เปลี่ยนชีวิตติดลบ เป็นอนาคตติดปีก ด้วยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง : ‘เมย์ – วรดา สอนซ้าย’ Young Smart Farmer เจ้าของบ้านสวนวรดา

เปลี่ยนชีวิตติดลบ เป็นอนาคตติดปีก ด้วยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง : ‘เมย์ – วรดา สอนซ้าย’ Young Smart Farmer เจ้าของบ้านสวนวรดา

“การที่ครอบครัวหนึ่งจะออกจากวงจรความจนมันยากมาก บางทีเราไม่ได้เป็นคนสร้างหนี้แต่ถ้าบรรพบุรุษสร้างให้เราก็ต้องตามใช้ แต่ด้วยรายได้ที่ไม่ดีมาก หลายคนอาจใช้ได้แค่ดอก มันเลยทำให้การจะใช้เงินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองในรุ่นของเรามันยากมากขึ้น ดังนั้นโอกาสทางการศึกษาสำหรับหนูจึงเป็นสิ่งที่สุดยอด มันเหมือนกับแสงสว่างที่เข้ามาช่วยให้หนูร่นระยะเวลาในการทำตามความฝัน”

คำพูดที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกขอบคุณของ ‘เมย์’ วรดา สอนซ้าย เจ้าของบ้านสวนวรดา ธุรกิจเกษตร-สวนฝรั่งไส้แดง ผู้คว้ารางวัล Young Smart Farmer ดีเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2024 สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้เธอสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพแล้ว ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังช่วยร่นระยะเวลาในการทำตามความฝันทั้งในด้านอาชีพและการยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัว

แน่นอนว่าความสำเร็จเปรียบได้กับยอดภูเขาน้ำแข็งอันสวยงาม แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กว่าที่ยอดเขาจะพ้นเหนือน้ำได้นั้น เกษตรกรสาวตัวเล็ก ๆ ในวัย 23 ปี ต้องผ่านความยากลำบากและอุปสรรคนานัปการ จนเธอเกือบจะไม่ได้เรียนต่อ 

“ตอนเด็ก ๆ ฐานะทางบ้านหนูยากจนมาก ถ้าจัดอันดับในหมู่บ้าน ครอบครัวหนูคงจะอยู่สุดท้ายไปเลย แม่ของหนูเป็นโรคหัวใจมาแล้ว 20 ปี ทำงานไม่ได้ ขาดรายได้ไปหนึ่ง พ่อจึงเป็นเสาหลักแต่ก็ไม่ได้มีงานหรือรายได้ประจำ แต่ละวันพ่อต้องคอยหาปูหาปลาตอนกลางคืนเพื่อนำมาขายตอนเช้า แต่ถ้าวันไหนหาไม่ได้ก็ไม่มีเงิน นาน ๆ ทีถึงจะมีนายหน้ามาจ้างพ่อไปช่วยงานรับเหมาก่อสร้างวันละ 300 บาท ซึ่งมันก็ไม่ยั่งยืน ใช้เลี้ยงคน 4-5 คนในครอบครัวก็หมดแล้ว”

เมย์เกิดในครอบครัวชาวนาในตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ด้วยฐานะที่ไม่ดีนัก ความทรงจำในวัยเด็กของเธอจึงเต็มไปด้วยภาพของครอบครัวที่ใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบ หลายครั้งที่เมย์ต้องไปช่วยพ่อรับจ้างตัดอ้อยในจังหวัดต่าง ๆ อาหารการกินในแต่ละวันก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของพ่อ ไม่นับรวมหนี้สินที่อีกมากมายที่ทำได้แค่ชำระดอกเบี้ย หรือไม่ก็ต้องอาศัยการยืมเงินคนนั้นมาโปะหนี้คนนี้จนหนี้สินของครอบครัวพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ 

