ทีละเล็ก ทีละน้อย – แม้ไม่ได้พลิกโฉมให้เห็นทันตา หากแน่ชัดว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย อันเป็นโจทย์ใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลกว่าจะวางแผนรับมือการเปลี่ยนผ่านของสภาพตลาดแรงงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวแบบไหน ภายใต้ข้อจำกัดด้านจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงจากอัตราการเกิดที่ลดลง
เบื้องต้นที่สุด แน่นอนว่าเราย่อมต้องกลับมาพินิจพิจารณาเรื่องการเพิ่มคุณภาพของแรงงาน ผ่านการบ่มเพาะในหลักสูตรการศึกษาที่ดีและการฝึกทักษะอาชีพที่เท่าทันยุคสมัย แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่หยุดคืบเคลื่อน ดูเหมือนปัญหาเดิมๆ ที่สังคมไทยเผชิญกันก่อนหน้าการมาถึงของสังคมสูงวัยยังไม่อาจคลี่คลายโดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำขัดสนที่กระจายตัวแทบทุกหย่อมหญ้า และโครงสร้างระบบการศึกษาที่ปล่อยให้ผู้เรียนหลุดร่วงจากระบบได้อย่างง่ายดาย
ปัญหาคาราคาซังเหล่านี้มีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยต้องตกอยู่ในสภาวะ NEETs หรือ ‘ไม่เรียน’ ‘ไม่ทำงาน’ ‘ไม่อยู่ในการฝึกอบรม’ อันจะส่งผลต่อโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และอาจวนเวียนก่อร่างสร้างความยากจนข้ามรุ่นต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น
ดังนั้นการแก้ปัญหาเยาวชน NEETs จึงถือเป็นวาระใหญ่ที่ทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสนใจในวันที่ไทยเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน โดยที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ นับเป็นหนึ่งในหัวเรือหลักของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ ดร.ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ คือหนึ่งในคนที่ติดตามการทำงานมาตลอด ทั้งระดับการวางนโยบายผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนถึงระดับพื้นที่อย่างการทดลองสร้างโครงการส่งเสริมให้เยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการจ้างงาน
ด้วยบทบาทของผู้อำนวยการกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เห็นว่าปัญหาเรื่อง NEETs ว่าส่งผลต่อสังคมเศรษฐกิจอย่างไร? และในทางกลับกัน สภาพเศรษฐกิจและระบบการศึกษาปัจจุบันผลักดันให้เด็กคนหนึ่งออกจากระบบที่ควรอยู่มากน้อยแค่ไหน? โจทย์การศึกษาและแรงงานมีอะไรที่เราต้องขบคิด รวมถึงพัฒนาต่อ?
บ่ายคล้อยวันหนึ่ง วันโอวันเดินไปทางไปยังสภาพัฒน์ สนทนากับ ดร.ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ เพื่อคลายข้อสงสัยเหล่านี้

สภาพัฒน์เริ่มวางแผนทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาเยาวชน NEETs ตั้งแต่เมื่อไหร่ และประเด็นนี้สำคัญต่อการพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจไทยอย่างไร
หนึ่งในหน้าที่หลักของสภาพัฒน์คือการจัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งการมุ่งให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนามีมาตั้งแต่แผนฉบับที่ 8 แล้ว มาถึงแผนปัจจุบันคือฉบับที่ 13 (ปี 2566-2570) มีหมุดหมายที่สําคัญมาก คือหมุดหมายที่ 9 เรื่องการลดความยากจนข้ามรุ่น และหมุดหมายที่ 12 เรื่องการพัฒนาคนเพิ่มขึ้นมา
เรื่องความยากจนข้ามรุ่น เราไม่ได้ระบุว่าต้องลด NEETs ได้เท่าไหร่ก็จริง แต่มีการพูดถึงกลุ่มเป้าหมายสําคัญของการลดความยากจน คือเด็กที่เกิดในครัวเรือนที่ไม่เสมอภาค อย่าง NEETs ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างสําคัญของกลุ่มเป้าหมายนี้ เพราะจากข้อมูลชี้ชัดว่าน้องๆ ที่เป็น NEETs ส่วนมากมาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด 40% ล่าง ปกติคนจากครัวเรือนยากจนเหล่านี้จะยกระดับสถานะขึ้นไปก็ต้องใช้การศึกษาเป็นหลัก แต่เด็กกลุ่มนี้จนด้วย และไม่ได้เรียนด้วย ไม่ทํางานด้วย การเลื่อนชั้นทางสังคมจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้น NEETs จึงถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสําคัญที่ถ้าเราไม่แก้ มันจะทําให้ความยากจนข้ามรุ่นดำเนินต่อไป และความยากจนข้ามรุ่นนี่ล่ะที่เป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำ เวลาเรามองภาพความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่อาจจะมองแค่ภาพระยะสั้นว่าตอนนี้คนจนกับคนรวยต่างกันเท่าไหร่ แต่ความเหลื่อมล้ำจริงๆ เกิดจากการที่คนจนไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก
ส่วนหมุดหมายที่ 12 ซึ่งพูดถึงเรื่องกําลังคนที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ก็มี NEETs เป็นกลุ่มเป้าหมายสําคัญ มีการระบุว่าต้องลด NEETs ให้เหลือไม่เกิน 5% ภายในระยะเวลา 5 ปี เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทําให้คนกลุ่มเยาวชนน้อยลงเรื่อยๆ การที่เราปล่อยให้เยาวชนเหล่านี้หลุดออกไป เท่ากับว่ากำลังคนที่มีน้อยอยู่แล้ว ถ้าไม่มีคุณภาพอีกก็จะยิ่งเสียหายเยอะ
