ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดสถานการณ์และข้อค้นพบที่ส่งผลต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยปี 2568 ในงาน ‘Equity Forum 2025 ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ โดยระบุว่าโจทย์การศึกษาของไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายเชิงระบบที่ซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาด้านความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ที่ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ จากอัตราประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงทุกปี โดยข้อมูลระบุว่าปี 2567 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยเพียง 461,421 คน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของประชากรวัยแรงงาน ทั้งมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กำลังกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากประชากรวัยแรงงานมากขึ้น
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-1.jpg)
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังบอกกับสังคมไทยว่า เราไม่สามารถปล่อยให้เด็กหลุดไปจากเส้นทางการศึกษาและการเรียนรู้ได้เลยแม้แต่คนเดียว เพราะอัตราการเกิดที่ลดลงทุกปีคือโจทย์สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภาพโดยรวมหรือ Total Productivity ของกำลังแรงงานไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันหากเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ ก็จะช่วยเพิ่มผลิตภาพของกำลังแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ
“คำถามสำคัญของการศึกษาไทยวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไทยมีผลิตภาพหรือ Productivity เพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่ง ‘การศึกษาที่เสมอภาค’ จะเป็นกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาแนวทางในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะ เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เรียนรู้เต็มศักยภาพ สามารถยกระดับรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-2.jpg)
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับอนาคต โดยทำให้การเติบโตของเด็กไทยสามารถเชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งความหวังในการจะก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง คือประเทศไทยต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่า 5% ต่อปีหรือในระหว่างปี 2559-2579 ประชากรจะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่า 38,000 บาทต่อเดือนเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ประเทศไทยเคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.6% ต่อปี แต่ในระหว่างปี 2553-2562 เศรษฐกิจไทย เติบโตเฉลี่ยเพียง 3% เท่านั้น ยิ่งเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 การเติบโตในช่วงปี 2563-2567 ก็ลดลงมาเหลือเพียง 1.6% ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยสามารถลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ ตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ได้สำเร็จ คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นได้เกือบ 3% ในระยะยาว
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-3.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-4.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-5.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-6.jpg)
“ถ้าเราสามารถสนับสนุนให้น้อง ๆ เยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในตอนนี้กลับมาอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ และจบการศึกษาภาคบังคับหรือชั้น ม. 3 ได้ เขาจะเป็นคนแรกของครอบครัวที่มีวุฒิสูงกว่าระดับประถมศึกษา และอาจเขยิบไปไกลได้ถึงระดับปริญญาตรี ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จก็จะเป็นปัจจัยสำคัญของการหลุดพ้นจากวงจรความยากจน
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-7.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-8.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-9.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-10.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-11.jpg)
โดยการทำงานรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘การจัดการเชิงพื้นที่’ ซึ่งถ้าเราดูจากข้อมูลว่าจังหวัดใดที่มีเด็กยากจนพิเศษอยู่มาก ผู้นำท้องถิ่นจะสามารถนำไปบริหารจัดการ และมีมาตรการช่วยเหลือประชากรกลุ่มนี้ได้ตรงจุด
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-13.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-14.jpg)
“ทั้งนี้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 ที่ได้จากการเชื่อมโยงและจัดทำข้อมูลเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจาก 21 สังกัดเป็นประจำทุกปี พบว่ามีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาทั้งสิ้น 982,304 คน ในจำนวนนี้ได้รับการพากลับสู่ระบบแล้วจำนวน 304,082 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กก่อนวัยเรียนที่เพิ่งเข้าสู่การศึกษาระดับปฐมวัย นอกจากนี้ข้อมูลที่เชื่อมโยงจากสังกัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกันเป็นครั้งแรก ยังทำให้เห็นว่ามีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังทยอยเข้าสู่ระบบการศึกษาผ่านมาตรการ Thailand Zero Dropout ขณะที่เด็กเยาวชนบางส่วนยังไม่สามารถกลับสู่เส้นทางการเรียนรู้ เนื่องด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งมีจำนวน 32,984 คน หรือคิดเป็น 20% ที่จัดอยู่ในกลุ่มนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษซึ่งไม่พบข้อมูลการศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า ส่วนอีก 80% หรือ 132,601 คน เป็นนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า สำหรับปีการศึกษา 2567 มีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษซึ่งศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.3 จำนวน 22,345 คน หรือคิดเป็น 13.49% ข้อมูลสำคัญคือการติดตามข้อมูลการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS ปี 67 ที่พบว่า เด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ศึกษาในชั้น ม.3 เมื่อปี 2563 มีเพียงร้อยละ 10 คนเท่านั้น ที่สามารถฟันฝ่าไปจนถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าถึงสองเท่าของค่าสถิตินักเรียนทั้งประเทศ”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-16.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-17.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-18.jpg)