“ก่อนที่หนูจะได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจาก กสศ. หนูเรียนที่โรงเรียนผดุงนารี คือเรียนถึง ม.6 แบบเพื่อน ๆ เลยค่ะ ตอนนั้นจริง ๆ เกือบจะไม่ได้เรียนอะไรต่อแล้วเพราะฐานะที่บ้านยากจนมาก แต่แม่ก็จะไปหายืมเงินมาเพื่อให้หนูไปสมัครเรียนต่อ ซึ่งต่อให้สมัครเรียนจ่ายเงินไปแล้วแต่หนูก็ไม่รู้ว่าจะเรียนได้ถึงไหนเพราะครอบครัวหนูไม่ได้มีแรงซัปพอร์ตเรื่องเงิน ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเรียนต่อจะหนักพ่อแม่ คิดว่าหรือจะไม่เรียนแล้วไปกรุงเทพหางานทำดีกว่าไหม”

แต่ยังไม่ทันที่เมย์จะหันหลังให้กับเส้นทางการศึกษาในระบบ ก็มีอาจารย์ที่โรงเรียนแนะนำทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. ให้กับเธอ โดยทุนนี้จะสนับสนุนทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเรียนและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ฝันที่เกือบจะดับสลายเริ่มกลับกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีกครั้ง

“พอมีอาจารย์เข้ามาแนะนำทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงให้ฟัง หนูก็ตัดสินใจเลยว่าจะสมัคร อาจารย์ก็แวะมาตรวจเยี่ยมที่บ้านแล้วเอาข้อมูลต่าง ๆ มาให้กรอก ซึ่งหนูก็ตรงกับเงื่อนไขได้รับทุน เพราะเกรดเฉลี่ยหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ตรงกับที่ทุนระบุไว้”

หลังจากเรียนจบ ม.6 เมย์จึงได้เหยียบบันไดขั้นแรกที่จะพาเธอเข้าใกล้เป้าหมายในการมีอาชีพมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม สาขาพืชสวน ซึ่งเป็นสาขาที่เธอบอกว่าชอบเป็นอับดับหนึ่ง 

“ระหว่างนั้น กสศ. จะจัดการจ่ายค่าเล่าเรียนให้โดยตรง แยกกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งงวดแรกเงินเข้ามาทีเดียว 30,000 กว่าบาท ด้วยความที่หนูไม่เคยมีเงินเข้าบัญชีขนาดนี้ หนูเองก็เริ่มคิดถึงสิ่งที่อยากได้ เช่น โทรศัพท์รุ่นใหม่ แต่คิดไปคิดมาก็คิดได้ว่าโทรศัพท์เก่าก็ยังใช้ได้อยู่ สู้เอาเงินนี้ไปต่อยอดให้มันงอกเงยเพิ่มขึ้นดีกว่า หนูก็เลยนำเงินไปลงทุนทำปิ้งย่างหม่าล่าขายในหมู่บ้าน จนร้านเล็ก ๆ เริ่มใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ระหว่างเรียนหนูก็นำความรู้มาปลูกผักใส่ถาดแล้วขายให้กับร้านพันธุ์ไม้ เช่น กล้าพริก มะเขือ มะเขือเทศ ขายเป็นถาดถาดละร้อย ก็เลยได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีกค่ะ ได้มาใช้จ่ายทั้งครอบครัวและเอาไปเรียนด้วย 

“หนูรู้สึกว่าถ้าเราเอาเงินทุนมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เอามาใช้แค่กับการเรียน เอามาใช้แค่กับการอยู่การกินโดยไม่ได้ทำให้มันงอกเงย เงินมันก็หมดไป หนูรู้สึกว่าวันหนึ่งถ้าเราเรียนจบไปแล้วไม่ได้ทุนนี้อีกมันก็จะเคว้งถ้าเราไม่ได้ทำอะไรรองรับตัวเองไว้”

