ภาพห้องเรียนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่มีคุณครูคอยสอน เขียนกระดาน และมีนักเรียนนั่งเรียงรายกลายเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตาและกลายเป็นภาพจำของการศึกษาไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี สำหรับ รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา การศึกษาในทุกวันนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะโลกทั้งใบเปรียบเสมือนพื้นที่การเรียนรู้ขนาดใหญ่ และวิธีการเรียนรู้ก็ไม่ได้และไม่ควรที่จะมีแบบเดียว แต่ควรถูกออกแบบและหล่อหลอมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ควบคู่ไปกับบริบทของโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
101 ชวนเปิดพื้นที่การศึกษาใหม่กับ รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไล่เรียงตั้งแต่ภาพใหญ่อย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ไปจนถึงมุมมองในการจัดการศึกษารูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้เรียน ในวันที่โลกทั้งใบคือพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนทุกคน
หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ 101 Policy Forum #24: ความเหลื่อมรู้ในความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เผยแพร่ในวันที่ 31 มีนาคม 2568

ถ้าพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณจะนึกถึงเรื่องอะไร
ผมมองเรื่องการที่เด็กและเยาวชนไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดี ทำให้ทุกวันนี้เราเห็นภาพของเด็กและเยาวชนที่ทั้งเสี่ยงหลุดและหลุดออกจากระบบโรงเรียนเป็นจำนวนมาก
ถ้าพูดให้ถึงที่สุดคือ เรื่องนี้เกิดจากโครงสร้างหลายอย่าง ทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบโรงเรียน หรือแม้แต่ระบบครอบครัว ที่ทำให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบและทำให้ไม่ได้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ดี ไม่ว่าจะในหรือนอกโรงเรียนก็ตาม
ประเด็นการศึกษาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นงานวิชาการหรืองานวิจัยหลายๆ เรื่องเกิดขึ้น ในฐานะคนที่ทำงานด้านการศึกษา คุณมองว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน เรารู้อะไรบ้างแล้ว
ระยะหลังเรื่องที่ผมศึกษาคือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ส่วนตัวผมเรียนสาขาการศึกษานอกระบบโรงเรียนมา ดังนั้น ผมจึงมองว่าโรงเรียนไม่ได้จัดการได้ทุกเรื่อง แต่เรามีภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) NGOs หรือแม้กระทั่งสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งพวกเขาเห็นปัญหาในพื้นที่และพบว่าหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ใกล้ชิดกับพวกเขา น่าจะเป็นคนที่ขับเคลื่อนการทำงานกับเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ผมไม่เชื่อว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับการศึกษาต้องเข้าสู่ระบบ เพราะโลกทั้งใบคือการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนจากผู้รู้ แต่หน่วยจัดการเรียนรู้นี่แหละที่จะเป็นคานงัดสำคัญที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียน แต่จะช่วยให้เด็กสามารถศึกษาค้นคว้าเพื่อเลือกสิ่งที่เขาสนใจและสามารถเรียนรู้ได้
ทั้งนี้ เราต้องระลึกไว้ด้วยว่า เด็กบางคนยังไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การเชื่อมต่อกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่เป็นหน่วยงานรัฐก็สำคัญและจำเป็น เพราะในกรณีที่เด็กบางคนต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา หน่วยจัดการเรียนรู้ก็จะต้องไปเชื่อมต่อประสานเพื่อพาเด็กเข้าสู่ระบบ แต่ถ้าเด็กยังไม่พร้อมก็จะต้องมีวิธีจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมกับภูมิปัญญาหรือหน่วยจัดการเรียนรู้ต่างๆ ที่สอดคล้องกับความสนใจของพวกเขา อาจไม่ต้องเทียบคุณวุฒิ แต่เทียบเคียงเป็นประกาศนียบัตรก็ได้ ดังที่ กสศ. พยายามมองว่า การเรียนรู้ทุกระบบควรเชื่อมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบการศึกษาเท่านั้น
