กสศ. จับมือ หอการค้าไทย สอศ. เปิดทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
สร้างการศึกษาแก้จน ได้กำลังคนตอบโจทย์เศรษฐกิจจังหวัด นำร่อง ภูเก็ต กำแพงเพชร ขอนแก่น

กสศ. จับมือ หอการค้าไทย สอศ. เปิดทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างการศึกษาแก้จน ได้กำลังคนตอบโจทย์เศรษฐกิจจังหวัด นำร่อง ภูเก็ต กำแพงเพชร ขอนแก่น

25 กุมภาพันธ์ 2568  กสศ. หอการค้าไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ลงนาม MOU โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พัฒนากำลังคนสายอาชีพและสร้างโอกาสให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ พัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ และตลาดแรงงานในพื้นที่จังหวัดนำร่อง กำแพงเพชร ขอนแก่น และภูเก็ต

ดร.ไกรยส ภัทราวาทผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงในปี 2568 เป็นนวัตกรรมการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษารูปแบบใหม่ ความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กสศ. จัดทำ “บันทึกความเข้าใจความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด” มีเป้าหมายส่งเสริมให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือขาดโอกาส ได้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูง  สามารถเข้าสู่อาชีพได้ทันที เป็นแรงงานทักษะสูงสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการในพื้นที่  สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดและลดการย้ายถิ่นของแรงงานจากภูมิลำเนา

ความร่วมมือนี้จะดำเนินการในพื้นที่ตัวแบบ 3 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ขอนแก่น และภูเก็ต สนับสนุนนักศึกษาเข้าเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรสายอาชีพชั้นสูง หรือ ปวส.  เป็นระยะเวลา 2 ปี จำนวน  133 ทุน 8 สาขาวิชาที่มาจากความต้องการกำลังคนสายอาชีพของสถานประกอบการ 21 แห่งในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยพิจารณาตามที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่จังหวัด  

 กสศ. สถานศึกษาและสถานประกอบการจะทำงานร่วมกัน เพื่อปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดงานในแต่ละจังหวัด ร่วมวางแผนและออกแบบตลอดกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกนักศึกษา การพัฒนาโมดูลการเรียนการสอน การสนับสนุนทุนการศึกษาและองค์ความรู้การทำงานตามสายอาชีพ ไปจนถึงการรับนักศึกษาเข้าทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา

จากการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมจากการลงทุน (Social Return on Investment: SROI) ของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พบว่า เป็นการลงทุนมีความคุ้มค่าเป็นหนึ่งเท่าตัว จึงมุ่งหวังให้การสร้างกําลังคนสายอาชีพในระดับพื้นที่จังหวัดผ่านความร่วมมือ จะทำให้การศึกษาเปลี่ยนชีวิต ขจัดความยากจนให้กับเยาวชนไทย และยังช่วยสร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้อย่างดี

สราวุฒิ อยู่วิทยา

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย กล่าวว่า โมเดลเพื่อพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัดนี้ มุ่งเน้นการยกระดับการศึกษาอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการบูรณาการการศึกษาเข้ากับภาคเอกชนอย่างแท้จริง ลดช่องว่างระหว่างความรู้และการปฏิบัติ พร้อมสร้างแรงงานที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน การศึกษาไม่ไช่แค่เครื่องมือในการสร้างโอกาส แต่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศ

หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดตลอดจนเครือข่ายภาคเอกชนทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนผลักดันระบบการศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม มีการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพสร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ของการยกระดับการศึกษาและถือเป็นหนึ่งใน Ganne Changer ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงาน และส่งเสริมการเข้าสู่ระบบอาชีพที่มั่นคงและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนจากฐานรากให้กับประเทศ

ยศพล เวณุโกเศศ

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า  เป้าหมายในการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ภาคส่วนจะนำไปสู่การการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญและตอบโจทย์กับนโยบายการเรียนการสอนของ สอศ. ที่จะมุ่งสอนเพื่อมีรายได้และความมั่นคงในชีวิตจะทำให้น้อง ๆ ชาวอาชีวะมีรายได้ระหว่างเรียนและมีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์

รายชื่อสถานศึกษาที่เข้าร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพระดับจังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิคน้ำพอง วิทยาลัยเทคนิคชุมแพ / จังหวัดกำแพงเพชร วิทยาลัยอาชีวศึกษาภักดีพณิชยการและเทคโนโลยี / จังหวัดภูเก็ต วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต

สำหรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. เป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยยังมีประเภททุนอื่น ๆ เช่น ประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (ระยะเวลา 1 ปี) ประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (ระยะเวลา 6 เดือน) ทุนนี้เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 หรือระดับอื่นใดเทียบเท่า ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 12 มีนาคม 2568

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สาขา และสถานศึกษาสายอาชีพที่เปิดรับสมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้ที่เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  www.eef.or.th