เห็นหน้าโหดๆ ตัวใหญ่เสียงดังอย่างนี้ ‘แบด’ ทรงวุฒิ อัศวพฤกษชาติ ตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คือหนึ่งในผู้ใหญ่ไม่กี่คนที่เด็กเดินเข้ามากอดคอ
ก่อนเข้ามาทำงานกับ กสศ. แบด ทำงานดูแลพวกเด็ก เยาวชน แม่วัยรุ่น เด็กติดยาเสพติด อยู่ก่อนแล้ว แต่พอเข้ามาโดยเนื้องานแบดเหมือนเป็นตัวกลางประสานสิบทิศของทุกหน่วย เหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก การทำงานเพื่อให้ทุกทีมเข้าใจในแกนกลางร่วมกัน
เรียกว่าเป็นงานยาก แต่งานนี้ราบรื่นมากขึ้นเพราะปลายทางที่ทุกคนมีร่วมกันคือ ‘ปิดแผลใจ’ ให้เด็กๆ เยาวชนนอกระบบการศึกษาที่อัปเดตล่าสุดในปี 2567 ที่ผ่านมา มีอยู่กว่า 880,000 คน
“เค้าเจออะไรมาหนักกว่าที่เราคิด เขากำลังเอาตัวรอดแบบของตัวเอง มันไม่ได้ผิดเลยที่มนุษย์เด็กหนึ่งคนจะเอาชีวิตรอด ปัญหาก็คือเรามองว่าสิ่งที่เขากำลังกระเสือกกระสนเอาตัวรอดเป็นเรื่องที่เราพร้อมจะเบียดขับเขาออกไป หรือมองว่าเขาแตกต่าง” แบดตอบด้วยการถามกลับในช่วงท้ายของการสนทนา
จากการเก็บข้อมูลของกสศ. เด็กเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบไม่สามารถแบ่งกลุ่มหรือจัดประเภทได้เบ็ดเสร็จด้วยคำๆ เดียว เด็กผู้หญิงบางคนเจอทั้งความรุนแรงในครอบครัว แม่วัยรุ่น และ การบุลลี่จากคนข้างบ้าน เด็กผู้ชายหลายคนเผชิญทั้งยาเสพติด ไร้สถานะบุคคล และปัญหาปากท้อง
ดังนั้นการไปแปะป้ายว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร มันจึงทำไม่ได้และไม่ควร
สำหรับเด็กบางคน ป่าช้าจึงปลอดภัยมากกว่าบ้าน เช่นเดียวกับที่ผู้ชายร่างใหญ่หน้าโหดคนนี้ ถึงจะไม่ได้ผูกพันโดยสายเลือด แต่กับเขา เด็กๆ รู้สึกปลอดภัย สนิทใจ มากกว่าคนในครอบครัว

พื้นที่ปลอดภัยเริ่มจากทีมที่เท่ากัน
ก่อนจะไปสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กๆ ทีมงานในทุกหน่วยของ กสศ. ก็ต้องเข้าใจความเป็นพื้นที่ปลอดภัยในความหมายเดียวกัน และที่สำคัญต้องสร้างบรรยากาศในแบบที่ทุกคนเท่ากันให้ได้ก่อน
ทีมเวิร์คที่มาจาก 40 หน่วยการเรียนรู้ทุกทิศทั่วไทย ทุกคนมาอย่างเข้มขึงตึงแน่น แบดเลยวางตัวเองเป็นสายหย่อน สายแหย่ หรือจะเรียกสายเย้าเพื่อเข้าหาก่อน
“คอยหาจังหวะไปเย้าหรือจับเขามาชนกัน ทำให้เขาทะเลาะกันนิดหน่อย แกล้งกัน เพื่อให้บรรยากาศมันดีขึ้น สร้างบรรยากาศของการเท่ากัน ทั้งทีมกลาง ทีมหนุนเสริมภาค และหน่วยจัดการ แต่ละหน่วยการเรียนรู้ (40 หน่วย) มีวิธีการจัดการของเขา ถ้าเข้าไปในแบบที่ตั้งใจไปสอนเขา มันก็ไม่เท่ากันแล้ว แต่เราเข้าไปเป็นเพื่อนเขา ไปเรียนรู้ร่วมกับเขา เราไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่าเขา ถ้าตั้งต้นตรงนี้เราจะอยู่กับขบวนได้ แบบนั้นแหละเราถึงจะพูดความเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างเต็มปาก”