เราจะเห็นว่าสังคมไทยไม่ค่อยให้ค่ากับการได้ประกาศนียบัตรเท่าไหร่ นี่ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งไหม
ใช่ครับ เราต้องมองก่อนว่าเด็กบางคนไม่ได้เลือกเข้าเรียนต่อในโรงเรียน แต่เขาสามารถสร้างอาชีพจากฐานการเรียนรู้ บางคนก็ได้ประกาศนียบัตรเฉพาะทางมา เช่น การชงกาแฟ เขาก็พัฒนาต่อยอดได้เหมือนกัน ผมเลยมองว่าการจัดการเรียนรู้ต้องยืดหยุ่นพอที่จะออกแบบการเรียนรู้รายบุคคลหรือการเรียนรู้รายกลุ่มที่มีความสนใจคล้ายกันได้
เพราะฉะนั้น นี่เป็นความท้าทายที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยมากมายที่จะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบ ทั้งความสนใจหรือพื้นฐานที่มี อีกทั้งโรงเรียนในทุกวันนี้ก็เน้นไปที่เป้าหมายด้านวิชาการ แต่คำถามคือ จำเป็นไหมที่เด็กทุกคนต้องเข้าสู่การเรียนแบบวิชาการ ถ้าบางคนอยากค้าขายหรืออยากถ่ายภาพ เขาจะสามารถใช้ทักษะนี้มาหล่อเลี้ยงและพัฒนาชีวิตได้หรือไม่ เรื่องนี้ก็ต้องอาศัยการจัดการที่เยอะพอสมควรในการเชื่อมและช่วยเหลือเด็ก
มีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ การจัดการศึกษาแบบเดียวหรือการหว่านเงินลงไปในระบบการศึกษา ซึ่งเรารู้กันแล้วว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้ผลดีนัก คุณมองเรื่องนี้อย่างไร เรามีวิธีการอะไรที่ดีกว่านี้ไหมในการจัดการศึกษา
ถ้าเรามองความเชื่อเกี่ยวกับการศึกษาที่ผ่านมา จะเห็นว่าเราเน้นที่ระบบเดียวเป็นหลัก และโครงสร้างนี้จะลดทอนความรู้แบบอื่นๆ ที่อยู่นอกห้องเรียนไปด้วยการทำให้ทุกคนเชื่อว่าเราต้องวิ่งเข้าสู่ระบบโรงเรียนจนทำให้เราหลงลืมมิติอื่นๆ ของชีวิต ยิ่งผนวกกับการที่ทุกอย่างถูกผลักดันให้เข้ากับความเป็นเลิศทางวิชาการ ทำให้ความรู้ชุดอื่นที่เราควรให้คุณค่าหายไปเลย ซึ่งตรงนี้ผมมองว่า ระบบการศึกษาไม่ได้อยู่แค่ที่ในห้องเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่ยังมีที่อื่นที่สามารถเรียนรู้และเชื่อมโยงกันต่อได้
ดังนั้น ความเชื่อที่มองว่าคุณครูจะต้องจบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์และได้ใบประกอบวิชาชีพเท่านั้นจึงจะเป็นเลิศเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะความท้าทายคือคุณครูจะต้องเชื่อมประสานองค์ความรู้ให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้มากกว่า

คุณมองว่านโยบายใดเป็นนโยบายที่ไม่ควรเลิกดำเนินการ หรือมีนโยบายใหม่ๆ ที่เราควรจับตามองไหม
ผมว่าเรื่องสำคัญคือเราต้องสอนและส่งเสริมให้คนมีทักษะการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะในการออกแบบการสอนใหม่ ทำแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย ตัวคุณครูก็ต้องปรับด้วย เราเห็นเด็กเจเนอเรชันใหม่ๆ แล้วจะสอนแบบเดิมคงไม่ได้ ผู้สอนก็ต้องเรียนรู้ใหม่เหมือนกัน
ตรงนี้ก็เป็นความท้าทาย เพราะผู้สอนต้องเพิ่มพลังให้เยอะขึ้น แต่ลดอัตตาของตัวเองลง เพราะถ้าเป้าหมายของเราคือให้ลูกศิษย์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เราจะต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน อาจจะเน้นประเด็นต่างๆ ควบคู่ไปกับการเน้นเนื้อหาก็ได้
ตอนนี้ฝ่ายนโยบายมองถึงประเด็นนี้บ้างไหม หรือมีข้อติดขัดอะไรบ้าง
ถ้ามองจากที่ผ่านมา ผมก็เห็นทางกระทรวงศึกษาธิการพยายามทำเป็นการเรียนรู้แบบโครงการเป็นฐาน (project-based learning) นะ แต่เป็นการนำร่องขยายผล แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อพูดถึงกระทรวงฯ จะมีปัญหาติดล็อกนโยบายค่อนข้างเยอะ
เท่าที่ฟังดู เรามีความพยายามด้านการพัฒนาการศึกษาหรือปรับใช้นวัตกรรมใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง คุณคิดว่าภาคนโยบายเป็นอย่างไร ได้หยิบยกหรือนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปปรับใช้บ้างไหม
