‘เปลี่ยนระบบ-ปิดช่องว่าง-เพิ่มความยืดหยุ่น’ การบ้านเพื่อการศึกษาที่เสมอภาคของทุกคน
โดย : กองบรรณาธิการ the 101
ภาพประกอบ : พิรุฬพร นามมูลน้อย

‘เปลี่ยนระบบ-ปิดช่องว่าง-เพิ่มความยืดหยุ่น’ การบ้านเพื่อการศึกษาที่เสมอภาคของทุกคน

‘ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ ยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของสังคมไทยในปี 2568 ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข พร้อมตั้งคำถามถึงโครงสร้างและนโยบายของระบบการศึกษาปัจจุบันที่ยังปล่อยให้เด็กไทยจำนวนมากหลุดออกจากเส้นทางการเรียนรู้เช่นนี้

ถึงเวลาที่สังคมไทยจะร่วมกันออกแบบระบบการศึกษาใหม่ เพื่อโอบรับทุกคนโดยไม่ทิ้งเด็กหรือเยาวชนคนใดไว้เบื้องหลัง

วันโอวันจึงชวนมองตัวอย่างการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การค้นหาเด็กนอกระบบในพื้นที่ และการจัดการศึกษายืดหยุ่นจากมุมมองของหน่วยงานและองค์กรที่ลงมือแก้ปัญหา เพื่อต่อจิ๊กซอว์ปัญหาในภาพใหญ่และเป็นแรงบันดาลใจสู่การสร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบอื่นๆ ที่จะช่วยรองรับเด็กที่เสี่ยงจะร่วงหล่นออกจากเส้นทางการเรียนรู้


หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจาก Equity Forum 2025 ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

ค้นหาเด็กนอกระบบ-ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยพลังท้องถิ่น

(จากซ้าย) พลวัฒน์ การุญภาสกร, รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข, บัญชา ศรีชาหลวง

เริ่มต้นจาก รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ยืนยันว่า การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งในสังคม เธอระบุว่าเมื่อเห็นข้อมูลว่ามีเด็กไทยอยู่นอกระบบการศึกษามากกว่าล้านคน ขณะที่ในจังหวัดยะลามีหมื่นกว่าคน ทำให้เธอเกิดการตั้งคำถามถึงต้นตอสาเหตุและต้องการแก้ไขปัญหาว่า ทำไมระบบการศึกษาไม่สามารถทำให้เด็กอยู่ในระบบได้

นอกจากนี้เธอยังสะท้อนภาพที่พบจากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงว่ามีปัญหาซับซ้อนที่เกิดขึ้นในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นความยากจนในครอบครัวหรือปัญหาคุณแม่วัยใส จึงมีการจัดทีมสหวิชาชีพเข้าไปดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบด้วยปัญหาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ทั้งยังมีกลไกที่เชื่อมโยงกันเพื่อเข้าไปช่วยเหลือเด็กนอกระบบ

“จากข้อมูลภาพใหญ่ที่ได้มาทำให้ต้องมีการสำรวจลงไปถึงระดับครอบครัวต่างๆ เราเริ่มจากสำรวจข้อมูลไปสู่การสร้างกลไก เพราะเด็กหนึ่งคนที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่ได้มีแค่ปัญหาเดียว แต่ยังมีทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหาภายในครอบครัว เราจึงมีบัณฑิตอาสาทุกๆ หมู่บ้าน เพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่าย และต้องมีต้องมีจิตวิทยาในการพูดคุยกับเด็ก” รุ่งกานต์กล่าว

รุ่งกานต์ย้ำว่า กลไกสำคัญคือกลไกระดับพื้นที่ค่อยๆ ซึมลงเป็นหน่วยย่อยลงไป ที่สำคัญคือเรื่องความยั่งยืน คนในพื้นที่ต้องเป็นผู้ดูแลจัดการอย่างสม่ำเสมอ หรือการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลภายในพื้นที่ จึงเป็นแนวทางให้คนที่อยู่ใกล้ปัญหาจริงเป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อขยายผลการแก้ปัญหา ทั้งยังจำเป็นต้องเน้นนโยบายตั้งแต่ภาพใหญ่ลงมายังระดับท้องถิ่น แผนพัฒนาท้องถิ่นจะทำให้นโยบายเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นหากมีเป้าหมายเดียวกัน

