จาก ‘การสร้างวิญญูชน’ สู่ ‘เด็กเอเชียบ้าเรียน’ การวิวัฒน์กลับด้านเรื่องการเรียนรู้ในปรัชญาขงจื่อ กับ ศริญญา อรุณขจรศักดิ์
โดย : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
ภาพถ่าย : เมธิชัย เตียวนะ

จาก ‘การสร้างวิญญูชน’ สู่ ‘เด็กเอเชียบ้าเรียน’ การวิวัฒน์กลับด้านเรื่องการเรียนรู้ในปรัชญาขงจื่อ กับ ศริญญา อรุณขจรศักดิ์

ชุดความคิดที่มีรากจากปรัชญาขงจื่อฝังรากลึกในสังคมเอเชียตะวันออกมากว่าสองพันปี จุดเริ่มต้นของปรัชญาขงจื่อมีเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงโลก ฟื้นฟูราชวงศ์โจว และสร้างชุมชนมนุษยธรรม ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสิ่งนี้คือ ‘การเรียนรู้’ ขงจื่อเสนอว่าการเรียนรู้ไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน แต่หมายถึง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’

แต่ก็อย่างที่โลกเป็นมาเสมอ เมื่อชุดความคิดเคลื่อนผ่านวันเวลา ย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากคนที่ใช้มัน ปรัชญาขงจื่อวิวัฒน์หลายครั้ง ถูกใช้เป็นอุดมการณ์ของรัฐ ไปจนถึงความคิดของคนในสังคมที่ตีความปรัชญาให้สอดรับกับความต้องการของตัวเอง

เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่โตมาในสังคมเอเชียตะวันออก ไปจนถึงลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน ย่อมถูกปลูกฝังและก่อรูปรอยชีวิตผ่านแนวคิดแบบขงจื่อโดยพ่อแม่มาไม่มากก็น้อย แม้จะโดยรู้ตัวหรือไม่ คุณธรรมคำสอนเรื่องความกตัญญูและความซื่อสัตย์ย่อมถูกส่งผ่านมาถึงคนรุ่นลูก และเช่นเดียวกันที่ชุดความคิดเรื่อง ‘การศึกษายกระดับชีวิต’ ก็ย่อมถูกส่งผ่านมาด้วย ซึ่งล้วนผ่านการวิวัฒน์มาไกลจากจุดเริ่มต้น

ในปัจจุบันมีคำถามว่าอิทธิพลจากแนวคิดแบบขงจื่อ ส่งผลแค่ไหนที่ทำให้ ‘เด็กเอเชีย’ ต้องมุ่งมั่นเรียนหนังสือในระบบการศึกษา อยู่ในวงเวียนการกวดวิชา และคร่ำเคร่งกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จนคล้ายว่านี่คือสิ่งสุดท้ายของชีวิต

แท้จริงแล้วปรัชญาขงจื่อสอนอะไร แนวคิดของขงจื่อถูกเปลี่ยนไปแค่ไหน ความคิดเรื่องการศึกษาในสังคมไทยได้รับอิทธิพลจากเรื่องนี้แค่ไหน และเราจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไรให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วันโอวันพูดคุยกับ รศ.ดร.ศริญญา อรุณขจรศักดิ์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญปรัชญาจีน

บทสนทนานี้เริ่มต้นด้วยการย้อนไปในยุคชุนชิว-จ้านกว๋อ ท่องไปในสังคมจีนแผ่นดินใหญ่ พลิกคัมภีร์หลุนอี่ว์ ข้ามทะเลมาที่ไทย และวิพากษ์แนวคิดเรื่อง ‘การเรียนรู้-การศึกษา’ ในปัจจุบันอย่างถึงแก่น

จุดเริ่มต้นของปรัชญาขงจื่อมีเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงโลก ฟื้นฟูราชวงศ์โจว และสร้างชุมชนมนุษยธรรม คำถามคือการพัฒนาคนให้มีมนุษยธรรมและเป็นวิญญูชนนั้น ต้องมีการจัดระบบความคิดของคนผ่าน การเรียนรู้’ อย่างไร แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ของขงจื่อเริ่มต้นด้วยหลักคิดและบริบทแบบไหน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ปรัชญาขงจื่อ’ กับ ‘ลัทธิขงจื่อ’ มีความแตกต่างกัน

ปรัชญาขงจื่อซึ่งจะพูดเป็นหลักในที่นี้คือปรัชญาที่เป็นแก่นแท้ของสำนักขงจื่อ ซึ่งเกิดในยุคชุนชิว-จ้านกว๋อของจีน หรือที่เรียกว่าปรัชญาจีนยุคคลาสสิก ซึ่งเป็นยุคที่ปรัชญาขงจื่อยังไม่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาที่เข้ามาในจีน และยังไม่ได้ถูกยกเป็นอุดมการณ์ของรัฐ

ถ้าเราพูดถึงคำว่า ‘การเรียนรู้-การร่ำเรียน’ (learning) ขึ้นมาลอยๆ ก็จะเกิดคำถามทันทีว่าใครเป็นคนที่เรียนรู้หรือร่ำเรียน เรากำลังหมายถึงการเรียนรู้ในกรอบของการเมืองการปกครองหรือเปล่า หรือมองในแง่ของปัจเจกบุคคล คำว่าการเรียนรู้มีความหมายกว้างมาก

แต่ถ้าโจทย์เริ่มจากตัวขงจื่อที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกและสร้างชุมชนที่มีมนุษยธรรม การอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดก็ต้องกลับไปดูสิ่งที่ขงจื่อเสนอ นั่นคือเมื่อเรากล่าวถึงคำว่า ‘เปลี่ยนแปลงสังคม’ ในกรณีของคนที่ไม่เข้าใจขงจื่อจะเข้าใจว่าเป็นการออกแบบใหม่ การสร้างสิ่งใหม่ หรือการพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ในกรณีแนวคิดของขงจื่อ ขงจื่อไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการสร้างสิ่งใหม่ แต่มีลักษณะเป็นการรื้อฟื้นของเก่า