ถ้าในมุม กสศ. เราจะเห็นความพยายามสื่อสารออกไปเสมอ เป้าหมายหนึ่งของ กสศ. คือความพยายามเชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐให้ได้ เพราะหน่วยงานภาครัฐมีทรัพยากรต่างๆ เช่น ความพยายามในการทำให้เด็กในกระบวนการยุติธรรมมีโอกาสและการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเด็กที่เข้าสู่กระบวนการนี้จะเข้าและออกไม่พร้อมกัน ถ้าเขาเข้าสู่กระบวนการแล้วลงทะเบียนเรียนทันก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้าเข้ามาระหว่างเทอม ก็ต้องหาวิธีการใหม่ ตรงนี้ กสศ. ก็ทำงานร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อออกแบบการเรียนรู้รายบุคคลให้เด็กและเยาวชนที่อาจจะเข้ามากลางเทอม และไปเชื่อมกับศูนย์การเรียนรู้ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการทำงานเรื่องโรงเรียนสามระบบ คือ โรงเรียนหนึ่งจะสามารถจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ตรงนี้ก็เป็นความพยายามนำร่องอยู่
ตรงนี้ผมมองว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็เรียนรู้ว่า ความผิดพลาดที่ผ่านมาในการจัดการศึกษาอยู่ตรงไหนที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบ เมื่อ กสศ. เห็นช่องทางและทำวิจัยมาก็มีการทำเรื่องนี้มากขึ้น ผมก็ชื่นชม กสศ. นะ เพราะเขามีคนที่จะเชื่อมต่อกับภาครัฐได้ด้วย และยังมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้าใจบริบทการศึกษาที่ควรจะเป็น แต่เราก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ามักมีการออกระเบียบที่มีปัญหา อาจขัดกับกฎหมายใหญ่บ้าง อันนี้ก็ต้องทำงานหลังบ้านให้ชัดเจน ดูว่าจะยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างไร โดยเฉพาะกับเด็กที่เสี่ยงจะหลุดหรือหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำเป็นกลไกต่อเนื่องเพื่อเชื่อมต่อการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น
ตัวอย่างเช่น เราจะเห็นว่าปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ขึ้น ตรงนี้ก็น่าสนใจหลายอย่าง เช่น การทำข้อเสนอจัดตั้ง youth worker หรือคนที่ทำงานด้านเยาวชน ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพการเชื่อมต่อกับยูนิเซฟ (UNICEF) หรือองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้ และทำให้เห็นภาพการทำงานระดับเด็กและเยาวชนได้มากขึ้น
มีคนพูดถึงแนวคิดคูปองการศึกษา (school voucher) คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมว่าเรื่องนี้จะช่วยให้โรงเรียนมีคุณภาพมากขึ้น เพราะผู้ปกครองควรจะมีสิทธิเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพ ถ้าคูปองการศึกษาทำให้โรงเรียนเห็นว่าตนเองมีจุดอ่อนอย่างไร โรงเรียนนั้นก็ควรต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น ผมเคยเสนอความคิดด้วยนะว่า ต้องปรับวิธีการในการจัดการเรียนรู้ใหม่ จากที่เคยเน้นเนื้อหาเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ตอนนี้อาจจะต้องเน้นการเรียนรู้แบบเป็นทีมมากขึ้น
ผมมองว่า โรงเรียนก็มีการแข่งขันกันเป็นปกตินะครับ แต่ตอนนี้เรามอบอำนาจให้โรงเรียนขนาดใหญ่และทรัพยากรเยอะมากกว่า แต่โรงเรียนขนาดเล็กหรือปานกลางเขาได้รับทรัพยากรน้อยลงจะทำอย่างไร และทรัพยากรในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง แต่เป็นเรื่ององค์ความรู้และความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารด้วย ผมว่าภาครัฐต้องลงทุนทำงานตรงนี้ให้มากขึ้นมากกว่าที่จะไปทุ่มกับโรงเรียนขนาดใหญ่ เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กเห็นมิติการจัดการเรียนรู้ที่ดีมากขึ้น
จากทั้งหมดที่คุยกันมา คุณประเมินสถานการณ์ตอนนี้อย่างไร คิดว่าในอนาคตข้างหน้าเราจะดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไรหรือลงทุนด้านไหน
ผมมองแบบนี้คือนโยบายการยุบโรงเรียนก็เป็นไปตามยุคสมัย บางกรณีมันอาจจะจำเป็น แต่อีกส่วนคือการทำให้โรงเรียนที่มีอยู่สามารถลุกขึ้นมาพัฒนาให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพได้ ส่วนหนึ่งผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ด้วยตัวเอง แต่รัฐต้องหนุนเสริมทั้งงบประมาณและการพัฒนาครูด้วย นอกจากนี้ การกระจายอำนาจก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย เพราะเราอยากเห็นท้องถิ่นที่สามารถโอบอุ้มเรื่องการศึกษานอกเหนือจากโรงเรียนที่สังกัดเทศบาลหรือเป็นของท้องถิ่นเอง
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เราอยากเห็นท้องถิ่นยกระดับโรงเรียนอื่นให้เทียบเท่าโรงเรียนเทศบาลได้ด้วยครับ
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world