“บางทีแผนไปคนละทิศละทาง อยู่ที่ช่วงเวลาที่กำหนดไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จำเป็นต้องแก้ตั้งแต่นโยบายในการกำหนดไทม์ไลน์ให้ตรงกัน อีกทั้งฐานข้อมูลก็สำคัญ ที่ผ่านมามีฐานข้อมูลเยอะมาก แต่เป็นลักษณะต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างทำ แต่ไม่มีการเชื่อมโยงเป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน ควรมีการดีไซน์และแชร์ข้อมูลในการทำงานตามความรับผิดชอบ ต้องมีการอัปเดตข้อมูล ต้องแก้ปัญหาได้จริง ไม่ใช่เก็บไว้เพียงเท่านั้น” รุ่งกานต์ขยายความ

ขณะที่ บัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หน่วยงานจำเป็นต้องดูแลเด็กเยาวชนในวัยเรียน มีการสำรวจพื้นที่ มุ่งเน้นพัฒนาเด็กที่หลุดจากการศึกษา และดึงกลับเข้ามาสู่ระบบให้ได้ เพื่อให้มีโอกาสต่อยอดการทำงาน จากนั้นมิติต่อไปคือการขยายผล รวมถึงร่วมงานกับสถาบันการศึกษาให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงาน ค้นคว้า ไปจนถึงพัฒนา และส่งต่อไปถึงจุดหมาย เป้าหมายหลักคือเด็กต้องมีองค์ความรู้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่ต่อยอดอาชีพการงานได้ การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาท้องถิ่น   

“คนที่หลุดออกจากระบบไปแล้วเขาไม่รู้ว่าจะมีโอกาสในการศึกษาอย่างไรได้บ้าง ดังนั้น เมื่อได้ข้อมูลก็ต้องดูแลให้ดี เด็กทุกคนสมควรได้รับการศึกษาตามความสนใจ เด็กหลายคนมีศักยภาพ เพราะเด็กไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพลัง อยู่ที่ว่าจะดึงศักยภาพออกมายังไง ซี่งเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้ได้

“เป้าหมายในการพัฒนาคนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ความชัดเจนของนโยบายสำคัญมาก ปัจจุบันมีข้อต่อที่ทำให้เกิดช่องว่าง เราอยากสนับสนุนเด็กที่มีความตั้งใจแต่ไม่มีทุนทรัพย์ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน ไม่ใช่ภาพรวมที่เป็นฉากทัศน์ลอยๆ ถ้ามีการสั่งการอย่างเป็นระบบ แนวทางนโยบายในการกระจายอำนาจยิ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพ” บัญชากล่าว

ส่วน พลวัฒน์ การุญภาสกร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น เน้นย้ำว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาต้องมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นบริการสาธารณะที่จัดสรรอย่างมีคุณภาพและพยายามทำให้ผู้เรียนได้มีการศึกษาอย่างเท่าเทียม

“อย่างโครงการเรียนฟรี 15 ปี ก็ต้องจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมเด็กทุกคน มีการจัดสรรทุนให้เด็กที่ขาดทุนทรัพย์ มีการออกระเบียบจัดการที่ให้สถานศึกษามีความคล่องตัวในการบริหารสถานศึกษา ถ้ามีเด็กยากไร้จำนวนมาก ก็ต้องมีงบประมาณพอจะสามารถมอบทุนให้ได้ เพื่อเป็นแนวทางดึงเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์

“เรายังสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทุนสำหรับเด็กด้อยโอกาสมากขึ้น ต้องลงไปสำรวจว่ามีเด็กคนไหนที่หลุดออกจากระบบ เพื่อดึงกลับมาสอนความรู้ในการพัฒนาอาชีพ ที่ผ่านมาหลายองค์กรมีข้อจำกัดเรื่องอำนาจหน้าที่ ไปจนถึงเรื่องงบประมาณ ทำให้ต้องมีเกณฑ์ในการมอบทุนการศึกษา แต่หากท้องถิ่นมีวิสัยทัศน์เป็นของตัวเอง เราต้องสร้างตรงกลางร่วมกัน และมีระบบนิเวศที่ไปในทิศทางเดียวกัน” พลวัฒน์กล่าว

เมื่อโจทย์ชีวิตมีหลากหลาย พื้นที่เรียนรู้ต้องยืดหยุ่น

(จากซ้าย) นิยม ไผ่โสภา, รัศมี อืดผา, แจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล, พิมพ์ชนก จอมมงคล

เมื่อพูดถึงการศึกษาที่ยืดหยุ่น นิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวตั้งต้นว่าเป็นระบบการศึกษาที่โฟกัสไปที่ตัวนักเรียนว่าจะเรียนดีอย่างไรให้มีความสุขไปพร้อมกัน ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ต้องเป็นตัวตั้งต้นการออกแบบการศึกษาคือความสุขของนักเรียน ใครมีความสามารถด้านไหนก็ต้องผลักดัน และต้องแบ่งเป็นการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ หรือการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

“ผมอยากให้เห็นภาพว่าความต้องการของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องทำให้เขาเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา มีเทคโนโลยีช่วยเหลือ เพื่อให้จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาลดลง จากเดิมที่ห้องเรียนคือห้องสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นกรอบจำกัด แต่ตอนนี้เขาต้องการเรียนด้วยตัวเอง 

“เรามีโครงการ ‘พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนมาให้น้อง’ เมื่อก่อนการเรียนคือห้องสี่เหลี่ยม ต้องเรียนตามตำราเป๊ะๆ แต่ตอนนี้ใครมาเรียนไม่ได้ก็ต้องมีการออกแบบการเรียนตามวิถีชีวิตของเด็กที่มีข้อจำกัดซึ่งไม่ได้เข้าระบบทั่วไป การเรียนต้องมีความยืดหยุ่น และขึ้นอยู่กับบริบทความแตกต่างของเด็กแต่ละคน

“ความท้าทายคือการทำให้นโยบายที่ดีไม่ขาดตอนไป เพื่อไม่ให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาอีก นี่เป็นสิ่งที่พวกเราต้องผนึกกำลังกัน ต้องร่วมมือกัน และเป็นวาระแห่งชาติที่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา และต้องจบการศึกษา” นิยมสรุป

จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาของ พิมพ์ชนก จอมมงคล ศูนย์การเรียน CYF บอกว่าอีกหนึ่งทางเลือกของผู้เรียนคือศูนย์การเรียนที่ยืดหยุ่นหรือการศึกษาตามอัธยาศัย มีการเทียบโอนระหว่างรูปแบบที่นำมาประยุกต์กับเด็กในระบบการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เธอเน้นย้ำว่าชุมชนก็เป็นเจ้าของการจัดการศึกษาและมีหุ้นส่วนการศึกษากับระบบการศึกษารูปแบบอื่นได้ เพื่อเป็นการศึกษาที่ไร้รอยต่ออย่างแท้จริง และเป็นหน่วยการเรียนที่มีศักยภาพ

“เราทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนที่โยงเข้ากับระบบการศึกษาในการเทียบโอน ออกวุฒิกับหลักสูตรแกนกลาง เพื่อนำมาบูรณาการผ่านหลักสูตรแกนกลาง เห็นภาพว่าหน้าบ้านออกวุฒิ แต่เราก็เป็นเหมือนระบบหลังบ้านในการจัดการศึกษา ผนวกกับศูนย์การเรียนรู้อื่นๆ และมีเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้