เป้าหมายหลักจริงๆ ของขงจื่อคือ ‘การสร้างสังคมมีมนุษยธรรมที่มีความกลมกลืน’ ในภาษาจีนเรียกว่า เหอ (和) แปลเป็นไทยได้ว่ากลมกลืน กลมเกลียว หรือในภาษาอังกฤษคือ harmony ซึ่งคำนี้ใช้ในบริบทที่หลากหลาย เช่น ในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความสอดคล้องระหว่างการกระทำกับอารมณ์ความรู้สึก แต่ในที่นี้ขงจื่อใช้ในบริบทของสังคมที่มีความหลากหลายแต่อยู่กันได้อย่างกลมเกลียว

เพราะฉะนั้น เมื่อโจทย์ของขงจื่อเป็นเรื่องเหล่านี้ จึงทำให้ขงจื่อเห็นว่าการเรียนรู้ควรมีจุดโฟกัสที่คุณธรรมจริยธรรม แต่คำว่า ‘ชุมชนมีมนุษธรรม’ ตามแนวคิดขงจื่อไม่ได้หมายถึงแค่คนที่มีคุณธรรมเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนที่มีจารีตแบบแผนปฏิบัติ มีวัฒนธรรม มีอารยะด้วย ซึ่งการมีวัฒนธรรมในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงการทำให้คนกลมกลืนเหมือนกันหมด แต่ต้องมีความหลากหลาย ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของขงจื่อคือการสร้างสังคมที่เปิดกว้างให้มีความเป็นพหุวัฒนธรรมด้วย

การเรียนรู้หรือการร่ำเรียนของขงจื่อ ถ้าเทียบกับปัจจุบันจึงไม่ใช่การฝึกคนเป็นแรงงานเพื่อตอบสนองนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ แต่คือการสร้างคนเพื่อนำไปสู่ชุมชนที่มีลักษณะของความกลมเกลียวและมีมนุษยธรรม

คำแรกที่เราพูดถึงคือ การเรียนรู้ (learning) ที่ต้องการความกลมเกลียว แต่ยังมีอีกคำหนึ่งคือ การศึกษา’ (education) หากย้อนกลับไปในยุคขงจื่อยังมีชีวิต ณ ตอนนั้นมีเรื่องการศึกษาหรือยัง ขงจื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาเอาไว้อย่างไร

ถามว่ามีไหม มี แต่ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่แยกขาดจากกันระหว่างการเรียนรู้กับการศึกษา สองสิ่งนี้ถือว่าอยู่ด้วยกัน

แต่ถ้าจะให้กล่าวแยกอย่างชัดเจน การเรียนรู้คือการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของตัวเอง เป็นเรื่องการขัดเกลาภายในจิตใจและอุปนิสัย ถ้าจะให้ยึดโยงกับสมัยปัจจุบันหน่อย การเรียนรู้แบบขงจื่อคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) หมายความว่าไม่ได้เน้นการเรียนรู้ที่อยู่ในระบบการศึกษา ที่มีกระบวนการ ระบบ หรือแบบแผนชัดเจนอย่างระบบการศึกษาในปัจจุบัน ประมาณว่าพอจบการศึกษาในระบบก็เน้นหางานทำ ไม่ต้องเรียนรู้อะไรแล้ว แต่ตามวิธีคิดของขงจื่อ ขงจื่อมองว่าการเรียนรู้สามารถทำได้ตลอดชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมหรือการร่ำเรียนเพื่อสร้างสังคมที่กลมเกลียว จะไม่ใช่แค่ได้ใบปริญญาแล้วหยุดเรียน แต่ต้องเรียนรู้ทั้งชีวิต

ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษาในยุคขงจื่อ อาจเรียกได้ว่าขงจื่อเป็นครูเอกชนคนแรกของจีน ขงจื่อตั้งสำนักหรือโรงเรียน เปิดรับลูกศิษย์มากมาย ขงจื่อเป็นผู้ที่ปูพื้นฐานเรื่องการศึกษาโดยไม่มีการแบ่งชนชั้น เพราะขงจื่อถือว่า ถ้าต้องการที่จะเรียนรู้ “แม้มีเนื้อแห้งมาให้ห่อเดียวก็ยินดีสอน” กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกขุนนางถึงจะสอน แต่ใครก็ตามที่อยากเรียนก็มาขอเรียนกับขงจื่อได้

ในยุคนั้นขงจื่อสอนอะไรลูกศิษย์ในสำนัก

ขงจื่อให้ลูกศิษย์อ่านคัมภีร์กวีนิพนธ์ ต้องเรียนดนตรี เรียนรู้จารีตพิธีกรรม ต้องรู้ว่าพิธีกรรมเหล่านี้ควรปฏิบัติอย่างไร เรื่องเหล่านี้ก็เหมือนการเรียนทฤษฎีเมื่อเทียบกับโรงเรียนปัจจุบัน

ขงจื่อยืนยันว่าลูกศิษย์ต้องร่ำเรียนกวีนิพนธ์ เนื่องจากเนื้อหาในคัมภีร์กวีนิพนธ์เป็นการกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีการบรรยายอารมณ์ความรู้สึก และมีบางบทกวีที่ว่าด้วยจารีต พิธีกรรมในวัง ประมาณว่าคัมภีร์กวีนิพนธ์ทำให้เกิดการกล่อมเกลาอารมณ์และความรู้สึก ทำให้เห็นว่ามนุษย์คิดและมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร มีการแสดงออกความคิดและอารมณ์ความรู้สึกนั้นออกมาอย่างไร ทำให้เรารู้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไร หรือควรเศร้าอย่างไรกับเรื่องนี้เรื่องนั้น ฯลฯ เป็นการสอนให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ผ่านการอ่านงานวรรณกรรมนั่นเอง กล่าวอีกอย่างคือให้เราเห็นถึงคุณค่าทางจริยะและสุนทรียะของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจารีตหรืออารมณ์ของผู้คน เพื่อมาขัดเกลาตนเอง

