จังหวัดน่านมีจำนวนเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-18 ปีทั้งหมด 2,510 คนหรือ 1.75% ของประชากรรายอายุ 3-18 ปีทั้งหมดของจังหวัดน่าน
แม้สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดน่าน จะเป็นพื้นที่ทิวเขาสลับซับซ้อน โดยเป็นพื้นที่ป่าและภูเขาถึง 3 ส่วน มีพื้นที่ราบเพียง 1 ส่วน แต่จังหวัดน่านก็สามารถติดตามค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้ครบ 100% ด้วยความร่วมมือในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ด้วยการนำของ นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่
ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องร่วมกันค้นหาน้องๆตามนโยบาย Thailand Zero Dropout
เริ่มต้นจากบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลระดับจังหวัดให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านระบบ Thailand Zero Dropout ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), Exchang ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.), OBEC Zero Dropout ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และระบบ DOL Learner Data Platform:LD ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)
นางสาวสุรีพร คำรังษี นักจิตวิทยาโรงเรียน ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) น่าน เล่าว่า
“การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานทำให้ทราบว่าเด็กเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนไหนในสังกัดอะไร หายไปจากระบบการศึกษาตั้งแต่เทอมไหน โรงเรียนlk,ki5ติดตามในเบื้องต้น และรายงานสาเหตุของการออกจากโรงเรียน โดยระยะแรกของการติดตาม จะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่พบตัว จึงได้วางแผนการติดตามในระยะที่ 2 ด้วยการลงพื้นที่อย่างตรอบคลุม
พบว่าเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาหลายคนให้เหตุผลว่าไม่สะดวกที่จะเรียนในระบบการศึกษาปกติเพราะข้อจำกัดเรื่องเวลาและจำเป็นที่จะต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย”
การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเป็นคำตอบของปัญหานี้ เพื่อจะทำให้เด็กๆได้กลับสู่เส้นทางการเรียนรู้โดยไม่มีข้อจำกัดใดใดอีก
จังหวัดน่านสามารถติดตามเด็กได้ครบ 100% และพบว่าเด็กบางส่วนอยากกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา บางส่วนอยากจะกลับมาเรียนที่โรงเรียนเดิมด้วยเงื่อนไขการศึกษาที่ยืดหยุ่นขึ้น ผ่านรูปแบบ 1 โรงเรียน 3 ระบบที่เปิดโอกาสให้เลือกเรียน ตามความเหมาะสมและเงื่อนไขของเวลาที่เหมาะสมเป็นรายคน
“มีเด็กที่อยากจะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ 180 คน และมีอีก 200 กว่าคน ที่จะต้องติดตามระยะที่ 2 และ 3 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลับมาเรียน โดยวางแผนการเรียนที่เหมาะสมหรือเป็นไปตามความต้องการให้กับเด็กกลุ่มนี้ในระยะต่อไป”
จังหวัดน่าน จะใช้โมเดลการทำงานด้านเด็กและการศึกษาที่เคยดำเนินการในพื้นที่ มาต่อยอดการดูและเด็กนอกระบบการศึกษา เช่น การใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศ สำหรับออกแบบการช่วยเหลือด้านการศึกษารายบุคคล การทำงานร่วมกันกับสหวิชาชีพต่างๆ ฟื้นฟูสุขภาพกายใจ ให้มีความพร้อม และแรงบันดาลใจในการกลับมาเรียน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัว ส่งเสริมอาชีพหลากหลาย ฯลฯ
ติดตามภารกิจช่วยเหลือเด็ก เยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา และการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้เพื่อน้องๆ ไม่หลุดจากระบบซ้ำ จากพื้นที่ต่างๆ ทุกวัน ได้ที่เพจกสศ.