ดร.ไกรยส กล่าวว่า การทำงานผ่านมาตรการ Thailand Zero Dropout เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ทั้งในมิติของการป้องกันและช่วยเหลือ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยเติมเต็มศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
“ในการสร้างความความเสมอภาคทางการศึกษา มีกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ในระบบการศึกษาอยู่แล้วซึ่งมีอยู่ประมาณ 2-3 ล้านคน ที่เราจะต้องป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาออกมาเพิ่ม ขณะเดียวกันเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาอีกประมาณ 9 แสนกว่าคน ก็จำเป็นต้องพยายามดึงกลับเข้ามาในระบบการศึกษาให้ได้ โดย กสศ. ได้ MOU ร่วมกับ 11 หน่วยงานในการทำงานตามมาตรการ Thailand Zero Dropout ซึ่งข้อเสนอแรกคือในเมื่อเรามีข้อมูลตัวเลข 13 หลักของเด็กอยู่แล้ว หากใช้ API: Application Programing Interface ซึ่งเป็นกลไกเชื่อมต่อโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์จำนวนมาก มาช่วยลำดับข้อมูลเด็กใน Thailand Zero Dropout ไปยังทุกกระทรวงที่ที่มีความเชี่ยวชาญและมีทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือ พม. ที่มีกองทุนคุ้มครองเด็กต่าง ๆ โดยเชื่อว่าถ้าสามารถเชื่อมโยงเลข 13 หลักผ่าน API ไปยังทุกหน่วยงานได้ โอกาสที่เด็กจะเข้าถึงสวัสดิการซึ่งรัฐจัดสรรให้อยู่แล้วก็จะมีมากขึ้น
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-19.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-20.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-21.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-22.jpg)
“เราต้องทำให้สวัสดิการที่หน่วยงานต่าง ๆ มีอยู่แล้วสามารถเข้าไปถึงมือผู้รับบริการที่เป็นเด็กได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล และมีบันทึกรายงานว่าเด็กแต่ละคนได้รับสวัสดิการใดแล้ว หรือยังไม่รับอะไร เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน ในขณะเดียวกันทุกฝ่าจะได้ทราบข้อมูลตรงกัน ว่าเด็กคนหนึ่งมีความพร้อมแค่ไหนกับการเข้าสู่การเรียนรู้ โดยแนวทางนี้คือการ ‘สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ที่ไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานใหม่ แต่ทุกหน่วยงานที่มีอยู่เดิมสามารถทำงานร่วมกันได้ผ่านการแชร์ข้อมูลรายบุคคล ซึ่งการเชื่อมข้อมูลของทุกฝ่ายจะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาและการมีงานทำได้ในที่สุด”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-23.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-24.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-25.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-26.jpg)
ดร.ไกรยส กล่าวว่า อีกหนึ่งข้อเสนอสำหรับมาตรการเชิงระบบในปี 2568 นี้ คือโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ที่ทำได้ผ่านการจัดเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมการศึกษาที่หลากหลาย เช่น โมบายสคูล ศูนย์การเรียน หรือการจัดการศึกษาด้วยวิธี 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นทางการศึกษาสำหรับวันนี้และในอนาคต
“หากเด็กคนหนึ่งสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘Learning passport’ ซึ่งจะพาเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งตัวเด็กยังสามารถเลือกเส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง นอกจากนี้ยังมีระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) มีสภาการศึกษา มีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่คอยรองรับ และเชื่อมโยงให้เด็ก ๆ นำหน่วยกิตจากการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ ทุกช่วงชั้น มาอยู่บนทรานสคริปต์ใบเดียวกัน ก็จะเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะสามารถศึกษาต่อหรือในไปใช้สมัครงานได้ในอนาคต และเมื่อนั้นกำแพงที่เคยขวางกั้นเด็ก ๆ ไว้จากการศึกษาก็จะหมดไป
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-27.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-28.jpg)
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0207_การศึกษาเสมอภาค-29.jpg)
“ขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจมีแนวทางสนับสนุนทรัพยากรด้านการศึกษาที่ส่งตรงไปยังเด็กผ่านเลข 13 หลักได้ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือท้องถิ่น สามารถจัดหน่วยการเรียนรู้ โดยเป็นการบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และถือเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ตามรายงานของ UNESCO ที่ว่า ‘การศึกษาที่เสมอภาค คือการลงทุนที่ไม่ใช่การสงเคราะห์’ และเมื่อการลงทุนที่ว่าด้วยข้อมูลรายบุคคลมีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา ทำให้ประชากรไทยวางแผนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งผลลัพธ์ในท้ายที่สุดเด็ก ๆ ในรุ่นต่อไปจะได้หลุดพ้นจากวงจรความยากจน แลประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต”