“ถ้าดีแปลว่าดี แต่ไม่ดีก็ไม่ได้แปลว่าเลว” คุยเรื่อง ‘พื้นที่ของเด็ก’ กับผู้ใหญ่ นเรศ สงเคราะห์สุข ที่มองว่า เมื่อรู้สึกอิสระ เด็กๆ จะไม่กลัวที่จะแสดงศักยภาพ

“ถ้าดีแปลว่าดี แต่ไม่ดีก็ไม่ได้แปลว่าเลว” คุยเรื่อง ‘พื้นที่ของเด็ก’ กับผู้ใหญ่ นเรศ สงเคราะห์สุข ที่มองว่า เมื่อรู้สึกอิสระ เด็กๆ จะไม่กลัวที่จะแสดงศักยภาพ

3 เหตุผลที่เจอหลังจากที่ นเรศ สงเคราะห์สุข หรืออาจารย์ต๋อม รองหัวหน้าโครงการหนุนเสริมทางวิชาการและการจัดการความรู้สำหรับการพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงหน้างานคุยกับเด็ก และศึกษาเรื่อง ‘ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ ภายใต้สถานการณ์ของ ‘เด็กหลุดระบบ’ ในโครงการ Thailand Zero Dropout  ทำให้อ.ต๋อมเริ่มเข้าใจว่าการโยนเชือกให้เด็กเหล่านี้ปีนขึ้นมาสู่ระบบการศึกษา อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดี และตอบโจทย์ที่สุด 

“ผมตั้งคำถามก่อนเลยว่าทำไมเด็กถึงหลุดระบบ”

เหตุผลข้อแรก เด็กถูกบุลลี่ หรือถูกกลั่นแกล้งด้วยคำพูดทั้งในระดับคนรอบข้าง รอบตัว ครอบครัว และเพื่อนๆ ในโรงเรียน จนถึงคุณครู 

“มีเด็กชาติพันธุ์ ในโรงเรียน พวกเขาก็ถูกล้อ หรือโดนล้อร่างกาย ล้อความพิการ หลายที่จากการลงไปสำรวจคือโดนจากครู”

เหตุผลข้อที่สอง ความไม่พร้อมในทางเศรษฐกิจของเด็กและครอบครัว  “เราพบว่าเด็กพันกว่าคนต้องทำมาหากิน แม้เขาจะเข้าใจว่าการการเรียนรู้มันสำคัญยังไง แต่เขาก็ไปเรียนไม่ได้” 

เหตุผลข้อสุดท้าย ระบบการศึกษาที่ไม่สามารถรองรับความแตกต่างของบริบทหรือเงื่อนไขของเด็กแต่ละคนได้

“คำว่าไม่พร้อมหมายความว่าความสามารถของระบบมันแข็งไป ไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับ เราเคยเจอเด็กที่สอบได้คะแนนดี แต่ไม่อยากมาเรียนเพราะเมื่อมาเรียนเขาเจอสิ่งที่ไม่อยากเจอ แต่ถ้าเป็นงานกีฬา งานส่วนรวม เขาพร้อมมาช่วย แต่ประเด็นคือโรงเรียนก็ยังใช้มาตรการว่าถ้าคุณไม่มาครบตามเรียนคุณจะติด ‘มส’ คือไม่มีสิทธิสอบ” 

สำหรับอ.ต๋อม การทำงานเรื่องเด็กหลุดระบบต้องอาศัยการทำงานระยะยาว พร้อมความร่วมมือจากหลายส่วนและบางคำถามที่โยนไปอาจจะตอบไม่ได้ในทันที เพราะยิ่งเป็นเรื่องเด็ก ยิ่งต้องคิดเยอะ แต่คำตอบหนึ่งที่อ.ต๋อม สามารถตอบได้เลยก็คือ 

