จากงาน ‘Equity Day ชวนสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเด็กทุกคน’ เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อชวนเด็กและเยาวชนที่เลือกเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากโครงการ Thailand Zero Dropout ทั่วประเทศ มาร่วมแสดงศักยภาพและความสามารถที่หลากหลาย เพื่อพิสูจน์ว่า หากเราสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดีไว้รองรับ เด็กทุกคนก็สามารถเติบโตพัฒนาบนเส้นทางเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Relearn Festival 2025 หรือ เทศกาลสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ กสศ. ร่วมเป็นภาคีกับ MAPPA, มิวเซียมสยาม, สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน ครอบครัว (สำนัก 4) สสส., กรุงเทพมหานคร, Bangkok Design Week 2025 ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘One Root, Endless Bloom’ …เพราะรากเพียงหนึ่งราก จะงอกงามออกเป็นดอกไม้บานไม่รู้จบ
ช่วงเสวนา “เปิดใจ safe space ของเด็กๆ” ที่มี คุณเรวดี กล่ำศิริ หรือ ‘ป้าเร’ จากศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม คุณเจลวี วงสิน หรือ ‘สารวัตรเจน’ จากศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ครูสูรียา อาแว ผู้รับผิดชอบโครงการหน่วยจัดการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้อิสลามประจำมัสยิดบาโงยือแร และคุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager Brand Purpose and KFC Foundation ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานกับเด็กเยาวชนหลากหลายรูปแบบในบรรยากาศสบาย ๆ ทว่าเป็นสารที่สะกดใจแก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี
พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ เริ่มที่ ‘รับฟัง’ เพื่อจะนำไปสู่ ‘ความเข้าอกเข้าใจ’
คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล เล่าว่า KFC มีโครงการหนึ่งชื่อ ‘Bucket Search’ ที่ตั้งต้นจากความเชื่อที่ว่า ‘เด็กทุกคนมีศักยภาพ’ ดังนั้นจึงไม่มีใครควรต้องหลุดออกจากเส้นทางการเรียนรู้ แต่ทั้งนี้การจะทำให้เด็กได้โชว์ศักยภาพ เราต้องมี ‘Safe Space’ หรือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ซึ่งโครงการของเราจะช่วยเหลือสนับสนุนให้น้อง ๆ สามารถค้นหาศักยภาพของตนเอง
“โครงการ Bucket Search คือ ‘เคเอฟซี คลาสรูม’ ที่เป็น ‘หลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ’ ซึ่งจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่น ให้เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านการทำงานและเรียนไปพร้อมกันได้ โดยเป้าหมายของหลักสูตรคือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงานกับเคเอฟซี รวมถึงได้ซึมซับทักษะความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ เพราะทุกคนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่งานหลังร้านไปจนถึงงานบริการ ซึ่งจะเหมาะกับน้อง ๆ ที่มีเป้าหมายในการเติบโตเป็นผู้ประกอบการ และไม่ใช่แค่เรื่องการทำอาหาร แต่ในหลักสูตรที่ว่าด้วยการค้นหาศักยภาพ เรายังมีกิจกรรมทางเลือกอื่น ๆ ตามความสนใจ สำหรับน้อง ๆ ที่อยากทำเล็บ อยากเล่นดนตรี เราก็จะพาออกไปเก็บเกี่ยวปราบการณ์ในโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ”
คุณแจนเน็ต สรุปความหมายของ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ว่า เคเอฟซีเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ แต่บนเส้นทางการเติบโตจำเป็นต้องมี ‘ผู้ใหญ่’ ที่ให้โอกาสพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่โดยปราศจากอคติ (Bias) ดังนั้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ จึงต้องเริ่มที่การ ‘รับฟัง’ เพื่อจะนำไปสู่ ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ แล้วเมื่อนั้นการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ๆ จึงเป็นไปได้
เราที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ต้องไม่ตีตราเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา
ครูสูรียา อาแว เล่าถึงศูนย์การเรียนรู้อิสลามประจำมัสยิดบาโงยือแร ว่า “เราเน้นเรื่องการจุดประกายทางการศึกษาให้เด็ก จากที่พบว่าน้อง ๆ ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อจบชั้น ป.6 มักไม่ได้เรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ด้วยความเชื่อว่าเมื่อผู้หญิงแต่งงานไป ฝ่ายผู้ชายจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการทำงานหาเงิน ดังนั้นสำหรับน้อง ๆ ผู้หญิงที่หลุดไปจากเส้นทางการศึกษา เราจะพยายามสนับสนุนให้ค้นหาตนเองและแสดงศักยภาพของตนออกมา ทั้งบนเวทีและค่ายต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้แสดงทัศนคติ และค่อย ๆ ขัดเกลาความคิดความสามารถจนเปล่งประกายออกมา ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นนของการเดินต่อไปในอนาคต