ในขณะเดียวกัน ขงจื่อก็เน้นเรื่องการเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นครู ไม่ใช่แค่ถ่ายทอดความรู้เท่านั้น แต่ครูในแบบของขงจื่อเป็นผู้กระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้เรียนมีการพัฒนาจริยธรรมและความรู้ในเชิงให้การศึกษาไปพร้อมๆ กัน

มากไปกว่าเรื่องการสอนในสำนัก อะไรคือหลักคำสอนที่สะท้อนฐานคิดของปรัชญาขงจื่อ

แนวคิดที่สำคัญของปรัชญาขงจื่อคือ ‘มนุษยธรรม’ ภาษาจีนคือ ‘เหริน’ (仁) ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า ‘จารีต’ ภาษาจีนคือ ‘หลี่’ (礼) สองคำนี้เป็นแกนของหลักคิดขงจื่อ

มนุษยธรรม หรือ เหริน ถ้าดูจากรากศัพท์ก็คือคุณธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ คำอธิบายของขงจื่อที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอี่ว์ มีเพียงบทเดียวที่ขงจื่ออธิบายให้นิยามไว้ว่ามนุษยธรรมคือ ‘การรักมนุษย์’ ขงจื่อมองว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว มนุษย์ต้องสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ใช่เป็น rational being เหมือนอย่างปรัชญาตะวันตก กล่าวอีกอย่างคือความเป็นมนุษย์ไม่ได้มีแก่นแกนที่ความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุผล แต่ความเป็นมนุษย์นั้นก่อเกิดในความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ดังนั้น เมื่อความเป็นมนุษย์อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ การพัฒนาคุณธรรมที่แสดงความเป็นมนุษย์คือการรู้ว่าจะปฏิบัติและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร ในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ ขงจื่อเน้นย้ำในเรื่องการต่างตอบสนองว่า ‘คุณรักเป็นหรือไม่’ ซึ่งเมื่อพูดถึงความรัก โดยทั่วไปคนจะคิดในเชิง romantic love แต่การรักพ่อแม่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง รักเพื่อนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง รักผู้ปกครองก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น การรักพ่อแม่ ขงจื่อจะใช้คุณธรรมเรื่อง ‘ความกตัญญู’ การรักผู้ปกครองจะใช้คุณธรรมเรื่อง ‘ความภักดี’ จะเห็นว่าคุณธรรมที่ขงจื่อสอนนั้นสะท้อนมนุษยธรรมหรือความรักในมนุษย์ทั้งหมด เมื่อมนุษย์มีความสัมพันธ์กับใคร ก็ต้องเรียนรู้วิธีว่าจะรักอย่างไรอย่างเหมาะสม

ส่วนจารีต หรือ หลี่ ขอบเขตของคำนี้กว้างมาก แม้จะแปลเป็นภาษาไทยว่าจารีต แต่จริงๆ แล้วคำนี้ครอบคลุมถึงมารยาท ประเพณี พิธีกรรม รัฐพิธี การปฏิบัติจริยธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม และวัฒนธรรมด้วย เช่น เรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหาร หรือการจัดพิธีกรรมต่างๆ อย่างเชงเม้ง สิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าจารีต ถ้าเปรียบเทียบกับประเพณีไทยที่มีมาอย่างยาวนานอย่างการลอยกระทง ก็ถือว่าเป็นจารีตเหมือนกัน

คำถามคือแล้วจารีตมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับมนุษยธรรม ขงจื่อมองว่าเมื่อเรารักมนุษย์ ความรักคืออารมณ์ความรู้สึกภายใน แต่ถ้าไม่มีวิธีการสื่อสารหรือแสดงออกที่เหมาะสม รักอาจจะไม่เป็นรัก แต่กลายเป็นการทำลาย เช่น พ่อแม่รักลูกโดยการประเคนทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูก การกระทำแบบนี้ของพ่อแม่ แม้จะเป็นความรัก แต่ถ้าไม่มีการปฏิบัติหรือแสดงออกที่เหมาะสม ก็อาจเป็นการทำลายลูกได้เหมือนกัน

ขงจื่อมองว่าหากในสังคมไม่มีวิธีการปฏิบัติและแสดงออกขั้นต่ำที่ผู้คนเห็นพ้องต้องกัน จะนำไปสู่ปัญหา กลายเป็นว่าต่างคนต่างตีความ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ความสัมพันธ์ก็ไม่งอกเงย สุดท้ายความกลมกลืนก็ไม่เกิดขึ้น หลี่จึงสำคัญหากมองในแง่นี้

อยากให้อธิบายเรื่องคุณธรรมที่แตกต่างของแต่ละความสัมพันธ์

ขงจื่อให้ภาพว่ามนุษย์ต้องอยู่ในความสัมพันธ์พื้นฐานทั้งห้าแบบ ประกอบด้วย 1.พ่อแม่-ลูก 2.พี่-น้อง 3.สามี-ภรรยา 4.เพื่อน-เพื่อน 5.ผู้ปกครอง-ผู้ใต้ปกครอง

ตามคัมภีร์หลุนอี่ว์ ขงจื่ออธิบายไว้ว่าในความสัมพันธ์ทั้งห้านี้มีคุณธรรมอะไรบ้าง เราจะรักอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร ยกเว้นเรื่องของคู่สามีภรรยาที่ไม่มีตัวบทกล่าวถึงอย่างชัดเจน มีคนให้คำอธิบายว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าในยุคสมัยนั้นมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยาไม่ใช่ปัญหา ทำให้ลูกศิษย์ไม่บันทึกบทสนทนาเกี่ยวกับคู่ความสัมพันธ์นี้ สังคมสมัยนั้นเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว คุณธรรมของสามี-ภรรยาคือความซื่อสัตย์