“การแก้ปัญหาเราต้องทำงานอีกเยอะ ไม่ใช่แค่ตามตัวเด็กที่หายไป ผมคิดว่าทางรอดทางเดียว และเป็นทางตั้งต้นสามารถช่วยแก้ปัญหาระยะยาวได้ คือพื้นที่ปลอดภัย”

อะไรคือ ‘พื้นที่ไม่ปลอดภัย’

ตอนนี้อะไรๆ ก็ใช้คำว่าพื้นที่ปลอดภัย ความหมายของพื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริงสำหรับ ‘เด็กหลุดระบบการศึกษา’ คืออะไร และ ‘พื้นที่ไม่ปลอดภัย’ คืออะไร

อ.ต๋อมบอกว่าหลังจากที่รู้เหตุผลที่ทำให้เด็กหลุดระบบแล้ว คำถามสำคัญต่อมาคือหลุดแล้วเจออะไร ซึ่งสามารถพูดรวมๆ คือ เรื่องยาเสพติด การพนัน การขาดพื้นที่ปลอดภัย การละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะด้านการจ้างงาน 

“ผมเจอเด็กนอกระบบที่ไปพลาดติดการพนันออนไลน์เยอะนะ แล้วมันถอนตัวออกมายากมาก ไม่ยาก็การพนัน ไม่การพนันก็อะไรสักอย่าง รวมถึงสังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่กันบนหน้าที่ เพราะฉะนั้นเด็กก็ต้องไม่มีพฤติกรรมอะไรที่เด็กเขาไม่ทำกัน ถ้าเรายังยึดแบบเดิมว่าเด็กควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร อันนี้จึงเกิดสภาวะที่เราเรียกว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยมันจึงจำกัด และการจ้างงานที่อยู่นอกระบบ อย่างรับจ้างเก็บข้าวโพด ทำไร่ นู่นนี่ มันสามารถขูดรีดแรงงานคนกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะน้องที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีสัญชาติ ยิ่งหนักไปใหญ่ อันนี้คือสภาวะที่เขาต้องเผชิญ”

ปลายทางของเด็กหลุดระบบไม่ใช่ปลายทางที่ใครคนไหนอยากเผชิญ ซึ่งต้นทางจริงๆ ของปัญหาเด็กหลุดระบบระดับราก อ.ต๋อมคิดว่าเป็นวิธีคิดของสังคมที่เป็นปัญหา

“วิธีคิดใหญ่ที่สุดคือสังคมไทยนิยมเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องเด็กไม่เรียน ผมว่านี่คือโจทย์ใหญ่มาก พอเราใช้วิธีแก้ปัญหาแบบถ้าผมยาว ก็กล้อนผมซึ่งเป็นวิธีที่เรารู้สึกว่ามันใช้ได้ โดยที่เราไม่ได้ดูวิธีคิดว่าจะเชื่อมโยงว่าจะมีอะไรเสียหายตามมา”

การที่สังคมอยู่บนฐานคิดแบบสุดโต่งว่าเมื่อเจอเด็กที่ไม่อยู่ในกรอบ หรือขอบเขตที่คาดหวังแต่เด็กไม่ทำตามนั้นก็ลงมือด้วยการจัดการแบบเด็ดขาด 

“สังคมไทยเป็นวิธีคิดที่สุดโต่งขาวดำมาก ถ้าดีแปลว่าดี ถ้าไม่ดีแปลว่าเลว อันนี้เป็นปัญหา หรือว่าเราสนใจแต่พฤติกรรม ไม่พร้อมจะเข้าใจเงื่อนไขอะไรที่มากกว่านั้น คือเราไม่พร้อมจริงๆ ที่จะเข้าใจคน เข้าใจเด็ก แล้วไม่อยากจะฟังด้วย การตัดสินจากพฤติกรรมจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นวิธีคิดเป็นรากที่ต้องทำงานอีกเยอะ”

และรากปัญหาสุดท้ายคือตัวระบบที่จะสนับสนุนเด็กๆ ที่มียังแยกส่วน และไม่ปลอดภัยกับเด็กบางคน 