ทีนี้ ในโครงสร้างการกําหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ จะเริ่มจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาถึงระดับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป็นเวลา 5 ปี และจากแผนพัฒนาฯ นี้จะถ่ายระดับลงไปเป็นแนวปฏิบัติของราชการ ฝั่งกระทรวงแรงงานก็รับแผนนี้ไปตั้งตัวชี้วัดของกระทรวงว่าภายในปี 2570 จะลดจำนวน NEETs ให้ได้ 100,000 คน ดังนั้นสำหรับเรื่อง NEETs จะเห็นว่าทั้งกระทรวงและสภาพัฒน์มีเป้าหมาย แผนใหญ่พร้อม แผนกระทรวงก็มี กระทรวงศึกษาเองก็พูดถึงการป้องกันเด็กออกนอกระบบเช่นกัน แต่ปัญหาสำคัญที่สุดของการแก้ไขเรื่องนี้ คือ ‘เรารู้ว่าต้องทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร’
เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องอื่นๆ ในประเทศ เรารู้ว่ามีเรื่องต้องแก้ แต่หลายครั้งกลายเป็นว่าเราปล่อยให้หน่วยงานแต่ละแห่งคิดเองว่าต้องแก้อย่างไร ทำให้บางหน่วยงานอาจจะคิดแค่ในหน้าตักของเขา ในขอบเขตงานของเขาเท่านั้น เพราะเวลาของบประมาณก็ขอในนามหน่วยงานตนเอง อาจจะไม่ได้คิดเผื่อว่าจะไปทำงานกับคนอื่น กล่าวคือระบบราชการมีลักษณะการทำงานแบบแยกส่วน (silo-based) ซึ่งไม่ใช่ว่าแย่ไปเสียทั้งหมดนะ เวลามีงานเร่งด่วนมา ระบบแบบไซโลก็มีประสิทธิภาพในการทำงานที่รวดเร็ว แต่พอเป็นปัญหาที่มีหลายมิติ หน่วยงานก็จำเป็นต้องทำงานร่วมกับที่อื่นๆ การที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งตั้งเป้าและทำคนเดียวจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
พอเราขาดความรู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร สภาพัฒน์จึงทำโปรเจกต์หนึ่งขึ้นมา เรียกว่าการขับเคลื่อนแผน 13 ในระดับพื้นที่ตําบล ซึ่งเราไปดูว่าหมุดหมายในแผน 13 มีเรื่องไหนสามารถนำมาทำโครงการนำร่อง (pilot project) ในพื้นที่ใดบ้าง และเรื่อง NEETs ก็เป็นเรื่องแรกที่เราลองทำอย่างจริงจังที่อุดรธานี รวมถึงมีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก เนื่องจากเราได้ทีมในพื้นที่ที่ดี อย่างอาจารย์เจ๋ง (วรวัฒน์ ทิพจ้อย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี) อบต. รวมถึงการสนับสนุนจากยูนิเซฟ โดยมีเป้าหมายว่าจะเรียนรู้จากพื้นที่นี้ไปสู่การแก้ปัญหา NEETs ในภาพรวมทั้งประเทศอย่างไร
ตั้งแต่ติดตามประเด็นดังกล่าวมา ทางสภาพัฒน์มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเยาวชน NEETs บ้างไหม พบอะไรที่น่าสนใจบ้าง
เราเริ่มมาติดตามตัวเลขของ NEETs ตอนทำแผนฉบับที่ 13 แล้วพบว่าหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูล NEETs อย่างต่อเนื่องคือ ILO (International Labour Organization – องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ซึ่งมีวิธีวัดที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับนานาชาติ ข้อดีคือมีตัวเลขที่เก็บอย่างต่อเนื่องล่าสุดถึงปี 2566 แต่ข้อท้าทายคือเราไม่สามารถแยกแยะข้อมูลข้างในได้ว่าตัวเลขแบ่งแยกตามพื้นที่อย่างไร เพราะมันเป็นรายงานให้เห็นภาพรวมของทั้งประเทศ
อีกแหล่งข้อมูลหนึ่งคืองานของอาจารย์เดือน (รัตติยา ภูละออ) ซึ่งเก็บข้อมูลถึงแค่ปี 2564 แต่สามารถลงไปดูรายละเอียดได้ว่าพื้นที่ไหนมีจำนวน NEETs เท่าไหร่ ตรงนี้ค่อนข้างสำคัญมาก เพราะทำให้เรารู้ว่าที่ไหนคือพื้นที่เป้าหมายซึ่งควรจะทำงานที่แรก เราใช้ข้อมูลตรงนี้เลือกอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มี NEETs เป็นอันดับสามของประเทศ
สาเหตุที่ไม่เลือกพื้นที่อันดับหนึ่งอย่างนราธิวาสเลย เพราะเวลาทำโครงการนำร่อง กลไกในพื้นที่สำคัญมาก ซึ่งทีมสภาพัฒน์ที่ดำเนินการเรื่องนี้ยังไม่ได้มีโอกาสมีเครือข่ายการทำงานกับนราธิวาสมาก่อน แต่ก่อนหน้าจะทำโปรเจกต์นี้เราเคยทำงานร่วมกับทางราชภัฏอุดรธานีมาระดับหนึ่ง บวกกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นของเขาเองก็เข้มแข็ง ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นได้ เพราะเราอยากให้โมเดลนี้อยู่อย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป ไม่ใช่แค่เพราะมีทางสภาพัฒน์หรือยูนิเซฟลงไปกระตุ้นเท่านั้น แต่นอกเหนือจากนี้ เราก็คาดหวังให้เป็นโมเดลที่ใช้ได้ในทุกพื้นที่
ในขั้นแรก เราใช้ข้อมูล NEETs รวมจาก ILO เป็นหลัก แต่ตอนทำงานในพื้นที่ เรามีระบบหนึ่งที่ใช้ด้วยกัน ในภาพใหญ่เรียกว่าระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า เกิดจากการนำฐานข้อมูล จปฐ. หรือการเก็บข้อมูลความจําเป็นพื้นฐานจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาใช้วิธีการที่เรียกว่า MPI (multidimensional property index) ดูความยากจนในหลายมิติ เพื่อระบุตัวคนยากจน แล้วเอามาทาบกับข้อมูลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