ถ้าทีมทำงานเริ่มนับหนึ่งจากการเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งกันและกันก่อน จะทำให้เด็กๆ นอกระบบที่เข้าไปทำงานด้วยรู้สึกว่าผู้ใหญ่กลุ่มนี้ ไม่ปลอม
“ถ้ามันไม่เป็นเนื้อเป็นตัวเรา แล้วเราไปพูดว่าเราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก แต่บรรยากาศการทำงานของเรายังเป็นบรรยากาศที่ไม่ปลอดภัย ไม่เท่ากันอยู่ มันจะปลอมและสะท้อนไปถึงพื้นที่”
เพราะโดยพื้นฐานและประสบการณ์ร้อยแปดที่เด็กๆ กลุ่มนี้เจอมา เค้าจะมีเรดาห์ในการมองคนที่ละเอียดอ่อนมาก อย่างที่แบดบอกว่าพวกเขาโดนมาเยอะ
“เขาจะเจอทัศนะ เจอสีหน้า แววตา ในทุกมุม ช่วงเวลาของวัน ทุกช่วงชีวิต เขาจะถูกกระทำแบบนั้นตลอด เรดาร์เขาจะแรงกว่าเด็กทั่วไป เขาจะขัดเกลาเซนส์ด้านนี้มากกว่าพวกเรา เพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อให้มีชีวิตรอด เด็กบางคนถึงทนโรงเรียนไม่ได้ ทุกพื้นที่ มัน Judge (ตัดสิน) เขาหมดเลย”

ดื้อก็บอกว่าดื้อ
แบดออกตัวว่า เขาเองก็ไม่ได้เข้าถึงเด็กทุกคน เขาแค่ไม่สนใจจะจัดหมวดหรือแบ่งประเภทว่าเป็นเด็กกลุ่มไหน
“ผมแค่รู้สึกว่าเด็กพวกนี้ก็คือเด็กพวกนี้ แค่นั้น เรารู้ว่าเขาเป็นเด็กที่สนุก มีศักยภาพ สดใส ดื้อ เราก็บอกว่าพวกมึงดื้อมาเลยนะ เราจะเปิดเผยกับเขาว่าเรารู้สึกยังไง ไม่ได้มีบรรยากาศของการตัดสิน รู้สึกยังไงก็บอกเขาแบบนั้น”
แบดขยาย ‘ความไม่ปลอม’ อีกได้ว่า คือการไม่ปฏิบัติกับเด็กว่าเขาคือคนพิเศษ โดยเฉพาะเด็กที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าเขากลับตัวกลับใจได้แล้ว
“เขาก็เป็นเด็กปกติที่มีดื้อและดี เพราะฉะนั้นเวลาดื้อเราก็บอกว่ามันดื้อ ไม่ไหวแล้ว เดี๋ยวจะส่งคืนพี่เลี้ยงแล้ว”
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของแบด คือ ต้นแบบที่เด็กกลุ่มนี้ไม่ค่อยปิดประตูใส่ ส่วนใหญ่ออกแนวขบถ เพราะพวกเขารู้สึกว่า กฎระเบียบทั้งหลายที่สังคมตั้งมา มันไม่ใช่กฎที่ถูกใช้เพื่อปกป้องพวกเขา
มีอยู่ครั้งหนึ่งแบดทำกิจกรรมโดยให้เด็กกลุ่มนี้ลองตั้งกฎระเบียบสักอย่างขึ้นมาเอง ผลที่ได้คือล้มเหลวทั้งหมด