“ยกกรณีแม่วัยรุ่น เราพบว่าตัวระบบรัฐเป็นระบบแยกส่วน ไม่เชื่อมโยง เวลาเราดูปัญหาของแม่วัยรุ่น ปัญหามันซับซ้อน ไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพ มันมีเรื่องสังคม เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรุนแรง คำถามคือไม่มีทางเลยที่เราจะสามารถดีลกับหน่วยงานของรัฐ แล้วแก้ปัญหานี้ได้ เพราะรัฐถูกออกแบบด้วยฟังก์ชันแยกส่วน” 

สิ่งที่อ.ต๋อมพูดมาทั้งหมดอาจจะไม่สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กคืออะไร แต่จากการยกตัวอย่างก็ทำให้เห็นภาพว่าปัญหาของเด็กหลุดระบบไม่ใช่แค่เด็กเกเร เด็กไม่อยากเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มีอะไรที่ลงลึกกว่านั้นที่ทำหน้าที่ถึงฐานความคิดของสังคม

พื้นที่ปลอดภัยได้ คือพื้นที่ของเด็กแม้ว่าไม่ได้อยู่ในโรงเรียน

“ตอนนี้เถียงกันนะว่าเคยมีพื้นที่ปลอดภัยในสังคมไทย แต่มันหดหาย หรือจริงๆ มันไม่เคยมี” 

เมื่อลงลึกถึงคำว่าพื้นที่ปลอดภัย และนิยามอ.ต๋อมก็ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เชื่อว่าการพากลับโรงเรียนจะเป็นวิธีการที่ดีและเหมาะกับเด็กทุกคน

“ยิ่งคุณไม่มีพื้นที่ปลอดภัย คุณยิ่งผลักเขาออก คุณอยากสร้างโจทย์คือเอาเด็กเข้าระบบ มันไม่มีทางเป็นไปได้ถ้ามันถูกใช้ความรุนแรงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงพื้นที่ปลอดภัย มันเป็นพื้นที่ใหม่ที่โอกาสในการใช้ความรุนแรงลดลง เขาถูกขับออกจากทัศนะที่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นเรามีสมมติฐาน ถ้าพื้นที่ปลอดภัยเป็นพื้นที่สัมพันธ์กันใหม่ในแบบที่เขาเป็นมนุษย์เท่ากัน  ผมจะไม่ไป bully เพื่อนคนนั้น”

อ.ต๋อมบอกว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยควรทำให้มีทางเลือกมากขึ้น 

“เขาไม่เรียนก็ได้นะ แต่เรียนรู้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ตอบโจทย์ชีวิตด้วย และไม่กันเขาออก”

ดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยในนิยามอ.ต๋อมคือการไม่กันเด็กออกไปเรื่อยๆ 

“ต้องเริ่มต้นที่ include เขาก่อน ทันทีที่เราเปิดรับ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวนิดนึง เด็กที่มาเล่นกีฬา แล้วผมเห็นว่ามีคนสูบบุหรี่ในห้องน้ำ ผมจะเดินไปบอก ไม่ทราบว่าใครสูบบุหรี่ในห้องน้ำนะ แต่แม่ๆ พี่ๆ หลานๆ เราออกกำลังกายกัน ถ้าเราต้องการจะสูบ ควรสูบในที่ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อคนอื่นผมไม่ได้กันเขาออก ผมก็ชวนคนเฒ่าคนแก่แถวนั้นว่าอย่ามีท่าทีหรือพูดจาทำนองว่าเฮ้ย เป็นเด็กอะไรวะมาสูบบุหรี่ พ่อแม่ไม่สั่งสอนเหรอ วิธีแบบนี้ exclude กันเขาออกไป วิธีการพูดของผมจะพยายามทำให้พวกนี้รู้สึกว่า ลุงนี่มันแปลกเว้ย มันไม่ได้รังเกียจเรา”

