“เราไม่ได้เห็นแค่เครื่องเขียน เครื่องแบบ หรืออุปกรณ์การเรียนใหม่ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เด็กไม่เคยมีจนถึงวันมีทุนมาเติมให้ ก็คือรอยยิ้มสดใสตามวัยของพวกเขา”
ครูจารุวรรณ จันทร์เพชร โรงเรียนวัดนาราเจริญสุข อำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เปรยถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ หลังได้รับทุนสมอภาค ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ที่ช่วยวาดรอยยิ้มสดใสบนใบหน้าน้อง ๆ หลังได้รับการเติมเต็มในสิ่งที่ขาดพร่อง
ครูจารุวรรณ ผู้เป็นแอดมินทุนเสมอภาคประจำโรงเรียนวัดนาราเจริญสุข เล่าว่าด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่โรงเรียนซึ่งอยู่ใกล้ชายทะเลและท่าเรือเฟอร์รี่ ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเกือบทั้งหมดตั้งแต่ชั้น อ.2-ป.6 ซึ่งมีจำนวน 150 คนจึงมีอาชีพรับจ้างและทำประมง และเกินกว่าครึ่งคือคนจากต่างพื้นที่ที่เข้ามาหางานทำในเกาะสมุย ซึ่งส่วนใหญ่ของรายได้ต้องเอาไปลงกับค่าที่พักอาศัยตกเดือนละ 2,000 – 3,000 ขณะที่งานรับจ้างและทำประมงไม่ได้มีรายได้แน่นอน วันไหนท้องฟ้าไม่เป็นใจมีมรสุมเข้าคลื่นลมแรง ก็จะออกทะเลไม่ได้และไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว

ส่วนเรื่องการศึกษา คุณครูบอกว่าการขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดอนาคตของเด็ก ๆ โดยบางคนไม่สามารถเรียนหนังสือจนจบการศึกษาภาคบังคับ เพราะต้องออกจากโรงเรียนไปทำงาน และด้วยวุฒิการศึกษาน้อยนิด งานที่ทำได้จึงไม่พ้นตามรอยอาชีพของผู้ปกครองอย่างไม่มีทางเลือก จนเกิดเป็นวงจรวนลูปของความยากจนด้อยโอกาส
“นอกจากส่วนที่รัฐจัดสรรให้เด็กผ่านนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทางโรงเรียนจำเป็นต้องหาทุนการศึกษาอื่น ๆ มาเติมเต็ม ซึ่งทุนเสมอภาคจาก กสศ. ถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ เพราะไม่เพียงช่วยอุดช่องว่างของความขาดแคลน แต่ส่วนหนึ่งของทุนยังเข้าไปช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเด็ก และหลายครั้งก็เผื่อแผ่ไปถึงครอบครัวของเขาด้วย”
คุณครูขยายความให้เห็นภาพของชีวิตคนส่วนหนึ่งบนเกาะสมุย ว่าความที่เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก ค่าครองชีพจึงอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ไม่ว่าค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสิ่งของเครื่องใช้ จนถึงค่ารักษาพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีรายรับประจำย่อมหาได้ไม่พอรายจ่าย
“มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มาเรียนโดยไม่ได้กินข้าวเช้า เด็ก ๆ เหล่านี้จะหิ้วท้องรอไปถึงมื้อกลางวัน เรื่องนี้คนเป็นครูไม่ต้องสังเกตก็เห็นว่าเมื่อเขาหิว สมาธิที่จะจดจ่อกับเรื่องเรียนก็ไม่มี หรือบางคนอายุไม่เท่าไหร่แต่เป็นโรคกระเพาะ เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการจะเรียนให้ดี และเป็นเหตุเป็นผลสอดรับกันว่าทำไมผลการเรียนของเด็กเราจึงอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น นี่ยังไม่รวมถึงว่าอุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบนักเรียนของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ไม่เคยมีพร้อม ต้องอาศัยเสื้อผ้าบริจาคบ้าง หรือชุดนักเรียนเก่า ๆ ที่ส่งต่อกันจากพี่ถึงน้อง และจากน้องต่อไปถึงครอบครัวถัดไป ไม่มีใครเคยได้สัมผัสของใหม่กันทั้งนั้น”

อย่างไรก็ตามคุณครูบอกว่านับตั้งแต่มีทุนเสมอภาคและทุนการศึกษาอื่น ๆ เข้ามาเติมเต็ม ภาพความขาดแคลนต่าง ๆ ก็เริ่มแสดงให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยปีการศึกษาที่ผ่านมา (2567) โรงเรียนวัดนาราเจริญสุขมีนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาครวม 31 คน เมื่อติดตามการใช้จ่ายหลังรับทุน คุณครูพบว่าเงินที่ลงไปถึงเด็ก ๆ จะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนหนึ่งเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อชีวิตหรือต่อการประกอบอาชีพของคนในครอบครัว กับอีกส่วนหนึ่งผู้ปกครองจะนำไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนใหม่ นำมาซึ่งภาพตามที่เล่าไว้ข้างต้น ว่าการได้รับสิ่งของที่ไม่เคยมีเคยได้นี้ อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้เกิดรอยยิ้ม และจุดประกายในแววตาของเด็ก ๆ ให้สดใสขึ้น ดังที่ครูจารุวรรณบรรยายไว้ว่า
“เมื่อเด็ก ๆ ได้รับทุน ได้เอาเงินไปซื้อสิ่งของเครื่องใช้ใหม่ ๆ เขาจะมีรอยยิ้มกว้างด้วยความดีใจ แล้วจากการประเมินผลลัพธ์ของเด็กที่ได้รับทุนทุกเทอม เราพบว่าเด็กมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น มีน้ำหนักส่วนสูงเติบโตตามวัย และมีผลการเรียนที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งสำหรับเราที่เป็นครูแล้ว การได้เห็นเด็ก ๆ มีความสุขตัวเองก็มีความสุขตาม และยังบอกตัวเองว่าจะพยายามให้มากขึ้น เพื่อหาทางเติมเต็มและจะพาเด็ก ๆ เหล่านี้ไปถึงวันจบการศึกษาให้ได้ทุกคน”