“เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น” 5 แนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน

“เร็วขึ้น นานขึ้น ใกล้ขึ้น กว้างขึ้น ลึกขึ้น” 5 แนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา

คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ได้กล่าวในงาน Equity Forum 2025 การสัมมนาทางวิชาการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประจำปี 2568 หัวข้อ “ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” โดยชี้ว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาควรเป็นภารกิจร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ

คุณพริษฐ์ได้ระบุถึงปัญหาด้านการศึกษาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ 4 ปัญหาเชิงระบบ ประการแรก คือ เรื่องงบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันใช้งบประมาณประมาณ 4.6-4.7% ของ GDP หรือราว 300,000 ล้านบาทต่อปี แต่มีเพียง 25% ของงบประมาณนี้ที่ไปถึงตัวนักเรียนจริง ๆ ส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณที่จัดสรรไปยังบุคลากร ซึ่งต้องทบทวนการจัดสรรงบประมาณนี้ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณจากส่วนกลาง โดยเฉพาะในกรณีที่โรงเรียนบางแห่งไม่ได้รับงบประมาณที่ตรงกับความต้องการ เช่น งบสำหรับสร้างสนามฟุตบอลแต่โรงเรียนต้องการใช้เงินไปกับการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่า จึงเสนอให้มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้โรงเรียนสามารถตัดสินใจได้เองมากขึ้น

“จากงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมด เราควรกลับมาทบทวนว่าการจัดสรรงบประมาณที่เป็นอยู่สมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะส่วนของงบประมาณที่ค่อนข้างสูงซึ่งลงไปยังบุคลากรทางการศึกษานั้น ไม่ได้หมายถึงว่าเรามีจำนวนครูที่มากเกินไป แต่ควรพิจารณาว่ากระทรวงหรือหน่วยงานด้านการศึกษาต่าง ๆ มีตำแหน่งหรือภาระการทำงานของแต่ละหน่วยงานที่ทับซ้อนกันหรือไม่”

“จากโอกาสที่ได้ถามคุณครูหรือผู้เรียนโดยตรง เราได้คำตอบว่าหลายครั้งงบประมาณที่จัดสรรผ่านนโยบายต่าง ๆ ลงไป ยังไม่ตรงกับสิ่งที่โรงเรียน ครู หรือผู้เรียนต้องการ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดสรรงบโดยคำนวณตามรายหัว ซึ่งทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบโรงเรียนขนาดใหญ่ในเรื่องการได้รับทรัพยากร จึงอาจต้องมีวิธีการอื่นเพื่อจัดสรรงบประมาณเพื่อความเสมอภาคยิ่งขึ้น  

“ประการที่สองคือ คนที่อยู่ใกล้ปัญหาไม่มีอำนาจตัดสินใจ โดยที่ผ่านมาหลายโรงเรียนสะท้อนปัญหา ว่าการบริหารงบประมาณจากส่วนกลางไม่สามารถทำได้ตรงตามความจำเป็น เช่นโรงเรียน A ได้งบจากส่วนกลางโดยระบุให้ใช้สร้างสนามฟุตบอล หากในความเป็นจริง โรงเรียน A ต้องการนำงบประมาณไปใช้กับปัญหาอื่น ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมกับโรงเรียนมากกว่า”

คุณพริษฐ์ได้เน้นย้ำถึงการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา โดยไม่เพียงแต่เน้นที่การเข้าถึงระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และการปรับหลักสูตรให้ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการของเด็กทุกคน  ในส่วนของการแก้ปัญหาการศึกษาที่มีความหลากหลาย ได้เสนอให้ระบบการศึกษาต้องสามารถรองรับเด็กทุกคน โดยเน้นถึงการสร้างพื้นที่นอกโรงเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือจากท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม  โดยมองว่านโยบายจากส่วนกลาง เช่น ห้องน้ำสะอาด ห้องเรียนน่าใช้ หรือโรงเรียนปลอดภัย ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่นอกเหนือจากนั้นควรคำนึงถึงการกระจายอำนาจเพื่อให้โรงเรียนมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเองได้ด้วย 

“เพราะระบบการศึกษาที่ดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการจะปลดล็อกการศึกษา จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ ๆ นอกรั้วโรงเรียน ซึ่งช่วงหลังมานี้ กสศ. และหลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญอย่างมาก”

คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ

โฆษกพรรคประชาชนได้เสนอ 5 แนวทาง การแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

1.ลงทุนให้ “เร็วขึ้น” รัฐต้องช่วยดูแลการศึกษาของผู้เรียนตั้งแต่ปฐมวัย และยกระดับคุณภาพ-ขยายเวลาในการให้บริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ปกครอง (7 วัน ไม่มีปิดเทอม) โดยมองว่าพัฒนาการในช่วงวัยเด็กนั้นมีส่วนสำคัญและเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในอนาคต

2.ลงทุนให้ “นานขึ้น” ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านคูปองยกระดับทักษะ “เรียนฟรีแถมมีเงินสด” ไม่ใช่แค่ลดภาระในการพัฒนาตัวเองเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีเงินอุดหนุนเพิ่มเติมด้วยเมื่อตัดสินใจพัฒนาตัวเอง เนื่องจากหลายคนจำเป็นต้องลางานเพื่อมาเข้าคลาสและขาดรายได้ในวันนั้นไป

3.ลงทุนให้ “ใกล้ขึ้น” กระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษาและบุคลากรระดับปฏิบัติการที่มีความใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด สถานศึกษาควรมีอำนาจในการกำหนดว่างบประมาณที่ได้รับมาควรจะถูกใช้ไปกับอะไร ไม่ต้องรอให้ส่วนกลางเข้ามากำหนด

4.ลงทุนให้ “กว้างขึ้น” ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน เพราะคุณภาพในการเรียนรู้นั้นเชื่อมโยงกับสุขภาวะโดยรวมของผู้เรียน แนวทางการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และการสนับสนุนจากชุมชน  เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การขาดแคลนอาหาร เป็นต้น

5.ลงทุนให้ “ลึกขึ้น” ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับผู้เรียนรายบุคคล เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทปอ. กยศ. กสศ. เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความเสมอภาค ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น