การกระทำเริ่มต้นแบบนี้จะทำให้เด็กๆ ค่อยขยับเข้าหาทีละนิด

“พฤติกรรมจะเริ่มเปลี่ยนตรงที่เขาจะเห็นคนอื่นมากขึ้น เขาจะเห็นตัวเองและเชื่อมโยงกับคนอื่น เห็นการกระทำของตัวเองกับคนอื่นมากขึ้น ซึ่งผมว่านี่เป็นจุดเริ่มและพื้นฐานสำคัญ ทั้งวิธีคิดและการอยู่ร่วมกันใหม่ของทุกคน แต่ว่าจะไม่เริ่มจากเด็ก คนที่เปลี่ยนก่อนต้องเป็นผู้ใหญ่ ความยากคือเราจะเปลี่ยนคนรอบตัวเด็กยังไง อันนี้คือสิ่งที่ยากที่สุด ยากกว่าเปลี่ยนเด็กอีก”

 สำหรับ ‘เด็กพวกนี้’จะมีผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งมองมาด้วยสายตาไม่เป็นมิตรซึ่งเด็กรับรู้ได้  

“ถ้าเขาผ่านอันนี้ได้ เขาจะเก่งกว่าเด็กทั่วไปอีก เพราะเขาเจอประสบการณ์ที่จริงและหนัก คนที่เจอการกีดกันแบบนี้จะไวต่อการประเมินสูง เร็วมากเลย คนนี้จะไว้ใจได้มั้ย หรือจะลองไว้ใจ หรือไม่ควรจะให้ความไว้ใจ เด็กพวกนี้จะเก่ง” 

พื้นที่ปลอดภัยจะนำไปสู่ พื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่สร้างสรรค์

40 หน่วยการเรียนรู้ ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา จากการสนับสนุนของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คือหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่สามารถนำไปตอบโจทย์เป้าหมาย Thailand Zero Dropout ที่อ.ต๋อม บอกว่านี่คือกระบวนสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นรูปธรรมที่ทำได้ 

เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น อ.ต๋อมยกตัวอย่างกรณีมโนราห์ปากลัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในพื้นที่ปลอดภัยที่น่าสนใจ 

“เป็นการเปิดพื้นที่ของน้องชื่อบอม น้องสอนมโนราห์แต่เขาเปิดบ้านเขาเป็นพื้นที่ปลอดภัย ประเด็นคือไม่จำเป็นต้องเรียนมโนราห์ ขอแค่มีพื้นที่ที่เวลาเย็นๆ หรือเสาร์อาทิตย์เด็กก็จะมาอยู่ หรือชวนผู้ปกครองมาด้วย ผมว่าสังคมต้องการพื้นที่แบบนี้”

เช่นเดียวกับหน่วยการเรียนรู้ที่อื่นๆ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยเชิงกายภาพที่ชัดเจน 

“หน่วยเรียนรู้วัดร้องหลอด  จ.เชียงราย หรือหน่วยเรียนรู้กองผักปิ้ง จ.เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดโลก การเรียนรู้ของแต่ละที่คือการปรับตัวให้ทันกับโลกใหม่ และปรับแบบไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเดิม”

“เชื่อมั้ยว่า หลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเรามีพื้นที่แบบนี้มากๆ ก็คงจะดีเหมือนกัน เพราะเด็กได้แสดงศักยภาพเยอะจนแบบว่าทำไมมันเก่งอย่างนี้วะ ทำไมร้องเพลงเพราะอย่างนี้คือทันทีที่มีพื้นที่ปลอดภัย ศักยภาพมันปรากฏ ทันทีที่มีพื้นที่ปลอดภัย มันจะมาอีกสองอันคือ พื้นที่เรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์ สามด้านในพื้นที่เดียวกัน ต้องสร้างให้เกิดให้ได้ มันไม่ใช่แค่ความปลอดภัยเรื่องกาย แต่สภาวะความปลอดภัยคือสิ่งที่เรียกว่า freedom เมื่อคุณรู้สึกอิสระ คุณจะไม่ต้องกลัว ในการแสดงศักยภาพ แล้วมันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ระหว่างทาง แต่ไม่เป็นเส้นตรงแน่ วิ่งกลับไปกลับมาได้เสมอ”