“สิ่งสำคัญคือเราที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ต้องไม่ตีตราเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา เพราะเมื่อได้รับโอกาส เด็กหลายคนสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้ ไม่น้อยไปกว่าเด็กที่อยู่ในระบบ อย่างน้อง ๆ ที่อยู่ในโครงการ หลายคนเริ่มจากไม่รู้จะไปทางไหน แต่พอเขามีเป้าหมาย บางกลุ่มก็รวมตัวกันทำร้านน้ำชา บางกลุ่มทำร้านขายข้าวยำ ซึ่งนอกจากจะมีรายได้ไว้ดูแลตัวเอง เขายังสามารถเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัว และแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาส่งต่อให้กับน้อง ๆ ในพื้นที่ด้วย”
เด็กแต่ละคนมีนิยาม ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่แตกต่างกัน เพราะมีเรื่องราวและประสบการณ์ต่างกัน
คุณเจลวี วงสิน หรือ ‘สารวัตรเจน’ บอกว่า “ในชุมชน เราเป็น ‘พี่ที่น้อง ๆ ไว้ใจ’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหน้าที่เราคืองานที่เกี่ยวกับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม หรือเด็กที่สุ่มเสี่ยงจะหลุดเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม โดยจากประสบการณ์ต้องบอกว่าเด็กกลุ่มนี้ที่สังคมภายนอกมักมองว่าเป็นเด็กเกเร หากพอได้สัมผัสตัวตนจริง ๆ ของเขาจะต่างกันเลยกับภาพที่เห็น แล้วน้อง ๆ กลุ่มนี้จะมีนิยามของ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่แตกต่างกันจนไม่อาจจำกัดความได้ เพราะแต่ละคนก็มีเรื่องราวและประสบการณ์ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ‘การสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นเริ่มได้ที่ตัวเรา’ จากการทำให้เด็ก ๆ เชื่อใจและไว้ใจในตัวเรา
“ที่ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม เราทำงานร่วมกับชุมชนในการ ‘เปิดพื้นที่ให้เด็กรับรู้ว่าตัวเองมีความสำคัญต่อสังคม’ โดยเราจะส่งเสริมเด็กในงานช่วยเหลือสังคม เพื่อให้เขารู้ว่าสังคมคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเขา ดังนั้นชุมชนจึงเป็นเหมือนพื้นที่ของการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมและตัวเด็ก คือเมื่อเด็กได้ช่วยเหลือสังคม คนอื่น ๆ ก็ได้เห็นด้านที่ดี ๆ ของเขา กลับกันคำชื่นชมที่ได้รับกลับมาก็จะทำให้เด็ก ๆ ดีใจ นี่เป็นการพยายามให้เด็กเกิดทัศนคติต่อตัวเองว่าเขาเองมีคุณค่า แล้วจากนั้นเด็กคนหนึ่งก็จะชวนเพื่อนคนอื่น ๆ เข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วยตัวเอง”
คุณเจลวี ฝากไว้ว่า สถาบันที่มีอิทธิพลมากต่อการเติบโตของเด็กคือครอบครัว จึงควรมีหน่วยงานที่เข้าไปถ่ายทอดความรู้ และช่วยสร้างกระบวนการความคิดของคนในครอบครัว ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น “เพราะต่อให้เราแก้ไขที่ตัวเด็กอย่างไร แต่ถ้าเขากลับบ้านแล้วเจอสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี สุดท้ายวงจรชีวิตก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม”
การทำงานในพื้นที่ต้องอาศัยเวลาและความถี่ให้เด็กเห็นว่าเรามีเจตนาที่ดีจริง ๆ
ปิดท้ายที่ ‘ป้าเร’ เรวดี กล่ำศิริ ซึ่งเล่าว่า “ที่ชุมชนเจริญธรรมเป็น ‘พื้นที่สีแดง’ การจะเข้าไปหาเด็กกลุ่มนี้เพื่อพูดคุยและจัดกิจกรรมเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นการทำงานในพื้นที่จึงต้องอาศัยเวลาและความถี่ สำหรับเราใช้วิธีเข้าไปบ่อย ๆ ให้เขาเห็นว่าเรามีเจตนาที่ดีจริง ๆ จนสามารถสร้างความไว้ใจ และได้เข้าไปจัดกิจกรรมเพื่อเด็กที่อยู่ในความเสี่ยงทุก ๆ วันเสาร์อาทิตย์ เป็นกิจกรรมที่สอดแทรกเรื่องผลของยาเสพติดหรือสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ซึ่งผลที่สะท้อนกลับมาคือเด็กที่มาร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อเขากลับบ้านก็จะไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง จนผ่านไปสักระยะหนึ่งพอถึงวันเสาร์อาทิตย์ พ่อแม่ของเด็กก็จะบอกลูกหลานว่า ‘ให้ไปหาป้าเร’
“สำหรับวันนี้ ในฐานะภาคีเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้ของ กสศ. เราอยากบอกว่าพร้อมรองรับเด็กทุกคนใน Thailand Zero Dropout คือถ้าพบตัวน้อง ๆ แล้วยังไม่มีพื้นที่ส่งต่อ ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ยินดีเป็นพื้นที่แห่งนั้นที่จะรับฟังและให้โอกาสกับเด็ก ๆ ในทุกเรื่อง”