เมย์ยอมรับว่าแม้ร้านปิ้งย่างหม่าล่าจะพอช่วยให้ครอบครัวมีรายได้ขึ้นมาบ้าง แต่เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิดตัวลงเพราะเธอต้องไปฝึกงานที่สวนเกษตรแห่งหนึ่งในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่นั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิด ‘บ้านสวนวรดา’ สวนฝรั่งไส้แดงที่โด่งดัง สร้างงานสร้างรายได้สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตจนถึงทุกวันนี้ 

“พอไปฝึกงานที่วังน้ำเขียว หนูได้ไปรู้จักกับบรรดาพืชเศรษฐกิจที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย โดยเฉพาะฝรั่งไส้แดงที่กัดไปคำแรกแล้วมันทำให้เรานึกถึงพ่อกับแม่ มันอร่อยมากและหนูไม่เคยกินมาก่อน ประกอบกับที่หนูเป็นเด็กบ้านนอกไม่เคยเจอธุรกิจเกษตรที่ใหญ่ขนาดนั้น เพราะทางสวนเขานำเข้าผลไม้สายพันธุ์ต่างประเทศจำนวนมากมาปลูกบนพื้นที่หลายร้อยไร่ หนูไม่เคยคิดเลยว่าการทำเกษตรมีแบบนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาหนูเห็นอย่างมากก็แค่ทุ่งนาสวนผักธรรมดา ไม่เคยเห็นเป็น Business Model ใหญ่ ๆ มาก่อน”

เมย์ใช้ช่วงเวลาฝึกงานอย่างคุ้มค่าในการหาความรู้และเทคนิคการดูแลสวน พร้อมกับหางานล้างจานในโรงแรมเป็นอาชีพเสริม แต่พอทำได้ไม่นาน เธอก็รู้สึกว่าเงินค่าจ้างที่ได้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพตัวเองเท่านั้น เธอจึงริเริ่มความคิดที่จะเป็นนายหน้าขายต้นฝรั่งไส้แดง ซึ่งถือเป็นบันไดขั้นถัดมาที่พาเธอสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ

“หนูตัดสินใจคุยกับผู้จัดการสวนว่าขอเป็นนายหน้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้จัดการเลยให้เรทมาว่าต้นฝรั่งนี้ราคาเท่านี้นะ หนูจะไปขายเท่าไหร่ก็ตามใจ สมมติหนูขายได้ 10 ต้น ก็ได้เงินมาพันนึงก็มีเงินใช้และเหลือส่งให้แม่ ซึ่งพอทำไปเรื่อย ๆ หนูก็เริ่มโพสต์ให้ดูโดดเด่นไม่ธรรมดา เวลาลงไปทำงานหนูจะถ่ายคลิปการดูแล พร้อมให้คำแนะนำสายพันธุ์ว่ามาจากไหน มีความแตกต่างอย่างไร ควรปลูกยังไง เมื่อสี่ปีก่อนฝรั่งพันธุ์หงเป่าสือยังไม่มีใครรู้จัก หนูก็พูดว่าในอนาคตฝรั่งตัวนี้จะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย ปรากฏว่าคลิปนี้ดังมาก ทำให้คนกดซื้อผ่านช่องทางหน้าเพจเยอะมาก คืนนั้นหนูขายได้เงินเป็นแสนเลย หักต้นทุนต้นไม้ก็เหลือเงินห้าหกหมื่น”

เมื่อการเป็นนายหน้าขายพันธุ์ไม้บนโลกออนไลน์สร้างรายได้จำนวนมากไม่นานเมย์ก็เริ่มวางแผนให้กับอนาคตของตัวเอง ด้วยการบอกพ่อกับแม่ให้เตรียมที่นาไว้สำหรับปลูกฝรั่งไส้แดงพันธุ์หงเป่าสือแทนข้าว  

