“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านทักษะ โดยมีสัดส่วนของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำนวนมากที่มีความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์ ในการรู้หนังสือ (ร้อยละ 64.7) และทักษะด้านดิจิทัล (ร้อยละ 74.1) ซึ่งหมายความว่ากลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไม่สามารถทำงานด้านการอ่านและการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานได้”
นี่คือข้อความที่ปรากฏในรายงาน ‘ทิศทางพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต เพื่ออนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนของประเทศ’ โดยธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งได้สำรวจทักษะความพร้อมของเยาวชนและคนวัยแรงงานในประเทศไทยเมื่อปี 2565 ก่อนจะเผยแพร่ในปี 2567 ข้อความสั้นๆ นี้ทำให้เราได้เห็นภาพว่าทักษะความสามารถของประชากรไทยในภาพใหญ่กำลังย่ำแย่กว่าที่คิดมาก
ตัวชี้วัดด้านทักษะประชากรนี้วัดจาก ‘ทักษะพื้นฐานชีวิต’ (foundational skills) ซึ่งครอบคลุมทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต เช่น ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้สำหรับการเผชิญและเติบโตในตลาดแรงงานและสังคม เพราะทักษะพื้นฐานชีวิตนี้ก็เปรียบเหมือนฐานรากของชีวิตมนุษย์ ซึ่งหากไม่แข็งแรงเพียงพอ ก็ย่อมยากที่จะดำเนินชีวิตหรือทำหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังยากที่จะเดินหน้าต่อยอดทักษะอื่นๆ ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น
จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การใช้คำว่า ‘วิกฤต’ มาอธิบายนั้นย่อมไม่เกินจริง เพราะที่สุดแล้วคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่กำลังมีปัญหานี้ย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวมอย่างเลี่ยงไม่ได้
ประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตทักษะประชากรนี้ไปได้อย่างไร และมีอะไรที่เราต้องรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทุนมนุษย์ของไทยในตอนนี้อีกบ้าง วันโอวันพาไปสนทนากับ โคจิ มิยาโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสกลุ่มงานการศึกษา (Education Global Practice) จากธนาคารโลก หัวหน้าทีมผู้จัดทำรายงานดังกล่าวและผู้ที่ติดตามศึกษาประเด็นการพัฒนาทุนมนุษย์มายาวนาน

จากที่คุณได้ศึกษาติดตามเกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศไทย คุณเห็นภาพรวมของทุนมนุษย์ประเทศนี้ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง
หากพูดถึงภาพรวมของภาวะทุนมนุษย์ของประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาในด้านผลผลิตที่ออกมาจากระบบการศึกษาและระบบการฝึกอบรมแรงงาน ซึ่งหมายถึงทักษะและสมรรถนะของประชากร ผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่ายังมีประชากรวัยเยาว์และวัยผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่สามารถแสดงทักษะพื้นฐานชีวิตในระดับขั้นต่ำได้ โดยสถานการณ์นี้สามารถเรียกได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ‘วิกฤตด้านทักษะ’ (skill crisis)
เมื่อพูดถึงคำว่าวิกฤตด้านทักษะนี้ ผมกำลังหมายถึง ‘ทักษะพื้นฐานชีวิต’ โดยยังไม่ได้หมายถึงทักษะด้านวิชาชีพ ทักษะด้านเทคนิค หรือทักษะในสายอาชีพเฉพาะทางแต่อย่างใด
ทักษะพื้นฐานชีวิตนี้ประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ ทักษะด้านการรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคม ทักษะที่หนึ่งคือทักษะด้านการรู้หนังสือ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการอ่านเขียนและทำความเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น การทำตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในใบสั่งยา ทักษะที่สองคือทักษะดิจิทัล ซึ่งหมายรวมถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อทำภารกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อของออนไลน์ การส่งข้อความสื่อสารกับคนอื่น และทักษะที่สามคือทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งหมายรวมถึงความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น การแสดงความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การมีความคิดสร้างสรรค์