ในยุคของขงจื่อ ความสัมพันธ์ที่ถูกมองว่ามีปัญหาคือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูก และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง-ผู้ใต้ปกครอง ในสมัยขงจื่อ ความกตัญญูกลายเป็นเพียงการเลี้ยงดูพ่อแม่เท่านั้นโดยขาดความเคารพ ส่วนผู้ปกครองก็ขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมและใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ความภักดีกลายเป็นการรับใช้ผู้ปกครองเช่นนี้อย่างหลับหูหลับตา ในสมัยนั้น การปกครองเป็นแบบศักดินาสวามิภักดิ์ ผู้ปกครองก็คือฮ่องเต้ ท่านอ๋อง เจ้าเมือง ประมาณนี้ แต่ถ้าเทียบกับปัจจุบันจะเทียบเป็นหัวหน้ากับลูกน้องด้วยก็ได้ ในคัมภีร์หลุนอี่ว์จึงมีบันทึกถึงคุณธรรมและปัญหาในสองความสัมพันธ์นี้เป็นหลัก

ปัจจุบันนี้มีการวิจารณ์ปรัชญาของขงจื่อในแง่ของการกดทับเชิงอำนาจ เช่น เราต้องนับถือบรรพบุรุษ เราต้องเคารพพ่อแม่ แต่ความกตัญญูกลายเป็นการทำร้ายลูกเสียเอง หรือแนวคิดขงจื่อทำให้เกิดวิธีคิดชายเป็นใหญ่ เช่น ภรรยาต้องเคารพสามี อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

คำถามนี้มีสองประเด็น คืออำนาจนิยมกับชายเป็นใหญ่

เอาเรื่องอำนาจนิยมก่อน ในคัมภีร์หลุนอี่ว์ ขงจื่อกล่าวไว้ชัดเจนว่าเรื่องลูกกตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่ได้หมายความว่าลูกต้องเชื่อฟังคล้อยตามทุกสิ่งอย่าง ลูกสามารถทัดทานหรือไม่เห็นด้วยกับพ่อแม่ก็ได้ แต่วิธีการที่ลูกจะแสดงตัวตนหรือจุดยืนของตน ขงจื่อเน้นว่าการทัดทานนั้นต้องมีลักษณะของการทัดทานอย่างสุภาพ ซึ่งก็เป็นวิธีหนึ่งของการต้านทานอำนาจนิยม ที่หมายถึงการที่ผู้อยู่เหนือกว่ามีคำสั่งให้เราทำบางอย่างโดยที่เราเป็นผู้น้อย ในขณะเดียวกัน คำว่ามนุษยธรรมก็รวมถึงคนที่อยู่เหนือกว่าก็ต้องมีคุณธรรมนี้ด้วย กล่าวอีกอย่างคือ ไม่ใช่ว่าคนที่อยู่เหนือกว่าจะทำตัวอย่างไรก็ได้ จะต้องมีความเห็นอกเห็นใจ พ่อแม่ก็ต้องมีความรักต่อลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม

กลับไปที่เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าการเรียนรู้มีขีดจำกัดอยู่เพียงช่วงอายุใดอายุหนึ่ง ก็จะนำมาสู่สำนวนที่ว่า ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ กล่าวคือฉันเป็นผู้ที่เรียนรู้มาก่อน ไม่ต้องเรียนรู้เพิ่มแล้ว แต่ในเมื่อการเรียนรู้ของขงจื่อหมายถึงการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย ผู้ที่อยู่เหนือกว่าก็ควรเรียนรู้เพิ่มเติมผ่านการเปิดกว้างรับฟังด้วย

การนำแนวคิดของขงจื่อไปใช้จนวิวัฒน์กลายเป็นภาพของอำนาจนิยมที่เห็นในปัจจุบัน ก็อาจเข้าใจได้จากเรื่องของลำดับชั้น (hierarchy) เพราะสังคมที่มีมนุษยธรรมของขงจื่อเองก็เป็นชุมชนที่ไม่ได้เท่าเทียมในความหมายปัจจุบัน กล่าวคือ ไม่ได้มีสิทธิหรือเสรีภาพเหมือนในตอนนี้ แต่เป็นสังคมที่ผู้คนมีบทบาทสถานภาพแบ่งเป็นช่วงชั้น แต่ช่วงชั้นนั้นเป็นความเสมอภาคที่ไม่เท่าเทียม

ความเสมอภาคที่ไม่เท่าเทียมคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งเกิดมาเป็นลูกก็จะอยู่ในสถานะลูกซึ่งเป็นช่วงชั้นที่ต่ำกว่าเพราะเขามีพ่อแม่ แต่เมื่อเติบโตขึ้น คนคนนั้นก็จะกลายเป็นพ่อแม่และมีลูกซึ่งอยู่ต่ำกว่าอีกขั้นหนึ่ง กล่าวอีกอย่างคือ คนคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนการครองสถานภาพและบทบาทได้ในเชิงพลวัต เป็นได้ทั้งผู้ที่ต่ำกว่าและสูงกว่า เป็นความเสมอภาคในความหมายนี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีคนเข้าใจว่าวิธีคิดของขงจื่อเป็นการสนับสนุนอำนาจนิยม แต่ถ้าพิจารณาในเนื้อแท้ของปรัชญาก็จะพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ขงจื่อมีวิธีทัดทานความเป็นอำนาจนิยมเหล่านั้น หรือไม่ได้ไปถึงอำนาจนิยมแบบสุดโต่ง

