เปิดผลวิจัยพิสูจน์ ลงทุนปฐมวัย ประถมศึกษา ส่งผลคะแนน PISA มากที่สุด
เร่งช่วยเด็กเรียนอ่อน กลุ่มใหญ่ของประเทศ เปลี่ยนผลลัพธ์การเรียนรู้ แก้เหลื่อมล้ำถูกจุด

เปิดผลวิจัยพิสูจน์ ลงทุนปฐมวัย ประถมศึกษา ส่งผลคะแนน PISA มากที่สุด เร่งช่วยเด็กเรียนอ่อน กลุ่มใหญ่ของประเทศ เปลี่ยนผลลัพธ์การเรียนรู้ แก้เหลื่อมล้ำถูกจุด

เวที Equity Forum 2025 ประเทศไทยกับการแก้ปัฐหาเชิงระบบเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการนำเสนอข้อค้นพบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติคุณภาพ  จากงานวิจัยทดสอบสมรรถนะเด็กไทย (Key Finding from PBTS in Thailand)    

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำเสนอข้อมูลจากผลลัพธ์งานวิจัยทดสอบสมรรถนะเด็กไทย (Key Finding from PBTS in Thailand) ที่แสดงให้เห็นมิติการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ว่าการจะยกระดับสมรรถนะผู้เรียนในระยะยาว จำเป็นต้องมองไปที่การพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย-ประถมศึกษา โดยทำให้เด็กเข้าถึงโอกาสและได้รับการเติมเต็มทรัพยากรอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ RIPED ได้ทำร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยเป็นการทดสอบ The PISA-Based Test for Schools (PTBS) ซึ่งเก็บข้อมูลจากนักเรียนอายุ 15 ปีใน 150 โรงเรียนจาก 15 จังหวัดทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2023 ถึงเดือนมกราคม 2024 ด้วยแบบทดสอบที่กำหนดโดย OECD อันเป็นมาตรฐานเดียวกับโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ ‘PISA’ ซึ่งผลทดสอบที่ได้รับถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เกิดการวิเคราะห์สถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยในเชิงลึก และทำให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจติดตามมา

“การเก็บข้อมูลครั้งนี้ เราได้จากการทดสอบเด็กนักเรียนในช่วงชั้น ม.3-ม.4 จำนวน 5,683 คน มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องมือวิเคราะห์เพื่อออกแบบการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมทักษะสมอง (EF Guidline) มาใช้ร่วมด้วย โดยสำหรับแบบทดสอบ PBTS ที่แม้วัดผลเฉพาะเด็กในระเทศไทย แต่ผลทดสอบถือว่าเทียบเคียงมาตรฐานได้กับ PISA ซึ่งเป็นการทดสอบในระดับสากล ผลการทดสอบครั้งนี้จึงสามารถเทียบเคียงคะแนนกับผลสอบของประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย”

รศ.ดร.วีระชาติ ได้ยกผลทดสอบในวิชาคณิตศาสตร์มาชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยมีผลการทดสอบ PBTS ที่ได้คะแนนต่ำกว่า PISA อยู่มาก ซึ่งเหตุผลหนึ่งคือ ‘กลุ่มทดสอบ’ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนซึ่งได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติต่าง ๆ และในอีกด้านหนึ่ง หากเทียบกับผลทดสอบ PISA ครั้งล่าสุด (2022) พบว่าเด็กทั่วโลกเองก็ได้คะแนนต่ำลง จากปัญหาที่สะสมเรื้อรังมาตั้งแต่วิกฤตโควิด-19   

“ความน่าสนใจของแบบทดสอบ คือการแบ่งทักษะของเด็กออกเป็น 6 ระดับ ตั้งแต่ Level1 คือทักษะพื้นฐานที่เด็กทำได้ทุกคน แล้วจึงไล่ไปสู่ทักษะที่ยากขึ้น โดยใน Level 4-6 จะเป็นทักษะการคิดแก้ปัญหาขั้นสูงที่มีความซับซ้อน เป็นนามธรรม ท้าทายต่อความไม่คุ้นชิน ซึ่งคือหัวใจของแบบทดสอบ PISA ที่ไม่ได้วัดแค่ทักษะระดับพื้นฐาน แต่ยังมุ่งไปที่การคิดวิเคราะห์ขั้นสูง

