เมื่อวันที่ 19–20 เมษายน 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิก้าวคนละก้าว จัดการประชุมพิจารณากลั่นกรองแบบเสนอชื่อโครงการทุนการศึกษา “ก้าวเพื่อน้อง” ปีการศึกษา 2568 โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน อาทิ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคสื่อมวลชน ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่สมัครขอรับทุนการศึกษา






ทุน “ก้าวเพื่อน้อง” เป็นทุนการศึกษาที่ริเริ่มโดยมูลนิธิก้าวคนละก้าว ร่วมกับ กสศ. ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรืออยู่ในภาวะด้อยโอกาส ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องชดใช้ทุน
สำหรับปีที่ 5 ของโครงการฯ มูลนิธิก้าวคนละก้าวได้ร่วมกับวงบอดี้สแลม จัดคอนเสิร์ต “Bodyslam ความฝันกับจักรวาล The Bside Concert” นำรายได้จากการจำหน่ายบัตรมาสมทบกองทุน “ก้าวเพื่อน้อง” ผ่าน กสศ. เพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนที่กำลังเผชิญกับรอยต่อสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างชั้นเรียน ให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและเดินหน้าต่อในเส้นทางการศึกษาได้เต็มศักยภาพ

คุณอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ คุณตูน บอดี้สแลม ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนที่เสียสละเวลาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนผู้ได้รับทุน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของภาคสังคมในการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ทั้งนี้ ปีการศึกษา 2568 โครงการ “ก้าวเพื่อน้อง” ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยทุนการศึกษาที่ระดมได้จากมูลนิธิก้าวคนละก้าว จะถูกนำไปสนับสนุนนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้สามารถศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือสายอาชีวศึกษา (ปวช.) เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง โดยไม่ต้องชำระคืนทุน
“ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านที่เคยมาร่วมในกระบวนการพิจารณาตั้งแต่ปีแรก คงได้เห็นพัฒนาการและความสำเร็จของน้อง ๆ หลายคนที่เคยได้รับทุนนี้ได้เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย บางคนใกล้จะได้เป็นจิตแพทย์ เป็นนายแพทย์ ซึ่งครั้งหนึ่ง เรื่องราวชีวิตของพวกเขาที่เราเคยได้อ่านช่างยากลำบากเหลือเกินที่พวกเขาจะได้ไปต่อในระบบการศึกษา แต่วันนี้ เมื่อเราได้เห็นว่าเขามีโอกาสได้ไปถึงฝั่งฝัน มันเป็นเรื่องราวที่ทำให้พวกเราทุกคนมีความสุข จากการที่มีโอกาสหรือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือพวกเขา” คุณอาทิวราห์กล่าว

นอกจากนี้ คุณอาทิวราห์ยังกล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่การประสานงานกับโรงเรียนและครูผู้ใกล้ชิดนักเรียน ที่ส่งรายชื่อเสนอเข้ามา ไปจนถึงการร่วมกันพิจารณาคัดเลือกในแต่ละขั้นตอน ว่าการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายในโครงการนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และไม่มีขั้นตอนไหนที่สามารถละเลยได้ เพราะทุกก้าวของกระบวนการ ล้วนมีส่วนในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเด็กหลายคน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงบริบทของโครงการ “ก้าวเพื่อน้อง” ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ จากข้อมูลในปี 2567 ที่พบว่า มีเด็กเกิดใหม่เพียง 461,421 คน ต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี และเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขนี้ต่ำกว่า 500,000 คนต่อปี คิดเป็นไม่ถึง 10% ของประชากรวัยแรงงาน ซึ่งแนวโน้มการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ กำลังส่งผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงานของประเทศในระยะยาว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน สร้างโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ
ดร.ไกรยส เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงน่าห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่ง กสศ. ได้จัดสรร “ทุนเสมอภาค” ให้จนจบการศึกษาภาคบังคับในระดับชั้น ม.3 แต่พบว่า มีนักเรียนกว่า 20% ที่ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับ ม.ปลาย หรือ ปวช. โดยมีเพียง 13.49% ของนักเรียนยากจนถึงยากจนพิเศษ ที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ในปีการศึกษา 2567 นี่คือช่องว่างของโอกาสที่มีนัยสำคัญ
“สิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านกำลังดำเนินการอยู่ คือการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และขอย้ำว่า การศึกษาต่อมหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่คำตอบเดียว แต่ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กจากครอบครัวยากจนด้อยโอกาสถึง 9 ใน 10 คน หรือราว 90% ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อจาก ม.ต้น ไป ม.ปลาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของพวกเขา” ดร.ไกรยส กล่าว

