ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดมุมมองในเรื่องนโยบาย “ทิศทางความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย ปี 2568” ในงาน Equity Forum 2025 การสัมมนาทางวิชาการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประจำปี 2568 หัวข้อ “ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ว่า ข้อมูลเชิงตัวเลขที่แม่นยำ จะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเชิงคุณภาพ พร้อมเสนอมาตรการ 5 ข้อเพื่อขจัดปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษาในเชิงระบบ
1.ตั้งเป้าหมายลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
กสศ. และคณะทำงานด้านการศึกษา ควรตั้งเป้าหมายชัดเจนในการลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบ โดยมีตัวเลขการสำรวจที่ระบุว่าปีที่แล้วมีเด็กที่หลุดจากระบบ 1.2 ล้านคน และปีนี้ลดลงมาเหลือ 9 แสนคน ซึ่งเป้าหมายสามารถกำหนดได้ เช่น การลดลงเหลือ 7 แสนคนในปีถัดไป
2.ใช้เทคโนโลยี AI ในการแก้ไขปัญหาการศึกษา
การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการบริหารจัดการและติดตามกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งการพยากรณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยลดปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา และสามารถจับคู่พื้นที่ ฐานรายได้ของผู้ปกครอง เพื่อจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.สร้างระบบการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับเด็กแต่ละคน
ถึงแม้รัฐบาลจะสนับสนุนเงินอุดหนุนรายบุคคลอย่างไร ก็ยังไม่เพียงพอ แต่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หากเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาระดับบุคคล เช่น การช่วยเหลือด้านทุนการศึกษา
4.ดูแลเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบางให้เหมาะสมกับสถานการณ์
การดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจ โดยมุ่งหวังให้การฟื้นฟูช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสมและตรงตามมูลเหตุของปัญหาที่แต่ละคนเผชิญ
5.สนับสนุนเด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถศึกษาต่อจนถึงระดับอุดมศึกษา
โดยต้องมีการควบคุมคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กที่ได้รับโอกาสศึกษาต่อจะได้เรียนในสถาบันที่มีคุณภาพและช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยังกล่าวเสริมว่า การใช้ข้อมูลที่แม่นยำจะทำให้การแก้ปัญหานี้เกิดผลอย่างแท้จริง พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการพัฒนาการศึกษาไทยให้ยั่งยืน และไม่ให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถูกละเลยจนกลายเป็นวิกฤตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคต
“เพราะหากเรา ‘พูดถึงระบบ’ แต่การไปถึงวิธีแก้ปัญหาไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบจริง ๆ ด้วยการให้ความสำคัญที่เป้าหมายและความแม่นยำของข้อมูล เรื่องราวเหล่านี้ก็จะยังคงต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงต่อไปทุกปี แล้วถ้าไม่มีความพยายามจริงจังที่จะแก้ไข เราทุกคนก็ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น เมื่อวิกฤตนั้นรุนแรงจนถึงจุดที่ยากต่อการเยียวยา”