หากพบข้อมูลคนที่ถือบัตรด้วยและยากจนด้วย ก็จะถือเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเป้าหมายของตัวระบบ TPMAP และสำหรับเรื่อง NEETs เราได้พัฒนาระบบหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า Local Census เป็นขาหนึ่งของระบบ TPMAP เนื่องจาก TPMAP มีแค่ข้อมูลจาก จปฐ. และผู้ถือบัตรสวัสดิการ แต่การแก้ปัญหา NEETs นั้น ลักษณะเฉพาะ (characteristic) ของครัวเรือนสำคัญมาก เราจึงพัฒนา Local Census เพื่อเติมเต็มข้อมูลส่วนที่เหลือก่อนเริ่มทำงานเรื่อง NEETs ในที่ต่างๆ หลังจากนี้เราจะเก็บข้อมูลในพื้นที่ผ่านระบบดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ให้คนทำงานดูได้ว่าลักษณะครัวเรือนของเยาวชน NEETs เป็นอย่างไร พ่อแม่ประกอบอาชีพอะไร รายได้เท่าไหร่ ตัวเขาเคยมีประสบการณ์หรือแนวโน้มที่จะเป็น NEETs ไหม หรือเคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ติดเกมหรือเปล่า เคยโดนบูลลี่ในโรงเรียนไหม
วิธีการเก็บข้อมูลของ Local Census จะทำผ่านแบบสอบถามที่เราประยุกต์มาจากการดูแบบสอบถามที่ใกล้เคียงกัน ทั้งของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ของกระทรวง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ของสํานักงานสถิติแห่งชาติ แล้วส่งให้ผู้เชี่ยวชาญจากยูนิเซฟช่วยดูอีกครั้งว่าเป็นคําถามที่โอเคไหม เพราะบางประเด็นค่อนข้างอ่อนไหว และขณะเดียวกัน ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่านี่เป็นแบบสอบถามแบบ self-report หมายความว่าอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ แต่อย่างน้อยก็จะช่วยให้คนทำงานเห็นภาพก่อนว่าเด็กคนไหนมีลักษณะแวดล้อมอย่างไร ต้องช่วยอย่างไร
ระบบการเก็บข้อมูลนี้เป็นโมเดลเดียวกับการแก้ไขปัญหา NEETs ที่อุดรธานี แต่เรียกว่าสเกลอัปขึ้น เนื่องจากตอนทำงานที่อุดรธานีครั้งแรก เครื่องมือยังไม่เสร็จ และเราทำไปเรียนรู้ไปด้วย ก่อนหน้านี้เราอาศัยเครือข่ายในพื้นที่ระบุว่าเด็กคนไหนเป็นอย่างไร แต่ระหว่างที่ทำงาน เรารู้ว่ามันต้องมีเครื่องมือให้พื้นที่นำไปใช้ได้เลย ต้องพัฒนาแบบสอบถามและระบบสารสนเทศในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อไปใช้แก้ไขปัญหาที่อื่นต่อไป

พอเรามาทำงานด้านนี้แล้ว พบว่าฐานข้อมูลเกี่ยวกับเยาวชนของไทยมีจุดอ่อน หรือสิ่งที่ควรพัฒนาอย่างไรบ้าง
เรามีทั้งด้านที่ค่อนข้างเข้มแข็งกว่าประเทศอื่นและสิ่งที่เรายังตามหลังประเทศอื่น สิ่งที่เรายังตามอยู่คือความต่อเนื่องของข้อมูล อย่างของยุโรปเองจะมีการรายงานตัวเลขที่เกี่ยวข้องเป็นประจําภายใต้คำจำกัดความ (definition) ที่แน่ชัด แต่อย่างของเรา รายงานหลายชิ้นไม่มีข้อมูลเรื่องการฝึกอบรม (training) ทําให้การคํานวณจำนวน NEETs อาจไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ผ่านมาเราใช้ข้อมูลจาก ILO เป็นหลัก แต่ด้วยความที่เป็นฐานข้อมูลนานาชาติ บางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับบริบทบ้านเรา
ส่วนด้านที่เราค่อนข้างเข้มแข็ง ขอยกตัวอย่างตอนเราไปพรีเซนต์งานที่อิตาลี สิ่งหนึ่งที่ยุโรปไม่มี แต่เรามี คือฐานข้อมูลเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ อย่างปัญหายาเสพติด ตอนเราทำงานในพื้นที่ เราให้คนในหมู่บ้านช่วยกันค้นหาว่ามีเด็กกี่คนที่มีศักยภาพพอจะเข้าโครงการ ผลออกมาได้เกือบ 300 คนนะคะ เยอะมาก แต่พอดูรายละเอียดกลายเป็นว่ามีปัญหายาเสพติดเสียเกือบครึ่ง ซึ่งไม่สามารถเข้ากระบวนการทํางานแบบปกติของเราได้ เพราะจะต้องผ่านกระบวนการของการบําบัดก่อน
พอนำข้อมูลตรงนี้ให้ต่างชาติดู เขาก็เซอร์ไพรส์ว่านี่เป็นสิ่งที่เขาไม่มีข้อมูลเลย เขารู้แค่ปลายทางว่าเด็กคนนี้ไม่เรียน ไม่ทํางาน ไม่อบรม พอมีเด็กคนไหนที่อยากเข้าสู่กระบวนการ ก็ให้มาคุย แล้วค่อยรู้ปัญหาตอนนั้น แต่โมเดลการทำงานในพื้นที่ของเราเอื้อให้เรารู้ข้อมูลพวกนี้ก่อนคร่าวๆ
ในต่างประเทศประสบปัญหาเรื่องเยาวชน NEETs เหมือนกับเราบ้างไหม และการแก้ไขปัญหาของเขาเป็นอย่างไร
เรื่อง NEETs เป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสําคัญ เพราะเทรนด์สังคมผู้สูงอายุเริ่มมาเกือบทั่วโลก ยกเว้นแค่แอฟริกาที่สัดส่วนประชากรแรงงานยังเพิ่มขึ้นอยู่ อย่างเช่นเกาหลีเองก็มีโมเดลการทํางานเพื่อแก้ NEETs โดยเฉพาะ ยุโรปมีโครงการ Youth Guarantee ที่ EU ให้ทุนกับประเทศสมาชิกเกือบทุกประเทศไปทำงาน แต่ในบริบทรายละเอียดการแก้ปัญหาของแต่ละที่อาจจะต่างกันตามลักษณะสังคมและความต้องการของเยาวชน
ยกตัวอย่างเช่นประเทศแถบยุโรป มักมีโครงสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นในการช้อนเด็กกลับเข้าสู่ระบบมากกว่าบ้านเรา เอื้อให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ง่ายกว่า แต่ว่าของไทย ถ้าหลุดไปแล้ว ก็เหมือนคุณหลุดร่วงออกจากตาข่าย กลไกการช้อนกลับและส่งต่อระหว่างหน่วยงานยังไม่ลื่นไหล เพราะ NEETs ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหน้างานของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นพิเศษ จะบอกว่าเป็นเด็กที่กระทรวงศึกษาต้องดูแลเป็นหลักก็พูดได้ไม่เต็มปากเพราะเด็กหลุดออกมาจากการเป็นนักเรียนแล้ว ขณะเดียวกัน จะบอกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเพียงหน่วยงานเดียวก็ว่าไม่ได้เต็มปากเหมือนกัน เพราะเขาก็อาจจะยังไม่ได้ทํางาน บางคนเป็นเด็กเกินกว่าจะถูกนับเป็นกำลังแรงงานของกระทรวงแรงงานด้วยซ้ำ หรือจะบอกว่าเป็นกลุ่มคนเปราะบางไหม ถ้า NEETs อายุเกิน 18 ไม่ได้มาจากครัวเรือนยากจน ไม่ใช่ผู้พิการ ก็อาจไม่นับเป็นความเปราะบางตามนิยามของกระทรวง พม.