ทั้งนี้ กสศ. และมูลนิธิก้าวคนละก้าว ได้ร่วมมือกันพัฒนา “ทุนก้าวเพื่อน้อง” ให้เป็นโมเดลการสนับสนุนเด็กจากครอบครัวยากจนที่มีศักยภาพ ให้สามารถเรียนต่อระดับ ม.ปลาย หรือสายอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งแรกที่โครงการสามารถติดตามผลลัพธ์ระยะยาว พบว่า เด็กหลายคนที่เคยได้รับทุนสามารถสอบติดคณะวิชาชีพแข่งขันสูง เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสาขาครู เป็นต้น
“น้อง ๆ กลุ่มนี้ เป็นเด็กที่มีศักยภาพและมีแสงในตัวเอง และรอให้เราไปเจอ พร้อมมอบโอกาสให้เขาได้เดินต่อ กสศ. เชื่อมั่นว่า ‘ทุนก้าวเพื่อน้อง’ ซึ่งดำเนินมา 5 ปี จะกลายเป็นต้นแบบที่หน่วยงานอื่นสามารถนำไปขยายผลได้ในอนาคต และเป็นกลไกที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้ดีขึ้น” ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้าย

อาจารย์นพพร สุวรรณรุจิ ประธานคณะทำงานคัดเลือกนักเรียนเพื่อรับทุนการศึกษา “ก้าวเพื่อน้อง” กล่าวว่า คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสายอาชีพ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ภาพของโครงการนี้คือภาพของเด็กที่รอโอกาส กับผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือบุคคลทั่วไปที่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตให้กับเด็กเหล่านี้
สิ่งที่น่าประทับใจในปีนี้ คือความร่วมมือของผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ที่นอกจากจะช่วยคัดเลือกนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้องแล้ว ยังพยายามคิดหาแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียนที่พลาดโอกาส เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มเภสัชกรที่มีแผนจะหาทุนสนับสนุนเพิ่มเติม ให้เด็ก ๆ ได้เดินหน้าตามความฝันในการเป็นเภสัชกร ซึ่งเป็นอาชีพที่ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก

“ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่แห้งแล้ง แม้จะมีความขาดแคลนในหลายด้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายมุมที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง พร้อมจะส่งต่อโอกาสให้กับผู้ที่ยังเฝ้ารอ สำหรับปีนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่เราจะได้ส่งต่อนักเรียนกลุ่มนี้สู่อนาคต และเชื่อมั่นว่า ทุนนี้จะสร้างบุคลากรสำคัญในหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศ” อาจารย์นพพรกล่าว
อาจารย์นพพรยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากคือ คำพูดจากนักเรียนที่เคยได้รับทุน ว่าในวันหนึ่งหากพวกเขามีโอกาส ก็อยากจะเป็นคนที่ “ส่งคืนโอกาส” เหล่านั้นให้กับคนอื่นต่อไป นี่คือหัวใจสำคัญของโครงการก้าวเพื่อน้อง ซึ่งไม่เพียงสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ที่ไม่สิ้นสุด และเป็นการลงทุนในทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่ออนาคตของประเทศ

คุณชูวิทย์ วัยศิริโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการร้านยากรุงเทพ เป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกนักเรียนทุน “ก้าวเพื่อน้อง” ปีที่ 5 เปิดเผยว่า การอ่านจดหมายและเอกสารของนักเรียนที่สมัครเข้ารับทุนในปีนี้ ทำให้เห็นถึงความตั้งใจอันแรงกล้าและความลำบากที่นักเรียนแต่ละคนเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่สะท้อนถึงความต้องการโอกาสอย่างแท้จริง
“น้อง ๆ ทุกคนมีความตั้งใจมากในการเล่าชีวิตของตัวเองออกมา ทำให้เราเห็นภาพของความลำบากแต่ละคนได้ชัดเจน เข้าใจเลยว่าทุกคนต้องการโอกาสอย่างแท้จริง น่าเสียดายที่เรามีทรัพยากรจำกัด” คุณชูวิทย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณชูวิทย์มองว่า นอกเหนือจากการให้ทุนที่ได้รับการสนับสนุนมาแล้ว ยังมีช่องทางอื่น ๆ ที่ผู้ใหญ่หรือภาคเอกชนสามารถเข้าไปเติมเต็มความฝันเล็ก ๆ ให้กับเด็กที่ไม่ได้รับเลือกในปีนี้ได้ เช่น กรณีของนักเรียนที่เขียนจดหมายแสดงความฝันว่าอยากเป็นเภสัชกร หากมีความตั้งใจจริง ก็อาจมีช่องทางให้การสนับสนุนในระยะยาว หรือแม้แต่ความฝันเล็ก ๆ อย่างการอยากไปร่วมกิจกรรมวิ่งการกุศล ก็อาจสนับสนุนด้วยการซื้อบัตรให้ไปร่วมกิจกรรมที่เขาฝันไว้

“น้องอีกคนหนึ่งไม่ได้เขียนเอง แต่มีครูเขียนบอกแทนว่า น้องมีปัญหาทางสายตา ถ้าได้รับแว่นตา ก็น่าจะช่วยให้เรียนดีขึ้น เราจึงคิดว่า แม้จะไม่ได้รับทุนหลัก แต่ความต้องการเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่เราหรือภาคส่วนอื่น ๆ สามารถเข้ามาช่วยดูแลต่อได้”คุณชูวิทย์กล่าว
คุณชูวิทย์ทิ้งท้ายว่า บางครั้ง “โอกาส” ที่เด็ก ๆ ต้องการอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเสมอไป แต่คือ “ความใส่ใจ” ที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ใหญ่ในสังคม ที่พร้อมจะรับฟังและหยิบยื่นให้ในวันที่พวกเขาต้องการที่สุด