ส่วนประเด็นเรื่องชายเป็นใหญ่ เรื่องนี้ค่อนข้างตอบยาก เพราะเป็นเรื่องที่ขงจื่อถูกวิจารณ์มาตลอด คำตอบนี้อาจจะไม่ถูกใจเฟมินิสต์บางกลุ่ม แต่ถ้าเราดูในแง่ของคำสอนขงจื่อ จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้โฟกัสที่เพศใดเพศหนึ่งเสียทีเดียว เช่นเรื่องของความกตัญญู ก็ไม่ได้บอกว่าเฉพาะลูกชายหรือลูกสาวเท่านั้นที่ต้องกตัญญู ยกเว้นในบริบทการเมืองการปกครองและการสืบสกุลที่จะเน้นความกตัญญูของบุตรชาย หรืออย่างเรื่องการเรียนรู้ ก็ไม่ได้กำหนดว่าเฉพาะเพศชายเท่านั้นที่สามารถทำได้ ผู้หญิงก็ร่ำเรียนได้ ผู้หญิงก็เป็นวิญญูชนได้ แต่พื้นที่ชีวิตของผู้หญิงกับผู้ชายมีความแตกต่าง ในสมัยของขงจื่อ ขงจื่อเน้นความสำคัญของวิญญูชนในการรับราชการ ผู้ที่พาตัวเองไปถึงการเป็นวิญญูชนจนสามารถรับราชการได้ จึงดูเหมือนจำกัดไว้เฉพาะผู้ชาย ดังนั้น เนื้อหาในปรัชญาขงจื่อไม่ถึงขนาดปิดกั้นเพศหญิง

แต่เรื่องที่แย้งยาก คือในคัมภีร์หลุนอี่ว์มีบทสนทนาเกี่ยวกับผู้หญิงน้อยมาก ลักษณะของคัมภีร์หลุนอี่ว์คือเป็นบันทึกบทสนทนาระหว่างขงจื่อกับลูกศิษย์ ผู้ที่บันทึกก็คือบรรณาธิการที่เป็นกลุ่มลูกศิษย์ ดังนั้นก็จะมีการคัดเลือกคำพูดของขงจื่อมารวบรวมเป็นคัมภีร์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 20 เล่ม น่าสนใจว่าทำไมมีเรื่องผู้หญิงน้อย เป็นเพราะลูกศิษย์ไม่ถาม หรืออาจจะถาม แต่บรรณาธิการเห็นว่าไม่น่าสนใจเลยตัดออก

การพูดเรื่องผู้หญิงในคัมภีร์ก็มีอยู่บ้าง ในทำนองว่า ขงจื่อจัดให้ผู้หญิงอยู่ในกลุ่มเดียวกับเสี่ยวเหริน หรือคนใจแคบ ซึ่งขงจื่อมองว่าเป็นกลุ่มที่จัดการยาก แต่การพูดทำนองว่าผู้หญิงเป็นวิญญูชนได้ไหม หรือมีบทบาทอย่างไร มีน้อยมาก จึงไม่แปลกใจที่จะมีภาพว่าขงจื่อไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้หญิง แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าถ้าพิจารณาในเนื้อหาของคำสอนที่เป็นแก่นคิดหลักอย่างมนุษยธรรมและจารีต ก็ไม่ได้มีการแบ่งเพศอยู่แล้ว

มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับขงจื่อและแนวคิดเฟมินิสต์ ซึ่งเป็นที่นิยมมากเมื่อช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยไปดูว่าเนื้อหาคำสอนของขงจื่อสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเฟมินิสต์อย่างไรบ้าง มีคนเสนอว่าวิธีคิดของขงจื่อมีความเข้ากันกับปรัชญาเฟมินิสต์ในเรื่องของ ethics of care กล่าวคือ เหรินในคำสอนของขงจื่อคือการรักมนุษย์ ในขณะที่ปรัชญาเฟมินิสต์เน้นจริยศาสตร์ที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นเครื่องชี้นำทางศีลธรรม ซึ่งผู้หญิงมักมีภาพลักษณ์ว่าใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล จึงมีคนกล่าวว่าคำสอนของขงจื่ออาจเข้ากันได้ดีกับแนวคิดเฟมินิสต์ด้วยซ้ำ

กลับมาที่เรื่องการศึกษา ปรัชญาขงจื่อวิวัฒน์มาอย่างไรจนถูกเอาไปใช้เป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น

หลังจากการล้มสลายของราชวงศ์ฉินซึ่งปกครองอำนาจแบบรวมศูนย์ตามแนวคิดนิตินิยม ราชวงศ์ฮั่นในสมัยต่อมาได้นำคำสอนของขงจื่อมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง เพื่อตอบสนองเป้าหมายการสร้างรัฐที่มีธรรมาภิบาล หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปรัชญาขงจื่อก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น การให้ความสำคัญกับบางคุณธรรมอย่างความกตัญญูและความภักดี แล้วยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการปกครองตามระบบรัฐราชการที่มีลำดับชั้น

การสอบจอหงวนมีความเกี่ยวข้องกับวิธีคิดแบบขงจื่อหรือไม่

ระบบสอบจอหงวนหรือการสอบเข้ารับราชการ ไม่ได้เกิดในยุคของขงจื่อในยุคชุนชิว-จ้านกว๋อ แต่มาเกิดภายหลังในราชวงศ์สุย และยกเลิกในปลายราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีนก่อนที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสังคมนิยม เพราะฉะนั้น ในยุคของขงจื่อไม่มีการสอบอะไรแบบนั้น

การสอบจอหงวนหรือการสอบเข้ารับราชการมีลักษณะเป็นการสอบระดับชาติ เป็นความใฝ่ฝันของคนยุคนั้น การสอบจอหงวนเป็นหนทางสู่การยกระดับฐานะของผู้คนทั้งในแง่เศรษฐกิจและเกียรติยศชื่อเสียง และที่สำคัญคือการสอบจอหงวนไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่เกี่ยวกับลูกท่านหลานเธอ เปิดโอกาสให้มีการสอบอย่างเท่าเทียม แม้ว่าจะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสอบ แต่ก็ถือเป็นการสอบที่มีความยุติธรรมในระดับหนึ่ง คือวัดที่การสอบเลยเพื่อคัดสรรคนที่มีความรู้ความสามารถระดับหัวกะทิ