“นอกจากนี้ เรายังเชื่อมต่อการศึกษาเข้ากับการเรียนรู้ในวิถีชีวิต เช่น การทำนา การทำสวน ซึ่งเป็นทักษะต่างๆ ที่ดึงศักยภาพออกมาได้ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบเพื่อการเรียนรู้ มีการสอนออนไลน์เพื่อให้การเรียนยืดหยุ่น และเลือกเรียนรู้ตามศาสตร์ต่างๆ ตามความสนใจของเด็กได้ และเท่าทันเทคโนโลยีทุกรูปแบบ” พิมพ์ชนกกล่าว

ต่อประเด็นการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น รัศมี อืดผา ครู สกร. อำเภอเมืองบึงกาฬ เน้นย้ำถึง ‘ความยืดหยุ่น’ จากวิถีชีวิตที่ผู้เรียนมี ตั้งแต่วัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่นเป็นต้นทุนของประชาชนในพื้นที่ หลักสูตรที่เกิดจากชุมชนจะเชื่อมโยงการเรียนรู้ได้ ไม่ใช่แค่ฝึกอาชีพ แต่ใช้อาชีพเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ให้กับทุกคน ออกมาเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนสนใจนำไปต่อยอดได้

นอกจากนี้เธอเสริมว่าชุมชนควรจะมีโอกาสออกแบบตั้งแต่ต้นทาง วิเคราะห์ความเป็นไปได้ เพื่อเป็นระบบและมีความยั่งยืนในการออกแบบความรู้สำหรับคนในพื้นที่โดยเฉพาะ มีการสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสิ่งที่บูรณาการ อีกทั้งครูในโรงเรียนต้องมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อมีเส้นทางที่ชัดเจน

“อีกจิ๊กซอว์สำคัญคือผู้ปกครอง เราต้องมีการศึกษาที่มีแนวคิดเพื่อการสร้างคุณค่า เด็กส่งเสริมชุมชน และชุมชนส่งเสริมเด็กในเวลาเดียวกัน ครูต้องเข้าถึงชีวิตและจิตใจของผู้คน สร้างการเรียนรู้และเริ่มต้นจากผู้เรียนอย่างแท้จริง เพื่อสร้างโอกาสความเป็นไปได้ และต่อยอดคุณภาพชีวิตได้ดี” รัศมีกล่าว

ในขณะที่ฝั่งเอกชน แจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager Brand Purpose and KFC Foundation (Work & Study) อธิบายว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดคือทุกภาคส่วนต้องสามารถเข้ามาช่วยเหลือภาคการศึกษาได้ เพราะกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศคือคุณภาพของคน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อน

“ที่ผ่านมาเราตามหาน้องๆ ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ เพียงแค่เขาไม่มีโอกาส ทำไมเราต้องทอดทิ้งเขาไป เราจึงเริ่มต้นจากความตั้งใจ เป้าหมายคือทำให้เด็กสามารถดูแลตัวเอง ครอบครัว และคนรอบตัวอย่างมีประสิทธิภาพได้ เราต้องทำให้เขาหาศักยภาพตัวเองให้เจอ และสามารถพัฒนาต่อยอดได้ มันคือการให้โอกาสที่ให้ได้เลือกจะเรียนรู้และทำงานด้วยได้

“เรามีสาขาวิชาชีพและทักษะมากมายที่ทุกคนค้นหาเองได้ เพื่อมั่นใจว่าจะมีทักษะติดตัวในการดูแลตัวเองไปจนเติบโต การลงมือทำให้ค้นพบว่าเราสามารถเป็นในสิ่งที่เราต้องการได้เพียงแค่เราได้รับโอกาส เรามีหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กหลายคนกำลังสนใจในปัจจุบัน เป็นหลักสูตรนอกกรอบที่ยืดหยุ่น เรียนรู้จากประสบการณ์ ทำงานร่วมกับคนอื่นในสังคมเป็น และปลายทางคือได้วุฒิการศึกษาด้วย

“การทำการศึกษาที่ยืดหยุ่นเป็นมิติที่สังคมต้องปรับตัวในการให้โอกาสเด็กทุกคนได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ” แจนเน็ตทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world