“ตอนที่หนูบอกแม่ว่าเตรียมที่นาไว้ให้หมดเลยเพราะหนูจะเอาฝรั่งพันธุ์นี้ไปปลูก ทั้งพ่อทั้งแม่ก็ตกใจอึ้งไปเลย เพราะปกติคนทำนาจะไม่ยอมเสียพื้นที่ทำนาแม้แต่นิดเดียวเพราะมันจะทำให้ปริมาณข้าวลดลง พ่อกับแม่งงว่าจะเอาเงินที่ไหนมาทำ ถ้าทำจะเอาข้าวที่ไหนมากิน ทีนี้เด็ก ๆ แถวบ้านเปิด tiktok ของหนูที่มีผู้ติดตามหลักแสนให้ดู แม่เห็นก็โอเคเพราะเราทำได้และมีเงินเก็บก้อนหนึ่งด้วย นอกจากนี้หนูรู้สึกว่าไร่ที่บ้านมีขนาด 2 ไร่ 3 งานเอง ขนาดสวนที่หนูฝึกงานเขาทำหลายร้อยไร่ยังไม่พอขาย เรามีที่แค่นี้เองทำไมจะขายไม่ได้

“ระหว่างฝึกงานหนูมีความคิดว่าถ้าจบตรงนี้ไปแล้ว ถ้ายังไม่ทำอะไรรองรับตัวเองแล้วจะทำอะไรต่อ มันก็เลยเป็นสเตปว่าถ้าหนูเอาฝรั่งมาปลูกตอนนี้ ฝึกงานจบ ต้นฝรั่งจะอายุ 8 เดือนพอดี แล้วมันจะทยอยออกผล ดังนั้นพอหนูกลับมาจะได้ขายฝรั่งต่อได้พอดี” 

ทั้งหมดเป็นไปตามแผน เมย์ฝึกงานจบตอนอายุ 19 ปี พร้อมกับเงินในบัญชี 7 แสนกว่าบาทจากค่าคอมมิชชั่น และต้นฝรั่งในสวนที่บ้านก็โตพอดี

“หนูกลับมาบ้านก็ถ่ายคลิปต่าง ๆ ลงโซเชียลต่อและบอกโลเคชั่นว่าอยู่มหาสารคาม พอมีกระแสคนก็มาเต็มสวน ขนาดฝรั่งอายุ 8 เดือนยังไม่สมบูรณ์แต่คนเข้ามาชมเยอะแยะมากมาย มาชิมมาซื้อ”

เมย์บอกว่าตัวเองโชคดีที่พ่อกับแม่สนับสนุนแผนของเธอ ยอมเปลี่ยนที่นาเป็นสวนฝรั่ง และทำตามที่บอกทุกอย่าง ทั้งปรับที่ดิน ขุดสระ โดยเฉพาะการปลูกและดูแลสวนที่เธอต้องวิดีโอคอลมาสอนทุกขั้นตอน

“หนูเชื่อเสมอว่าขอแค่มีความฝันเราก็ไปถึงจุดหมายแล้วครึ่งหนึ่ง เหลือก็แค่ลงมือทำ 

“การทำตามความฝันทำให้หนูรู้สึกสนุก รู้สึกภูมิใจ และไม่กลัวลำบากเลยเมื่อเทียบกับความลำบากตอนเด็ก ๆ ที่หนูต้องเผชิญ หนูไปตัดอ้อยกับพ่อแม่ที่เมืองกาญจน์บ้าง กาฬสินธุ์บ้าง มันเป็นความทรงจำที่ฝังอยู่ในหัวเราว่าตอนนั้นมันลำบากที่สุดแล้ว การไม่มีอะไรจะกินมันลำบากที่สุดแล้ว ครอบครัวหนูเคยอยู่ในจุดที่เคยมีแค่ไข่กับน้ำปลา มันเลยทำให้หนูรู้สึกว่าความจนมันน่ากลัว ปฏิญาณกับตัวเองว่าถ้าวันไหนรวยฉันจะไม่มีวันกลับมาจนอีก”