“เด็ก 60 คน ให้จรวดกระดาษคนละหนึ่งอัน บอกเขาว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่า ตัวเองต้องการออกกฎระเบียบบางอย่างเพื่อคุมคนทั้งห้อง ก็แค่พุ่งจรวดขึ้นมาบนเวที เชื่อไหม ตลอดทั้งวัน จรวดพุ่งเป็น 0 แปลกมากนะ ทั้งที่เราบอกตั้งแต่แรกว่า ถ้าชนะเกมจะได้รางวัลใหญ่มาก กฎนี้ออกมาเพื่อให้ตัวเองชนะ ให้คุมตัวเองและคุมเพื่อนทั้งหมดด้วย เช่น ถ้ามีเสียงนกหวีด ทุกคนจะต้องเงียบหมด แต่ทั้งวัน 6 ชั่วโมง จรวดไม่พุ่งเลยสักอันเพราะไม่มีเด็กคนไหนออกกฎ”
ทั้งที่ตามสัญชาติญาณแล้ว มนุษย์ต้องการควบคุมอะไรบางอย่างผ่านกฎระเบียบเสมอ แบดชวนคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่เด็กๆ กลุ่มนี้ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ เลยใช้มันไม่เป็น แต่พอไปถามเด็กจริงๆ คำตอบกลับเป็นอีกอย่าง
“เด็กๆ ส่วนใหญ่ มันบอกว่ากลัวว่ากฎที่ตั้งมาจะไปทำร้ายเพื่อนคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าใช้อำนาจไม่เป็นหรือไม่รู้จัก แต่เขาคงอยู่กับกฎที่มาทำร้ายความรู้สึกตัวเองมาตลอด”
เฉพาะท่อนนี้ แบดสรุปให้เราฟังว่าเพราะที่ผ่านมา บรรทัดฐาน ระเบียบ หรือกฎที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อปกป้องเด็กกลุ่มนี้ ตรงกันข้ามกลับสร้างขึ้นมาเพื่อทำร้าย เมื่อเด็กๆ มีอำนาจแบบนี้อยู่ในมือ ก็ไม่มีใครอยากใช้มัน ถึงจะเป็นแค่เกมก็เถอะ

ตีตราแบบไหน เขาก็จะเป็นแบบนั้น
สิ่งที่แบดเล่ามาข้างต้นไม่ได้เพื่อจะบอกว่าเด็กทุกคนล้วนดี แต่สิ่งที่พวกเขามีมากกว่าเด็กคนอื่นๆ คือการถูกตัดสิน ตีตรา และมองมาด้วยสายตาปนอคติ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ แต่อคติที่ทำร้ายพวกเขามากที่สุดคืออคติที่มาจากคนที่พ่อแม่และคนที่เค้ารัก
“ด้วยความที่เป็นเด็กนอกระบบแล้วไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กเหล่านี้มักจะถูกมองว่าขี้เกียจ โง่ คำพูดเหล่านี้มันมีพลังมากตามความสัมพันธ์ ยิ่งคนที่เขารักมาก นับถือมากแค่ไหน มันจะสะท้อนและทำร้ายเขามาก ยกตัวอย่าง ป้าข้างบ้านด่าเรื่องนี้กับพ่อแม่ด่าเรื่องนี้ ต่างกันเลย เขารักพ่อแม่มาก แต่กลับกลายเป็นว่าพ่อแม่ด่าเขาเหมือนอย่างที่คนในสังคมด่า มันเป็นอะไรที่แรงมากๆ”
แต่ก็ไม่ใช่ว่าคำตัดสินจากคนนอกจะทำอะไรพวกเขาไม่ได้ ทำได้และพวกเขาเลือกที่จะทำกลับด้วย
“สังคมมักมองว่าเด็กพวกนี้เกเร มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เป็นปัญหาของสังคม หน้าผากปั๊มตัวแดงเลยว่า มีปัญหา เหี้ยแน่ๆ โดยที่ไม่ได้คุยกับเค้าด้วยซ้ำ เด็กเหล่านี้ ตีตราเขาแบบไหนเขาก็จะเป็นแบบนั้นให้เห็นแหละ แต่เขาจะเลือกเป็นกับคนที่ว่าเขา เด็กกลุ่มนี้เหมือนเป็นกระจกสะท้อนพวกเรา”