ส่วนเรื่องความเกี่ยวข้องกับขงจื่อ อาจเกี่ยวในแง่ของลัทธิขงจื่อ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับปรัชญาขงจื่อโดยตรง คือข้อสอบจอหงวน ส่วนหนึ่ง ใช้คัมภีร์หลุนอี่ว์ของสำนักขงจื่อและอรรถกถาที่รัฐยอมรับ มาเป็นเนื้อหาในการสอบ ซึ่งสะท้อนว่ารัฐกำลังบังคับให้ผู้เข้าสอบมีความรู้ชุดเดียวกันโดยใช้การสอบจอหงวนเป็นเครื่องมือ ทำให้ผู้คนซึมซับความรู้นั้นจนอยู่ในวิถีปฏิบัติของชีวิตของเขาด้วย ประมาณว่ารัฐต้องการให้คนในสังคมยึดถือและปฏิบัติตามคุณค่าบางอย่างโดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมายบังคับ แต่ใช้เครื่องมือของการศึกษาผ่านการสอบเข้ารับราชการ ควบคุมผู้คนให้ยอมรับชุดคุณค่าและความรู้นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นเทคนิคของรัฐที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมและควบคุมเรื่องที่อยากให้ประชาชนรู้หรือให้คุณค่า

ปรัชญาขงจื่อเสริมอำนาจให้ฝ่ายปกครองอย่างไร ทำไมรัฐถึงเลือกคำสอนแบบขงจื่อมาเป็นเครื่องมือ

คุณธรรมความกตัญญูที่ขงจื่อยึดถือเป็นหลัก จากเดิมที่ปฏิบัติความกตัญญูกับพ่อแม่เท่านั้น เมื่อกลายเป็นอุดมการณ์ของรัฐ ความกตัญญูได้กลายเป็นความภักดี กลายเป็นนำเอาคำว่า ‘กตัญญู’ และ ‘ภักดี’ มาใช้แทนกันได้ ดังนั้น เมื่อมีการนำขงจื่อมาเป็นอุดมการณ์ของรัฐ ก็เกิดความเข้าใจว่าสองคุณธรรมนี้คือสิ่งเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่ขงจื่อสอน

การที่เรากตัญญูต่อพ่อแม่ เราไม่จำเป็นต้องกตัญญูต่อรัฐ หรือถ้าต้องเลือกให้ความสำคัญ ขงจื่อจะนึกถึงพ่อแม่ก่อน แต่พอคำสอนขงจื่อกลายเป็นอุดมการณ์ของรัฐ กลายเป็นว่าเราให้น้ำหนักของความกตัญญูกับความภักดีแทบจะใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้คนยึดถือความภักดีเป็นหลักเพราะมองว่าเป็นสิ่งที่เหมือนความกตัญญู

เราลองนึกถึงคุณธรรมในคู่ความสัมพันธ์อื่น เช่น เพื่อน-เพื่อน คุณธรรมหลักคือความจริงใจ แต่ทำไมรัฐถึงไม่ใช้คุณธรรมนี้เป็นหลักในการปกครอง ทำไมถึงใช้ความภักดีเป็นเครื่องมือเทียบเคียงกับความกตัญญูโดยทำให้น้ำหนักใกล้กัน เวลาที่เรารักพ่อแม่ จะเห็นได้ว่าเราทั้งรัก เทิดทูน เคารพ และลงแรงแค่ไหน การนำเอาความภักดีมาทำให้เกือบเป็นอย่างเดียวกัน จึงกลายเป็นเครื่องมือในการทำให้คนอยู่ในอาณัติและมองว่าการภักดีต่อรัฐก็เหมือนการกตัญญูต่อบิดามารดา 

จีนมีการพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองครั้งใหญ่ แต่แนวคิดขงจื่อยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ แสดงว่าคำสอนของขงจื่อต้องสอดรับอุดมการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยในสังคมจีน หรือไม่ถูกกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเลย?

ถ้าคำสอนทำให้สังคมเป็นปึกแผ่น เขาก็ยิ่งส่งเสริมด้วยซ้ำ เหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนใช้ขงจื่อเป็นสัญลักษณ์ในการส่งออกและสื่อสารวัฒนธรรมจีนไปทั่วโลก

คุณธรรมบางอย่างซึ่งมาจากขงจื่อยังมีอยู่ในสังคมจีน เช่น ความกตัญญูที่มีมาตลอดในสังคมจีน หรือประเพณีไหว้บรรพชนก็ยังไม่เคยเปลี่ยน ทุกวันนี้ก็ยังมีเทศกาลเชงเม้ง พิธีกรรมเหล่านี้ยังไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นก็อาจพูดได้ว่า อะไรที่ไม่ได้กระทบกระเทือนกับอำนาจรัฐ รัฐบาลจีนก็คงไม่มาอะไรด้วยหรอก

อยากชวนคุยเรื่องคนจีนโพ้นทะเลในไทย ในความเห็นของอาจารย์ คนจีนโพ้นทะเลมีการนำเอาวิธีคิดเรื่องการเรียนแบบปรัชญาขงจื่อที่วิวัฒน์แล้วมาใช้มากน้อยแค่ไหน เช่น อาจยังมีความเชื่อว่าถ้าลูกหลานมีการศึกษาที่ดีก็จะช่วยยกระดับทางสังคมได้ ซึ่งอาจเป็นชุดความคิดที่ใกล้เคียงกับการสอบจอหงวนในสังคมจีน

จะมองให้เชื่อมโยงก็เกี่ยวได้ เพราะปัจจุบันไม่มีการสอบจอหงวนแล้ว แต่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนที่เรียกว่า ‘เกาเข่า’ เป็นเทศกาลการสอบของเด็กกว่า 13 ล้านคนในประเทศจีน ซึ่งก็เหมือนการสอบแอดมิชชันในไทยที่เป็นการสอบใหญ่ระดับประเทศ กรณีนี้คล้ายกับการสอบซูนึงที่เกาหลีใต้เหมือนกัน ที่ห้ามไม่ให้มีเครื่องบินบินผ่านในช่วงสอบ คือเขาจริงจังกันมากในเรื่องนี้ สถานการณ์นี้มีความใกล้เคียงกันมากถึงแม้จะคนละวัฒนธรรม