ด้วยความมุ่งมั่นพยายาม ในที่สุดบ้านสวนวรดาก็กลายเป็นสวนฝรั่งไส้แดงอินทรีย์ที่โด่งดังและประสบความสำเร็จจากการขายกิ่งพันธุ์ รับเหมาปลูก ทำระบบน้ำ รวมถึงการขายผลฝรั่งทั้งในและนอกฤดูกาล ส่งผลให้เกษตรกรตัวเล็กๆ อย่าง ‘เมย์- วรดา สอนซ้าย’ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการพาตัวเองและครอบครัวก้าวออกจากวงจรความยากจนข้ามรุ่น

“ถึงจุดนี้หนูภูมิใจในตัวเองมาก ๆ เพราะหนูเริ่มจากไม่มีอะไรเลย จะไปไหนทำอะไรก็ต้องรบกวนคนอื่น ทุกวันนี้หนูเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว มีเงินซื้อรถ ซื้อที่ มีเงินเก็บที่ได้มาจากการทำฝรั่งทั้งนั้นเลยภายในสามปี จนตอนนี้พื้นที่สวนจาก 2 ไร่ 3 งาน ขยายกลายเป็น 6 ไร่ และต้องมีสเตปต่อมาอีกแน่นอนค่ะ”

ถึงวันนี้ เมย์ยังคงเน้นย้ำว่ากุญแจสำคัญที่ช่วยให้เธอสามารถร่นระยะเวลาในการไปถึงฝันให้เร็วขึ้น คือ ‘โอกาสทางการศึกษา’ 

“การได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทำให้คุณภาพครอบครัว คุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิตของหนูดีขึ้น มันเป็นการให้โอกาสที่ช่วยให้ความฝันของหนูเป็นจริงขึ้นมาโดยไม่ต้องทุลักทุเลมาก เปรียบง่าย ๆ เหมือนแม่น้ำสายนี้มีทั้งจระเข้ ขวากหนามและโขดหินอันแหลมคม แทนที่หนูจะต้องว่ายผ่านมันไป จากที่ไม่รู้ว่าจะรอด จะตาย หรือขึ้นมาแบบสะบักสะบอม พอได้ทุนมาเหมือนหนูได้สะพานมาข้ามแม่น้ำสายนี้ อย่างน้อยก็เหนื่อยเวลาเดินข้ามแค่นั้นเลยค่ะ มันสบายและไม่บาดเจ็บ 

“ถ้าหนูไม่ได้รับโอกาสจากทุน กสศ. หนูก็ยังไม่มั่นใจเลยว่าหนูจะเรียนต่อได้ไหม มันมีความลังเลว่าหนูจะทำยังไงดีซึ่งหนูก็ไม่รู้เลย มันเหมือนเป็นแสงสว่างเข้ามาช่วย หนูเชื่อมาตลอดว่าโอกาสมันไม่ได้มีมาบ่อย ๆ เพราะฉะนั้นถ้ามันมาถึงมือเราแล้วต้องคว้ามันไว้ให้แน่น ทำให้เต็มที่อย่าปล่อยให้หลุดมือไปได้เด็ดขาด เพราะเราไม่รู้ว่าโอกาสจะกลับมาเมื่อไหร่หรืออาจจะไม่กลับมาอีกเลยก็ได้ แล้วโอกาสนี้อาจเป็นโอกาสที่จะพลิกชีวิตเราไปทั้งชีวิตเลย จากขัดสนก็กลายเป็นคนพอมีพอกิน 

“สำหรับหนูโอกาสจากทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. พลิกชีวิตหนูมากค่ะ ซึ่งถ้าไม่ได้มาตอนนี้หนูอาจจะเป็นสาวโรงงานหรือกำลังทำงานในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมันคงใช้เวลานานกว่าจะเก็บเงินมาทำตามความฝันได้ค่ะ”