ทั้งสามทักษะนี้ถือเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับคนทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร อยู่ในภาคเศรษฐกิจแบบใด หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม และทักษะเหล่านี้คือส่วนที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้าง เนื่องจากนายจ้างทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ต่างชี้ให้เห็นว่าทักษะเหล่านี้เป็นทักษะหลักที่ขับเคลื่อนผลิตภาพและนวัตกรรมขององค์กร ซึ่งนายจ้างยังประสบปัญหาในการหาคนทำงานที่มีทักษะเหล่านี้ให้เพียงพอ
ถ้าดูจากผลการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT) ที่ธนาคารโลกดำเนินการสำรวจร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะพบว่าประชากรมากกว่าสองในสามไม่สามารถแสดงทักษะการรู้หนังสือขั้นพื้นฐานได้ นอกเหนือไปกว่านั้น สามในสี่ของประชากรไม่สามารถแสดงทักษะดิจิทัลในระดับพื้นฐานได้ ขณะเดียวกันเมื่อเราดูเจาะไปที่กลุ่มเยาวชนในอายุ 15 ปี ซึ่งดูได้จากผลของโครงการการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ในปี 2022 ก็พบว่าผลสอดคล้องกัน คือประชากรวัย 15 ปีประมาณสองในสามมีทักษะต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งในทางด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเช่นกัน
ตัวเลขที่คุณว่ามานี้ฟังดูน่าตกใจ แล้วคุณว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ประชากรวัยแรงงานของไทยขาดทักษะพื้นฐานชีวิตได้มากขนาดนี้
นี่เป็นคำถามที่ดีแต่ก็เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะมันมีหลายเหตุผลประกอบกัน ซึ่งผมกล่าวได้ว่ามันเป็นผลมาจากกระบวนการทางการศึกษาและการฝึกหัดคนตลอดทั้งกระบวนการที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุผลในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้ คือมันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในระดับการศึกษาระดับใดระดับหนึ่งเพียงลำพัง ไม่ว่าจะในระดับโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัย ไปจนถึงระดับหลังเข้าสู่ตลาดแรงงานซึ่งต้องมีการพัฒนาทักษะเดิมและเพิ่มทักษะใหม่ (upskill and reskill) แต่มันเป็นปัญหาในทุกระดับขั้นการศึกษาและในตลอดทั้งกระบวนการของการพัฒนาคนที่ไม่สามารถส่งเสริมและหล่อหลอมให้เกิดทักษะพื้นฐานชีวิตที่แข็งแรงได้ จนในที่สุดก็นำประเทศไทยมาสู่วิกฤตด้านทักษะ เพราะฉะนั้นเราถึงไม่สามารถโทษไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงลำพังได้
นอกจากนี้ มันอาจต้องย้อนไปดูถึงกระบวนการพัฒนาคนตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะถือเป็นช่วงวัยที่สำคัญมากในการจะพัฒนาทักษะเพื่อให้เติบโตเป็นแรงงานที่มีทักษะที่ดี ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับการพัฒนาทักษะที่ดีเพียงพอตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม มันก็จะยิ่งทำให้พวกเขาประสบความยากลำบากในการพัฒนาทักษะต่อไปในอนาคต และในที่สุดก็จะนำมาสู่วิกฤตด้านทักษะ
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มักใช้อธิบายสาเหตุที่ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิตได้ในแต่ละช่วงของการศึกษาและฝึกอบรม คือความพร้อมของบุคลากรครูหรือผู้สอน ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาและการพัฒนาคน โดยทั่วไปครูหรือผู้สอนมักมีหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ในสาขาวิชาหรือสายวิชาชีพเฉพาะทาง แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการมีความสามารถในการปลูกฝังทักษะพื้นฐานชีวิตให้ผู้เรียนได้ด้วย ซึ่งถ้าครูหรือผู้สอนไม่ได้มีความสามารถในการทำเรื่องนี้เพียงพอหรือขาดการเตรียมพร้อมที่มากเพียงพอ มันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาให้เด็กๆ มีทักษะพื้นฐานพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เรียกได้ว่ากำลังวิกฤตอย่างที่คุณบอก แล้วถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป มันจะส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยบ้าง
