ ด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่นของ ไลลา ไชยสุนทร

“หนูอยากเป็นครูสอนศาสนา”

ถึงแม้ความฝันจะชัดเจนแค่ไหน แต่ด้วยรูปแบบการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยเคยทำให้ ไลลา ไชยสุนทร เด็กหญิงชาวมุสลิมเกือบต้องยุติความฝันของตัวเองลง กระทั่งเธอได้รับโอกาสทางการศึกษาอีกครั้งจากโครงการพัฒนาการเรียนรู้และศักยภาพให้เยาวชนมุสลิมด้วยการศึกษาที่เลือกได้ ณ ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิญันนะตุ้ลฟิรเดาส์ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

ที่ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิญันนะตุ้ลฟิรเดาส์ ไลลาและเด็กผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเองก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าผู้เรียนมีสิทธิ์เลือกเส้นทางได้ถึงขนาดนี้

“หนูไม่เคยทราบมาก่อนว่า เด็กอย่างเราจะเลือกหลักสูตรตามที่สนใจได้ วางแผนการเรียนรู้ ออกแบบการศึกษาของตัวเองให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นในพื้นที่ได้ ไม่รู้จริง ๆ ว่าเราเลือกอะไรหลาย ๆ อย่างได้ คิดว่าเขามีอะไรให้เรียนก็เรียนไปตามนั้น”

หลังจากได้ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ไลลาพบกับอีกมิติของการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กได้ตั้งคำถาม ค้นหาและตอบตัวเองให้ได้ว่า “ฉันอยากเป็นอะไร?” เมื่อคำตอบชัด วิธีการและเครื่องมือที่จะไปถึงจุดหมายย่อมชัดเจนเช่นกัน โดยคุณครูที่ศูนย์การเรียนฯ จะออกแบบการเรียนการสอนโดยเน้นรายวิชาที่สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของเด็กแต่ละคน

“โครงการพัฒนาการเรียนรู้และศักยภาพให้เยาวชนมุสลิมด้วยการศึกษาที่เลือกได้ฯ สอนให้เราตั้งคำถามว่าเราอยากเป็นอะไร เมื่อบอกสิ่งที่ฝัน ที่อยากเป็นให้ทราบ เขาก็ชักชวนให้เราหาคำตอบว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องใช้ความสามารถด้านไหนมาช่วยทำให้สิ่งที่ฝันไว้เข้าใกล้ความเป็นจริงด้วยความพยายามของเราเอง และถ้าทำไม่ได้ มีอะไรเป็นแผนสำรอง นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น กลายเป็นโอกาสด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ที่ทำให้หนูได้ลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเองได้

“ฉันอยากเป็นอะไร?”
เมื่อคำตอบชัด วิธีการและเครื่องมือที่จะไปถึงจุดหมายย่อมชัดเจน

การศึกษาที่ผู้เรียนสามารถออกแบบสิ่งที่อยากเรียนรู้ได้เอง เป็นกุญแจที่เด็กหลายคนอยากได้มาไขประตูสู่เส้นทางความฝัน ไลลา เล่าว่าสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้เธอได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ก็เพราะว่าได้เลือกทุกอย่างเองให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่อยากเป็น นั่นคือการเป็นครูสอนศาสนา

หลังจากได้รับโอกาส ไลลาเดินหน้าเรียนด้านภาษาอาหรับ และประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลามอย่างมุ่งมั่น เพื่อนำความรู้มาต่อยอดการเรียนในสิ่งที่สนใจ และนำมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

“หนูตั้งใจที่จะใช้ความรู้ด้านภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาแรกเริ่มในศาสนาของหนู มาแปลเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ที่อยากรู้ และนำสิ่งที่ได้รู้มาสอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึง ป.6 ในชุมชนหลังเลิกเรียนการศึกษาภาคปกติ ทำให้น้อง ๆ ได้รู้ประวัติศาสตร์ศาสนาของพวกเขาหลายคน เมื่อได้ทราบประวัติศาสตร์ ก็มีความรักในชุมชนมากขึ้น เด็กบางคนบอกว่า อยากจะมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น และนอกจากนี้หนูยังได้ความรู้ที่หาไม่ได้จากห้องเรียนปกติ ซึ่งความรู้หลายอย่างหนูหาอ่านได้จากหนังสือภาษาอาหรับโดยตรง

ตอนนี้หนูเข้าใจแล้วว่า ความตั้งใจศึกษาในสิ่งที่รักนั้นจะย้อนกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นให้กับชุมชนได้ และจนถึงตอนนี้ หนูได้ทบทวนหลายเรื่องและคิดถึงอนาคต คิดว่าอยากเป็นครู และใช้ความรู้ช่วยพัฒนาชุมชนของเราให้น่าอยู่และดีขึ้นอีกแรงหนึ่ง”

การศึกษาตามหลักสูตรมาตรฐานอาจเหมาะสมกับผู้เรียนกลุ่มหนึ่ง แต่กับอีกกลุ่มที่มีปัจจัยแวดล้อมแตกต่างกัน การได้เลือก ได้ออกแบบหลักสูตร ให้เข้ากับพวกเขาได้พอดี จึงขยายโอกาสได้มากกว่าจริง ๆ ไม่เพียงแต่พวกเขาได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่พวกเขายังได้กลับเข้าสู่พื้นที่แห่งโอกาสที่จะมีอนาคตที่พวกเขาอยากให้เป็นด้วย

“ความรู้ที่ได้จากการเรียนที่เรารู้สึกรักจริง ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พาเราไปถึงฝัน พาเราไปสู่แสงสว่าง และมีกำลังใจที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้” ไลลา ในวัย 18 ปี กล่าวอย่างมีความสุข