การทำตัวให้เป็นอย่างที่ถูกตราหน้าหรือด่าว่า ลึกๆ แล้ว แบดบอกว่ามันคือการเอาตัวรอด หรือการสู้กลับในแบบของเด็กๆ
“เขาอยากจะทำให้คนที่ทำร้ายเขาเจ็บปวดพอๆ กับเขา ถ้าชุมชนทำร้ายเขา แล้วชุมชนดูทุกข์มากในความเหี้ยของเขา งั้นก็จงทุกข์ไปด้วยกันนี่แหละ ผมมองว่าเขาก็จะสู้ คือเขาจะตอบสนองต่อความรู้สึกต่อความคาดหวังในแบบที่เขารู้สึกสบายใจ แล้วความสบายใจของเด็กเหล่านี้ก็คือทำให้คนกลุ่มนี้เจ็บปวด”
สภาพครอบครัวที่แหว่งกลาง เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แต่อยู่กับปู่ย่าตายาย ขณะที่ชุมชนยังยึดติดกับความเชื่อเดิมว่าเด็กดีต้องมีพ่อแม่เลี้ยงดูใกล้ชิด ทำให้เด็กที่ดูเหมือนไม่มีพ่อแม่เหล่านี้ โดยอคติซ้อนทับไปอีก
“ที่เห็นแว้นมอเตอร์ไซค์ ไปอยู่ตามป่าช้า อยู่ข้างสนามฟุตบอล ดูดบุหรี่ พวกนี้ครอบครัวไม่ปกติหรอก ไม่มีพ่อแม่ ซึ่งผมก็ว่าไม่ผิด บางทีมีพ่อแม่ก็เหมือนไม่มี เราไม่สามารถถามเด็กๆ ได้ว่าวันนี้พ่อหรือแม่มารับ
สำหรับเด็กบางคนการถามเรื่องพ่อแม่อาจจะเป็นเรื่องเจ็บปวดที่สุด และไม่ใช่เจ็บปวดเพราะความคิดถึง
“แต่เจ็บเพราะคนที่เพิ่งถูกสองคนนี้ทำร้าย เลยต้องหนีออกมานี่ไง”
นอกจากเด็กไม่มีพ่อมีแม่ ป้ายต่างๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ถูกแปะ เช่น เด็กไม่มีการศึกษา เด็กเหล่านี้ไม่ดีเพราะไม่มีการศึกษา แบดมองว่าป้ายเหล่านี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาเป็นทางรอดเดียว เมื่อไม่มีหรือหลุดออกมาก็ยิ่งเป็นแส้ที่หวดซ้ำ
แบดยอมรับว่าเด็กก็คือมนุษย์ มีบางคนที่ไม่เอาไหนก็จริง แต่อยากชวนคิดอีกมุมว่า บางทีโรงเรียนอาจไม่เหมาะกับพวกเขา และบางคนถูกคนในกระบวนการศึกษาทำร้าย
“แล้วผู้ใหญ่ก็อยากจะให้เขากลับไปอยู่ในสถานที่ที่ทำร้ายเขา มุมมองผมคือสงสารพวกมัน”

ปิดแผลใจ-เรียนรู้ได้ในพื้นที่ปลอดภัย
แบดยังคงเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ดี แต่คำถามสำคัญกว่าคือทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้สึกว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้ปลอดภัย เพราะถ้าพื้นที่ไหนไม่มีพิษมีภัย ไม่ต้องบังคับ เด็กๆ จะหาทางกลับไปด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน หรือชุมชน
“ชอยส์แรกๆ ที่เขาจะเลือกเลย คือมันปลอดภัย ตัวเขาเองไม่รู้ตัวหรอกว่าสัญชาติญาณจะเลือกไปอยู่ในที่ที่มันปลอดภัย สำหรับพวกเขาป่าช้าคือที่ปลอดภัย ถ้าเป็นเราสมัยก่อนก็คงวิ่งเล่นอยู่ตามลานวัด พื้นที่ทั่วไปตามหมู่บ้าน ชุมชน เดี๋ยวนี้มันไม่มี วิ่งลานวัดบางทียังโดนว่าเลย ไปตรงไหนก็โดนบ่น ย่ำไปในสนามฟุตบอลโรงเรียนยังโดนห้ามเลย ไม่ใช่ว่าการศึกษาไม่ดีกับเด็กพวกนี้ แต่ถ้าเลือกได้ เขาจะไปในที่ที่รู้สึกปลอดภัย
