เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับบริษัท Sea (ประเทศไทย) และสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ (IBGL) จัดกิจกรรม “เสริมทักษะการจัดการเงินผ่านเกม” โดยใช้บอร์ดเกม Wishlist เป็นสื่อการเรียนรู้ ให้กับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น วิชาเอกประถมศึกษา รุ่นที่ 4 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และรุ่นที่ 5 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
กิจกรรมนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะด้านการเงินผ่านการเรียนรู้ที่สนุกผ่านการใช้บอร์ดเกม ให้นักศึกษาครูสามารถต่อยอดสู่การจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 65 คน แบ่งเป็นนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง 31 คน และจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี 34 คน
ตลอดกิจกรรม วิทยากรจากสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ได้แนะนำการใช้เกม Wishlist เป็นสื่อการเรียนรู้ พร้อมชวนนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น ร่วมเล่นเกมเพื่อเข้าใจเนื้อหาและวิธีการถ่ายทอดแนวคิดเรื่องการจัดการเงิน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการ “เปลี่ยนบอร์ดเกมเป็นเครื่องมือการเรียนรู้” ผ่านการออกแบบเกมและสะท้อนผล เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำแนวคิดไปปรับใช้ในชั้นเรียนของตนได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเสริมพลังให้กับครูในพื้นที่ห่างไกล ให้มีเครื่องมือใหม่ ๆ ในการสร้างความเข้าใจเรื่องการเงินให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

บอร์ดเกม ‘Wishlist’ พัฒนาเพื่อตอบโจทย์วัยรุ่น สอนเรื่องการเงินสร้างเป้าหมายชีวิตอย่างสร้างสรรค์
คุณวรุตม์ นิมิตยนต์ ผู้อำนวยการสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ (IBGL) กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังการพัฒนาบอร์ดเกม Wishlist ว่า ทีมพัฒนาได้เลือก “นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น” เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มได้รับการฝึกฝนให้บริหารจัดการเงินของตนเอง ทั้งในรูปแบบของค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือแม้แต่การหารายได้พิเศษในเวลาว่างจากการเรียน
“IBGL มองว่านักเรียนระดับ ม.ต้น อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ที่เริ่มตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดวางแผนอนาคต” คุณวรุตม์กล่าว
โดย Wishlist ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนให้ ‘รวย’ หรือเน้นเรื่องผลกำไร แต่เน้นให้ผู้เล่นได้สำรวจความต้องการของตนเอง เข้าใจแนวคิดพื้นฐานของการวางแผนทางการเงิน และรู้จักใช้เงินเป็น ‘เครื่องมือ’ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในชีวิต โดยสอดคล้องกับพัฒนาการของวัยรุ่นช่วงอายุ 13–15 ปี
บอร์ดเกมนี้จึงไม่เพียงเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน แต่ยังช่วยให้เยาวชนเรียนรู้การจัดการเงินอย่างเป็นระบบ ผ่านการตัดสินใจและการวางแผนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของชีวิตในแบบที่เด็กแต่ละคนสามารถเข้าถึงได้

ผู้อำนวยการสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ (IBGL) กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกม Wishlist มาสู่การอบรมครูรัก(ษ์)ถิ่น ไม่ได้เน้นแค่การให้ข้อมูลหรือท่องจำเนื้อหาเท่านั้น แต่เน้นกระบวนการ “ประกอบสร้างความรู้” ผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เรียน โดยเฉพาะในฐานะของ “ผู้ถ่ายทอดความรู้” ในอนาคต
“กระบวนการเรียนรู้ที่ดีต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ลองผิด ลองถูก และเผชิญหน้ากับความไม่รู้” คุณวรุตม์กล่าว พร้อมอธิบายว่าบอร์ดเกมทำหน้าที่เป็น “พื้นที่จำลอง” ที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด ตัดสินใจ และเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการเช่นนี้จะช่วยให้ความรู้ฝังรากลึกและนำไปใช้งานได้จริง
ในมุมมองของคุณวรุตม์ การฝึกฝนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งกำลังจะก้าวสู่การเป็นครูเต็มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสอนเด็กในระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กกำลังพัฒนาทักษะชีวิตหรือ Soft Skills ต่าง ๆ เช่น การวางแผน การตัดสินใจ การรับมือกับความผิดหวัง และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
“การนำบอร์ดเกมไปใช้ในชั้นเรียน จึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้เรื่องเงิน แต่เป็นการวางรากฐานทักษะที่เด็กสามารถใช้ต่อยอดได้ตลอดชีวิต ทั้งในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน”