สามพื้นที่ในที่เดียวกันอ.ต๋อมอธิบายเป็นลำดับว่า พอเด็กรู้สึกปลอดภัยก็จะรู้จักตัวเองว่าเป็นใคร มีความสามารถอะไร อึดอัดเรื่องอะไรและอยากจะบอกอะไรในที่สุด 

“ความสามารถในการส่งเสียงของเขาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เขาจะได้รับการตอบสนองจากเพื่อนยังไง ถ้าเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงมันจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนถกเถียง” 

อ.ต๋อมไม่เห็นด้วยกับการโอ๋หรือเอาใจเด็ก และไม่ต้องประคองใจ แต่เชื่อเรื่องการดีลกับเด็กอย่างตรงไปตรงมา  

“เช่น ได้ครับลูก ถ้าลูกเสนอแบบนี้ แต่เราคิดอย่างนี้ น้องคิดยังไง คือมันแลกเปลี่ยนได้ และการแลกเปลี่ยนมุมมองทำให้น้องโตขึ้น การได้แสดงศักยภาพ การส่งเสียง การได้ยินคนอื่น การเคารพคนอื่น พวกนี้เป็นการเรียนรู้ใหม่หมด แล้วผมอยากจะโยงกับสิ่งที่ กสศ. พูดมากเลยเรื่องทักษะที่ควรจะมี คือ Socio กับ Emotional skill อันนี้คือเรื่องเดียวกันเลย ซึ่งมันไม่สามารถสร้างได้ด้วยการให้ใครมาเทรนเขา แต่มันต้องสร้างผ่านการปะทะสังสรรค์กันในพื้นที่ปลอดภัย”

หลักการสำคัญของ 3 พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่สร้างสรรค์ คือการยืดหยุ่น 

“เป็นเรื่องของการยืดหยุ่นที่เป็นหัวใจของพื้นที่ปลอดภัย คือการเป็นพื้นที่ปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่เขาเป็น ถ้ามันไม่ถูกทางเราจะเตือน ไม่ใช่ว่าต้องยืดหยุ่นได้ตลอด เช่น การปล่อยให้เด็กเล่นฟุตบอล ถ้ากันเด็กเล็กไม่ให้เล่นด้วย อ้างความปลอดภัยของเด็กโดยบอกว่าพอดีคนโตเขาจะเล่นกัน ‘น้องยังเด็ก กลัวน้องจะเจ็บ’ การกระทำแบบนี้คือการละเมิดแบบไม่รู้ตัว” 

สิ่งที่อ.ต๋อมจะสื่อคือการสร้างพื้นที่แบบใหม่ที่เด็กเล็กเล่นกับเด็กโต หรือจะแบ่งโซนกันเล่นยังไง เพราะพื้นที่ไม่ใช่ของเราคนเดียว ที่อาจารย์เรียกว่าเป็นการจัดการใหม่เพื่อการอยู่ร่วมกันของความต่าง 

“เพราะฉะนั้นการพูดเรื่องพื้นที่ปลอดภัยเป็นสังคมที่ต้องสร้าง ที่รองรับการอยู่ร่วมกันบนความต่าง ผมว่านี่คือหัวใจ ซึ่งสังคมไทยไม่พัฒนาในส่วนนี้ สังคมไทยบริหารคือถ้าให้รัฐจัด รัฐก็เป็นคนจัดการ คือยังไม่มีวิธีที่เป็นการจัดการใหม่ที่เป็นการจัดการร่วมในพื้นที่ ซึ่งมันท้าทายและเรากำลังหานะ”