ถ้าอ้างอิงจากรายงานที่ธนาคารโลกทำร่วมกับ กสศ. เราพบว่าการที่ประเทศไทยมีแรงงานที่ขาดทักษะพื้นฐานในสัดส่วนที่สูงขนาดนี้ เราได้ทำการประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยคร่าว คิดเป็นมูลค่า 3.3 ล้านล้านบาทโดยประมาณ หรือประมาณร้อยละ 20 ของจีดีพีประเทศในปี 2022 และตัวเลขนี้ถือว่าเป็นเพียงประมาณการขั้นต่ำเท่านั้น เนื่องจากการประเมินนั้นคำนวนเฉพาะจากในส่วนโอกาสทางรายได้ที่แรงงานขาดไปจากการที่พวกเขายังไม่มีทักษะที่เพียงพอ โดยประโยชน์ในมิติที่กว้างขึ้นของทักษะพื้นฐานชีวิตจะสูงมากกว่านี้ หากเรารวมผลกระทบของการขาดทักษะที่ส่งผลให้พลาดโอกาสในการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น และการมีส่วนร่วมทางสังคมที่มากขึ้นในรูปแบบของการอาสาสมัครหรือการลงคะแนนเสียง
เพื่อจะแก้ปัญหานี้ คุณมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างไรบ้างต่อผู้มีส่วนกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงรัฐบาลไทย
ก่อนอื่น ผมขอเน้นย้ำว่าการพัฒนาทักษะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน อันที่จริงไม่ใช่แค่ภาครัฐที่ต้องตอบสนองต่อปัญหานี้ แต่ยังรวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้เรียนเองด้วยเช่นกัน
ในส่วนข้อเสนอแนะของผมนั้น ประการแรกคือต้องเริ่มต้นลงทุนกับการพัฒนาทักษะตั้งแต่ระดับปฐมวัย การพัฒนาทักษะก็เหมือนกับการเตรียมก้อนหิมะก้อนใหญ่ ถ้าเด็กคนหนึ่งเริ่มต้นการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยมีก้อนหิมะ (หรือทักษะพื้นฐานชีวิต) ที่มีขนาดเหมาะสมอยู่แล้ว ก้อนหิมะนี้ก็จะสามารถสะสมหิมะเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ผ่านการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต หิมะก้อนที่ใหญ่ขึ้นจะดึงดูดหิมะมากขึ้น เช่นเดียวกับทักษะพื้นฐานชีวิตที่จะต่อยอดไปสู่ทักษะที่สูงขึ้น
ประการที่สอง ครูและผู้สอนในทุกระดับของระบบการศึกษาและการฝึกอบรมจะได้รับประโยชน์มากขึ้น หากพวกเขาได้รับโอกาสในการฝึกอบรมด้านวิธีการสอน (pedagogical training) เพื่อให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการปลูกฝังทักษะพื้นฐานชีวิตให้แก่ผู้เรียนได้
ประการที่สามคือต้องพัฒนาการศึกษาในแต่ละระดับให้สอดประสานกัน และทำให้แต่ละระดับชั้นสามารถเติมเต็มหรือชดเชยทักษะระหว่างกันและกันได้ เช่นกรณีที่ผู้เรียนคนหนึ่งอาจไม่ได้รับการพัฒนาทักษะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีพอ เขาก็ควรได้รับการเติมเต็มทักษะชดเชยเมื่อเข้าสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น
ประการที่สี่ ระบบการศึกษาเชิงพื้นที่สามารถมีบทบาทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในการพัฒนาทักษะ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลระดับจังหวัดหรือระดับตำบลสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้และความเข้าใจในท้องถิ่น รวมถึงความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานชีวิตให้แก่ประชากรได้ รัฐบาลท้องถิ่นยังสามารถเข้ามาเติมเต็มบริการด้านการศึกษาและทรัพยากรที่ภาครัฐส่วนกลางจัดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และสุดท้ายคือภาคเอกชนก็สามารถเข้ามามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะและการศึกษาโดยการทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด อย่างที่ผ่านมาผมได้เห็นบริษัทเอกชนจำนวนมากเข้าไปให้การสนับสนุนระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิทยาลัยอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการพัฒนาครูผู้สอน การมอบอุปกรณ์ทางการศึกษา และโอกาสในการฝึกหัดงาน ผมว่าเราต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งมันจะไม่ได้เป็นประโยชน์แค่ต่อสถาบันการศึกษาเท่านั้นแต่จะมีประโยชน์ต่อภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ กลไกที่ใช้ส่งเสริมควรทำให้มั่นใจว่าภาคเอกชนเองก็ได้รับประโยชน์จากการลงทุนนี้ด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้เราเห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีใหญ่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเอไอ คุณคิดว่าการเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะถือได้ว่าเป็นความท้าทายใหม่ของการพัฒนาทุนมนุษย์ไหม หรือคุณมองว่ามันเป็นโอกาส