“เมื่อมองที่การวัดสมรรถนะในภาพรวม จะเห็นว่าเด็กไทยที่มีคะแนนสอบในขั้นสูง (Level 4-6) มีเพียงไม่กี่คน กลับกันกลุ่มที่ทำคะแนนได้แค่ระดับพื้นฐาน (Level 1-2) นั้นมีจำนวนมาก ซึ่งหากมองในเชิงนโยบายแล้ว จะเห็นว่าแบบทดสอบกำลังชี้ไปที่การทำงานกับกลุ่มนี้ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ ว่าเราจะลดจำนวนของคนที่มีสมรรถนะระดับพื้นฐานลง แล้วเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีสมรรถนะขั้นสูงได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าโลกอนาคตอันใกล้จะยิ่งมีความซับซ้อน และเต็มไปด้วยโจทย์ปัญหาที่ไม่คุ้นชินยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นการให้เวลา โอกาส และเติมเต็มด้านทรัพยากรกับเด็กกลุ่มแรก จึงเป็นการทำงานที่ตรงกับโจทย์ปัญหาที่สุด”   

รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวถึงภาพรวมของการทดสอบ PBTS ที่หากดูผิวเผินเหมือนจะสะท้อนว่าเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ดีกว่าจะทำคะแนนได้สูงกว่าเสมอ ซึ่งหมายถึงว่าเศรษฐฐานะหรือรายได้ครัวเรือนถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อระดับสมรรถนะของเด็กในช่วงวัย 15 ปี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในขั้นต่อมากลับแสดงผลลัพธ์ที่ต่างออกไป เมื่อมีการนำข้อมูลการสอบ O-NET ในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มาร่วมพิจารณา

โดยสารที่สำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ อยู่ในวิธีการจับคู่กลุ่มตัวอย่างที่เรียกว่า Regression Analysis ซึ่งจะนำผลสอบ O-NET ที่เด็กทำได้ตั้งแต่ช่วง ป.6 มาเป็นตัวแปร จนพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับสมรรถนะของเด็กในช่วงอายุ 15 อาจไม่ใช่เศรษฐฐานะ ณ ปัจจุบัน แต่เป็นการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรในช่วงเวลาที่อายุน้อยกว่านั้น คือปฐมวัยหรือประถมศึกษา โดยหลักฐานทางอ้อมของข้อสังเกตนี้ คือการขาดทรัพยากรในช่วงอายุยังน้อย ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของสมรรถนะที่วัดผลได้ในช่วงอายุ 15 ปี

หลักฐานหนึ่งที่อาจนำเราไปสู่นโยบายการจัดสรรทรัพยากร ที่จำเป็นต้องย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับช่วงปฐมวัยและประถมศึกษา คือเมื่อเราใช้วิธีที่เรียกว่า Regression โดยตัดตัวแปรอื่น ๆ เช่นความรวยความจนหรือความต่างของเพศ แล้วเทียบวัดกันเฉพาะคู่เปรียบเทียบที่มีบริบทใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้คือผลสอบ O-NET ในช่วง ป.6 จะพบว่า ความเหลื่อมล้ำของสมรรถนะที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงก่อนอายุ 15 เป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์ในตอนท้าย กล่าวคือแม้ในเด็กกลุ่มยากจนพิเศษที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แต่หากมีผลคะแนนสอบ O-NET ที่ดีตั้งแต่ตอน ป.6 เด็กคนนั้นจะมีผลทดสอบ PBTS ที่อยู่ในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าได้เมื่ออายุ 15 ปี (ม.3-ม.4) ซึ่งข้อค้นพบนี้ยิ่งตอกย้ำว่าการจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ย่อมไม่ใช่การทำให้ทุกคนรวยเท่ากัน แต่คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันได้มากที่สุด