จะเห็นว่า NEETs ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของกระทรวงไหน ทำให้มีเด็กหลุดร่วงระหว่างข้อต่อของกลไกการช้อนกลับระหว่างหน่วยงานค่อนข้างมาก ตอนเราทํางานในพื้นที่จึงให้ความสําคัญกับการเชื่อม แล้วก็ส่งต่อบริการค่อนข้างเยอะ เราแทบไม่มีการเพิ่มบริการใหม่ ไม่ได้ให้กระทรวงไหนทําโครงการใหม่เพื่อแก้เรื่องนี้โดยเฉพาะ แค่หาคนกลาง อย่างสถาบันการศึกษาในพื้นที่ หรือ อบต. เป็นคนที่คอยติดตามเยาวชน เป็นพี่เลี้ยง แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานหรือโครงการที่มีการดำเนินการอยู่เท่านั้นเอง
ในต่างประเทศ กลไก social worker ของเขาค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีคนคอยดูแล ถ้ามีคนเข้ามาแจ้งปัญหา เขาจะมีคนประกบเด็กเลย อย่างอิตาลีจะมีองค์กรเหมือนศูนย์จัดหางาน มอบหมายให้ social worker ติดตามดูแลเด็ก แต่บ้านเราขาดตั้งแต่ครูแนะแนว ไม่มีใครคอยไกด์ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กตลอดกระบวนการตั้งแต่การเลือกเส้นทางการศึกษา การเลือกเส้นทางอาชีพ หรือแม้กระทั่งเมื่อเขาหลุดไป ใครจะเป็นคนนําทางเขากลับมา เราว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการนำทางเด็กมากกว่าจะมีโครงการที่เกิดขึ้นเฉพาะ
ปัญหาเยาวชน NEETs ที่เกิดขึ้น สะท้อนปัญหาด้านเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง
เรื่องแรกคือเรื่องการจ้างงาน ตลาดแรงงานไม่สามารถดูดซับเด็กกลุ่มหนึ่งไปได้ทั้งหมด เด็กอยากทำงาน แต่ไม่มีงานที่รองรับเขาเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ กระทั่งเรื่องตลาดแรงงานบวกกับการศึกษา เราไม่มีข้อมูลที่สะท้อนความต้องการแรงงานทั้งหมดในตลาด ทำให้โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษาไม่รู้ว่าควรจะผลิตแรงงานแบบไหนออกมา กลายเป็นปัญหา job mismatch คนที่จบมามีทักษะไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เยาวชนหางานไม่ได้
อีกภาพสะท้อนหนึ่งคือเรื่องความยากจนของครัวเรือน แม้ว่าเราจะบอกว่าไทยมีนโยบายเรียนฟรี แต่ไปดูจำนวนปีเฉลี่ยที่คนไทยได้รับการศึกษาก็อยู่ที่ประมาณแค่ 8 ปีเอง ค่อนข้างต่ำมาก และถ้าไปดูในครัวเรือนยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การที่เด็กคนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เรียนต่อเป็นเรื่องง่ายมาก แถมเป็นการลดภาระของครอบครัวด้วยซ้ำ เพราะนโยบายเรียนฟรีไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ทั้งหมด ค่าเดินทางไปโรงเรียนก็ยังมี นอกจากนี้ยังมีค่าเสียโอกาส หลายคนมองว่าแทนที่จะไปเรียนก็ไปช่วยพ่อแม่ทํางานดีกว่าไหม เราเจอมาเยอะว่า NEETs ส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่เรียน เพราะต้องมาช่วยงานเป็นลูกจ้างในภาคการเกษตร ไม่งั้นไม่มีใครหารายได้เข้าบ้าน เรื่องของความยากลําบากทางเศรษฐกิจก็ผลักดันให้เด็กกลายเป็น NEETs ด้วย
ความหลากหลายของอาชีพก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสําคัญ ตอนเราทำโครงการจะเห็นว่าอาชีพที่เด็กเลือกก็ไม่ใช่อาชีพสมัยใหม่ เขามักเลือกเป็นครู เป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ หรือก็คือเลือกอาชีพที่เขามองเห็น ถ้าในพื้นที่ไม่ค่อยมีความหลากหลายของอาชีพให้เด็กได้เลือกมาก มุมมองต่อชีวิตของเด็กเหล่านี้ก็จะไม่กว้างถ้าเทียบกับเด็กที่มีโอกาสมากกว่า และถ้าเขาเลือกทำอาชีพนั้นไปแล้วเหนื่อย จะกลับมาเป็น NEETs ก็เป็นไปได้เหมือนกัน เพราะเส้นทางอาชีพไม่ได้อยู่ได้ยาวๆ การเข้าๆ ออกๆ กับสถานะ NEETs ก็สร้างความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามเรื่องปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการกลายเป็น NEETs ต้องบอกว่าสาเหตุหนึ่งที่เราตัดสินใจทำงานในระดับพื้นที่แทนที่จะใช้โมเดลในระดับนโยบาย เพราะเราเคยมีการคำนวณสมการถดถอย โดยใช้ข้อมูลระดับจังหวัด ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ความยากจน อัตราการว่างงาน อัตราอาชญากรรม ยาเสพติด อัตราการเข้าเรียนต่างๆ มารันโมเดล เพื่อดูว่าปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้จังหวัดนั้นมีสัดส่วน NEETs ค่อนข้างมาก ผลออกมาตีความได้ว่าไม่มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ หรือก็คือ NEETs มีความหลากหลายเกินกว่าจะสรุปได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยหลัก และนั่นแปลว่าเราไม่สามารถทำงานในระดับนโยบายแบบ one size fits all ได้ เพราะภูมิหลังของ NEETs หลากหลาย มีทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างครัวเรือนที่เด็กอยู่กับผู้สูงวัย พ่อแม่ไปทำงานในเมืองใหญ่ หรือกระทั่งยาเสพติดในพื้นที่ ความมั่นคง ส่งผลให้เด็กเป็น NEETs ได้ทั้งหมด

เรามักพบเด็กจบการศึกษาขั้นบังคับ อายุ 15-16 จำนวนมากที่เลิกเรียนต่อและอยากทำงาน แต่ไม่สามารถทำได้เพราะอายุต่ำกว่าเกณฑ์แรงงาน เรื่องเหล่านี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนเกณฑ์การเข้ารับทำงานของสถานประกอบการ หรือโอกาสของเด็กในการเข้าถึงแหล่งงานใหม่บ้างไหม