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอไอเข้ามาเกี่ยวข้องกับแทบทุกแง่มุมของชีวิตของเรา รวมถึงในเรื่องการเรียนรู้ เช่นเดียวกับเมกะเทรนด์อื่นๆ ที่กำลังกำหนดรูปแบบของสังคม ผมคิดว่าการเข้ามาของเอไอมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งทั้งโอกาสและความเสี่ยง และเราจำเป็นต้องช่วยกันให้แน่ใจว่าโอกาสเหล่านี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงลงได้
มีตัวอย่างที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการใช้เอไอเพื่อสนับสนุนการสอนและการเรียนรู้ โดยสำหรับผู้สอน เอไอสามารถนำมาใช้ในการสร้างแผนการสอน สื่อการเรียนการสอน และแบบฝึกหัด และสำหรับผู้เรียน เอไอสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอน และเป็นหนังสือเรียนดิจิทัลที่มีเนื้อหารายบุคคล อย่างรัฐบาลเกาหลีใต้ก็เพิ่งเปิดตัวหนังสือเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ โดยการใช้ระบบอัลกอริทึมของเอไอเชิงสร้างสรรค์ (generative AI) นั้น ทำให้หนังสือเรียนนี้สามารถปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับระดับทักษะของผู้เรียนแต่ละคนได้แม้ว่าสิ่งนี้จะเปิดโอกาสให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล แต่ก็ทำให้เกิดความจำเป็นที่ครูจะต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างดี ทั้งในด้านทักษะดิจิทัลและทักษะการสอน

ในขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเอไออาจก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น ความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล รวมไปถึงการทุจริตทางการศึกษา นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่ผู้เรียนจะพึ่งพาเอไอมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาไม่ได้รับการส่งเสริมให้ใช้ความคิดอย่างแท้จริง เมื่อตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาในกรุงโตเกียว ผมเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยที่เราไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขเลย เพราะการคำนวณพื้นฐานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในทำนองเดียวกัน ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่ครูคณิตศาสตร์หลายคนในปัจจุบันดูเหมือนจะยังลังเลที่จะให้นักเรียนใช้เอไอในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ จึงอาจมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการพึ่งพาเครื่องมือเอไอที่มากเกินไประหว่างการเรียนรู้ จนขัดขวางพัฒนาการด้านการแก้ปัญหา การคิดเชิงวิพากษ์ และความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ผู้เรียนยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่แอปพลิเคชันเอไอเชิงสร้างสรรค์มักสร้างข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่ชี้นำในทางที่ผิด หนึ่งในวิธีที่ชัดเจนที่สุดในการลดความเสี่ยงนี้คือการสอนให้นักเรียนรู้จักตรวจสอบและประเมินผลลัพธ์ที่ได้จากเอไออย่างมีวิจารณญาณ แม้ว่าครูและผู้สอนส่วนใหญ่จะตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเขามีอำนาจหรือทรัพยากรเพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
จากข้อเสนอแนะที่คุณว่ามาทั้งหมด เมื่อคุณมองไปที่รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และภาคการศึกษาของไทย คุณคิดว่าแนวทางที่พวกเขากำลังดำเนินมาอยู่นี้มาถูกทางหรือสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคุณหรือไม่
ผมเชื่อว่ารัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิต และได้แสดงเจตนารมณ์ผ่านเอกสารเชิงยุทธศาสตร์ แผนงาน และกรอบนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมทักษะเหล่านี้ในแต่ละช่วงของการศึกษาและการฝึกอบรม ขั้นตอนสำคัญถัดไปคือการจัดทำแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และดำเนินการให้เกิดผลในลักษณะที่มีความสอดประสานกัน โดยแผนปฏิบัติการเหล่านี้อาจมีความซับซ้อน เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่งในแต่ละช่วงของระบบการศึกษาและการฝึกอบรม เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกันอย่างมีบูรณาการเพื่อให้เกิดพัฒนาการด้านทักษะพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า ‘การเชื่อมโยงแนวนอน’