การ Regression โดยใส่คะแนน O-NET เข้าไปเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้เราก้าวข้ามการเปรียบเทียบกลุ่มเป้าหมายโดยโฟกัสเฉพาะความจนความรวยในช่วงวัย 15 ปี แต่เป็นการเทียบระหว่างเด็กที่มีผลคะแนน O-NET เมื่อตอน ป.6 อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเด็กคนหนึ่งอาจมาจากครอบครัวยากจน ส่วนเด็กอีกคนมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย แล้วเราจึงมาดูว่ามันมีผลมากน้อยแค่ไหนในสามปีถัดมาของชีวิต ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเปรียบด้วยเกณฑ์นี้ ทำให้เราได้คำตอบว่า อะไรก็ตามที่เราเห็นในคะแนน PBTS ล้วนเป็นผลที่ตามมาตั้งแต่ ป.6 ดังนั้นสรุปได้ว่าทักษะที่เด็กแต่ละคนสะสมมาจนถึงชั้น ป.6 คือสิ่งที่นำมาซึ่งความแตกต่างในตอนสอบ PISA โดยเฉพาะเมื่อยิ่งเจาะลึกลงไปที่ลักษณะของข้อสอบ PBTS หรือ PISA จะยิ่งเห็นว่าโจทย์คำถามนั้นไม่ได้มุ่งไปที่ความรู้ในระดับสูงหรือความรู้ในชั้นมัธยม แต่สิ่งที่ข้อสอบต้องการคือการทำความเข้าใจความซับซ้อนของชุดความรู้ในระดับประถมศึกษา และทั้งหมดนี้เท่ากับว่าคะแนนของเด็กที่ทำได้แค่ระดับพื้นฐานในช่วงอายุ 15 กำลังแสดงให้เห็นว่าฐานความรู้ของเขามีปัญหามาตั้งแต่ระดับชั้นประถม”

รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวถึงความน่าสนใจของการทดสอบ PISA หรือ PBTS อีกว่า “ในการทดสอบทุกครั้งจะมีการสอดแทรกแบบสอบถามเกี่ยวกับบรรยากาศห้องเรียน หรือรูปแบบของการจัดการเรียนการสอน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือว่ามีประโยชน์มากต่อการแสดงภาพรวมของการจัดการเรียนรู้ จึงคิดว่าหากการสอบ O-NET ปรับให้มีแบบสอบถามเพิ่มเข้าไปด้วย ข้อมูลที่ได้รับจะเป็นข้อเท็จจริงที่จะช่วยในการปรับปรุงห้องเรียนโดยรวมสำหรับเด็ก ๆ ได้อีกมาก

“อยากชี้ให้เห็นว่างานวิจัยซึ่งได้จากผลทดสอบ PBTS ของเด็กไทยวัย 15 ปีราวห้าพันคน ได้ทำให้เรามองเห็นและเข้าใจที่มาที่ไปของคะแนนสอบ PISA ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีความแตกต่างของเส้นทางการเรียนรู้ ที่ก่อรูปร่างมาตั้งแต่ช่วงปฐมวัยถึงประถมศึกษา และเป็นหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่คิดว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้น รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระชาติ ได้เสนอข้อสรุปจากการทำงานวิจัยไว้ 4 ข้อดังนี้ 

  1. ยกระดับสมรรถนะผู้เรียนโดยเน้นความสำคัญที่การพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย-ประถมศึกษา 
  2. ลงทุนพัฒนาเด็กกลุ่มที่ทำผลสอบ PBTS ได้ในระดับพื้นฐาน (Level 1-2) โดยสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่าง ๆ เพราะเด็กกลุ่มนี้คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นถ้าสามารถเปลี่ยนผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ ก็หมายถึงความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหาในภาพรวม การลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับประเทศ
  3. การสอบเชิงวิชาการ (O-NET, NT, RT ฯลฯ) ควรเพิ่มข้อคำถามที่ไม่ใช่ข้อสอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับปรุงเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้
  4. งานวิจัยชิ้นนี้คือหนึ่งในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถ้าสามารถเชื่อมโยงข้อมูลมหาศาลเข้าหากันได้ แม้อาจยังไม่พบคำตอบว่าจะลดความเหลื่อมล้ำหรือแก้ปัญหาด้านการศึกษาอย่างไร แต่อย่างน้อยเราจะเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น                              

รศ.ดร.วีระชาติ สรุปว่า  “ณ วันนี้เรายังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่าผลทดสอบ PISA หรือการสอบ O-NET สิ่งไหนจะพยากรณ์ความสำเร็จในชีวิตของเด็ก ๆ ได้มากกว่ากัน เพราะเป้าหมายการศึกษานั้นอาจไม่ได้สำคัญที่การยกระดับคะแนน แต่คือการทำให้คนคนหนึ่งมีต้นทุนมนุษย์ เพื่อประสบความสำเร็จในการทำงานและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตามเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘คะแนน’ ก็สำคัญในแง่ของการ ‘วัดไข้’ เช่นเดียวกับถ้าหมอไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ก็วัดไข้ไม่ได้ แล้วก็ประเมินอาการไม่ถูก จึงหวังว่าการเชื่อมโยงข้อมูลงานวิจัยครั้งนี้ จะเป็นเสมือนกระบวนการหนึ่งของการวัดไข้ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยได้ในอนาคต”