ในทางวิชาการ ดีเบตเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นไปในทางเดียวกันว่าอายุแค่ 15 หรือจบม.3 อาจจะเด็กเกินไปสําหรับการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ถ้าเราคิดว่าทิศทางการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยแรงงานทักษะสูง (high-skilled labor) เพราะประเทศจะได้เติบโตโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น การที่เราปล่อยให้มีการผลิตแรงงานในระดับการศึกษาแค่มัธยมต้น จะไม่ตอบโจทย์ทิศทางในภาพหลัก
แต่ทีนี้ สิ่งที่สามารถทําได้ในกรณีที่เด็กมีความจําเป็นต้องทํางาน หรือว่ามีความต้องการทํางานระหว่างเรียนไปด้วย ในต่างประเทศมักจะใช้การเรียนรู้แบบ work-based learning หรือเป็นระบบการศึกษาแบบเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย การทำงานถูกนับเป็นหน่วยกิตหนึ่งของการเรียน อีกอย่างหนึ่งคือการทำโปรแกรมฝึกงานที่ได้เงินมากขึ้น
ถ้าเกิดว่าในอนาคต เราจะมีการปรับเปลี่ยนให้แรงงานที่จบชั้นมัธยมต้นมาทำงาน โดยมีตำแหน่งงานในตลาดรองรับ ส่วนตัวก็คิดว่ามันน่าจะมีกลไกบางอย่างช่วยหล่อหลอมทักษะของเด็กกลุ่มนี้ ให้เขาสามารถมองชีวิตในระยะยาวมากขึ้น เพราะแน่นอนว่าถ้าเราเปิดให้เด็กทำงาน มันสามารถแก้ปัญหาความขัดสนในระยะสั้น แต่ในระยะยาว เราก็ยังอยากให้เขามีโอกาสทำงานที่ยั่งยืนกว่านี้ มีค่าจ้างที่สมเหตุสมผล มีทักษะที่เขาสามารถปรับตัวไปสู่อุตสาหรรมสมัยใหม่มากขึ้น
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาเยาวชน NEETs สะท้อนให้เห็นปัญหาการศึกษาไทยอย่างไร อยากชวนคุยโดยเริ่มจากการมองปัญหาด้านโครงสร้างการรองรับให้เด็กอยู่ระบบก่อน
ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และส่งผลกระทบต่อหลายเรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน้าที่สำคัญของการศึกษาคือการรับเด็กมาดูแล ผลิตความรู้ และส่งต่อเข้าตลาดแรงงาน หรือก็คือดูแลตอนที่เด็กยังอยู่ในระบบให้เขามีความรู้ มีทักษะการใช้ชีวิตและการทำงานได้ดีที่สุด แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างของการศึกษาที่เป็นอยู่อาจทำให้ฟังก์ชันตรงนี้ล้มเหลว
โดยหลักการจัดการศึกษา ผู้เรียนควรเป็นศูนย์กลาง เป็นสินทรัพย์ (asset) สำคัญของระบบการศึกษา แต่ถ้าเราดูโครงสร้างที่รายล้อมผู้เรียนตอนนี้ จะเห็นว่ามันไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ยกตัวอย่างเช่น การจัดสรรงบประมาณในระบบการศึกษาตามสูตรการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว ที่นักเรียนทุกคนจะได้การจัดสรรงบรายหัวที่เท่ากัน ส่งผลให้โรงเรียนใหญ่มีงบประมาณมาก ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ห่างไกลงบประมาณก็จะน้อยตามทั้งที่เขาอาจจะมีความยากลําบากในการดูแลเด็กมากกว่า
นอกจากนี้ เราจะเห็นว่างบประมาณการศึกษาของเราไม่น้อยนะคะ ถึงแม้ว่าประชากรเด็กจะลดลงเรื่อยๆ แต่งบประมาณกลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเพราะว่าเงินไปอยู่กับงบรายจ่ายประจําหรือค่าจ้างครูเป็นหลัก มันไม่ได้ลงไปถึงตัวผู้เรียนหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับพัฒนาศักยภาพผู้เรียน
ถ้าเราบอกว่าค่าแรงครูเป็นหนึ่งในส่วนหลักของงบประมาณการจัดการศึกษา คำถามคือแล้วครูมีแรงจูงใจ (incentive) ในการดูแลเด็กคนหนึ่งหรือเปล่า ถ้าแรงจูงใจของการประกอบอาชีพคือการเลื่อนขั้น และการเลื่อนขั้นของครูคือการทํารายงานวิจัย เพื่อให้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารการศึกษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสอนเด็กคนหนึ่งให้ดีหรือส่งต่อสู่ตลาดแรงงานให้ได้ นี่ก็สะท้อนว่าโครงสร้างไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการศึกษาเช่นกัน
ทางด้านหลักสูตรการศึกษา คุณมองเห็นจุดที่ต้องพัฒนาอย่างไร
การมาของเทคโนโลยีจะทำให้หลักสูตรการศึกษาต้องปรับแน่นอน และเป็นความท้าทายด้วยว่าจะทำให้มี NEETs เพิ่มขึ้นไหม เพราะตอนนี้เด็กอาจไม่ได้ยึดโยงอยู่กับการเรียนในห้องอีกต่อไป เรามีครูยูทูบ มีเอไอเข้ามา เด็กจึงไม่ควรถูกหล่อหลอมให้ตอบคำถาม แต่ต้องทำให้เด็กรู้จักการตั้งคำถามให้เป็น ฉะนั้นหลักสูตรจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยสอนให้เด็กท่องจำ เรียนรู้แล้วตอบในสิ่งที่คนอื่นถาม หรือเก็งว่าคนอื่นจะถามอะไร การมาของเอไอและเทคโนโลยีต่างๆ ที่รวดเร็วมาก เราต้องทําให้ผู้เรียนรู้จักตั้งคําถามได้
การมาของเทคโนโลยีจะทำให้บทบาทครูอาจต้องเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เป็นผู้สอน ก็จะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในกระบวนการให้เด็กรู้จักฝึกคิดและตั้งคําถาม ซึ่งถ้าทำกระบวนการนี้ได้ดี เด็กจะมีทักษะอยู่ในโลกใหม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน ความยึดโยงระหว่างครูกับนักเรียนอาจจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการเรียนการสอนแบบเดิม เพราะว่าเด็กสามารถไปหาแหล่งเรียนรู้ใหม่ได้เองด้วย ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่นี้อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่ยึดโยงตัวเองกับโรงเรียน และถ้าเด็กไม่มีสิ่งยึดโยงในบ้านด้วย ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้