ในขณะเดียวกัน สถาบันหรือหน่วยงานที่ทำงานอยู่ในแต่ละท้องที่ เช่น รัฐบาลท้องถิ่น สำนักงานส่วนภูมิภาคของหน่วยงานจากส่วนกลาง ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ก็จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องเพื่อให้เกิดพลังร่วมสูงสุด หรือที่เรียกว่า ‘การเชื่อมโยงแนวตั้ง’ นอกจากนี้ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการจัดหาเงินทุนเพื่อให้การดำเนินการสามารถทำได้จริง ซึ่งการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อตอบโจทย์วิกฤตทักษะนี้ จะต้องเป็นการลงทุนเพิ่มเติมในระดับที่สูง และควรกำหนดการแบ่งปันภาระการลงทุนนี้ร่วมกัน ระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย
พูดถึงตัวอย่างที่ดีจากประเทศอื่นๆ คุณว่ามีตัวอย่างไหนที่น่าสนใจและไทยสามารถเรียนรู้ได้บ้าง
มีตัวอย่างที่น่าสนใจมากมายจากทั่วโลกที่สามารถให้บทเรียนแก่ประเทศไทยได้ บางตัวอย่างอาจเหมาะสำหรับการพิจารณาในระยะกลางและระยะยาว ในขณะที่บางตัวอย่างสามารถนำมาปรับใช้ได้ทันที
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างประเทศหนึ่งที่ผมว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิรูประบบการศึกษาโดยอาศัยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล นั่นคือเอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรป ที่เริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภาคการศึกษาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 โดยมีการนำคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้าไปในโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ และมีการฝึกอบรมครูให้สามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงในด้านทักษะพื้นฐาน ในประเด็นของเอไอกับการศึกษา เอสโตเนียเพิ่งเปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า AI Leap 2025 ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนและครูสามารถเข้าถึงเครื่องมือการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอและเรียนรู้วิธีการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือเอสโตเนียได้ลงทุนในเงื่อนไขพื้นฐานที่เอื้อต่อความสำเร็จของการดำเนินงานที่ทะเยอทะยานนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้เอสโตเนียยังได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อร่วมกันออกแบบรูปแบบการดำเนินงานที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดความสำเร็จ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจมาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเขตการศึกษาจำนวนมากที่ได้บูรณาการเรื่องการเรียนรู้ด้านทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Learning: SEL) เข้าไว้ในหลักสูตรและกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้เรียนทักษะด้านสังคมและอารมณ์ที่สมดุล ลองนึกถึงนักเรียนที่เรียนวิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาไม่ได้เรียนแค่เนื้อหาหรือทฤษฎีในวิชาเหล่านั้นเท่านั้น แต่ยังได้ฝึกการแสดงความคิดเห็นของตนเอง การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการอภิปรายหรือโต้แย้งอย่างให้เกียรติและมีเหตุผล โปรแกรม SEL หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาไม่ได้เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการทางอ้อมอีกด้วย ขณะนี้ ธนาคารโลกกำลังร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดทำโครงการนำร่องขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการ SEL เข้ากับวิทยาลัยอาชีวศึกษาในประเทศไทย

ถ้าขยับออกมามองกว้างขึ้นกว่าประเทศไทย คุณมองเห็นเทรนด์การพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับโลกอย่างไรบ้าง
อันที่จริงมันก็สอดคล้องกับหลายประเด็นที่ผมได้พูดไปแล้ว เทรนด์แรกคือระบบการศึกษาของหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมากขึ้น