การสอบแอดมิชชันก็คล้ายกับการสอบจอหงวน แต่ต่างกันตรงที่การสอบจอหงวนมีเป้าหมายเพื่อเข้ารับราชการและยกระดับฐานะ แต่การสอบแอดมิชชันคือการเอาคะแนนไปเลือกมหาวิทยาลัย ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อคุณได้คะแนนดี คุณก็มีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ และมีแนวโน้มหรือการันตีว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต

เรื่องนี้ส่งผลต่อระบบการศึกษา ความเข้าใจของพ่อแม่และตัวเด็กเองมองว่าการสอบครั้งนี้เป็นการสอบที่สำคัญมากในชีวิต จึงทำให้พ่อแม่หรือระบบการศึกษาของไทยเข้มงวดมาก ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่การวางระบบการศึกษาที่ผูกกับการสอบแบบนี้จะทำให้พ่อแม่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนกวดวิชา

แต่หากมองแนวคิดของขงจื่อที่ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต การสอบครั้งนี้ย่อมไม่ใช่ตัวชี้วัดจุดจบของชีวิต เพราะโลกนี้ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ

มักมีมุกตลกที่ชอบแซวว่ามีแต่พวกเอเชียเท่านั้นแหละที่บ้าเรียนหนังสือ บ้าวิชาการ เรื่องนี้เกี่ยวกับแนวคิดแบบขงจื่อที่วิวัฒน์แล้วอย่างไรบ้างไหม

อาจเกี่ยวข้องกับค่านิยมที่ว่าการศึกษานำพาไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งค่านิยมนี้ก็อาจจะมาจากขงจื่อด้วย เพราะขงจื่อให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและการเล่าเรียน แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าขงจื่อมีทั้งเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตและเรื่องของการตั้งสำนักศึกษา แต่ไม่ได้มองว่าต้องเรียนอย่างนี้จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต ขงจื่อมีโจทย์ที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนสังคม ดังนั้นคนที่ขงจื่อต้องการคือคนที่ผ่านการเรียนรู้ขัดเกลาคุณธรรมจริยธรรมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนสังคม

แต่ในกรณีของเรา เป้าหมายคือหน้าที่การงานที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายในเชิงส่วนตัว ไม่ใช่เป้าหมายในทำนองว่าเรียนแล้วจะไปเปลี่ยนประเทศไทยอย่างไร คนที่คิดแบบนี้ก็อาจมีบ้าง แต่ส่วนมากก็คิดว่าจะร่ำรวยหรือประสบความสำเร็จอย่างไร ทำให้ความคิดเรื่องที่ว่าการศึกษานำพาไปสู่ความสำเร็จนั้นมักเป็นความสำเร็จส่วนบุคคล เช่น การตั้งเป้าหมายจะเป็นอายุน้อยร้อยล้าน การที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นก็มีการศึกษาเป็นใบเบิกทาง เหมือนว่าเขาไม่เห็นช่องทางอื่นในความสำเร็จเลย แต่เรื่องนี้ก็พูดยาก เนื่องจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ทำให้เห็นว่าแม้ไม่ได้รับการศึกษาในระบบก็ประสบความสำเร็จได้

ในจีนมีข่าวว่ามีคนเรียนจบปริญญาโทสองใบแต่ต้องไปทำงานร้านฟาสต์ฟู้ด เหมือนคนในปัจจุบันเริ่มเห็นแล้วว่าการศึกษาไม่ใช่ใบเบิกทางไปสู่ความสำเร็จอีกต่อไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้คนในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปในเรื่องมุมมองการศึกษา แต่คุณค่าและความเข้าใจนี้ยังมีอยู่ เพราะยังอยู่ในคำสอนของพ่อแม่ที่บังคับให้ลูกทำตาม

อาจารย์มองว่าการศึกษาในระบบมีเหรินอยู่ในนั้นไหม เพราะเมื่อเด็กถูกจับเข้าสู่โหมดวิชาการ ไม่แน่ใจว่าเขาถูกสอนเรื่องมนุษยธรรมแค่ไหน

เรื่องนี้โยงกับคำถามที่ว่าเราจะนำขงจื่อมาปรับใช้อย่างไรกับเรื่องของการศึกษา ถามว่าไทยเรามีวิชาคุณธรรมจริยธรรมเหมือนอย่างในจีนไหม เรามีนะ แต่คือวิชาพระพุทธศาสนา วิชาหน้าที่พลเมือง เป็นการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมในรายวิชาเหล่านี้

หลายปีก่อน ตัวเองเคยทำวิจัยโดยการไปดูแบบเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองและวิชาพระพุทธศาสนาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย สิ่งที่พบคือแบบเรียนเหล่านี้มีรูปแบบที่ชัดเจนในการผลิตซ้ำว่าคุณธรรมจริยธรรมคืออะไร และจะโยงกับจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนา เมื่อเทียบกับขงจื่อในประเทศจีนก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน คือเมื่อเขาต้องการสอนให้คนยึดถือคุณธรรมแบบขงจื่อ เขาก็ใช้แบบเรียนหรือรายวิชาเหมือนกัน แต่เมื่อสะท้อนจากแบบเรียนของเรา เราสอนคุณธรรมจริยธรรมที่ขาดการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ เช่นให้ท่องเป็นข้อๆ ว่าเด็กดีเป็นอย่างไร ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ เด็กดีต้องทำงานบ้าน เด็กดีต้องทำการบ้านส่ง ฯลฯ การศึกษาไทยเน้นท่องจำแต่ไม่ได้สอนเรื่องการปฏิบัติจริงและการคิดเชิงวิพากษ์