เด็กหลายคน โดยเฉพาะเด็ก NEETs มักมีจุดร่วมกันคือพวกเขาไม่เห็นเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย มองเห็นแค่เป้าหมายระยะสั้น หรือไม่กล้าฝันไกล กล่าวได้ไหมว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการศึกษาเหมือนกัน
คงไม่ใช่ปัญหาเรื่องหลักสูตรเสียทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีผลเลย คือตัวหลักสูตรการศึกษาต้องเป็นการฝึกทั้ง ทักษะการรู้คิด (cognitive skill) และทักษะเชิงพฤติกรรม (non-cognitive skill) เราคิดว่าการขาดหายไปของครูแนะแนวที่ดีเป็นปัญหาสำคัญ เพราะหน้าที่ของครูแนะแนวไม่ใช่แค่บอกว่าเด็กคนนี้ควรไปสอบต่อที่สถาบันไหน แต่ควรบอกเส้นทางอาชีพโดยยึดจากความชอบ ความสนใจของเด็กตอนนั้น ว่ามีพื้นที่ตรงไหนให้เด็กลองไปสำรวจความชอบเพิ่มเติมได้บ้าง เพื่อพิสูจน์ว่าชอบจริงไหม จะทำได้ดีไหม ตรงนี้ยังขาดหายไป เหมือนเราไม่ค่อยให้ความสําคัญกับอัตราครูแนะแนวในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนขนาดเล็กในท้องถิ่นต่างจังหวัด ครูคนหนึ่งอาจจะต้องสอน 5-6 วิชา ทำให้เวลาที่เขาจะทำงานตรงนี้ก็ลดน้อยลง ทั้งๆ ที่มันอาจเป็นจุดที่สําคัญที่สุดด้วยซ้ำสําหรับการสร้างแรงผลักดันในการเรียนให้เด็กคนหนึ่ง
ครูแนะแนวควรชวนให้เด็กสำรวจสิ่งใหม่ๆ โดยไม่จํากัดหรือถูกครอบด้วยหลักคิดแบบเดิมๆ เช่น ถ้าเด็กชอบศิลปะ ก็อยากให้แนะนำว่าศิลปะจะกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกอาชีพของเขาได้อย่างไร และจะมั่นใจว่าชอบได้อย่างไร จะฝึกได้อย่างไร ที่ผ่านมาไกด์นำทางตรงนี้มักยึดโยงอยู่กับผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองเห็นแววก็จะส่งลูกไปเรียนพิเศษ ส่วนระบบการศึกษาเป็นการเรียนตามหลักสูตรไป ถ้าเด็กอยู่ในบ้านที่พ่อแม่ให้ความสนใจหรือพร้อม เขาก็จะได้รับโอกาส แต่ถ้าเด็กอยู่ในบ้านที่พ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทํางาน ส่วนนี้ก็จะหายไปเลย พอเด็กเจอกับหลักสูตรที่ไม่ได้ตรงกับความสนใจของตัวเอง ก็จะเห็นความสำคัญของการเรียนน้อยลง ไม่รู้สึกผิดบาปอะไรถ้าตัวเองจะออกจากระบบนั้นมา

เวลาพูดเรื่องเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาหรือ NEETs เรามักมองหาทางออกอย่างแนวคิดการศึกษาที่ยืดหยุ่น หรือการศึกษาตลอดชีวิต คุณมองว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหนในระบบการศึกษาไทย
Lifelong Learning หรือแนวคิดที่ไม่ว่าช่วงอายุไหนก็เรียนรู้ได้ เป็นแนวคิดหลักของการเรียนรู้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เลย เราต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงว่าต่อให้คุณหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ถึงตอนนี้คุณจะอายุ 40 ก็ยังมีกลไกของการ reskill และ upskill อยู่ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับตัว เพราะแต่ก่อนเรามีประชากรวัยเรียนค่อนข้างมาก พอสัดส่วนประชากรวัยเรียนกับวัยแรงงานลดลง เราก็จำเป็นต้องขยายกลุ่มเป้าหมายให้เกิดการ reskill และ upskill มากขึ้น
เรื่องพื้นที่การเรียนรู้ทางกายภาพและทางออนไลน์ อย่างการสร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างเมืองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ก็มีคนพูดถึงกันเยอะ แต่ถามว่าในความเป็นจริงจะเป็นไปได้ไหม ก็คงเหมือนหลายๆ เรื่องในประเทศไทยที่ ‘The devil lies in the details (of implementation).’ ตัวอย่างเช่นเวลาเราพูดถึงการ reskill และ upskill เมื่อดูข้อเสนอจากงานวิจัย ส่วนใหญ่จะจบลงตรงที่เราต้องผลักดันให้มีการฝึกฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น แต่เราไม่ได้ย้อนไปดูว่าคุณภาพของการฝึกฝีมือแรงงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วจะทําอย่างไรถึงมีการเข้าถึงการฝึกฝีมือแรงงานได้มากขึ้น ตรงนี้ไม่ได้หมายถึงการฝึกฝีมือแรงงานจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวนะคะ จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเอกชนด้วยซ้ำที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกทักษะแรงงาน (training provider) ที่ดีกว่าภาครัฐ แต่โจทย์คือจะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร โดยที่รัฐเปลี่ยนบทบาทจากคนจัด กลายเป็นคนกํากับดูแลและรับรองมาตรฐานแทน โดยอาจไม่ต้องยึดโยงหรือให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานแบกรับการจัดอบรมทั้งหมดเอง
NEETs ส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักมาจากครัวเรือนยากจนก็จริง แต่ก็มีส่วนที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางด้วย กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นปัญหาที่เราต้องเข้าไปช่วยเหลือไหม และจะช่วยเหลืออย่างไร
เราคิดว่ามีหลายปัจจัยที่นำเด็กไปสู่จุดนี้ ไม่ว่าตัวคุณภาพระบบการศึกษาเองที่อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน ความเปราะบางของสังคมและตัวเด็กที่อาจทําให้เด็กรับความกดดันจากการแข่งขันในระบบการศึกษาแบบเดิมไม่ได้ พอผิดหวังก็อาจจะเลือกไม่เรียนดีกว่า หรือแม้กระทั่งลักษณะครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่เป็นชนชั้นกลางก็จริง แต่ยังต้องทํางานอยู่ เจอแรงกดดันทางเศรษฐกิจจนไม่สามารถดูแลเด็กได้เต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ก่อนคำว่าชุมชน มักหมายถึงขอบเขตทางกายภาพ แต่พอตอนนี้ชุมชนแบบออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การรู้จักเพื่อนในสังคมใหม่ๆ ก็อาจทําให้หลงลืมโลกของความเป็นจริงไป เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กออกจากระบบการศึกษาหรือเป็น NEETs ได้ทั้งสิ้น