เทรนด์ที่สองคือหลายประเทศเริ่มนำกระบวนการเรียนรู้ที่ปรับให้เหมาะกับระดับและความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา โดยหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้คือ Teaching at the Right Level (TaRL) ซึ่งพัฒนาโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรในอินเดียชื่อว่า Pratham
เทรนด์ที่สามคือมีการตระหนักเพิ่มมากขึ้นถึงความสำคัญของการที่ไม่เพียงคัดเลือกครูและผู้สอนที่มีความสามารถเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมความพร้อมและสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ของผู้เรียน
สุดท้าย ผมยังเห็นว่ามีจำนวนประเทศและเขตการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ได้บูรณาการ SEL เข้ามาในระบบการศึกษา ซึ่งสะท้อนถึงการตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาวะของผู้เรียน และการพัฒนาทักษะในลักษณะองค์รวมมากขึ้น แน่นอนว่านี่ไม่ใช่รายการที่ครอบคลุมแนวโน้มทั้งหมดของการพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับโลก แต่โครงการริเริ่มเหล่านี้ช่วยฉายภาพให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญบางประการในระดับสากล ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิตในประเทศไทยเช่นกัน
ตอนนี้คุณมีแผนที่จะทำการสำรวจสถานการณ์ทุนมนุษย์ในประเทศไทยขึ้นมาใหม่อีกหรือไม่ และคุณคาดหวังว่าเราจะได้รู้อะไรมากขึ้นจากรายงานฉบับก่อนหน้าบ้าง
หลังจากที่ในรายงานฉบับก่อนหน้าซึ่งทำการสำรวจในปี 2022 เราได้วัดผลในระดับประเทศไปแล้ว รายงานฉบับถัดไปนั้นจะมีการวัดทักษะพื้นฐานชีวิตของประชากรวัยแรงงานลงไปในระดับจังหวัด ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลในสามจังหวัด ได้แก่ พะเยา ระยอง และปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีบริบทต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยผลการสำรวจที่จะออกมานี้จะช่วยให้เราเข้าใจภาพในระดับท้องถิ่นมากขึ้น และจะได้มีข้อเสนอแนะในการตอบสนองต่อการขาดแคลนทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทพื้นที่ และผมคาดว่ารายงานฉบับนี้น่าจะพร้อมเผยแพร่ได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนปีนี้ โปรดติดตามการทำงานของเราด้วย
สุดท้ายนี้ อยากให้คุณย้ำให้เห็นว่าการพัฒนาทุนมนุษย์และทักษะพื้นฐานชีวิตมีความสำคัญมากขนาดไหน
ทุนมนุษย์โดยเฉพาะทักษะพื้นฐานชีวิตคือรากฐานของสังคมของเรา คุณสามารถเปรียบเทียบทักษะพื้นฐานชีวิตกับวัสดุก่อสร้างพื้นฐานของไซต์งานก่อสร้าง มันก็เปรียบเหมือนการสร้างอาคาร ถ้าหากใช้วัสดุที่ไม่ดีในการก่อสร้างหรือไม่ได้วางโครงสร้างไว้อย่างแข็งแกร่ง อาคารก็อาจไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับภัยธรรมชาติหรือแรงสั่นสะเทือนต่างๆ และไม่สามารถรองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในตัวอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในลักษณะเดียวกัน หากผู้เรียนไม่มีระดับทักษะพื้นฐานชีวิตที่เพียงพอ พวกเขาก็จะไม่สามารถรับมือกับวิกฤตที่อาจสั่นสะเทือนชีวิตประจำวันของเรา เช่น แผ่นดินไหวหรือโรคระบาด รวมทั้งไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งบีบให้ต้องเรียนรู้งานใหม่ๆ และเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอยู่เสมอ เช่น การทำงานเป็นทีม การทำงานทางไกล และท้ายที่สุดคือจะไม่สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรม การเติบโต และความมั่งคั่งของประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ
ประเทศไทยและธนาคารโลกได้สร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตลอดระยะเวลากว่า 75 ปีที่ผ่านมา ความพยายามล่าสุดของเราในภาคการศึกษาและการพัฒนาทักษะในประเทศไทย มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ลงทุนในทักษะพื้นฐานของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ โดยอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์ของเราในการสนับสนุนระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ในประเทศไทย ขณะนี้เราร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลระดับจังหวัดของระยอง ปัตตานี และพะเยา รวมถึงภาคเอกชน เราพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการยกระดับประสิทธิภาพและความเสมอภาคในการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world