Sea (ประเทศไทย) หนุนการเรียนรู้เรื่องการเงินผ่านบอร์ดเกม ปลูกพื้นฐานทักษะทางการเงินตั้งแต่วัยเยาว์
คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท Sea (ประเทศไทย) กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ว่า ความรู้ทางการเงินถือเป็นทักษะสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
บอร์ดเกม “Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน” จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานด้านการวางแผนทางการเงินในมิติต่าง ๆ เช่น การจัดการรายรับ-รายจ่าย การออมเงิน การบริหารสภาพคล่อง การลงทุน และการสร้างรายได้ โดยเน้นการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เติบโตขึ้นพร้อมทักษะ พฤติกรรม และทัศนคติที่ดีในการบริหารจัดการการเงิน
“เรามองว่านักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ไม่เพียงได้รับความรู้และทัศนคติที่ดีเรื่องการเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปถ่ายทอดหรือดัดแปลงเป็นสื่อการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียน” คุณพุทธวรรณกล่าว

คุณพุทธวรรณยังเน้นว่า บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะสร้าง “ประสบการณ์จำลอง” ให้ผู้เรียนได้ลองผิดลองถูก ฝึกฝนทักษะ และจดจำเนื้อหาได้ลึกซึ้งมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งนำไปสู่การถอดบทเรียนและการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ในห้องเรียน
นอกจากนี้ การเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านการจัดการเงินตั้งแต่วัยเด็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากสามารถบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ผู้เรียนมีเครื่องมือทางความคิดที่สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต
ทักษะด้านการเงินไม่เพียงส่งผลต่อตัวเด็กในอนาคต แต่ยังขยายผลไปถึงระดับครอบครัวด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือแม้แต่ความตระหนักในเรื่องนี้ จึงไม่สามารถถ่ายทอดทักษะการจัดการเงินให้กับบุตรหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“นี่คือความท้าทายร่วมกันที่เด็ก ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญ” คุณพุทธวรรณกล่าว พร้อมเสริมว่า หากโรงเรียนสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทางการเงิน ก็จะช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงทั้งในระดับปัจเจกและระดับครอบครัวในระยะยาว

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ผลักดันครูรัก(ษ์)ถิ่น พัฒนาทักษะชีวิตรอบด้านผ่านบอร์ดเกมการเงิน
คุณจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมว่า สถาบันวิจัยฯ มีบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กสศ. ในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ให้เป็นครูที่มีความพร้อมทั้งทางวิชาชีพและทักษะชีวิตยุคใหม่
กิจกรรมครั้งนี้จึงเกิดจากแนวคิดที่ต้องการเสริมทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อาทิ ความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy), ทักษะดิจิทัล (Digital Literacy) และทักษะอารมณ์และสังคม (Social Emotional Learning) โดยใช้ “บอร์ดเกม” เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง
คุณจันทน์ปายอธิบายว่า การทดลองใช้บอร์ดเกมในการอบรมครูรัก(ษ์)ถิ่น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเสริมทักษะให้กับนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้พวกเขาสามารถนำเกมไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน สอดแทรกไปกับการเรียนการสอนในวิชาหลัก รวมถึงสร้างทักษะชีวิตที่จำเป็นให้กับนักเรียน ผ่านกิจกรรมที่สนุกและมีส่วนร่วม
“กิจกรรมนี้ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของทั้งอาจารย์ นักศึกษา และทีมสนับสนุน จากสองมหาวิทยาลัย ผ่านการเล่นเกมและการสะท้อนคิดร่วมกัน ผู้เข้าร่วมจะได้เข้าใจพฤติกรรมการเงินของตนเอง มองเห็นความคิดของผู้อื่น และสามารถประเมินระดับความเข้าใจเรื่องการเงินได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะกลายเป็นข้อมูลสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาทักษะที่ตรงจุดในอนาคต ทั้งด้านการเงินและทักษะชีวิตอื่น ๆ” คุณจันทน์ปายกล่าว