สำหรับเรื่อง NEETs ไม่ว่าจะมาจากครัวเรือนยากจนหรือครัวเรือนไม่ยากจน เราก็จําเป็นต้องแก้ไขปัญหาทั้งนั้น ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถปล่อยให้เด็กหลุดร่วงจากตาข่ายได้ เพราะเรากําลังพูดถึงกลุ่มประชากรที่จะเป็นกําลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพียงแต่ว่าทรัพยากรที่รัฐทุ่มไปอาจไม่เท่ากัน เช่น อาจไม่ได้ให้ทุนการศึกษากับครอบครัวที่มีฐานะดีอยู่แล้ว เราอาจจะหาวิธีการอื่นในการจูงใจเขาให้กลับเข้าสู่ระบบ
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้การแก้ปัญหา NEETs ไม่ง่าย คือแม้กระทั่งกลุ่มเด็กยากจนเอง การเข้าไปให้ทุนการศึกษาก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะหลุดจากการเป็น NEETs ถ้าเขาแค่ต้องการทุนการศึกษาแล้วกลับมาเรียนได้ คงไม่เป็น NEETs แต่แรก เพราะมันก็มีวิธีการอื่นที่ให้ได้ทุนมา เราไม่ได้บอกว่าทุนการศึกษาไม่จำเป็น มันอาจจะเป็นขั้นแรกสำหรับการช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลน แต่มันต้องมาพร้อมกับสิ่งอื่นๆ เป็นแพ็กเกจด้วย ทั้งการอำนวยความสะดวก การสร้างแรงจูงใจให้เขาสามารถกลับเข้ามาสู่ระบบ ทำให้ระบบเปิดกว้างและยืดหยุ่นเพียงพอให้รู้ว่าแม้เขาหลุดออกไปแล้ว การกลับมาเรียนก็ไม่ได้ถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากเด็กปกติทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นคุณแม่วัยใส ก็มีทั้งส่วนที่เป็นเด็กจากครัวเรือนยากจนและไม่ยากจน
ข้างต้นคือส่วนของ supply ในการรองรับเด็กกลับเข้าสู่ระบบ ขณะที่ส่วน demand หรือการกระตุ้นให้เกิดเด็กกลับมาเองก็จําเป็น เพราะเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ครูอาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก มันน่าจะเป็นหน้าที่ของทั้งครอบครัวและชุมชนในการช่วยกันดูแลตรงนี้ อย่างในต่างจังหวัด ความเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ เช่น ในอุดรธานีที่เราทำโครงการ อสม. หรือผู้นำชุมชนมีบทบาทค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจของผู้ปกครองที่จะส่งเด็กเข้ามาร่วมโครงการ เพราะฉะนั้นการใช้กลไกเชิงสังคมแวดล้อมตัวเด็กเข้าช่วยก็จะทำให้เขากลับสู่ระบบได้
ตัดภาพมาเมืองใหญ่ที่เด็กไม่ได้มาจากครัวเรือนที่ยากจน ถ้าพ่อแม่ไม่คิดว่าจำเป็นต้องส่งลูกมาร่วมโครงการหรือกลับสู่ระบบการศึกษา การจ้างงาน ตรงนี้จะยากล่ะ เพราะไม่มีจุดที่สามารถผลักดันให้เขากลับเข้ามาอย่างชัดเจนเลย อาจจะต้องมีการเสนอคอร์สฝึกทักษะบางอย่างที่ทำให้เยาวชนรู้สึกว่ามันตรงใจ หรือไม่ได้ลงทุนมากนักกับการลุกออกจากห้องไปเรียน
หากจะปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาเพื่อลดปัญหาเยาวชน NEETs คุณมองว่าควรปรับตรงไหนเป็นอย่างแรก
เราไม่คิดว่าจะมี ‘ยาแรง’ ที่ว่าปรับตรงไหนแล้ว NEETs จะลดลงได้ทันทีเลย แต่สิ่งที่คิดว่าน่าจะพอช่วยได้คือการพัฒนากลไกในการช้อนเด็กกลับเข้ามาในระบบ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูมีภาระค่อนข้างมาก บางครั้งเวลาเด็กหลุดออกไป เราก็เคยเจอข้อมูลจากประสบการณ์ตรงในพื้นที่ แต่ไม่ใช่ที่อุดรธานีนะคะ ว่ามีการเลือกใช้วิธีรายงานว่าเด็กคนนั้นมีความพิการทางการเรียนรู้ เพื่อลดภาระความรับผิดชอบในการพาเด็กกลับมาเรียน แต่พอมีการเก็บข้อมูลตรวจสอบจริงๆ เราพบว่าเด็กไม่ได้มีปัญหาทางการเรียนรู้ เขาแค่โดดเรียน ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเฉพาะที่หรือเป็นปัญหาใหญ่ระดับไหน
ถ้าเป็นปัญหาวงกว้าง ก็น่ากังวลว่ากลไกในการตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบของเรายังยึดติดอยู่กับการ ‘เลือกทํา’ หรือ ‘เลือกไม่ทํา’ ของบุคคล ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเราควรมีระบบสารสนเทศไว้รองรับข้อมูลของเด็กด้วย และไม่ใช่แค่ข้อมูลในระบบการศึกษา แต่รวมถึงการส่งต่อจากระบบการศึกษา จนไปถึงตลาดแรงงานเลยว่าเด็กคนนี้อยู่ในขั้นใด หลุดหล่นออกไปหรือไม่
อันที่จริง ระบบการศึกษาไม่ได้ควรแก้แค่นี้ มันมีอีกหลายเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น แต่เรามองว่ากลไกการช้อนกลับเด็กและการป้องกันตั้งแต่ต้นทางเป็นสิ่งสำคัญ การมีระบบสารสนเทศจะทำให้ครูสามารถตรวจดูได้ว่าสถานะของเด็กคนไหนน่ากังวลบ้าง เริ่มขาดเรียนบ่อยไหม ให้โรงเรียนคุยกับผู้ปกครองก่อนจะเกิดปัญหาเด็กหลุดออกไป

ด้านโจทย์เรื่องแรงงานในสังคมไทย มีประเด็นอะไรอยากชวนคิดต่อบ้าง
ประเด็นแรกที่เป็นปัญหาหลักคือข้อมูลความต้องการแรงงาน ปัจจุบันเรายังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าต้องผลิตในเซกเตอร์ไหน เท่าไหร่ มีแค่แผนว่าเราต้องการ แต่ไม่มีตัวเลขความต้องการแรงงานที่แท้จริง และเมื่อไม่มีข้อมูล ทำให้มาตรการที่เกี่ยวเนื่องกันออกมาได้ค่อนข้างยาก อย่างเช่นถ้ารัฐจะมอบคูปองช่วยเหลือการฝึกทักษะ เราก็ไม่มีฐานข้อมูลเพียงพอว่าจะฝึกหลักสูตรอะไร ให้ใครฝึกดี แล้วใครจะเป็นผู้กํากับดูแลคุณภาพของการฝึก มันมีกลไกเชิงระบบหลายด้านที่ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งต้องเริ่มจากจุดง่ายที่สุดคือการมีฐานข้อมูลที่ดี