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ

เป็นคำถามที่อ.ต๋อมบอกว่าตอบยาก เพราะไม่มีตัวชี้วัดชัดเจน แต่ก็ใช่ว่าจะตอบไม่ได้ 

“เราเริ่มต้นประเมินพื้นที่ปลอดภัยว่าถ้ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัยย่อมสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในพื้นที่ปลอดภัย หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงคือของเด็กเอง แต่ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวคือคนที่เกี่ยวข้องยังไง ที่มันจะซัพพอร์ตมากขึ้น อันนี้เป็นความท้าทายจริงๆ ตอนนี้มันคือการชักเย่อกันระหว่างการมีพื้นที่ปลอดภัยมันเกี่ยวอะไรกับการที่เด็กได้เรียนหนังสือ”

ส่วนสำคัญคือต้องทำให้เห็นว่าการมีพื้นที่ปลอดภัย เป็นโรงเรียนชีวิตที่สำคัญสำหรับเยาวชนนอกระบบ

“เป็นโรงเรียนที่จะทำให้เขาฝึกฝน เรียนรู้ อยู่ร่วมกับคนอื่น อยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวยังไง เพราะฉะนันการเปลี่ยนแปลงของน้อง ของสิ่งรอบตัวน้องจะเป็นตัวชี้วัด เช่น ปกติเขาใช้ยา เขาอาจจะยังใช้อยู่ แต่เขาจะใช้อย่างปลอดภัยและไม่ละเมิดกับคนอื่น เขาเคยไม่ตรงเวลา แต่เขารู้สึกว่าการเคารพคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ เขาเริ่มมีทักษะใหม่ๆ ที่ทำให้เราสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพได้ อะไรอย่างนี้ ผมว่าดูศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจากการมีพื้นที่ปลอดภัย” 

ความท้าทายของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย คือการทำงานกับความคิดคนในสังคม

“ในความคิดผม พื้นที่ปลอดภัยในสังคมไทยยังขยับไปได้ไม่มาก เพราะเราไปสนใจ individual คือเชื่อว่าปัญหามาจากคน ถ้าเธอขยันมาเรียนหน่อยก็รอดแล้ว ถ้าตื่นเช้ากว่านี้ก็มาทัน ซึ่งเป็นวิธีคิดของคนไทยที่เชื่อว่าปัญหามาจากคน แต่เวลาเราเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เราเสนอและท้าทายวิธีคิดสังคมไทยว่ามันขึ้นอยู่กับระบบสังคมยังไง” 

อ.ต๋อมไม่คิดว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องง่ายที่แค่หาพื้นที่หนึ่งเข้าไปจัดกิจกรรมแล้วก็จบ แต่พื้นที่ปลอดภัยคือความวางใจ รู้สึก freedom และ feel free ที่จะแลกเปลี่ยนได้ ที่ถ้าบูรณาการสิ่งเหล่านี้เข้าไปในตัวเลือกที่ทำงานกับเด็กหลุดระบบจะดีมากขึ้น 

“ความยากคือการสื่อสารระหว่างทาง พื้นที่ที่เราทำเป็นพื้นที่เล็ก พยายามทำงานกับคนรอบตัวเด็กในพื้นที่ แต่ว่าโจทย์ใหญ่กว่านั้นคือมันต้องการคนในสังคมที่เห็นด้วยกันด้วย หรือส่งเสียงด้วยกัน เพราะฉะนั้นงานสื่อสารสังคมเป็นงานใหญ่ 40 หน่วยการเรียนรู้ ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา อาจจะไม่ช่วยแก้ระบบ แต่มันจะทำหน้าที่ในการส่งเสียงว่าความจริงคืออะไร อะไรคือสิ่งที่ถ้าทำได้มันจะช่วย อะไรคือสิ่งที่สังคมต้องตระหนัก ผมว่าหน้าที่ของมันเป็นอย่างนี้”


เรื่อง : มยุรา ยะทา 
ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง 
ภาพประกอบ : บัว คำดี