ขอยกตัวอย่างคำสอนของจื่อที่ดีและควรนำมาปรับใช้

หนึ่ง ขงจื่อให้มองว่าการศึกษาในเชิงทฤษฎีหรือวิชาการและคุณธรรมจริยธรรมต้องมาคู่กัน แต่ของเราจะเน้นเรื่องวิชาการ ต้องเก่งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือภาษา แต่เรื่องคุณธรรมจริยธรรมกลับโยนไปให้วัด ให้ไปเข้าค่ายพุทธศาสนา จบค่ายมา ลูกเราเป็นคนดีแล้ว ซึ่งเป็นการมองที่ง่ายเกินไป ขงจื่อมองว่าคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องร่ำเรียน แม้จะอยู่ที่บ้าน และมองว่าเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โยงกับคำถามที่ว่าจะสร้างคนให้เป็นวิญญูชนอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ชอบของขงจื่อคือการที่เราควรมีแรงบันดาลใจในการร่ำเรียนพัฒนาตน ขงจื่อเองก็มีโจวกงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างในการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคสมัยนั้น หมายความว่า ถ้าจะให้เด็กหรือคนคนหนึ่งทำอะไรสักอย่างโดยการยื่นแบบเรียนให้แล้วไปท่องมา เขาอาจจะไม่ทำ หรือสักแต่ว่าทำ เว้นแต่จะใช้อำนาจนิยมโดยการสั่งหรือลงโทษ แต่วิธีคิดแบบขงจื่อคือต้องสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งการสร้างแรงบันดาลใจที่ง่ายที่สุดคือ ‘การสร้างคนต้นแบบ’ เป็นได้ทั้งคนใกล้ตัวและคนไกลตัว

ในแบบเรียนของเรา เวลาที่สอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม มีการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กน้อยมาก และเมื่อพูดถึงคนต้นแบบ ในแบบเรียนไทยมักจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ แล้วคิดว่าเด็กๆ จะเชื่อมโยงตัวเองกับบุคคลเหล่านั้นได้ เช่นในแบบเรียนบอกว่าเราควรจะขยันหมั่นเพียรเหมือนพระท่าน แต่ความขยันของพระกับของฆราวาสย่อมต่างกัน พระสงฆ์มีการถือศีลซึ่งเป็นวินัยของพระอยู่แล้ว แต่มนุษย์ที่เป็นคนต้นแบบจริงๆ ที่เชื่อมโยงกับบริบทชีวิตของผู้เรียนที่หลากหลายไม่มีในแบบเรียน สิ่งที่แบบเรียนสอนไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจ และไม่ใช่ต้นแบบที่สามารถสร้างแรงบันดาลให้เราปฏิบัติตามได้อย่างแท้จริง

ในงานวิจัยที่ตนเองทำได้ลองไปสำรวจความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาว่าเขามองใครเป็นไอดอล มองใครเป็นคนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม เด็กๆ ก็ตอบว่าพี่ตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำวงบอดี้แสลม) เป็นอันดับต้นๆ แล้วก็มีณเดชน์-ญาญ่า มีคนตอบประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วยนะ

แต่มีคำตอบอยู่ชุดหนึ่งที่ใกล้เคียงกับความคิดของขงจื่อมากคือ ‘พ่อแม่’ คือเขาตอบถึงคนใกล้ชิด เขามีคนในครอบครัวเป็นคนต้นแบบ ทำให้เห็นว่าทำไมขงจื่อถึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำไมคุณธรรมต้องเรียนรู้ขัดเกลาในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ใช่อยู่ในตำราเรียน

แล้วในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้เรียน เราควรจะออกแบบการศึกษาอย่างไร

ขงจื่อมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์คือเพื่อนทางปัญญากันเวลาที่ขงจื่อคุยกับลูกศิษย์ ขงจื่อมีลักษณะของการตั้งคำถามให้คิดแล้วเปิดกว้าง ขงจื่อไม่ได้บีบให้ต้องคิดแบบนี้เท่านั้นหรือต้องเชื่อสิ่งที่ครูสอนเท่านั้น แต่ขงจื่อจะเปิดโอกาสให้คิดและค่อนข้างรับฟัง แน่นอนว่ามีบางความคิดที่ขงจื่อไม่เห็นด้วย แต่ขงจื่อก็มีวิธีการแสดงความไม่เห็นด้วยนั้นออกมาโดยวิธีบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น และทำให้ความสัมพันธ์ศิษย์กับอาจารย์ยังคงอยู่ได้ ลูกศิษย์ก็จะรู้ว่ากำลังถูกสั่งสอนโดยไม่ใช่การชี้นิ้ว

อริสโตเติลก็มีการพูดถึงประเด็นนี้ว่า เพื่อนทางปัญญาคือการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมของต่างฝ่ายให้งอกเงย คิดแบบขงจื่อก็คล้ายกัน คือเพื่อนทางปัญญาไม่ใช่แค่คู่คิด แต่ต้องส่งเสริมพัฒนาและกล่อมเกลาจริยธรรมกันและกัน

ถ้ามองในแง่ของครูในไทย ก็ต้องปรับที่ตัวครูในทุกระดับเป็นหลัก เช่น วิธีคิดของครู ต้องเข้าใจก่อนว่าการพัฒนาคุณธรรมไม่ใช่การบอกว่าคุณต้องทำหนึ่ง สอง สาม สี่ แต่คือการกระตุ้นให้เขาคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ เยอะๆ ซึ่งเรื่องนี้ใช้ขงจื่ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้วิชาปรัชญา ซึ่งทักษะที่ปรัชญาสอนได้ดีคือการคิดเชิงวิพากษ์ แล้วค่อยนำไปสู่เป็นการถกเถียงกัน ช่วยกันคิด-คุย ซึ่งจะเป็นกระบวนการเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมที่ไม่จำกัดอยู่ในกรอบ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world