เรื่องที่สองคือระบบการ reskill และ upskill เวลาเราพูดถึงการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ รายละเอียดเยอะมาก เช่น คอร์สที่เราควรทำ สั้นไปก็ไม่ดี เด็กไม่สามารถเรียนรู้ทักษะบางอย่างภายใน 5 วัน แต่ยาวไปก็ไม่ดี เพราะอาจทำให้เข้าตลาดแรงงานได้ยากขึ้น และลักษณะคอร์สฝึกหลายคอร์สของบ้านเรายังเป็นงานคราฟต์ เช่น เรียนทำอาหาร แกะสลัก หรือช่างยนต์ ซึ่งอาจไม่ได้ตอบโจทย์เท่าทันยุคสมัยทั้งหมด จะทำอย่างไรให้คอร์สพวกนี้ทันสมัยและอัปเดตมากขึ้น หรือมีการอำนวยความสะดวกบางอย่าง เช่น เด็กในพื้นที่ห่างไกลอาจเจอปัญหาด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่างที่เราเจอในอุดรฯ คือ NEETs ไม่สามารถไปฝึกฝีมือบางที่หรือฝึกงานในสถานประกอบการบางแห่ง เพราะไม่มีรถรับส่ง ดังนั้นเราต้องเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้ามาช่วยดูแล เพราะเขามีบทบาทหน้าที่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ พวกกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ที่ครอบเขาไว้ ก็ควรปลดล็อก
ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงระบบ reskill และ upskill จะต้องไม่ใช่แค่พัฒนาตัวระบบนี้เท่านั้น แต่ต้องพัฒนาโครงสร้างที่แวดล้อมระบบนี้ให้ไปด้วยกัน
หากแก้ไขปัญหาเรื่อง NEETs ได้ นอกจากเราได้ประโยชน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น เรายังได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ในมิติไหนอีกบ้าง
ถ้าแก้ปัญหาเรื่อง NEETs ได้จะช่วยบรรเทาปัญหาสังคมหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องเยาวชนยกพวกตีกัน เพราะเด็กอาจหันไปตั้งใจจดจ่อกับการเรียนหรือการฝึกทักษะแทน รวมถึงเรื่องสำคัญคือความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน ถ้าเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจนมีโอกาสทำงานหรือเรียน ความเหลื่อมล้ำก็จะลดน้อยถอยลงไป
ในทางกลับกัน ถ้าในอนาคต เรามีเด็กเป็น NEETs จำนวนมาก รัฐก็ต้องเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จนงบประมาณส่วนอื่น เช่น การศึกษา สาธารณสุข อาจลดน้อยลงไป หรืออย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้อาจจะฟังดูไกลตัว แต่เรามองว่าการเรียน การทำงาน การอบรม ทำให้เด็กคนหนึ่งได้รับความรู้ ได้รับการปลูกฝังทัศนคติที่ดี เขาสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีมากขึ้น เช่น ลูกหลานเกษตรกร ถ้าเกิดได้รับการศึกษาที่ดี เขาอาจจะเลือกไม่เผาของเหลือจากภาคการเกษตร ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะเบาบางลง
มันเกี่ยวเนื่องกันหมดเพราะการศึกษาคือแกนหลักในการสร้างคน และคนคือส่วนประกอบหนึ่งในสังคม ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในเรื่องอื่นๆ
ท้ายที่สุดนี้ ในฐานะคนทั่วไป เวลาได้ยินเรื่อง NEETs เราสามารถช่วยอะไร หรือควรทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร
เราสามารถช่วยได้ในหลายบทบาท สำหรับคนทั่วไป เรื่องหนึ่งที่เราคุยกันในหมู่คนทำงานคือการเรียกเด็กด้วยคำว่า NEETs อาจจะเป็นการตีตราแบบหนึ่ง ต่อไปเราอาจต้องใช้คำแง่บวกมากกว่านี้ อย่างยุโรปใช้ Youth Guarantee ซึ่งเข้าใจว่าคำว่า NEETs ก่อนหน้านี้อาจจะถูกเรียกในวงวิชาการจนติดปาก แต่มันไม่ได้มีความหมายที่ดี และเราอยากให้มองเรื่อง NEETs ว่าเป็นผลผลิตจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ไม่ใช่เรื่องความขี้เกียจส่วนตัว ไม่อยากทำงานของเด็กเอง ทั้งหมดเป็นปัญหาปลายเหตุจากระบบที่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีทัศนคติและความคิดเช่นนี้จนตัดสินใจทำ พอเราเห็นภาพว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม จะทำให้เราอยากมาร่วมกันช่วยแก้ปัญหามากกว่ามองว่าเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล
ในฐานะผู้ประกอบการ ถ้ามีโอกาสรับน้องๆ NEETs เข้ามาฝึกงาน ก็อยากให้เปิดใจกว้าง เพราะน้องๆ ส่วนมากมีจุดร่วมกันคืออาจมีทักษะทางสังคมน้อย เพราะก่อนหน้านี้ชีวิตเขาวนเวียนอยู่แค่ในบ้าน ได้เจอคนไม่กี่คน พอทักษะทางสังคมไม่ดีนัก ก็อาจทำให้การทำงานเข้ากับคนอื่นได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องปฏิบัติเป็นพิเศษกว่าเด็กทั่วไปนะ เรามองเขาเป็นแรงงานคนหนึ่ง แค่เข้าใจบริบทของเขา มอบหมายงานที่เขาสามารถทําได้ให้เขาทํา
ส่วนในฐานะคนที่ใกล้ชิดเด็กหน่อย เช่นครูหรือผู้ปกครอง ท่านคือกลไกที่สำคัญมากๆ ในการป้องกันและแก้ปัญหานี้ ก็ควรเฝ้าระวังเด็กๆ มองพวกเขาเป็นทรัพยากรที่มีค่าของสังคม แทนที่จะมองว่าเป็นภาระที่ต้องแบกรับและช่วยแก้ปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้ว เด็กและเยาวชนคือสินทรัพย์ของประเทศจริงๆ คือกลุ่มคนที่จะพัฒนาประเทศเราต่อไป

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world