เสียงสะท้อนจากนักศึกษา: “Wishlist” ไม่ใช่แค่เกม แต่คือบทเรียนเรื่องเงินที่เข้าใจง่ายและใกล้ตัว
ภายหลังกิจกรรม “เสริมทักษะการจัดการเงิน” ผ่านบอร์ดเกม Wishlist นักศึกษาทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น สาขาวิชาประถมศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงและมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกที่ได้รับจากกิจกรรม
น้องแป้ง นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า “ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม หนูคิดว่าตัวเองพอเข้าใจเรื่องการเก็บเงินอยู่บ้างค่ะ แต่ยังไม่เคยคิดลึกถึงเรื่องการวางแผนการเงินระยะยาวหรือการลงทุนเท่าไร พอได้เล่นบอร์ดเกม Wishlist รู้สึกเลยว่าเกมนี้ช่วยให้เราเห็นภาพเรื่องการเงินชัดขึ้นมาก”
น้องแป้งเล่าว่า เกมทำให้เธอเข้าใจแนวคิดใหม่ ๆ อย่างเช่น การตั้งเป้าหมายทางการเงิน การจัดลำดับความสำคัญของความต้องการ และผลกระทบของการตัดสินใจด้านการเงิน ซึ่งทั้งหมดค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาผ่านสถานการณ์จำลองในเกม
“สนุกค่ะ แต่ก็ได้คิดเยอะขึ้น และรู้เลยว่าเรื่องเงินไม่ใช่แค่การเก็บเงินอย่างเดียว แต่ต้องวางแผนให้เป็นด้วย”

(น้องแป้ง)
น้องแป้ง ยังได้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเสริมทักษะการจัดการเงินในเด็กว่า “คิดว่าทักษะการจัดการเงินเป็นเรื่องจำเป็นมาก และควรมีการบรรจุไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะเด็กในวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการทางสติปัญญาที่สามารถเข้าใจแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเงินได้แล้ว เช่น การนับเงิน การเปรียบเทียบราคา หรือการออมเงิน”
น้องแป้งยังเสริมว่า เด็กในวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งการใช้เกมในการเรียนรู้เรื่องการเงินจะช่วยกระตุ้นความสนใจ และทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การเสริมทักษะในรูปแบบเกมที่สนุกสนานเหมาะสมกับวัย จะช่วยทำให้เด็กคุ้นเคยกับเรื่องการเงินจนมองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และเข้าใจได้ว่า การบริหารจัดการเงินไม่ใช่เรื่องยากหรือน่าเบื่อ นอกจากนี้ยังช่วยปลูกฝังความคิดเรื่องการใช้จ่ายที่ไม่ฟุ่มเฟือยเกินตัวด้วย”

(น้องพี)
น้องพี นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ทักษะการจัดการเงินว่า
“การได้เรียนรู้ทักษะการจัดการเงินผ่านการเล่นบอร์ดเกม Wishlist ทำให้เข้าใจว่าเรื่องการเงินถ้าปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก จะเป็นผลดีต่อการเรียนรู้และการเติบโตทางพฤติกรรมมาก ทั้งยังช่วยให้เด็กเข้าใจคุณค่าของเงิน และมีภูมิคุ้มกันจากการใช้เงินที่ไม่รอบคอบ รวมถึงไม่ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่มักหลอกลวง”
น้องพียังมองว่า การเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ตั้งแต่เด็กจะทำให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักการใช้เงินอย่างชาญฉลาดและรับผิดชอบ

(น้องฟิล์ม)
น้องฟิล์ม นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวว่า ตนเองยังขาดทักษะด้านการจัดการเงินอยู่พอสมควร โดยก่อนหน้านี้ไม่มีการจัดการเงินที่เป็นระบบ และขาดความรู้เกี่ยวกับภาษี รวมถึงการเก็บออมเงินระยะยาว แต่เมื่อได้เล่นบอร์ดเกม Wishlist ก็ช่วยให้เข้าใจเรื่องลำดับความสำคัญในการใช้เงินมากขึ้น
น้องฟิล์มกล่าวต่อว่า การเล่นเกมทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ควรใช้เงินกับสิ่งใดก่อน หรือสิ่งใดสามารถตัดทิ้งหรือเก็บไว้ภายหลัง ซึ่งช่วยให้ตนเองเริ่มมองเห็นวิธีการจัดการเงินในอนาคตและสามารถวางแผนได้ดีขึ้น