แล้วคำว่าปลอดภัยของเขาแปลว่าอะไรได้บ้าง
ก่อนจะไปถึงการถอดสมการของคำว่าปลอดภัย ในฐานะที่คลุกคลีกับเด็กมานาน แบดอยากชวนให้ตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่า เด็กๆ พวกนี้จะต้องเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง
“จริงๆ แล้วผมก็เรียนมาแบบนั้น นักจิตวิทยาต้องทำให้ข้างในเข้มแข็ง แต่สังคมตัดสินเด็กๆ ด้วยคำนี้ตลอด แล้วก็พูดต่อว่า ดีร้ายยังไงก็ขึ้นอยู่กับตัวพวกหนูเอง คำนี้ โคตรจะทำร้ายเลยนะ”
แบดจึงบอกว่า พื้นที่ปลอดภัยจึงสร้างไม่ได้ด้วยคำพูด เพราะพื้นที่ปลอดภัยมันไม่ใช่สถานที่แต่เป็นบรรยากาศ
ก่อนจะเข้าไปหาเด็ก สิ่งที่ควรทำคือสำรวจตัวเองว่าจะเข้าไปหาพวกเขาด้วยความรู้สึกแบบไหน และ ต้องการอะไร
“คนที่เข้าไปอาจไม่ได้รู้สึกว่าเด็กพวกนี้มีปัญหา แต่กลัวพวกเขา นั่นแปลว่าไม่ใช่พวกเดียวกับเขาแล้ว หรือบางกลุ่มไปแบบเหนือ แล้วเด็กพวกนี้จะหนีไปเลยนะ”
ฉะนั้น สิ่งที่แบดและทุกหน่วยการเรียนรู้ของกสศ. พยายามจะทำคือ สร้างบรรยากาศของความเท่ากัน และเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้มีศักยภาพ เชื่อแบบที่เด็กมองออกว่าไม่ปลอมด้วย

“บรรยากาศของความเท่ากันมันจะถูกสร้างขึ้นผ่านการจัดความสัมพันธ์ใหม่ เพราะแบดเองก็ทำงานกับเด็กพวกนี้มานานจนมีบรรยากาศรอบตัวในอีกรูปแบบหนึ่ง ในแบบที่เรารู้ว่า เออ เป็นแบบนี้ และในหัวจิตหัวใจเรา เนื้อตัวเราก็เป็นแบบนี้ บรรยากาศรอบตัวเราก็เลยเป็นแบบนี้ เด็กพวกนี้ก็จะชอบมาก”
แบดเองไม่มีฮาวทูหนึ่งสองสามสี่ มีแต่ความเชื่อว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาวและพวกเขาเจออะไรมาหนักกว่าที่คิด ที่สำคัญ พวกเขาไม่ต้องการความสงสาร
“พวกเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือโดยที่ยังไม่เข้าใจ เขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ต้องการความสงสาร แค่อยากให้มีใครที่เข้าใจเขาจริงๆ เราเห็นได้ด้วยตา แต่ถ้าเราอยู่กับเขานานพอ เราจะได้กลิ่นด้วย”
กลิ่นอะไร เราถาม
กลิ่นของความทุกข์ – แบดตอบทันที
“เราอยู่กับเขานานพอหรือยัง เราอยู่ในระยะที่เห็นได้อยู่แล้วล่ะ แต่คุณใกล้พอที่จะได้กลิ่นของความทุกข์มั้ย ได้กลิ่นการต่อสู้ในแบบของพวกเขามั้ย ถ้าจะอยู่กับเด็กเหล่านี้ต้องใกล้จนได้กลิ่น ถ้าคุณแค่เห็น คุณก็แค่เห็น แต่ถ้ายังไม่ใกล้พอจะได้กลิ่น”
เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง
ภาพประกอบ : บัว คำดี